ความคิดเห็นทั้งหมด : 2

ไขข้อข้องใจ"กฎหมายไอที" รู้ไว้ห่างไกลคุก!


    ปัจจุบัน เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตและสารทนเทศ (ไอที) ได้เข้ามามีบทบาทต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ทั้งด้านการค้า การศึกษา การติดต่อสื่อสาร

ประโยชน์ของอินเตอร์เน็ตนั้นมีมากมหาศาล แต่ขณะเดียวกันก็มีโทษอนันต์ถ้าใช้ผิดวิธี "ข่าวสดหลาก&หลาย" รวบรวมคำถาม-ไขข้องใจปัญหาข้อกฎหมายที่พบบ่อยว่า การใช้อินเตอร์เน็ตในทางที่ผิดรูปแบบไหน ทำให้ต้องเสี่ยงคุกเสี่ยงตะราง!



การใช้ "ชื่อ" และ "นามแฝง"

โลกอินเตอร์เน็ตเปิดช่องให้ผู้ใช้สามารถตั้งชื่อปลอม นามแฝง โกหกสถานะและอายุได้อย่างง่ายดาย

ในกรณีที่ใช้ "นามแฝง" ที่ตั้งขึ้นมาเองหรือไม่เกี่ยวข้องกับผู้ใดและไม่ได้เข้าไปเขียนข้อความให้ร้ายผู้อื่นคงไม่มีปัญหา

แต่ถ้านำชื่อของบุคคลอื่นมาใช้โดยเจ้าตัวไม่ได้รับรู้ จนทำให้เกิดความเสียหายจะต้องรับผิด อาจถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้



การพนันออนไลน์

ตามกฎหมายแบ่งแยกการพนันออกเป็น 2 ประเภท โดยแยกออกเป็น "บัญชี ก." และ "บัญชี ข."

กลุ่มที่อยู่ในบัญชี ก. กฎหมายห้ามเล่นโดยเด็ดขาด อาทิ พวกหวย ก.ข. ไฮโล ไพ่ต่างๆ ส่วนประเภทสองที่อยู่ในบัญชี ข. เล่นได้แต่ต้องขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติก่อน

เว็บไซต์เกี่ยวกับการพนันออนไลน์มีนับไม่ถ้วน ส่วนใหญ่จะเป็นไพ่ต่างๆ และสล็อตแมชชีน ซึ่งถือเป็นการพนันตามบัญชี ก. ผู้ฝ่าฝืนก็มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือนถึง 3 ปี อย่างไรก็ตาม การเล่นพนันออนไลน์ในขณะนี้ติดตามจับกุมยากและไม่คุ้มกับทรัพยากรของภาครัฐ จึงยังไม่ค่อยเห็นการดำเนินคดีอย่างจริงจัง





ความผิดของ"เว็บมาสเตอร์"

"เว็บมาสเตอร์" คือคำเรียกขานผู้ดูแลเว็บไซต์ต่างๆ ในกรณีมีนักท่องเน็ตเข้ามาเขียนกระทู้ โพสต์ข้อความ หรือโพสต์รูปที่ทำให้บุคคลอื่นเสียหาย รวมทั้งโพสต์ภาพอนาจาร หรือเขียนเนื้อหาพาดพิงสถาบัน ตัวนักท่องเน็ตคนนั้นถือว่ากำลังทำความผิดทางอาญา

ส่วนเว็บมาสเตอร์ ถ้าสืบสวนพบว่า เห็นข้อมูลที่สร้างปัญหา แต่ปล่อยปละละเลยไม่สนใจลบข้อความทิ้งหรือแก้ไขข้อความก็อาจถูกฟ้องร้องฐานร่วมกระทำความผิดด้วย เช่น เรียกค่าเสียหายทางแพ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าในเว็บไซต์ดังกล่าวไม่มีมาตรการป้องกันการกระทำผิดกฎหมาย โอกาสต้องรับโทษจะยิ่งสูงขึ้น



"ลิงก์-ไฮเปอร์ลิงก์" ละเมิดลิขสิทธิ์

โลกอินเตอร์เน็ตเปิดโอกาสให้แต่ละเว็บไซต์เชื่อมโยงข้อมูลถึงกันได้อย่างสะดวกง่ายดาย ผ่านระบบที่เรียกว่า "ไฮเปอร์ลิงก์" หรือ "ลิงก์"

ปัญหาอาจเกิดขึ้นได้ ถ้าไปเอาข้อมูลจากเว็บไซต์อื่นๆ มาเผยแพร่ แม้จะทำลิงก์เชื่อมโยงที่มาเอาไว้ แต่ถ้าไม่ได้ขออนุญาตเจ้าของเว็บปลายทางโดยตรงก็อาจมีความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ หรือทำซ้ำงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่น

ในสหรัฐอเมริกามีข้อถกเถียงกันในประเด็นนี้อย่างแพร่หลายถ้าจะเอาเว็บไซต์ของคนอื่นมาลิงก์เข้ากับเว็บไซต์ของเราจะต้องไปขออนุญาตหรือไม่ ในประเทศไทยปัญหานี้ยังไม่เคยเกิดขึ้น แต่อนาคตอาจเกิดขึ้นได้ ดังนั้น ก่อนจะนำเว็บของคนอื่นมาลิงก์เข้ากับเว็บของเราควรขออนุญาตให้เรียบร้อยก่อน



