ความคิดเห็นทั้งหมด : 0

เด็กเครียดการบ้านเยอะ


   จิตแพทย์ชี้เด็กเป็นโรคเครียดการบ้านเยอะ

จิตแพทย์ชี้เด็กเป็นโรคเครียด เหตุครูสั่งการบ้านเยอะแถมยากบวกกังวลครอบครัว แนะครูลดปริมาณการบ้าน ผู้บริหาร สพฐ.แจงมีระเบียบคุมเข้ม เฟ้นหาร.ร.สอนเยี่ยม-การบ้านน้อยเป็นแบบอย่างให้ร.ร.ทั่วประเทศ ระบุหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานฉบับปรับปรุงให้เด็กทุกระดับชั้นเรียนน้อยลง ส่งผลการบ้านลดลง

กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ : เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม นพ.จอม ชุมช่วย จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลมนารมย์ กล่าวว่า ปัจจุบันเด็กเป็นโรคเครียดมากขึ้น สาเหตุหลักเกิดจากปัญหาครอบครัว และส่วนหนึ่งเกิดจากการเรียน โดยเฉพาะเรื่องของการบ้านในแต่ละรายวิชา บางรายวิชานั้นเยอะจนเกินไปและยังยากอีกด้วย อาจจะส่งผลให้เด็กเครียด บางครอบครัวพอตรวจสอบตารางการบ้านพบว่าใช้เวลาทำการบ้านเกือบ 3 ชั่วโมง ทำให้เด็กไม่มีเวลาพักทั้งที่เมื่อเลิกเรียนก็อยากจะเล่นสนุกเป็นอิสระ

นพ.จอม กล่าวอีกว่า สาเหตุที่ทำให้เด็กเครียดนั้นมีปัจจัยหลัก คือ 1.การเรียน เช่น ครูอาจจะสั่งการบ้านเยอะเกินไป หากแต่ละวันครูสั่งการบ้านมากถึง 5 วิชา เด็กก็อาจจะเครียด และอาจจะเกิดจากถูกครูดุ รวมไปถึงความสัมพันธ์กับเพื่อนในโรงเรียน เช่น โดนเพื่อนแกล้ง 2.เด็กวิตกกังวลว่าพ่อแม่ไม่รัก รักคนอื่นมากกว่าตนเอง กลัวว่าพ่อแม่ทะเลาะกันและจะแยกทางกัน

นพ.จอม กล่าวต่อไปว่า ความเครียดของเด็กแบ่งออกเป็นได้ 3 ระดับอาการ ระดับแรกเด็กอาจจะเครียด วิตกกังวล ไม่มีสมาธิ แต่ไม่กระทบต่อผลการเรียน และความสัมพันธ์ของคนรอบข้าง ส่วนระดับที่สองส่งผลกระทบต่อการเรียน การทำงาน และความสัมพันธ์ของคนรอบข้างแล้ว และระดับที่สามเป็นระดับที่รุนแรงและมีผลกระทบอย่างมาก ทำให้เด็กไม่มีสมาธิ ผลการเรียนตก ซึมเศร้า เหม่อลอย อยากตาย ร่างกายไม่มีพละกำลัง

"ครูต้องใส่ใจต่อเด็กให้มากในเรื่องการสั่งการบ้าน เด็กที่มีปัญหาการเรียน อาจจะเพราะรับรู้ช้า หรือสมาธิสั้น ครูอาจจะต้องเปลี่ยนวิธีสั่งการบ้าน หรือสั่งการบ้านพิเศษให้แก่เด็กที่มีปัญหา แยกกันว่าเด็กที่ไม่มีปัญหาการเรียน หรือพวกที่ติดท็อปเท็น อาจจะสั่งการบ้านปกติ แต่เด็กที่สมาธิสั้นอาจจะสั่งการบ้านที่ง่ายๆ และไม่เยอะจนเกินไป แต่ในปัจจุบันพบว่าครูส่วนมากไม่ค่อยได้ใส่ใจถึงเรื่องนี้มากเท่าที่ควร เด็กก็เลยเครียด" นพ.จอม กล่าว

นายสุชาติ วงศ์สุวรรณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนากระบวนการเรียนรู้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา สพฐ.เคยหารือกับโรงเรียนเรื่องปัญหาการให้การบ้านเด็กเยอะมาหลายครั้ง และได้ออกแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการที่โรงเรียนให้การบ้านเด็กตั้งแต่สมัยนางพรนิภา ลิมปพยอม เป็นเลขาธิการ กพฐ. และนายอดิศัย โพธารามิก เป็น รมว.ศึกษาธิการ เช่น โรงเรียนต้องดูว่าวิชาหลักๆ เช่น ภาษาไทย คณิตศาสตร์ จะต้องให้การบ้านเด็กเท่ากัน โดยแบ่งเวลาในวันจันทร์-ศุกร์ดูว่าแต่ละวิชาจะให้การบ้านเด็กอย่างไร เพื่อไม่ให้เด็กมีการบ้านมากเกินไป จะได้มีเวลาพักผ่อนและออกกำลังกาย

