ความคิดเห็นทั้งหมด : 2

ตรวจก่อน รู้ก่อน ปลอดภัยกว่า


   ตรวจก่อน รู้ก่อน ปลอดภัยกว่า


นอกเหนือไปจากความงามแล้วความสดใส กระปรี้กระเปร่าเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของผู้หญิง คนที่จะมีบุคลิกเช่นนี้ย่อมเป็นคนที่มีสุขภาพจิตและสุขภาพกายแข็งแรงดี


สุขภาพของคุณนั้นดีแค่ไหน การตรวจร่างกายจะช่วยบอกคุณได้ เพื่อให้เราได้รู้ความเป็นไป หรือสัญญาณเตือนจากภายในของเรา เพื่อที่จะสามารถดูแล ปรับปรุง หรือจัดการได้ทันท่วงทีก่อนที่โรคต่างๆ จะก่อตัวขึ้นมานั่นเอง ผู้หญิงสมัยนี้มีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าแต่ก่อน เพราะดูแลรักษาสุขภาพร่างกายในเชิงป้องกัน ซึ่งการตรวจสุขภาพเบื้องต้นก็เป็นวิธีเชิงป้องกันที่ดี ที่สามารถบ่งบอกถึงสุขภาพ และจะช่วยให้ตรวจพบโรคหรือความผิดปกติต่างๆ ก่อนที่จะมีอาการ ซึ่งระยะดังกล่าวการรักษาจะมีประสิทธิภาพมากที่สุด

การตรวจสุขภาพชนิดใดบ้างที่จำเป็นสำหรับผู้หญิง

การตรวจเต้านม
เต้านมเป็นส่วนสำคัญที่ผู้หญิงทุกคนหวงแหน การตรวจเต้านมทำได้หลายวิธีแต่พื้นฐานคือการตรวจด้วยมือ แม้ว่าการตรวจเต้านมด้วยตนเองทุกเดือนสามารถช่วยให้ผู้หญิงตรวจพบการเปลี่ยนแปลงของเต้านมก่อน แต่การตรวจที่ดีที่สุดสำหรับมะเร็งเต้านมคือการตรวจเต้านมทางคลินิก และการทำแมมโมแกรม โดยผู้หญิงควรตรวจมะเร็งเต้านมทางคลินิกทุกๆ 3 ปี ก่อนที่อายุครบ 40 ปี หลังจากนั้นต้องไปตรวจแมมโมแกรม ทุกๆ ปีเมื่ออายุมากกว่า 40 ปี ขึ้นไป

การตรวจแมมโมแกรมเป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่นิยมใช้กันในปัจจุบันเพราะมีความละเอียดสูง สามารถตรวจพบมะเร็งก่อนที่จะรู้สึกว่าเป็นก้อนเนื้อได้ล่วงหน้าถึง 2 ปี แม้ว่าแมมโมแกรมจะสามารถตรวจพบมะเร็งได้หลายชนิด แต่ก็เป็นไปได้ว่าอาจผิดพลาดตรวจไม่พบได้บ้าง และในอีกทางหนึ่งผลที่ได้จากการตรวจแมมโมแกรมเมื่อนำไปตรวจสอบเพิ่มเติมด้วยวิธีตัดชิ้นเนื้อ ก็อาจพบว่าผลที่ได้เป็นปกติไม่เป็นมะเร็งก็ได้


การตรวจมะเร็งปากมดลูก (Pap Test)
การตรวจมะเร็งปากมดลูก (Pap test) ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ผู้หญิงไม่ควรพลาด เพราะมะเร็งปากมดลูกเมื่อรู้ก่อน รักษาได้เร็ว มีโอกาสหายได้สูง การตรวจหาเซลล์มะเร็งปากมดลูก จะเป็นการตรวจภายใน โดยแพทย์จะนำเซลล์จากปากมดลูกไปตรวจหาความผิดปกติของมะเร็งที่ยังไม่แสดงอาการ โดย U.S. Preventive Services Task Force (USPSTF) ได้แนะนำให้ผู้หญิงทำการตรวจมะเร็งปากมดลูกในช่วงประมาณ 3 ปี หลังจากเริ่มมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก หลังจากนั้นควรกลับไปตรวจซ้ำอีกทุกๆ 3 ปี