การดาวน์โหลดเพลง

"เพลง" ถือเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ที่ใครจะไปทำซ้ำ ดัดแปลง หรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของไม่ได้

การอัพโหลดไฟล์เพลงขึ้นไปอยู่ในโลกอินเตอร์เน็ตถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์เช่นกัน ยิ่งถ้าทำเพื่อการค้าโดยเก็บเงินจากคนที่ดาวน์โหลดเพลงนับเป็นความผิดคดีอาญา

สำหรับคนที่ดาวน์โหลดมาฟังเฉยๆ ถือเป็นการทำซ้ำ แต่พอมีช่องทางทางกฎหมายที่จะอ้างได้ว่าไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ เพราะถือเป็นการทำซ้ำมาเพื่อใช้ประโยชน์เอง และการดาวน์โหลดมาฟังยังพอมีช่องทางต่อสู้คดีได้ว่าไม่ได้เป็นอุปสรรคกับการใช้ประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ของเจ้าของลิขสิทธิ์ เพราะไม่ได้เอาไปขาย



การซื้อโปรแกรมลิขสิทธิ์มาก๊อบปี้แจกผู้อื่น

เนื่องจากโปรแกรมลิขสิทธิ์ หรือโปรแกรมถูกกฎหมายมีราคาแพงมาก ทำให้ธุรกิจโปรแกรมเถื่อนละเมิดลิขสิทธิ์เฟื่องฟูยิ่งกว่าดอกเห็ด

อย่างไรก็ตาม แม้เราจะซื้อโปรแกรมลิขสิทธิ์มาใช้ แต่ถ้านำโปรแกรมนั้นไปแจกให้เพื่อนฝูงก๊อบปี้ หรือทำสำเนาไปใช้ต่อ ถือว่ามีความผิดฐาน "ทำซ้ำ" ซึ่งเข้าข่ายละเมิดลิขสิทธิ์ แม้กฎหมายจะมีข้อยกเว้นให้การทำสำเนาโดยเจ้าของโปรแกรมมีลิขสิทธิ์ ทำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย แต่ไม่ใช่การยกเว้นโดยไม่มีขอบเขต เพราะกฎหมายจำกัดจำนวนสำเนาว่าให้มีจำนวนตามสมควร เพื่อวัตถุประสงค์ในการบำรุงรักษาหรือป้องกันการสูญหาย



อีเมล์ขยะ (สแปมมิ่ง)

ใครที่ใช้ "อีเมล์" ทุกวันร้อยทั้งร้อยคงรู้สึกเบื่อหน่ายกับ "อีเมล์โฆษณาขยะ" ทั้งหลายที่ส่งมาได้ทุกวัน วันละหลายๆ ฉบับ ทั้งน่าเบื่อ น่ารำคาญ และเสียเวลาอ่าน

เจ้าของสินค้าหรือผู้ส่งอีเมล์ขยะเหล่านี้ได้ข้อมูลที่อยู่อีเมล์ของเราผ่านวิธีการหลากหลายรูปแบบ เช่น ฝังโปรแกรม "คุกกี้" เอาไว้ตามเว็บไซต์ที่เราเข้าไปดู จากนั้นก็ส่งคุกกี้เข้ามาคอยสอดส่องเก็บข้อมูลการใช้คอมพิวเตอร์และอีเมล์ของเรา เพื่อส่งอีเมล์ขยะมาหา

ในสหรัฐ ปัญหาอีเมล์ขยะทำให้มีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตไปร้องเรียนกับหน่วยงานของรัฐ เพื่อให้เร่งออกมาตรการควบคุม และเคยเกิดคดีดังขึ้นคดีหนึ่ง หลังจากบริษัท "เอโอแอล" ไอเอสพีหรือผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตยักษ์ใหญ่ของสหรัฐ ลงมือฟ้องร้องบริษัทไซเบอร์โปรโมชั่น ฐานส่งอีเมล์โฆษณาขยะไปยังอีเมล์ของลูกค้าเอโอแอล นอกจากนั้น ยังมีอีกคดีที่ไอเอสพีฟ้องผู้ส่งอีเมล์ขยะฐานะ "บุกรุก" คอมพิวเตอร์ลูกค้า

ส่วนในไทยอาจเข้าข่ายผิดมาตรา 10 ในกฎหมายคอมพิวเตอร์ 2550 ที่ระบุว่า ผู้ใดกระทำการโดยมิชอบ เพื่อให้การทำงานของระบบคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นถูกระงับ ชะลอ ขัดขวาง หรือรบกวนจนไม่สามารถทำงานตามปกติได้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ



ข้อมูลจากเว็บไซต์ www.lawyerthai.com


Posted by : garnet , Date : 2008-06-05 , Time : 08:22:55 , From IP : 172.29.1.225

