ความคิดเห็นทั้งหมด : 0

ผู้นำ vs เจ้านาย


   มีบทความน่าสนใจที่เขียนโดย คุณดนัย จันทร์เจ้าฉาย ลงใน กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ จำนวน 2 ตอน เห็นว่าน่าสนใจ จึงขอนำมารวมกันให้พวกเราได้อ่านกันครับ

Are you a Boss or a Leader?

ระยะนี้...ผมเริ่มกลับมาได้ยินคำบ่น (อีกแล้ว) ของผู้ที่ทำงานมานานหลายสิบปี แต่เริ่มรู้สึกว่าตนเองหมดคุณค่า เริ่มตีโพยตีพายว่าเด็กรุ่นหลังกำลังไล่แซงหน้า ทั้งๆ ที่หากเทียบประสบการณ์ซึ่งนับเป็นจำนวนปี จำนวนเดือน จำนวนวันแล้ว เด็กรุ่นใหม่เทียบไม่ได้แน่นอน แต่สิ่งที่ผมอยากให้ผู้มากประสบการณ์ทั้งหลาย หันกลับมาประเมินตัวเองสักหน่อยว่า เราเป็นเพียงแค่ Boss ตามตำแหน่ง ซึ่งผมขอให้ความหมายภาษาไทยว่า ‘ผู้จัดการ’ หรือเป็น Leader ‘ผู้นำ’ กันแน่ จะได้เข้าใจว่า ศาสตร์และศิลป์ของการเป็นผู้นำนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับอายุมาก แก่ประสบการณ์ ตำแหน่งสูง หรือมีอำนาจใดๆ มาหนุน ไม่ใช่ ‘แก่เพราะกินข้าว เฒ่าเพราะอยู่นาน’ แล้วจะได้เป็นผู้นำที่สมบูรณ์ แต่เป็นสิ่งที่เราต้องฝึกฝนพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา

1. The boss drives his team, the leader coaches them.
ชัดเจนนะครับ ผู้จัดการผลักดันให้ทีมทำงานจนถึงเป้าหมาย ต่างจากผู้นำที่เปรียบเสมือนโค้ช ที่เป็นกำลังใจ เป็นกุนซือให้กับทีมในทุกสถานการณ์ เพื่อกระตุ้นทีมให้เดินไปสู่เป้าหมาย เป็นส่วนหนึ่งของทีมอย่างกลมกลืน เหมือนกับทีมกีฬาที่จะชนะได้ ย่อมมีโค้ชที่คอยฝึกสอนทั้งในสนาม นอกสนาม ระหว่างหยุดพัก หรือแม้กระทั่งเวลาที่มีปัญหาส่วนตัวมากระทบ ทั้งในเรื่องของการสร้างทัศนคติ การดูแลร่างกาย อารมณ์ จิตใจ และทักษะในการทำงาน

2. The boss depends upon authority, the leader depends upon goodwill.
เรื่องนี้เจอบ่อยมากครับ ผู้จัดการเรียกร้องให้ตนเองมีตำแหน่งสูงๆ มีอำนาจหน้าที่แตกต่างกว่าผู้อื่น เพื่อให้เป็นที่เคารพยกย่องของคนในองค์กร และมักจะเข้าใจผิดว่าคุณค่าของตนมาจากตำแหน่งที่ได้รับ หากมีตำแหน่งแล้วทุกคนทั้งในและนอกองค์กรจะเคารพนบน้อม ให้เกียรติ ให้ความร่วมมือ แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ ผู้มีตำแหน่งจำนวนมาก ไม่สามารถสร้างความน่าเชื่อถือ และความเคารพให้เกิดขึ้นทั้งภายใน และภายนอกองค์กรได้ เนื่องจากมีแต่ ‘ตำแหน่ง’ เท่านั้น แต่ไม่ได้แสดงถึงความสามารถ ความรับผิดชอบ สปิริต และเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับทีม ผู้ได้รับตำแหน่งสูงกลุ่มหนึ่งจึงประสบความล้มเหลว ต่างจาก ‘ผู้นำ’ ที่ไม่จำเป็นต้องมีตำแหน่งอย่างเป็นทางการ แต่สามารถขับเคลื่อน สร้างแรงบันดาลใจ และเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับคนทั้งใน และนอกองค์กรเดินตามได้อย่างง่ายดาย ด้วยเสน่ห์เฉพาะตัวและชื่อเสียงที่สร้างสมมา