สำหรับผู้หญิงอายุมากกว่า 65 ปี ไม่จำเป็นต้องไปตรวจมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำเหมือนวัยสาว หากผลการตรวจที่ผ่านมาได้ผลปกติ และไม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งปากมดลูก ส่วนผู้หญิงที่ได้รับการตัดมดลูกและปากมดลูกออกด้วยสาเหตุที่ไม่เกี่ยวกับมะเร็ง ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องทำการตรวจมะเร็งปากมดลูกด้วยเช่นกัน


การตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
การตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มีความจำเป็นสำหรับผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีคู่นอนมากกว่า 1 คน และหนึ่งในนั้นก็มีคู่นอนอีกหลายคน เชื้อที่ตรวจพบมากที่สุด คือ chlamydia ซึ่งหากปล่อยไว้ไม่รักษา อาจส่งผลทำให้เป็นหมันได้ ส่วนเชื้อตัวอื่นที่พบบ่อยเช่นกัน ได้แก่ หนองใน (gonorrhea) ซิฟิริส โรคเอดส์ (HIV) เริม (HPV) และไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B)

การที่ตรวจพบได้เร็วเท่าไรก็จะทำให้ได้รับการรักษาเร็วขึ้นเท่านั้น หรืออย่างน้อยก็ทำให้ทราบว่าควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือรูปแบบการใช้ชีวิตเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นต่อไปอย่างไร เพราะเชื้อบางชนิดนั้นเมื่อติดแล้วก็จะเกาะกินคุณไปตลอดกระทั่งอาจพรากชีวิตคุณด้วยก็เป็นไปได้ เช่น เชื้อ HIV ต้นเหตุของโรคเอดส์ที่รู้จักกันดี หรือไวรัสตับอักเสบบีที่อาจกลายเป็นมะเร็งตับในอนาคต สำหรับบางคนที่ไม่เคยตรวจมาก่อนแต่ได้ติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ดังกล่าว แล้วตั้งครรภ์ เชื้อบางชนิดก็อาจถ่ายทอดไปสู่ลูกในครรภ์ได้เช่นกัน ซึ่งก็เป็นอันตรายต่อเด็กทารกอย่างยิ่งยวด และเรื่องสำคัญที่ควรตรวจหาโรคทางเพศสัมพันธ์ก็เพื่อรับผิดชอบต่อสังคม คือการไม่แพร่กระจายเชื้อนั้นๆ สู่ผู้อื่นต่อไป


การตรวจเบาหวาน
ปัจจุบันผู้หญิงมีสถิติเป็นโรคเบาหวานกันมากขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานหรือเป็นโรคอ้วน หรือบางคนที่มีไขมันบริเวณหน้าท้องมาก ก็มีงานวิจัยออกมายืนยันแล้วว่ามีแนวโน้มที่จะเป็นโรคเบาหวานมากกว่าคนน้ำหนักตัวปกติ หรือคนที่มีไขมันบริเวณส่วนๆ อื่นมากกว่าหน้าท้อง โดยผู้หญิงส่วนใหญ่จะเริ่มเป็นเบาหวานในช่วงวัยกลางคน แต่มีแนวโน้มพบมากขึ้นในวัยรุ่น บาหวานชนิดที่เป็นกันมากก็คือ เบาหวานชนิดที่ 2 เนื่องจากมีน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น เพราะร่างกายไม่สามารถสร้างอินซูลินได้เพียงพอหรือไม่สามารถใช้อินซูลินได้ตามปกติ

ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 คือ อายุ ความอ้วน ขาดการออกกำลังกาย และกรรมพันธุ์ พบว่ามีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน นอกจากนี้ยังพบบ่อยในผู้ที่เป็นเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ หรือในกลุ่มอาการที่รังไข่มีถุงน้ำหลายใบ ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง ผู้ที่มีระดับโคเลสเตอรอลสูง มีความทนทานต่อน้ำตาลบกพร่อง หรือเคยตรวจพบระดับกลูโคสในพลาสมาผิดปกติ

American Diabetes Association (ADA) แนะนำว่าผู้หญิงควรตรวจโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ทุกๆ 3 ปีนับตั้งแต่อายุ 45 ปี ถ้าไม่มีปัจจัยเสี่ยง แต่สำหรับผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว หรือมีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน เช่น มีดัชนีมวลกาย (BMI) ระหว่าง 25-29 หรือเป็นโรคอ้วน มีดัชนีมวลกาย 30 ขึ้นไป ควรไปตรวจเร็วขึ้นและถี่ขึ้น


