ความคิดเห็นทั้งหมด : 0

หมอ 5 บาท




   รศ.นพ.สภา ลิมพาณิชย์การ
ผู้ได้รับรางวัลแทนคุณแผ่นดิน ด้านสาธารณสุข

รศ.นพ.สภา ลิมพาณิชย์การ ข้าราชการบำนาญวัย 74 ปี ทุกวันนี้คุณหมอยังกรำงานหนักกับภาระตรวจรักษาคนไข้รายได้น้อยซึ่งเข้ามารักษาที่ "คลินิกแพทย์สภา" ตกวันละกว่า 30 รายเลยทีเดียว โดยคุณหมอไม่คิดค่ารักษา คิดเพียงค่ายาเริ่มตั้งแต่ 5-70 บาท จึงเป็นที่มาของฉายา "หมอ 5 บาท"

"วันนี้ผมทำงานเหมือนปกติที่เคยทำมาตลอดชีวิต คือตั้งใจรักษาคนไข้ให้หาย ไม่มีอะไรที่ทำให้เราดีใจมากไปกว่านี้หรอกครับ ความสบายใจของคนเป็นหมอก็คือ ช่วยเหลือคนเจ็บป่วยให้หายได้"

คุณหมอสภาการทุ่มเทรักษาชาวบ้านซอยระนอง 1 ย่านราชวัตร มาร่วม 43 ปี ด้วยคติการทำงานที่ว่า "ตั้งใจทำงานให้เต็มที่ที่สุดเท่าที่เราจะทำได้" นับเป็นอีกหนึ่งบุคคลที่น่ายกย่อง รศ.นพ.สภา ลิมพาณิชย์การ จึงได้รับการคัดเลือกแล้วว่าเป็นผู้ได้รับรางวัล "แทนคุณแผ่นดิน" สาขาสาธารณสุข

รศ.นพ.สภา ลิมพาณิชย์การ "เจ้าของฉายาหมอ 5 บาท"

ณ ยุคปัจจุบันนี้แทบจะไม่อยากเชื่อว่าบรรยากาศแบบ "คลินิกแพทย์สภา" จะยังมีหลงเหลืออยู่ในกรุงเทพฯ กับภาพห้องแถวเรือนไม้ขนาดเล็กๆ สภาพทรุดโทรม ตั้งอยู่ในซอยระนอง 1 ย่านราชวัตร และมีคนป่วยไข้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเดินเข้ามาเพื่อให้ รศ.นพ.สภา ลิมพาณิชย์การ คุณหมอ วัย 74 ปี ตรวจอาการด้วยโรคพื้นฐานอย่างไข้หวัด ปวดหัว ตัวร้อน ฯลฯ

คลินิกแห่งนี้ไม่คิดค่าตรวจโรคแต่คุณหมอสภาคิดค่ายาแค่ 5-70 บาทเท่านั้น จึงได้ทำหน้าที่ปัดเป่าโรคภัยไข้เจ็บให้คนยากจน คนหาเช้ากินค่ำมากว่า 30 ปีแล้ว
และด้วยค่ารักษาที่แม้แต่ "โครงการสามสิบบาทรักษาทุกโรค" ยังตะลึง! คนไข้ที่เดินเข้ามาในคลินิกแห่งนี้ต่างเรียกขานคุณหมอสภาด้วยฉายาว่า "หมอ 5 บาท"

หลังศึกษาจบจากคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ รศ.น.พ.สภา ได้รับทุนของ The China Medical Board of New York Institute ไปฝึกงานทาง Medical Photograply ที่ The Johns Hopkins Hospital เมือง Baltimore เป็นเวลา 1 ปี (ระหว่าง พ.ศ.2506-2507)

จากนั้นกลับมารับราชการครั้งแรกเป็นอาจารย์โท ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ หน่วยภาพการแพทย์ หัวหน้าหน่วยถ่ายภาพ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

นอกจากนี้ยังทำงานเป็นอาจารย์พิเศษโรงเรียนเวชนิทัศน์ โรงพยาบาลศิริราชพยาบาล อีกด้วย
และในปี 2507 "คุณหมอสภา" เริ่มตั้งคลินิกสำนักงานแพทย์จากคำชักชวนของเพื่อน