3. The boss inspires fears, the leaders inspires enthusiasm.
ผู้จัดการสร้างภาวะกดดัน สร้างความตื่นตระหนก และหมกมุ่นอยู่กับปัญหาที่ดูเหมือนไม่มีทางออก แต่เป็นภาระหนักอก น่ารำคาญใจ ทำให้ทั้งตนเองและคนรอบข้างเกิดความหดหู่ ท้อแท้ และความหวาดกลัว ต่างจากผู้นำที่สร้างสรรค์ความกระตือรือร้น ปลุกไฟภายในตัวของทีมงาน เพื่อเปิดศักยภาพมหาศาลที่ซ้อนเร้นอยู่ให้เป็นพลังขับเคลื่อนองค์กร ผู้ที่มีบุคลิกเป็นผู้นำไม่ว่าจะไปอยู่ในที่ใด สถานการณ์ใดจะเป็นที่ยินดีต้อนรับ ด้วยบุคลิกภาพที่ดูอบอุ่น กระตือรือร้น ทำให้ทุกคนเกิดความกระฉับกระเฉง ความหวังและพลังในการเคลื่อนหน้าต่อไป และบ่อยครั้ง ผู้นำที่มีบุคลิกพิเศษนี้ จะสร้างแรงบันดาลใจไม่เฉพาะภายในองค์กร แต่รวมถึงกลุ่มคนภายนอก และสาธารณชนที่พร้อมจะก้าวเดินตาม โดยคนกลุ่มนั้นไม่ได้มีส่วนได้เสียต่อองค์กรแต่อย่างใด ในขณะที่ผู้จัดการจะคอยจับผิดอยู่ที่กฏระเบียบ และคอยระแวดระวังไม่ให้เกิดการแหกกฏใดๆ โดยพร้อมที่จะงัดกฏทุกชนิดมา ‘กำหราบ’ ผู้แตกแถว ผู้คิดนอกกรอบได้ตลอดเวลา ผลที่ตามมาคือ ทีมงานที่มีความสามารถ และคิดนอกกรอบจะหลีกเลี่ยงการปะทะ และเผชิญกับผู้จัดการที่ได้มาเพราะตำแหน่ง เพื่อไม่ให้พลังแห่งความคิดสร้างสรรค์ของตนมอดหายไป

4. The boss says, ‘I’, the leader says, ‘We’.
ภาษาที่ผู้จัดการและผู้นำพูดก็ต่างกัน ผู้จัดการใช้แต่คำว่า ‘ฉัน’ หรือมีวลีว่า ‘อย่ามายุ่งกับฉัน’ ‘ใครมีงานอะไรทำอะไรก็ทำไป ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างทำ ไม่ต้องมาข้องเกี่ยวกัน’ ส่วนผู้นำใช้คำว่า ‘เรา’ หรือ ‘พวกเรา’ ในพจนานุกรมเสมอ คือ พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือทีมงานทุกคน ทุกฝ่ายอย่างเสมอภาค ด้วยใจที่เป็นธรรม ไม่มีอคติ ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง แต่ผู้จัดการจะให้ความสนใจเฉพาะกับ ‘คน’ ของ ‘ฉัน’ เท่านั้น หาก ‘มัน’ ไม่ใช่คนของ ‘ฉัน’ ก็อย่าเสนอหน้ามายุ่ง น่าเศร้าใช่มั้ยครับ?

5. The boss assigns the tasks, the leader sets the pace.
ผู้จัดการถนัดที่จะมอบหมายกระจายงานให้ลูกน้องรับผิดชอบ เสมือนว่าคนเป็นหุ่นยนต์ ทำแต่งานอย่าให้หลุดให้เสียเป็นพอ อย่าออกนอกกรอบ อย่าเสนออะไรที่ไม่ใช่หน้าที่ เรื่องอื่นนอกเหนือจากงานไม่มีความสำคัญ เรื่องสัมพันธภาพระหว่างคนในทีม ไม่ต้องพูดถึง เพราะผู้จัดการเหล่านี้ไม่สนใจจะสร้างสัมพันธ์กับใครทั้งนั้น มีโลกส่วนตัวให้อยู่และไม่ปรารถนาให้ใครเข้ามาล่วงล้ำ ต่างจากผู้นำที่ทำหน้าที่เหมือนเป็นวาทยกร คอยควบคุมจังหวะการเดินของทีม บางครั้งหนัก บางครั้งเบา บางครั้งเร่งเครื่องโหมกระหน่ำ บางครั้งแทบหยุดนิ่ง จนได้ยินเสียงลมหายใจ แต่ผลที่ออกมาคือความไพเราะ ความกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียว โดยผู้นำสามารถผสานความต่าง จุดอ่อนจุดแข็งของสมาชิกทุกคนในทีมได้ คนที่มีจุดอ่อน จึงมีความรู้สึกมั่นใจที่ได้อยู่ในกลุ่มที่มีผู้นำลักษณะนี้ เพราะจุดด้อยของเขาได้รับการชดเชยจากจุดแข็งของสมาชิกคนอื่นในทีม