การตรวจหาโรคหัวใจ
ทุกวันนี้ต้องยอมรับกันว่ารูปแบบการกินของเราเปลี่ยนแปลงไปมาก อาหารไทยที่เคยเน้นผัก ปลา น้ำพริก มาเป็นอาหารสำเร็จรูป ฟาสต์ฟู๊ด การรับประทานอาหารไขมันสูงมากขึ้น และที่สำคัญขาดการออกกำลังกาย จึงทำให้เป็นโรคอ้วน ความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวาน ทั้งหมดนี้ล้วนส่งผลต่อการเป็นโรคหัวใจ เป็นที่สังเกตว่าในผู้หญิงอาจจะไม่รู้สึกถึงอาการเกี่ยวกับกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน แต่ผู้หญิงมักมีโอกาสมากกว่าผู้ชายที่จะมีอาการอาหารไม่ย่อย หายใจลำบาก หรือเจ็บปวดกล้ามเนื้อ แทนที่จะมีอาการเจ็บหน้าอกอย่างทั่วๆ ไป

USPSTF แนะนำว่าผู้หญิงอายุมากกว่า 18 ปีขึ้นไป ควรตรวจความดันโลหิตเป็นประจำ ถ้ามีความดันโลหิตต่ำกว่า 130/80 ควรไปตรวจทุกๆ 2 ปี แต่ถ้าความดันโลหิตสูงมากกว่านั้นหรือมีความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ เช่น มีระดับโคเลสเตอรอลสูงหรือเป็นเบาหวานอยู่แล้วควรไปตรวจให้ถี่มากขึ้น

ผู้หญิงอายุ 45 ปีขึ้นไป ควรตรวจระดับความดันโลหิต และระดับโคเลสเตอรอลเป็นประจำ แต่สำหรับผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจ เช่น เป็น เบาหวาน หรือสูบบุหรี่ ควรเริ่มไปตรวจระดับโคเลสเตอรอลตั้งแต่อายุ 20 ปี โดย National Heart, Lung and Blood Institute แนะนำว่าผู้ที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป ควรตรวจเช็คระดับโคเลสเตอรอลทุกๆ 5 ปี


การตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูก
กระดูกของผู้หญิงมีความหนาแน่นน้อยกว่าผู้ชาย และยิ่งเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน จะยิ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะสูญเสียเนื้อกระดูกอย่างรวดเร็ว ซึ่งก่อให้เกิดภาวะกระดูกพรุน (osteoporosis) โดยผู้หญิงประมาณครึ่งหนึ่งของกลุ่มที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือน จะมีปัญหาที่เกี่ยวข้องกับภาวะกระดูกพรุนตลอดช่วงชีวิต

ผู้หญิงที่หมดประจำเดือนควรควรตรวจหาภาวะกระดูกพรุนเป็นประจำ ส่วนคนที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุน เช่น น้ำหนักน้อย หรือไม่ได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนทดแทน ควรปรึกษแพทย์เป็นการเฉพาะ การทราบผลของภาวะกระดูกพรุนจะช่วยให้แพทย์ได้ทราบว่าควรดูแลคุณต่อไปอย่างไร รวมถึงผู้หญิงที่มีภาวะกระดูกพรุนเองก็จะได้ระมัดระวังป้องกันอุบัติเหตุในการใช้ชีวิตประจำวันด้วย เนื่องจากคนที่เป็นโรคกระดูกพรุนเมื่อเกิดการกระแทกหรือหกล้มก็อาจจะทำให้กระดูกแตกหักง่ายกว่าคนปกติซึ่งเป็นอันตรายพอสมควรถ้าเกิดในตำแหน่งสำคัญ เช่น ข้อมือ หรือสะโพก เป็นต้น

กระนั้นการป้องกันโรคกระดูกพรุนควรเริ่มตั้งแต่วัยรุ่น โดยการสะสมความหนาแน่นของกระดูกด้วยการกินอาหารที่มีแคลเซียมสูง ออกกำลังกายที่มีแรงกดกระแทกอย่างสม่ำเสมอ เพราะหากเข้าสู่วัยทองแล้วการเสริมความหนาแน่นของกระดูกคงเป็นไปไม่ได้


