ความคิดเห็นทั้งหมด : 0

ผู้ป่วยบอกว่าขอตายอย่างสมศักดิ์ศรีที่รพมอ


   ข่าวจากหนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 09 สิงหาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11109

รศ.นพ.สุเมธ พีรวุฒิ "ผู้ป่วยบอกขอตายอย่างสมศักดิ์ศรีที่มอ."

คอลัมน์ รู้เขารู้เรา

โดย ศีล มติธรรม



ผู้เคยไปศึกษาดูงานหรือคนไข้ที่เคยใช้บริการโรงพยาบาล (รพ.) สงขลานครินทร์ จ.สงขลา ย่อมไม่แปลกใจที่ รพ.ของรัฐภายใต้การดูแลของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หรือ มอ. ได้รับรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ Thailand Quality Class (TQC) เพราะในอดีตองค์กรดังกล่าวกวาดรางวัลมาเป็นระยะๆ อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นรางวัล 5 ส. รางวัล E-Claim รางวัล BUPA Award การได้รับรองมาตรฐานคุณภาพโรงพยาบาล และที่เป็นความภาคภูมิใจของทุกคนใน รพ.ก็คือ พระราชสาส์นจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

การได้รางวัล TQC ถือเป็นองค์กรรัฐขนาดใหญ่แห่งแรกที่คว้ารางวัลนี้มาครอง ส่วนสำคัญที่ทำให้ รพ.แห่งนี้ได้รับรางวัลต่างๆ มากมายนั้น เพราะคนทำงานต่างยึดถือพระราโชวาทของสมเด็จพระบรมราชชนกในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นปรัชญาชี้นำ

"ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง ลาภ ทรัพย์ และเกียรติยศจะตกมาแก่ท่านเอง ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งอาชีพไว้ให้บริสุทธิ์"

รศ.นพ.สุเมธ พีรวุฒิ อดีตผู้อำนวยการ รพ. ปัจจุบันนั่งเก้าอี้คณบดีคณะแพทยศาสตร์ รพ.สงขลานครินทร์ จะมาฉายภาพให้ฟังว่า ปัจจุบันและอนาคต รพ.แห่งนี้จะก้าวไปข้างหน้าในทิศทางใด

ขอทราบจุดเด่นในการบริหารจัดการ

การที่จะได้รับ TQC องค์กรนั้นจะต้องมีค่านิยม 11 ประการ คือ 1.การนำองค์กรอย่างมีวิสัยทัศน์ 2.ความเป็นเลิศ 3.การเรียนรู้ของบุคลากรและองค์กร ส่งเสริมการเรียนรู้ 4.การให้ความสำคัญของพนักงาน 5.จะต้องเกิดความคล่องตัวในการบริหารองค์กร 6.องค์กรนั้นจะต้องมองมุ่งเน้นอนาคตเป็นหลัก 7.ต้องบริหารจัดการเพื่อให้เกิดนวัตกรรม 8.การบริหารจะต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง 9.จะต้องรับผิดชอบต่อสังคม 10.มุ่งเน้นผลลัพธ์ 11.ต้องวางแผนในการทำงาน ต้องมีการวิเคราะห์ และประเมินเพื่อปรับปรุงแก้ไขในการทำงาน

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ รพ.ประสบความสำเร็จ คือการพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานทั่วทั้งองค์กร การยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง ให้ความสำคัญกับบุคลากรทุกระดับ และมีวัฒนธรรมที่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง

ทั้งนี้ ตั้งแต่เริ่มต้นตั้ง รพ.ขึ้นมาเมื่อปี 2525 เราเริ่มพัฒนาคุณภาพบุคลากรมาตลอด และได้ประกาศว่าจะใช้เกณฑ์รางวัลคุณภาพของ รพ.อย่างเป็นทางการเมื่อปี 2547 ทำให้องค์กรมีความเจริญก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดด เช่น การรักษาพยาบาล เราเป็น รพ.ที่มีการรับส่งต่อผู้ป่วยที่มีความยุ่งยากซับซ้อนที่ถูกส่งต่อมาจากที่ต่างๆ เช่น โรงมะเร็ง โรคหัวใจ โรคร้ายๆ โรคทางเดินประสาท รพ.ที่อื่นรักษาไม่ได้ เนื่องจากเรามีผู้เชี่ยวชาญจบปริญญาเอกมากถึง 153 คน เราผลิตๆ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาเป็นผู้เชี่ยวชาญต่อยอดปีละประมาณ 100 คน ดังนั้น ใน รพ.ต่างๆ ที่กรุงเทพฯมีศิษย์เก่าที่จบจาก รพ.สงขลานครินทร์มากมาย