6. The boss says, ‘Get here on time’, the leader begins on time.
ได้ยินกันบ่อยรึเปล่าครับ คำสั่งเจ้านายบอกให้ทำนั่นทำนี่ เช่น บอกให้มาตรงเวลา ให้ติดต่อลูกค้า ให้ทำรายงาน สารพัดจะสั่ง แต่คนที่เป็น ‘ผู้นำ’ จะพูดน้อย สั่งน้อย แต่ทำเป็นตัวอย่างให้เห็นกันจะๆ อยากให้ลูกน้องมาตรงเวลา ก็เข้าห้องประชุมตรงเวลา มาถึงที่ทำงานตรงเวลา ให้ลูกน้องเห็นเป็นตัวอย่าง โดยไม่มีข้ออ้างข้อยกเว้น อยากให้ลูกน้องติดต่อลูกค้า ทำรายงานหรือมีพฤติกรรมอย่างไร ก็แสดงให้เห็นเป็นต้นแบบ เป็นการสอนงานที่ดีที่สุด และเป็นการเรียนรู้ที่ได้ผลสูงสุดกว่าการพร่ำบ่น หรือออกคำสั่งอย่างเทียบกันไม่ติด เพราะเราจะได้ยินอีกว่า ‘สั่งไปแล้ว ไม่เห็นทำเลย!’ ก็ต้องหันกลับมาดูว่า เราได้ทำด้วยรึเปล่า เป็นตัวอย่างที่ดีรึเปล่า
สรุปว่า อยากให้ทีมงานมีพฤติกรรมเช่นไร ผู้นำก็ควรปฏิบัติเช่นนั้น ใช้การกระทำแทนคำพูด!

7. The boss fixes the blame for the breakdown, the leader fixes the breakdown.
เจ้านายมักใช้เวลาในการแก้ตัวกับปัญหาที่เกิดขึ้นในองค์กร ด้วยความผิดสารพัดที่เกิดขึ้นจากผู้อื่น จากทีมงาน ระบบงาน รวมทั้งความผิดจากลูกค้า คู่ค้า คู่แข่ง สื่อมวลชน และผู้ไม่หวังดีต่างๆ เป็นการโยนปัญหาออกนอกตัว โดยมองว่า 90% ของปัญหานั้นมาจากผู้อื่นล้วนๆ หาใช่ตัวเองไม่ เจ้านายจะใช้เวลาส่วนใหญ่ในการพร่ำบ่น สร้างปัญหาซ้ำซ้อนกับปัญหาที่มีอยู่ เสมือนการผูกปมเชือกให้แน่นเข้าไปอีก แต่ไม่ใช้เวลาในการคลี่คลาย สลายสถานการณ์ให้ดีขึ้น ผิดกับผู้นำ ซึ่งทุ่มเทเวลาทั้งหมดไปกับการแก้ปัญหา และมองว่าเป็นโอกาสทองในการได้ลับสติปัญญา และสมองทั้งสองซีกที่มีอยู่ โดยไม่ยึดติดว่า ใครเป็นผู้ก่อปัญหา หรือโทษระบบการปฏิบัติความเคยชินอื่นใดที่เคยมีมา เพราะทุกอย่างขึ้นอยู่กับการปรับตัว ให้เข้ากับสถานการณ์ที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างผันผวน และคาดการณ์ได้ยาก
ผู้นำจึงมีทัศนคติที่ดี ยิ้มรับเสมอเมื่อเจอปัญหา ต่างกับเจ้านายที่คอยจะหา ‘แพะ’ เมื่อมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดผิดพลาด ให้สังเกตว่า พวกตั้งการ์ดขึ้นสูงปกป้องตัวเองไว้ก่อน พวกนั้นล่ะครับ เจ้านายแหงๆ เป็นพวกมากับตำแหน่ง และตายไปพร้อมตำแหน่ง..