แต่เมื่อทำไปได้สักพัก เพื่อนของคุณหมอก็ขอถอนตัว คุณหมอจึงทำคลินิกนี้ต่อเพียงผู้เดียว โดยเช่าห้องแถวแห่งนี้จากเพื่อนเป็นรายเดือน ซึ่งตลอดเวลา 40 กว่าปีที่ผ่านมา คุณหมอคงยึดมั่นคิดเพียงค่ายา 5-70 บาท ไม่คิดค่าตรวจ แต่หากใครไม่มีเงินจริงๆ แม้แต่ค่ายาคุณหมอก็ไม่คิด หรือหากมีไม่พอ ให้เท่าไร ก็เท่านั้น

เพราะหมอสภาไม่ต้องการให้ผู้ป่วยไปซื้อยารับประทานเอง ส่วนสาเหตุที่ "คุณหมอสภา" จ่ายยาให้ได้ในราคาน้อยนิด เพราะยาร้อยละ 90 สั่งซื้อยาจากโรงงานที่ได้ลิขสิทธิ์มาผลิตยาในประเทศไทย โดยเวลาซื้อทีก็จะสั่งเยอะมากๆ จะช่วยให้ประหยัดเงินได้อย่างมาก

รศ.นพ.สภา สมรสกับ นางสุจิตรา ลิมพาณิชย์การ มีบุตรชาย 2 คน ชีวิตหลังเกษียณอายุราชการเมื่อปี 2537 ปัจจุบันยังรับตรวจคนไข้เป็นกิจวัตร โดยคุณหมอจะขับรถจากศิริราชพยาบาลมาถึงสำนักงาน "คลินิกแพทย์สภา" บริเวณซอยระนอง 1 ถนนพระราม 5 ย่านราชวัตร คลินิกเปิดทำการวันจันทร์-ศุกร์ หลัง 5 โมงเย็น เว้นวันเสาร์ ส่วนวันอาทิตย์ เปิด 6 โมงเย็น และกว่าจะปิดคลินิกก็ร่วม 2 ทุ่ม จึงจะกลับบ้านย่านบางขุนนนท์ เขตบางกอกน้อย

อะไรเป็นแรงบันดาลใจให้คุณหมอเปิดคลินิก "หมอ 5 บาท" แห่งนี้ขึ้นมา
การที่ผมคิดค่ารักษาพยาบาลราคาถูก สาเหตุมาจากตอนผมยังเด็กๆ อายุ 3-4 ขวบ ไม่สบายอยู่บ่อยๆ เป็นโรคคอตีบ พอโตขึ้นมาอีกหน่อยก็เป็นไทฟอยด์ ต่อมาก็เป็นปอดบวม กระเสาะกระแสะมาตลอด คุณแม่จึงพาผมไปรักษาที่โรงพยาบาลอยู่เป็นประจำ แล้วเวลาไปโรงพยาบาลเห็นคุณแม่เสียเงินเยอะๆ ก็คิดว่าเราป่วย ซึ่งก็แย่อยู่แล้ว เรายังต้องเสียเงินเยอะอีก อะไรที่คิดถูกได้ก็น่าคิดเงินให้ถูกได้ พอถึงวันที่เราเป็นหมอจึงทำคลินิกที่จ่ายยาราคานี้ขึ้นมา

แต่ละวันมีคนไข้เข้ามารักษาจำนวนเท่าไร
เมื่อวานคนไข้มา 30 กว่าคน วันหนึ่งอย่างน้อยที่สุดก็ร่วม 10 กว่าคนแล้ว

