จิตตปัญญาเวชศึกษา 75: บรมครู ข้าฯขอน้อมศีรษะคารวะในการเรียนใดๆก็ตาม เรามี "ครู" เป็นสรณะ สมัยก่อนบิดามารดาพาลูกไปหาครู เอาดอกไม้ธูปเทียนใส่พานไปไหว้ครู เพื่อแสดงจิตศิโรราบ มอบกายมอบใจ ตั้งใจเรียนศึกษาวิทยาการต่างๆ ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์เป็นรากฐานของการส่งต่อคุณค่า วิทยาความรู้ จากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง เป็นศักยภาพอันเป็นเอกลักษณ์ของ Homo sapien sapien ที่ความทรงจำ ความรู้ และศักยภาพที่ปัจเจกมี ไม่สิ้นสุด สลายไปเมื่อชีวิตจบสิ้น แต่สามารถถ่ายทอด ทำให้เกิดการ "ต่อยอด" ทำให้เกิดการพัฒนารุ่นลูกหลานที่แข็งแรงกว่า ฉลาดกว่า มีศักยภาพที่สูงกว่าเดิม เป็น species ที่ถูกออกแบบมาให้ผลิตอภิชาตบุตร อภิชาตศิษย์ ธำรงเผ่าพันธุ์ สมัยก่อนนั้น ครูกับศิษย์อยู่ด้วยกัน ใกล้ชิดกัน ไม่เพียงแค่ศิลปวิทยาการเท่านั้นที่มีการถ่ายทอดให้กัน แต่รวมไปถึงการธำรงชีวิต การใช้ชีวิต การอยู่ในสังคม มารยาท จริยศาสตร์ จรรยาบรรณ และเหนืออื่นใดก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในลักษณะแห่งการรักที่ปราศจากเงื่อนไข ที่แฝงอยู่ในความเมตตาปราณี คำพูด วจนภาษาและอวจนภาษา ความสัมพันธ์นี้ทำให้มนุษย์ถ่ายทอดความรักจากรุ่นหนึ่งไปอีกรุ่นหนึ่ง เป็นความดีที่จะทดแทนได้ต่อเมื่อเราสานต่อเจตนารมณ์ ไปกระทำกับมนุษย์รุ่นต่อๆไป ให้เผ่าพันธุ์อยู่ได้อย่างมีความหมาย และถักทอเป็น fabric อันมั่นคงแข็งแรงเต็มไปด้วยศักยภาพปรับตัวเปลี่ยนแปลงเพื่อเผชิญอุปสรรค ใหม่ๆ ให้ความหมายใหม่ที่ดีกว่าเก่า เกิดจิตวิวัฒน์ที่ประภัสสรมากขึ้นเรื่อยๆ โรงเรียนแพทย์ของมูลนิธิพุทธฉือจี้ ที่ไต้หวัน เน้นเรื่องการกตัญญูรู้คุณ กิจกรรมที่ทำขึ้นจนสามารถแสดงออกซึ่งคุณธรรมเรื่องนี้ คือปรัชญาเรื่อง "บรมครูผู้ไร้เสียง (Silent Mentor)" อันหมายถึง "ร่างอาจารย์ใหญ่" หรือร่างกายคนที่ได้รับบริจาคเพื่อการศึกษาวิชากายวิภาคศาสตร์ (anatomy) ในการเรียนการสอนของโรงเรียนแพทย์นั่นเอง ท่านธรรมาจารย์เจิ้นเหยียนได้กล่าวสรรเสริญ จิตเมตตาของผู้ป่วยที่บริจาคร่างกายและสมาชิกของครอบครัวอย่างที่สุด ว่าเป็นทานอันยิ่งใหญ่ ที่สืบทอดความเมตตา ความรัก และความหมายที่คนรุ่นหนึ่งจะสามารถถ่ายโอนไปให้รุ่นต่อๆไปถึงคุณค่า วิถีการดำรงชีวิต และการตายอย่างสง่างาม อย่างมีศักดิ์ศรี (dead with grace and dignity) เป็นการกระทำอันหลุดพ้นอัตตา ปล่อยวาง และเปี่ยมด้วยความรักบริสุทธิ์ต่อมวลมนุษย์อย่างแท้จริง นักศึกษาแพทย์ของโรงเรียนแพทย์ฉือจี้ จะต้องปฏิบัติต่อบรมครูผู้ไร้เสียงนี้ด้วยกิริยาอันงดงาม และด้วยจิตกตัญญู ต่อทั้งเจ้าของร่างและต่อลูกหลานครอบครัวของผู้บริจาค ทำการศึกษาชีวิตของท่าน วิถีการคิด กระบวนทัศน์ของท่าน รวมทั้งได้รับทราบถึงเจตนารมณ์ของท่านว่าอะไรคือสิ่งที่ท่านต้องการจะ ถ่ายทอดให้ นอกเหนือจากวิชากายวิภาคศาสตร์แล้ว สิ่งทีมีค่าที่สุดที่ท่านได้ให้คือ "การเสียสละเพื่อความดีนั้น เป็นที่สุดของการเดินทางมาถึงจุดจบในชาติภพนี้ด้วยความสง่างาม" วันนี้ผมกับอาจารย์จารุรินทร์ และอาจารย์ศศิกานต์ก็ได้สอน holistic doctor programme ให้แก่ extern กองศัลยกรรม ระหว่างนั้นเราก็ได้พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างครุแพทย์ และลูกศิษย์หรือนักเรียนแพทย์ พูดถึงเรื่องจำนวนนักศึกษาที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนบางครั้งเกิดความลำบากมากขึ้นในการที่ครูจะมีโอกาสทำความรู้จักกับ นักเรียนอย่างใกล้ชิดอย่างแต่ก่อน ในตอนนี้เองที่อาจารย์จารุรินทร์เล่าถึงคำพูดของอาจารย์อานนท์ วิทยานนท์ หัวหน้าภาควิชาจิตเวชศาสตร์ รพ.สงขลานครินทร์ ในเรื่องบรมครูผู้ไร้เสียง (อาจารย์อานนท์ ไปดูงานที่มูลนิธิพุทธฉือจี้ด้วยกันกับผม เมื่อเดือนเมษายนปีนี้) ท่านว่า: สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก บิดาแห่งการแพทย์ไทย "การรับรู้" ของคนเราเป็นจุดเริ่มต้นของทุกสิ่งทุกอย่าง การที่นักเรียนแพทย์ "ให้ความหมาย" ว่าเขากำลังทำอะไรอยู่ ตอน สัมภาษณ์คนไข้ ตอนทำแผล ตอนตรวจร่างกาย ตอนไปพูดคุย ว่าจะคิดแค่ว่า "กำลังไปหาข้อมูลทำรายงาน ทำอะไร routine ประจำวัน ไปหาโจทย์เพื่อจะได้ไปอ่านหนังสือ" หรือว่า "ไปหาครู และไปหาความรู้ที่ครูท่านยอมเสียสละร่างกายให้เราได้เรียนได้ศึกษา" เป็นแค่เสี้ยวเส้นผม ที่แยกแยะ relationship ที่กำลังจะเกิดงอกงามต่อไป ในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง เรากำลังเรียนรู้ "ความเป็นคน" ด้วย บทเรียนของแท้ยิ่งกว่าแท้ authentic life lesson กำลังฉายสด ปราศจากผู้กำกับ ปราศจากสมุดโน้ต แต่จารึกลงไปในประสบการณ์ตรงของทั้งสองฝ่าย ที่เหลือก็ขึ้นอยู่่กับว่าใครจะหยิบมาใคร่ครวญ ไตร่ตรอง กันอย่างไร ทุกสิ่งทุกอย่างเป็น "บารมีสั่งสม" ที่แต่ละคนจะต้อง exercise free will เลือกก่อนว่าจะทำอะไรกับประสบการณ์ตรงหน้าของเรา สิ่งหนึ่งที่พึงระวังก็คือ คนไข้มักจะแสดงความรักและความตื้นตันในสิ่งที่แพทย์ไปทำให้อย่างมาก และฝ่ายคนไข้และญาติมักจะเป็นฝ่ายที่ "มีความเป็นคน" สูง มี empathy หรือการคิดเผื่อหมอ เผื่อพยาบาล เผื่อโรงพยาบาล จนบางครั้งหมอเกิดความเข้าใจไปว่า หมอเป็นคนให้เท่านั้น ไม่ได้เป็นคนรับ ซึ่งเป็นความคิดที่อันตรายมาก การที่หมอเป็นผู้เชี่ยวชาญ ได้มาอยู่ในทีที่ "บุญเดินมาให้ที่ทำงาน" โอกาสเช่นนี้ ควรที่จะทำให้เราเกิดสำนึกอย่างกตัญญู สำหรับทุกสิ่งทุกอย่างอันเป็นเหตุปัจจัยในการที่ส่งเรามาอยู่ ณ ที่ที่เราอยู่นี้ ให้เราทำในสิ่งที่เราทำอยู่นี้ Posted by : phoenix , Date : 2008-08-27 , Time : 08:42:29 , From IP : 203.170.234.12 |
ลืมใส่ link ไป จิตตปัญญาเวชศึกษา 75: บรมครู... ข้าฯขอน้อมศีรษะคารวะ Posted by : phoenix , Date : 2008-08-27 , Time : 09:29:14 , From IP : 203.170.234.12 |
ความเห็นจาก Social Network : Facebook |
|
>>>>> Page loaded: 0.003 seconds. <<<<< |