ความคิดเห็นที่ : 1


   อี​เมล์ขยะ​ (สแปมมิ่ง)

ใครที่​ใช้​ "อี​เมล์​" ​ทุกวันร้อย​ทั้ง​ร้อยคงรู้สึกเบื่อหน่าย​กับ​ "อี​เมล์​โฆษณาขยะ​" ​ทั้ง​หลายที่ส่งมา​ได้​ทุกวัน​ ​วันละหลายๆ​ ​ฉบับ​ ​ทั้ง​น่า​เบื่อ​ ​น่ารำ​คาญ​ ​และ​เสียเวลาอ่าน​




ท่านผู้ใช้อีเมลล์ทั้งหลายเคยแปลกใจมั้ยว่าทำไม อีเมลล์ของเรา เค้าจึงส่งเมลล์ขยะมาได้
ทั้งๆที่ไม่เคยไปโพสหรือนำไปใช้ข้างนอกเลย (อีเมลล์ส่วนตัวของคณะฯเป็นต้น)

ท่านรู้จัก ฟอร์เวิร์ดเมลล์ใช่มั้ยครับ เมลล์ที่ส่งมาแล้วก็บอกให้ส่งๆต่อๆกัน
บางทีก็ส่งบทความความรัก แล้วก็ลงท้ายว่า ไม่ส่งต่อจะมีผลอย่างนู้นอย่างนี้ ให้รีบส่งเมลล์นี้ต่อกี่ฉบับก็ว่าไป
หรือจะเป็นเมลล์บทความแบบอื่นๆหรือรูปภาพต่างๆทั้งวาบหวิวและไม่วาบหวิว
แต่ผู้ส่งเจตนา ทำให้มันน่าสนใจและอยากส่งต่อ

เมื่อเกิดกระบวนการการส่งต่อ หรือการฟอร์เวิร์ด ระบบตอบกลับเมลล์
จะเก็บชื่ออีเมลล์ของท่านไว้และคนที่ส่งต่อๆมาก่อนหน้าท่านไว้ในเมลล์ฉบับนั้น
จากนั้นเมื่อส่งต่อไปเรื่อยๆ 1เดือน 1ปี คิดดูว่าจะได้อีเมลล์ที่ติดตัวเมลล์นั้นไปสักเท่าไหร่
(สังเกตุจากเมลล์ขยะของท่านๆต่อก็ได้ มีเพียบเลย)

ทีนี้เมื่อผู้ที่ต้องการใช้รายชื่ออีเมลล์เยอะต้องการ ก็แค่คัดลอกชื่ออีเมลล์เหล่านั้น
มาเข้าโปรแกรมช่วยส่งอีเมลล์อัตโนมัติ (ผมเคยเห็นมีให้โหลดได้ตามเวบหลายเวบ)
หลังจากนั้น วงจรอีเมลล์ขยะ อีเมลล์โฆษณาก็จะเริ่มขึ้น
แต่มันมีแย่กว่านั้นครับ
บางครั้งพวกนี้จะอาศัยส่งไฟล์ไวรัสหรือไฟล์ที่มีผลต่อข้อมูลส่วนตัวภายในเครื่องของเรา
อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อตัวผู้ใช้อีเมลล์อยากมากได้ครับ

วิธีแก้ไขก็คือ ลดการส่งต่ออีเมลล์ต่างๆที่คิดว่าไม่จำเป็นต้องส่ง
เช่นเมลล์ที่เขียนสาปไว้ว่าถ้าไม่ส่งต่อจะเป็นแบบนู้นแบบนี้ (ผมเจอประจำมาพร้อมกับบทความเรื่องรักๆใคร่ๆ -..- เบื่อจะรับเหมือนกัน)
หรือเมลล์รูปต่างๆ แต่!!!ถ้าท่านอยากส่งจริงๆ เวลากดส่งต่อหรือกดเพื่อปอร์เวิร์ด
ท่านก็สามารถลบข้อความหรือลบอีเมลล์ของท่าน ในช่องกรอกข้อความก่อนได้

!!!ไวรัสส่วนใหญ่ที่พวกท่านโดนในเครื่องแล้วต้องเสียเงิน 300-500 เพื่อลงโปรแกรมใหม่หรือเพื่อล้างไวรัส ส่วนนึงมาจากการเปิดไฟล์เมลล์ขยะพวกเนี้ยละ!!!
!!! อยากประหยัดเงินประหยัดเวลา ไม่อยากลงโปรแกรมใหม่ไม่อยากยกไปร้าน ก็ดูแลอีเมลล์ของท่านด้วยครับ!!!


Posted by : JoeJo , Date : 2008-06-05 , Time : 09:23:39 , From IP : 172.29.1.140

ความคิดเห็นที่ : 2


   


ขอบคุณครับผม


Posted by : @^0^@ , Date : 2008-06-05 , Time : 10:13:40 , From IP : 172.29.1.236

ความเห็นจาก Social Network : Facebook


สงวนสิทธิ์การแสดงความคิดเห็นสำหรับ สมาชิกเท่านั้น
>>>>> Page loaded: 0.005 seconds. <<<<<