ความพร้อมเช่นนี้ ทำให้ผู้ป่วยมุ่งมารักษาที่นี่ใช่ไหม

ถนนทุกสายเข้าสู่ รพ.มอ. ผู้ป่วยบอกขอตายอย่างสมศักดิ์ศรีที่ มอ. ทำให้องค์กรรับภาระหนักมาก อย่างไรก็ตาม เรามีศูนย์ความเป็นเลิศเยอะ เช่น ศูนย์ความเป็นเลิศหัวใจ ศูนย์ความเป็นเลิศชีวันตภิบาลซึ่งเป็นการรักษาผู้ป่วยด้วยกาย ใจ จิต วิญญาณ ศูนย์ความเป็นเลิศไอที ศูนย์ความเป็นเลิศเหล่านี้สามารถสกัดผู้ป่วยไม่ให้เข้ากรุงเทพฯ เพราะเราทำได้ทุกอย่างเหมือนกับ รพ.ที่ดีที่สุดในกรุงเทพฯทำได้ เราพบว่า คนใต้เป็นมะเร็งหลอดอาหารเยอะ มะเร็งปอดก็เยอะมาก

ในแต่ละปีนี่มีผู้ป่วยมาใช้บริการที่ รพ.ปีละกว่า 900,000 คน เฉพาะผู้ป่วยนอกอย่างเดียว และขึ้นเป็นล้านกว่าคนในอนาคตอันใกล้นี้ เรามีผู้ป่วยรอตรวจวันละเกือบ 3,000 คน เปิดดำเนินการ 7 วัน ไม่มีวันหยุด ความพอใจของผู้มารับบริการนี่เพิ่มขึ้นมาก ปีสุดท้ายถึง 89%

ปัญหาของเราคือ 1.โครงการหลักประกันสุขภาพของรัฐที่มีปัญหาในการเบิกจ่าย 2.ปัญหาเรื่องสวัสดิการข้าราชการของรัฐที่เบิกจ่ายน้อยกว่าความเป็นจริง แต่ใช้วิธีการบริหารจัดการพิเศษเพื่อถ่ายเงินจากคนรวยสู่คนจน อาทิ จัดคนมีฐานะไปผ่าตัดนอกเวลา และนำเงินจากตรงนี้ไปเป็นผลตอบแทนบุคลากร นำมาซื้อครุภัณฑ์ ซึ่งคนจนจะได้ประโยชน์ ขณะเดียวกันเราก็รับผิดชอบต่อการให้บริการสังคม ปีๆ หนึ่งใช้ช้งบประมาณกว่า 40 ล้านบาท เพื่อสังคมสงเคราะห์ผู้ป่วยยากไร้

ช่วง 3-4 ปีนี้ รพ.ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ โดยเฉพาะสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ให้กับ รพ.เป็นระยะๆ มาโดยตลอด โดยทรงกำชับว่าให้มอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับผู้ป่วย และเราได้รับคำชมเชยจากพระองค์ท่าน

มีแผนจะทำอะไรบ้าง

ช่วงปี 2551-2553 จะตั้งศูนย์อุบัติเหตุและฉุกเฉินที่ดีที่สุดในประเทศ สามารถส่งผู้ป่วยผ่านโดยเฮลิคอปเตอร์ได้เลย เพราะบาดแผลจากการทำงานใน 3-4 ปี ถือว่าเป็นผู้ป่วยที่ได้รับบาดแผลจากสงคราม มีแผนดำเนินการมากมาย เราใช้เงินมากมายเป็นพันๆ ล้านบาท เฉพาะตัวอาคารก็ใช้เงินกว่าพันล้านบาท ครุภัณฑ์ต่างๆ ต้องทันสมัยและดีที่สุด คาดว่าจะใช้เกือบ 3,000 ล้านบาท ในอีกสามปีข้างหน้าจะต้องสำเร็จ เราได้รับการสนับสนุนจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ บริจาคมา 150 ล้านบาท เพื่อสร้างหออภิบาลผู้ป่วยหนัก ผมอยากให้องค์กรมหาชนทำบุญ มาช่วยกันสร้างหออุบัติเหตุที่ดีๆ เช่น ปตท.น่าจะมาช่วยเรา


Posted by : thiopental , Date : 2008-08-09 , Time : 20:24:27 , From IP : 125.24.166.236.adsl.

ความเห็นจาก Social Network : Facebook


สงวนสิทธิ์การแสดงความคิดเห็นสำหรับ สมาชิกเท่านั้น
>>>>> Page loaded: 0.003 seconds. <<<<<