อายุ 74 ปีแล้ว รู้สึกเหนื่อยบ้างไหมที่ต้องรับคนไข้มากมายในแต่ละวัน
ก็เหนื่อยล่ะครับ (ตอบพร้อมรอยยิ้มบางๆ แล้วคุณหมอก็แจงตารางงานในแต่ละวันให้ฟัง) ผมตื่นเช้าขึ้นมาก็ต้องไปทำกายภาพบำบัดที่โรงพยาบาลศิริราชพยาบาล ทุกวันวันจันทร์-พุธ-ศุกร์ ตอนนี้สุขภาพไม่ค่อยดี เป็นไปตามวัยครับ เดินไม่ค่อยไหวต้องใช้ไม้เท้าแล้ว ปวดเป็นรูมาตอยด์ข้อเข่า ต้องทำกายภาพบำบัดทุกวัน วันละ 1 ชั่วโมง เพื่อให้คลายเส้นเอ็นตรงไหล่ ข้อเข่า และขา ตั้งแต่เดือนที่แล้วผมจึงต้องเลิกสอนหนังสือที่โรงเรียนเวชนิทัศน์ ผมสอนด้านโสตทัศนูปกรณ์ด้านการแพทย์ สอนการถ่ายภาพทางการแพทย์ การบันทึกภาพโทรทัศน์ จนกระทั่งสอนเขียนรูปหุ่นจำลอง หรือเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น คอมพิวเตอร์ โดยสอนวันละ 1-2 ชั่วโมง แต่เมื่อถึงวันที่ไม่ไหว เราก็ไม่ฝืนสังขาร ก็ต้องหยุดสอนไป แต่ก็ยังมีงานอื่นให้ทำ โดยหลังจากทำกายภาพบำบัดเสร็จ ผมก็จะไปนั่งทำงาน ซึ่งผมเป็นที่ปรึกษาที่โรงพยาบาลศิริราชพยาบาล ใครมีอะไรเขาก็มาปรึกษาเรา จนกระทั่ง 5 โมงเย็น จึงนั่งรถมาที่คลิกนิกซอยระนอง 1 รักษาคนไข้ต่ออีก จนถึง 2 ทุ่มทุกวันยกเว้นวันเสาร์

ทำไมในวัยหลังเกษียณคุณหมอจึงเลือกทำงานปกติอย่างคนวัยทำงาน
ผมยังทำไหวนะ อะไรทำได้ก็ต้องทำต่อไป นอกเสียจากร่างกายไม่ไหวแล้ว ก็คงต้องเลิก

งานหนักที่สุด ณ วันนี้คืออะไร
ก็เป็นงานตรวจคนไข้ที่ซอยระนอง 1 นี่แหละครับ ที่ทำให้คนวัยเราเหนื่อยที่สุด

ถ้าถามแรงบันดาลใจในการรักษาคนไข้วันนี้
ไม่มี (ตอบเรียบง่ายพร้อมรอยยิ้มบางๆ อีกครั้ง) คือไม่มีอะไรที่อยากทำเป็นพิเศษ วันนี้ผมทำงานเหมือนปกติที่เคยทำมาตลอดชีวิต คือตั้งใจรักษาคนไข้ให้หาย ไม่มีอะไรที่ทำให้เราดีใจมากไปกว่านี้หรอกครับ ความสบายใจของคนเป็นหมอก็คือ ช่วยเหลือคนเจ็บป่วยให้หายได้ อย่างอื่นก็ไม่มีแล้วที่ชีวิตนี้อยากทำ

คุณหมอมีวิธีรับรักษาอย่างไร
ต้องอธิบายก่อนว่า ผมรับรักษาเฉพาะโรคพื้นฐานทั่วไป เช่น ปวดหัว ตัวร้อน ฤดูฝนแบบนี้คนไข้ก็เป็นหวัด ทอนซิลอักเสบ เด็กๆ ไอเจ็บคอมากันเยอะ แต่ถ้าตรวจพบว่าคนไข้มีอาการหนัก หมอจะแนะนำให้ไปตรวจที่โรงพยาบาล ซึ่งเครื่องมือทันสมัยสามารถตรวจได้อย่างละเอียด แต่คนไข้มักจะบอกว่าไม่อยากไปโรงพยาบาล เพราะเสียเวลาเต็มวัน หมอต้องเตือนสติคนไข้ว่า เสียเวลาวันเดียวดีกว่าต้องนอนแซ่วอยู่บนที่นอนหลายวัน แต่ก่อนไล่ไปโรงพยาบาลมักจะถามว่า มีบัตร 30 บาท บัตรประกันสังคมไหม เพื่อให้ไปใช้สิทธิที่พวกเขามีอยู่ แล้วเวลาจ่ายยาให้คนไข้ คุณหมอจะถามก่อนว่ามียาอะไรอยู่ที่บ้านแล้วบ้าง จะได้ไม่สั่งซ้ำ

