ความคิดเห็นทั้งหมด : 0

เมื่อความสำเร็จถูกนิยาม ความล้มเหลวก็ถูกร่างกำหนด


   
เมื่อความสำเร็จถูกนิยาม ความล้มเหลวก็ถูกร่างกำหนด


ในการเขียนโครงการ เขียนแผน เขียนอะไรก็ตาม ทุกคนก็จะถูกสอนมาว่าให้เริ่มจากถามตัวเองว่า "เราต้องการอะไร" หรือ "อะไรคือเป้าประสงค์" นั้นคือให้มีทิศทาง มีความปราถนา มีความต้องการ เสียก่อน เหมือนกับมีแผนที่ที่มีตัว X วางไว้ให้เรียบร้อย มิฉะนั้นก็จะกลายเป็นเดินเอ้อระเหย ร่อนไป เร่มา แล้วก็จะเห็นได้ว่าเราจะเริ่มมีทัศคติต่อการ "เอ้อระเหย ร่อนไป เร่มา" ในแง่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ซึ่งก็ ทำให้สงสัยต่อไปอีกว่า เป็นเพราะเราคิดว่า "ต้องมีตัว X จึงเรียกว่าดี" รึเปล่า? ดังนั้นพอบอกว่าจะไม่มีตัว X ทำให้โดยไม่รู้ตัว เราจึงเลือกใช้ภาษา ใช้คำที่ "ไม่ค่อยดีเท่าไหร่" มาใช้อธิบาย ถ้าเขียนต่อไปอีก ก็จะเกิด loop งูสองตัวกำลังม้วนกินหางของแต่ละฝ่่ายไปเรื่อยๆ เดี๋ยวจะกลายเป็นนาคบาศแบบในเพชรพระอุมาไปเสีย

ช่วงเดือนที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสเข้า workshop เรื่อง Outcome Mapping และโครงการแผนพัฒนาจิตระยะที่สามของมูลนิธิสดศรี-สวัสดิ์วงศ์ และเมื่อวานก็พึ่งไปทำ workshop (เรื่องอะไรจำไมไ่ด้แล้ว แต่ไปลงเอยที่ Happy Hospital ตอนเย็น) กับกลุ่มโรงพยาบาลชุมชน จ.สงขลา ก็มีประเด็นเข้าๆออกๆเรื่องการเขียนโครงการ วิสัยทัศน์ พันธกิจ และงานที่จะทำ ฯลฯ
แล้วก็มีการพูดถึง "ความทุกข์ในการทำงานคุณภาพ"

ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงทีเดียว ทั้งห่วงคนทำ และห่วงคนที่เกี่ยวข้อง ไปๆมาๆก็รวมทั้งตัวเราเองด้วย เพราะเมื่อคนหนึ่งทุกข์ มีหรือที่เราจะไม่ถูกกระทบเลย? ในทางควอนตัมแมคคานิกนั้น เราไม่สามารถจะวัดอะไรได้ โดยที่เครื่องมือวัดไม่ได้ไปรบกวนมีผลต่อสิ่งที่เราต้องการวัด จะเห็นว่า "ความสัมพันธ์" ของสรรพสิ่งนั้น มันเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ตั้งใจ หรือไม่ตั้งใจก็ตาม



แน่นอนที่สุด เมื่อเรามีการตั้งเป้าหมายเอาไว้อย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าเราไปไม่ถึง หรือทำไม่ได้ เราก็จะ "ไม่สำเร็จ" หรือ "ไม่เป็นไปตามคาดหวัง" ในความไม่สำเร็จนี้ จำเป็นไหมที่จะต้องเป็นความล้มเหลว หรือเราสามารถจะมองหาได้อีกไหมว่า มีอะไรที่แอบแฝงอยู่ใน "ประสบการณ์แห่งความไม่สำเร็จ" ครั้งนี้?