8. The boss knows how it is done, the leader shows how it is done!
เจ้านายเป็นผู้รู้มาก มีประสบการณ์สูงในทุกสรรพสิ่ง แต่ไม่เคยลงมือทำอะไรให้เกิดผล คอยแต่สั่งการให้ทีมงานเป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด ต่างอย่างยิ่งกับผู้นำซึ่งลงมือกระทำให้เห็นเป็นรูปธรรม เป็นผู้เข้ามาคลุกคลีร่วมงานกับสมาชิกในทีม และพร้อมยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือในงานต่างๆ ที่เกินกำลังความสามารถ เป็นการสอนทีมงานให้เห็นตัวอย่างจากการปฏิบัติจริง ลงมือจริง จึงสร้างความอบอุ่นใจและแรงบันดาลใจให้ทีมงานได้มีกำลังใจ ฮึกเหิม และมองว่า สิ่งที่ผู้นำกำลังคิดกำลังก้าวไปนั้น ไม่ใช่สิ่งเพ้อฝัน เกินกำลังแต่อย่างใด แต่เป็นสิ่งที่ทีมงานทั้งหมดสามารถขับเคลื่อนกันต่อไปได้ โดยมีผู้นำเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของทีม

9. The boss makes work drudgery, the leader makes it a game!
เจ้านายมีความสามารถพิเศษในการทำให้งานที่เครียดอยู่แล้ว น่าเบื่อหน่ายกว่าเดิม ด้วยสีหน้า ท่าทาง คำพูด ลักษณะวิธีการตามงาน การประเมินผลงาน การเข้าประชุม การส่งอีเมล์ และทุกองค์ประกอบที่สามารถใส่ความเป็นเจ้านายลงไป ส่วนผู้นำมีพรสวรรค์ทำให้งานเดียวกันเป็นความสนุกสนาน เป็นการสร้างความกระตือรือร้นให้เกิดขึ้น เปิดโอกาสให้ทีมงานได้แสดงฝีมือ ทำให้การทำงานเปรียบเสมือนเป็นเกมที่ท้าทายความสามารถ มีเป้าหมายที่เดินไปอย่างชัดเจน และมีการบอกคะแนนเป็นระยะๆ กระตุ้นให้ทุกคนเห็นว่า อีกไม่นานก็ถึงเส้นชัยแล้ว หรือคอยให้กำลังใจว่าคุณกำลังทำดีแล้วนะ อีกนิดนึงเท่านั้น พยายามหน่อย!

10. The boss says ‘Go!’, the leader says, ‘Let’s Go!’
เจ้านายจะออกคำสั่งกับทีมงานว่า ‘ไป’ ‘ไปทำมาให้เรียบร้อย’ ต่างจากผู้นำที่จะบอกว่า ‘พวกเราไปด้วยกัน’ ‘พวกเราจะชนะด้วยกัน’ หรือ ‘พวกเราจะช่วยกัน’ ภาษาที่เจ้านายมักจะใช้ คือ การออกคำสั่ง (มิเช่นนั้น ก็ไม่ใช่เจ้านาย) ส่วนผู้นำจะไม่ออกคำสั่ง แต่จะขอความร่วมมือและเชิญชวนให้ทุกคนพร้อมอกพร้อมใจกันทำงาน และผู้นำ ยังกล่าวทั้งคำว่า ‘ขอบคุณ’ และ ‘ขอโทษ’ กับทีมงานทุกคนได้อย่างสนิทใจและบริสุทธิ์ใจ ส่วนบรรดาเจ้านายนั้นยากมากที่จะให้คำว่า ‘ขอบคุณ’ ออกจากปากเพราะเข้าใจว่าเป็นหน้าที่ของทุกคนต้องทำให้ จะขอบคุณไปทำไม สำหรับคำว่า ‘ขอโทษ’ ไม่ต้องไปฝันถึง เพราะบรรดาเจ้านายที่มากับตำแหน่ง ไม่เคยรู้จักคำว่า ‘ขอโทษ’ มันเป็นการเสื่อมเกียรติ เสียศักดิ์ศรีอย่างรุนแรงกับการเอื้อนเอ่ยคำๆ นี้!
ผมขอกล่าวด้วยความสุจริตใจว่า ไม่ได้เขียนบทความนี้เพื่อพาดพิงถึงผู้นำประเทศท่านใด หรือบุคคลใดเป็นพิเศษ แต่แน่นอนเมื่อได้อ่านและสำรวจในแต่ละข้อ เราก็จะมีภาพของทั้ง ‘เจ้านาย’ และ ‘ผู้นำ’ ลอยเด่นมาแต่ไกล ก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับผู้มีตำแหน่งสูงๆ ทั้งในองค์กรน้อยใหญ่ให้หันมาประเมินตนเองบ้างเท่านั้นล่ะครับ

หมายเหตุ : ผู้ post ขอขอบคุณ คุณดนัย จันทร์เจ้าฉาย ที่นำบทความมา Post ดดยไม่ได้ขออนุญาตครับ


Posted by : Tan , Date : 2008-09-12 , Time : 00:31:18 , From IP : 172.29.9.33

ความเห็นจาก Social Network : Facebook


สงวนสิทธิ์การแสดงความคิดเห็นสำหรับ สมาชิกเท่านั้น
>>>>> Page loaded: 0.004 seconds. <<<<<