"การให้การบ้านเด็กนั้นภายในโรงเรียนทั้งผู้บริหารและครูจะต้องพูดคุยตกลงกันแต่ละวิชาจะให้การบ้านเด็กอย่างไร เพื่อไม่ให้เด็กมีการบ้านมากเกินไป และเมื่อเด็กอยู่โรงเรียนก็ควรให้ทำการบ้านให้เสร็จ สพฐ.ได้ให้โรงเรียนมีระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนอยู่แล้ว ทำให้ครูรู้จักและเข้าใจเด็กเป็นรายบุคคล และวางแผนการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับศักยภาพของเด็กแต่ละคน เช่น เด็กเรียนรู้ช้า สมาธิสั้น ครูจะเข้าใจว่าควรให้การบ้านเด็กกลุ่มนี้อย่างไร" นายสุชาติ กล่าว

นางเบญจลักษณ์ น้ำฟ้า ผอ.สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สพฐ. กล่าวว่า หากครูให้การบ้านเยอะ พ่อแม่ก็มองว่าลูกเรียนหนัก หรือถ้าลูกมีการบ้านน้อย พ่อแม่ก็มักสงสัยโรงเรียนสอนดีหรือไม่ อย่างไรก็ตาม หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2544 ทั้งฉบับเดิมและหลักสูตรฉบับปรับปรุงใหม่ ไม่ระบุลงลึกถึงการให้การบ้านนักเรียนเพียงแต่บอกถึงหลักสูตรและแนวทางการจัดการเรียนการสอน

"หลักสูตรใหม่นี้มี 8 กลุ่มสาระเหมือนเดิม แต่เมื่อนำมาใช้แล้ว จะทำให้เด็กเรียนน้อยลง เพราะระบุชัดเจนว่า ระดับประถมให้เรียนไม่เกิน 1,000 ชั่วโมงต่อปี มัธยมต้นไม่เกิน 1,200 ชั่วโมงต่อปี และมัธยมปลายรวม 3 ปี ไม่เกิน 3,600 ชั่วโมงต่อปี และต้องจัดเวลาให้เด็กออกกำลังกาย ต่างจากหลักสูตรเก่าที่ไม่ระบุชัดเจนว่า แต่ละระดับห้ามเกินกี่ชั่วโมง เชื่อว่าเมื่อเวลาเรียนลดลง จะทำให้การบ้านนักเรียนแต่ละระดับชั้นลดลงไปด้วย นอกจากนี้ สพฐ.ยังได้เปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้ปกครองผ่านเว็บไซต์ www.obec.go.th ของ สพฐ. ถึงแนวทางการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมเพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์จัดทำเป็นคู่มือแนวทางการจัดการเรียนการสอนให้โรงเรียน และจะใส่ข้อมูลด้วยว่าโรงเรียนจะสอนอย่างไรให้เด็กเรียนอย่างมีความสุข" นางเบญจลักษณ์ กล่าว

นางเบญจลักษณ์กล่าวอีกว่า ปัญหานักเรียนมีการบ้านเยอะเกิดจากครูแต่ละวิชาต่างให้การบ้านนักเรียนโดยไม่ได้หารือกันก่อน ผู้บริหารและครูจะต้องพูดคุยกัน เพื่อไม่ให้เด็กมีการบ้านมากเกินไป โดยนำการบ้านแต่ละวิชามาบูรณาการกันแทนที่จะให้การบ้านในแต่ละรายวิชา จะทำให้เด็กมีการบ้านน้อยลง ซึ่งจะต้องให้แต่ละสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ประสานและทำความเข้าใจกับโรงเรียนในพื้นที่

"สพฐ.จะคัดเลือกโรงเรียนที่สอนได้อย่างมีคุณภาพ โดยที่นักเรียนมีการบ้านไม่เยอะมาเป็นตัวอย่างให้โรงเรียนต่างๆ จะเปิดให้โรงเรียนและครูทั่วประเทศเสนอเข้ามาผ่านเว็บไซต์ สพฐ. แล้วคัดเลือกโรงเรียนกลุ่มนี้จำนวนหนึ่งมาเสนอในการประชุม ผอ.สพท.ทั่วประเทศในเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อให้ สพท.แต่ละแห่งนำไปใช้เป็นตัวอย่างและทำความเข้าใจกับโรงเรียนในพื้นที่" นางเบญจลักษณ์ กล่าว

นายศิลปชัย บูรณพานิช นายกสมาคมพัฒนาวิชาชีพครูแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หลังจากปฏิรูปการศึกษา โดยเฉพาะ 2-3 ปีที่ผ่านมา ครูทั่วประเทศได้ปรับเปลี่ยนการสอนและการให้การบ้านนักเรียนแล้ว ปัจจุบันก่อนที่ครูจะให้การบ้านจะต้องวิเคราะห์ผู้เรียนและประสานกับครูในกลุ่มสาระวิชาอื่นๆ ก่อน เช่น การทำโครงงาน เดิมแต่ละกลุ่มสาระวิชาต่างฝ่ายต่างสั่งงานนักเรียน แต่ปัจจุบันครูในแต่ละกลุ่มสาระวิชาต้องปรึกษากันก่อนที่จะสั่งให้เด็กทำโครงงาน จะช่วยให้เด็กทำเพียง 1 โครงงานแต่ได้เรียนรู้หลายกลุ่มสาระวิชา


Posted by : thiopental , Date : 2008-07-12 , Time : 22:03:19 , From IP : 125.24.126.148.adsl.

ความเห็นจาก Social Network : Facebook


สงวนสิทธิ์การแสดงความคิดเห็นสำหรับ สมาชิกเท่านั้น
>>>>> Page loaded: 0.002 seconds. <<<<<