นึกถึงตอนที่เจ้าชายสิทธัตถะปลงเกศาออกบวช ไปบำเพ็ญทุกขกิริยาตามแบบโยคี แบบผู้บำเพ็ญพรต อยู่ระยะเวลาหนึ่ง แล้วก็ยังไม่เกิดความ​"รู้แจ้ง" เราจะเรียกช่วงเวลาบำเพ็ญทุกขกิริยานั้นเป็นความล้มเหลวหรือไม่ หรือว่าเป็น "ประสบการณ์การเรียนรู้"

ผมอ่านหนังสือกำลังภายใน เรื่อง "เทพทลายนภา" ของหวงอี้ ตอนนี้ที่บรรยายถึงตัวละครชื่อ ปาซอปา เป็นพระธิเบต ภายหลังตัวละครนี้สำเร็จมรรคผลไป สิ่งหนึ่งที่ตัวละครนี้ถือเป็นสรณะคือ "สำหรับปาซือปาแล้ว ไม่มีคำว่าความล้มเหลว หรือความสำเร็จ มีเพียงแค่ประสบการณ์....." จะเรียกว่าเป็นคนที่ไม่ทอดทิ้งประสบการณ์ตรง และค้นหา แสวงหา สิ่งที่เกิดขึ้นจากชีวิตได้ตลอดเวลา

เมื่อใครคนใดคนหนึ่ง เขียนโครงการขึ้นมาหนึ่งโครงการ ด้วยความมุ่งมั่น คิดว่าถ้าทำอย่างนี้ๆ เขา "หวังว่า" จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างขึ้น แต่แล้ว ทำไปๆ ใช้เวลาหลายปี ปรากฏว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นไปตามที่คาดไว้ โดยทั่วๆไปคนก็จะเรียกว่า "ล้มเหลว" แต่จริงๆแล้ว คนๆนี้ "ได้อะไรบ้าง" อาจจะน่าสนใจมากกว่าการพยายามจะ label ว่าล้มเหลวหรือไม่? ประสบการณ์ที่ทำแล้วไม่ได้ตามที่คาดหวังจะเป็น "ความล้มเหลว" เพียงอย่างเดียวล่ะหรือ? และในความเป็นจริงแล้ว มี ใครที่ประสบความสำเร็จโดยไม่ได้ผ่านการล้มเหลวมาก่อนบ้าง และที่เขาเหล่านั้นประสบความสำเร็จจนได้ เขาได้อะไรจาก "ความล้มเหลวก่อนหน้านั้น" บ้างหรือไม่ ที่จะมาเป็นฐานความสำเร็จในที่สุด?

เป็นไปได้หรือไม่ ที่ความล้มเหลว ความผิดหวัง ผิดคาด ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็น "บันไดที่จำเป็น" ที่จะทำให้เราสามารถก้าวต่อไป หรือก้าวกระโดดไปให้ไกลยิ่งขึ้น นักกีฬากระโดดไกลก่อนจะกระโดด ยังต้องถอยออกไปไกลๆ เพื่อที่จะได้กระโดดให้ไกลที่สุด นักกีฬากระโดดน้ำ ยิ่งกดสปริงบอร์ดลงต่ำเท่าไร จะยิ่งดีดกระดอนส่งตัวให้สูงมากขึ้นเท่านั้น อยู่ในกลางอากาศได้นาน แสดงท่าทางต่างๆให้สมบูรณ์ สวยงามมากยิ่งขึ้น ทุกครั้งที่คนเราจะกระโดด ก็จะต้องย่อตัวลงเสียก่อน เนลสัน แมนเดลลา ติดคุกอยู่ถึง 30+ปี คงแทบจะไม่มี script ไหนที่จะเขียนไว้ให้ล้มเหลวแบบนี้ แต่เราคิดหรือไม่ว่า ช่วงเวลาที่ติดคุกนั้น จะมีผลเช่นไรในการหล่อหลอม conviction ความมุ่งมั่น determination ของมหาบุรุษ

คำถาม ก็คือ ทำไมเราจึงถูกปลูกฝังมาให้กลัว "ความล้มเหลว" ทำไมเราจึงมองเห็นว่าประสบการณ์ที่เป็นความสำเร็จเท่านั้น ที่เป็นที่ยอมรับ ที่เป็นประโยชน์์? ทำไมการ "ประเมิน" คน หรือ โครงการ อะไรก็แล้วแต่ ถึงได้พูดถึงแต่ "ความสำเร็จ"?