การตรวจไทรอยด์
American Thyroid Association แนะนำให้มีการตรวจเลือดหาระดับฮอร์โมนไทรอยด์ TSH (thyroid stimulating hormone) เพื่อตรวจหาความผิดปกติของไทรอยด์ โดยผู้หญิงควรตรวจหาความผิดปกติของไทรอยด์ ตั้งแต่อายุ 35 ปีขึ้นไป และควรตรวจซ้ำเป็นประจำทุกๆ 5 ปี ทั้งนี้ความผิดปกติของการทำงานของต่อมไทรอยด์ จะนำมาซึ่งความผิดปกติต่างๆ ของร่างกาย และที่สำคัญในหญิงที่ต้องการมีบุตรก็ควรตรวจไทรอยด์ก่อนคิดตั้งครรภ์ แม้ว่าคุณจะอายุไม่ถึง 35 ปีก็ตาม เพื่อความปลอดภัยทั้งต่อตัวคุณแม่และคุณลูกเอง


การตรวจหามะเร็งลำไส้ใหญ่
USPSTF แนะนำว่าผู้หญิงอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ควรตรวจหามะเร็งลำไส้ใหญ่ แต่ถ้ามีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งที่เกิดจากติ่งเนื้อมากๆ ในลำไส้ หรือมีภาวะถ่ายทอดมะเร็งลำไส้ทั้งแบบไม่สัมพันธ์กับติ่งเนื้อ หรือตนเองมีประวัติเคยเป็นโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง ก็ควรเริ่มตรวจลำไส้ใหญ่ให้เร็วขึ้น ซึ่งก็สามารถทำการตรวจได้หลายวิธี เช่น การตรวจหาเลือดที่แฝงมากับอุจจาระ การส่องกล้องผ่านทางทวารหนัก (sigmoidoscopy) ที่ใช้กล้องที่ยืดหยุ่นบางๆ เข้าไปตรวจลำไส้ส่วนปลายเพื่อหาก้อนเนื้อก่อนเป็นมะเร็ง การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ทั้งหมด (colonoscopy) ที่ใช้กล้องที่ยาวกว่าตรวจสอบทั้งลำไส้เพื่อหาก้อนเนื้อก่อนเป็นมะเร็ง การตรวจเอกซเรย์ barium enema ที่แพทย์จะเอกซเรย์ลำไส้เพื่อหาก้อนเนื้อก่อนเป็นมะเร็ง โดยคุณอาจปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีในการตรวจที่เหมาะกับคุณมากที่สุด

และทั้งหมดนี้ก็เป็นการตรวจพื้นฐานเพียง 8 อย่างที่สำคัญเท่านั้นที่จำเป็นสำหรับคุณผู้หญิง ในแต่ละช่วงวัย หรือในภาวะที่ต่างกันออกไป คุณอาจจะรอตรวจพร้อมกับตรวจสุขภาพประจำปี หรืออาจจะไปรับการตรวจเป็นการเฉพาะก็ได้ ปัจจุบันในโรงพยาบาลเอกชนต่างๆ ก็มีแพคเก็จตรวจสุขภาพหลากหลายแบบให้เลือกในราคาที่ต่างกันออกไป และส่วนใหญ่ก็จะมีการตรวจพื้นฐาน 8 อย่างนี้รวมอยู่ด้วย หากขาดอย่างใดไปคุณก็สามารถขอตรวจเพิ่มได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็มีก็เพียงเพื่อเมื่อเรารู้ตัวก่อน เราก็จะได้ทันระวังรักษาได้ก่อน และโรคต่างๆ ก็จะได้ห่างๆ ไกลคุณผู้หญิงออกไปไงคะ



ที่มาข้อมูล :นิตยสาร Health Today


Posted by : thiopental , Date : 2008-07-27 , Time : 12:40:46 , From IP : 125.24.112.150.adsl.