ที่จริงเคย quote มาแล้วครั้งหนึ่ง แต่คิดว่าควรจะนำมาอ้างถึงอีกครั้ง ก็คือ จดหมายของ Demming guru ด้านคุณภาพท่านหนึ่ง ที่เขียนมาเป็นคำนำในหนังสือของ Peter Senge เรื่อง The Fifth"s Disciplines (เล่มปรับปรุงใหม่)

"Our prevailing system of management has destroyed our people. People are born with intrinsic motivation, self-respect, dignity, curiosity to learn, joy in learning. The forces of destruction begin with toddlers- a prize for the best Halloween costume, grades in school, gold stars- and so on up through university. On the job, people, teams, and divisions are ranked, rewarded for the top, punishment for the bottom. Management by objectives, quotas, incentive pay, business plan, put together separately, division by division, cause further loss, unknown and unknowable."

พฤติกรรมและเจตนคติที่หลงไหล คลั่งไคล้ใน "ความสำเร็จ" และเกลียด "ความล้มเหลว" นั้น ไม่ได้พึ่งเริ่มมี แต่ค่อยๆหล่อหลอมมาเป็นเวลานาน ตั้งแต่เด็กๆ ที่มองหาพ่อแม่ว่าชอบอะไร จะชมตอนไหน จะตำหนิตอนไหน การให้รางวัลเมื่อสำเร็จ การทำโทษเมื่อล้มเหลว ฝังแน่นอยู่ในประสบการณ์ตรงมาแต่เล็กๆ การแข่งขันกันในทุกๆมิติแห่งชีวิต แข่งขันแม้กระทั่งการได้รับการ "ยอมรับ" จากคนอื่นๆ จากรายการทีวีโชว์หลายๆประเภท ความล้มเหลวหมายถึงน้ำตาแห่งความเสียใจ ความสำเร็จหมายถึงเสียงหัวเราะแห่งความภาคภูมิใจ มีน้อยมากที่จะเฉลิมฉลอง "ประสบการณ์" ที่ผ่านไป แต่ไปเน้นที่ outcome ปลาย ตามทฤษฎีของแมคคาวิลลี ผู้เขียนหนังสือ The Prince ว่าด้วย "The End justifies the Means"

คำถามต่อไปก็คือ "พฤติกรรมเรียนรู้" นั้นเกิดขึ้นตอนไหนบ้าง? เพียงแค่ตอนได้รับผลลััพธ์เท่านั้นหรอกหรือ? แล้ว "ประสบการณ์ตรง" เล่า? มีการเรียนรู้ตอนนั้นเกิดขึ้นหรือไม่ เราควรจะทุ่มเทสมาธิและเกิดความตระหนักว่าเรา "ก็กำลังเรียน" ตอนกระทำอยู่ด้วยหรือไม่ นักศึกษาแพทย์ควรจะรู้ตัวไหมว่า เขากำลังเรียนอยู่ตอนกำลังทำแผล ตอนกำลังอ่าน EKG ตอนกำลังอภิปรายกรณีศึกษา หรือให้ไปเรียนตอนเกรดออก ตอนกำลังทำข้อสอบ? Highlight ของการเรียนรู้อยู่ที่ตอนไหนกันแน่?


Posted by : phoenix , Date : 2008-08-20 , Time : 11:11:20 , From IP : 203.170.234.12

ความเห็นจาก Social Network : Facebook


สงวนสิทธิ์การแสดงความคิดเห็นสำหรับ สมาชิกเท่านั้น
>>>>> Page loaded: 0.003 seconds. <<<<<