ความคิดเห็นที่ : 1


   ข้อมูลนี้ บางส่วนต้องระวังให้ดี เพราะทำให้เข้าใจผิด/หลงผิดได้

เรื่องมะเร็งเต้านม เรื่องมาเร็งปากมดลูก หรือมะเร็งอื่น ๆ คงต้องตรวจหา แต่ก็ทำได้เนิ่นกว่านั้นได้บ้าง เช่น การมีสำส่อนทางเพศ หลีกเลี่ยงอาหารปิ้งย่าง ฯลฯ

แต่บางเรื่อง ที่แนะนำให้เจาะ/วัดนั้น นับว่ายังเป็นการตั้งรับ เช่น ความดันโลหิตสูง และเบาหวาน หลายคนถูกแนะนำให้วัด-เจาะเช็ค แล้วพบว่าปรกติ ก็ปล่อยตัวไปเรื่อย ยังปล่อยให้น้ำหนักเกิน ไม่ออกกำลังกาย ยังบริโภคอาหารที่หวาน-มัน-เค็ม-แคลลอรี่สูง ดังนั้น การแนะนำว่าให้วัด-เจาะไปเรี่ยง ๆ "เช็คสุขภาพปีละคร้ง" ไม่ใช่การป้องกันที่ดี ยังเป็นการตั้งรับ

ที่ควรทำในปัจจุบัน รวมทั้งรพ.มอ.เราด้วย คือ การทำให้ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง ทั้งที่มีญาติสายตรงเป็นโรคบางอย่าง เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน มะเร็ง ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง ตั้งแต่ก่อนเขาเป็นโรค คือความดันขึ้นเกินแล้ว หรือน้ำตาลในเลือดสูงเกินแล้ว

การตรวจวัดมวลกระดูกนั้น ก็นับว่าเป็นการตั้งรับ เมื่อพบว่าบางแล้ว ก็สายเสียแล้ว หากจะรนรงค์ ก็ต้องหากระบวนการที่ทำให้คนปรกติ สามารถคงสภาวะมวลกระดูกหนาแน่พอ ให้เขาทำ ตั้งแต่ก่อนมวลกระดูกเขาจะบาง

เห็นแย้งได้นะจ๊ะ


Posted by : LuvFac , Date : 2008-07-27 , Time : 18:51:32 , From IP : 172.29.9.79

ความคิดเห็นที่ : 2


   ขอเสริมคุณ LuvFac อีกนิดครับ (ฉวยโอกาส)

ที่จริงตามนโยบายขององค์กรอนามัยโลกนั้น การสร้างเสริมสุขภาพนั้น ดีที่สุดคือ "ทำทุกคน" ไม่่ว่าจะมีความเสี่ยงที่เราทราบหรือไม่ เพราะ "ความเสี่ยงที่เราทราบ"นั้น ยังไม่ได้ครอบคลุม "ความเสี่ยงทุกอย่าง" ที่เป็นไปได้ อาจจะเป็นจากหลายสาเหตุ อาทิ ยังไม่มีการศึกษา หรือยังหา sample size ไม่พอที่จะบอกว่าใช่หรือไม่ แต่การทำให้ตนเองมีสุขภาพที่ดีเสียก่อน น่าจะเป็นยุทธศาสตร์ที่ดีที่สุด

Ottawa charter ที่เป็นกฏบัตรแม่บทของการสร้างเสริมสุขภาพนั้น ทั้งฉบับไม่ได้มีคำว่า "doctor" เลย (quoted มาจาก อ.นพ.มงคล ณ สงขลา) แสดงให้เห็นว่า "สุขภาวะกำเนิด" นั้นเกิดขึ้นที่การดำรงชีวิต การใช้ชีวิต การศึกษา ฯลฯ แต่เมื่อมาถึงมือหมอ มือพยาบาลแล้วนั้น มักจะสายเกินไปแล้ว ส่วนเครื่องมือเครื่องไม้ในการตรวจคัดกรองนั้น ก็จะช่วยหา "โรค" ที่ค่อยๆเกิดขึ้นจากพฤติกรรมของเราสั่งสมหมักหมมเป็นเวลานานแล้วนั่นเอง


Posted by : phoenix , Date : 2008-07-27 , Time : 21:55:06 , From IP : 172.29.9.38

ความเห็นจาก Social Network : Facebook


สงวนสิทธิ์การแสดงความคิดเห็นสำหรับ สมาชิกเท่านั้น
>>>>> Page loaded: 0.004 seconds. <<<<<