รับรักษาคิดแค่ค่ายา เพียง 5-70 บาท พอกับค่าใช้จ่ายได้อย่างไร
ทุกวันนี้ผมใช้เงินบำนาญเดือนละ 2 หมื่นกว่าบาท ใช้จ่ายเลี้ยงคลินิก เรื่องค่ายาไม่ใช่ปัญหาเลย เพราะผมใช้ยาผลิตในบ้านเรา คนไข้บางรายมาเล่าให้ฟังว่า ไปโรงพยาบาลเอกชนเสียค่ารักษาสูงได้ยามากิน 10 กว่าเม็ด เม็ดหนึ่ง 30 บาท 40 บาท ทำไมเป็นอย่างนั้น ซึ่งคำถามบางข้อหมอตอบคนไข้ไม่ได้ เนื่องจากปัจจุบันมียารักษาโรคเยอะมาก แล้วหมอก็ไม่ใช้ยานอกพวกนั้น แต่ใช้ยาผลิตในไทยทั้งหมด ถ้ายาหมดเราก็ซื้อมาเติมเรื่อยๆ ไม่เคยได้จดว่ายาหมดเมื่อไร จ่ายเงินไปเท่าไร ไม่มีการทำบัญชี หมอจึงไม่เคยรู้ว่ามีรายได้เท่าไร กำไรหรือไม่ เงินที่ได้มาก็จะเก็บไว้ในกล่องเล็กๆ กล่องหนึ่งเพื่อเป็นทุนซื้อยาต่อไป
คลินิกนี้ไม่มีพยาบาลผู้ช่วย เพราะหมอไม่มีเงินเดือนให้เขา แต่ก็ได้คนที่บ้านอยู่ใกล้ๆ คลินิกมาช่วยเปิดปิดร้าน วันนี้คลินิกก็จ่ายค่าเช่าเดือนละ 2,000 บาท บวกค่าน้ำค่าไฟจ้างคนทำความสะอาดอีก 500 บาท ส่วนค่าใช้จ่ายอื่นๆ ผมไม่เคยคิด เพราะไม่รู้จะคิดอย่างไร หมอทำคลินิกแบบนี้ไม่มีการบันทึกรายรับ-รายจ่ายแบบนี้มา 43 ปีแล้ว

คุณหมอคิดอย่างไรกับคำกล่าวว่าคนไทยยากจนไม่มีโอกาสเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ดี
เรื่องอื่นไม่รู้ หมอรู้แต่ว่าถ้าคนไข้เข้ามาบอกว่าไม่มีเงิน หมอก็ยินดีรักษาให้ได้ ไม่มีปัญหาเลย คนยากจนเดี๋ยวนี้มีทั้งสังคมสงเคราะห์ ทั้ง 30 บาท รักษาทุกโรค มีบัตรรักษาผู้สูงอายุ คำกล่าวนี้หมอว่าไม่จริงเลย หมออยากบอก สมมติว่าใครป่วยเป็นมะเร็งก็อย่าไปสารพัดกลัว คือความกลัวยังอยู่กับคนไทยต่างจังหวัดเยอะมาก กลัวว่าหมอจะฉีดยา จะผ่า หรือยังไม่ทันไปหาก็คิดว่าต้องเสียเงินค่ารักษามากมายแน่ๆ รีบมาหาหมอทันที อย่าไปกลัวหรือคิดไปเอง เราแตกต่างกับฝรั่งตรงนี้ เป็นนิดเป็นหน่อยเขารีบไปหาหมอ ที่คลินิกก็เหมือนกันนะ หมอต้องดุ ต้องว่า ชอบกลัวโน่นนี่ ทุกโรคไม่น่ากลัวอย่างที่คิด อย่างโรคไตสมัยนี้ค่าฟอกไตก็ไม่แพง อย่างที่คิด 2,000-3,000 บาทต่อครั้งเท่านั้น ถ้าใครไม่มีจ่าย โรงพยาบาลรัฐก็มีเตียงคนไข้สงเคราะห์

คุณหมอมีคติในการทำงานอย่างไร
"ตั้งใจทำงานให้เต็มที่ที่สุดเท่าที่เราจะทำได้" ผมขอทำงานนี้จนกว่าจะทำไม่ไหว หากวันไหนปิดร้านเกิน 3 วัน โดยไม่มีสาเหตุ และไม่แขวนป้ายว่าปิด แสดงว่าตนตายแล้ว และที่ทำไม่ได้เห็นเป็นธุรกิจ ทำเพราะอยากทำ ทำแล้วสบายใจ

วันนี้มีหมอรุ่นใหม่สืบทอดงานคลินิกนี้หรือไม่
ไม่มีเลยครับ (ตอบทันที) แต่ผมไม่กังวล อย่างที่บอกคือชีวิตนี้เราได้ทำงานทุกอย่างเต็มที่แล้ว แต่ถ้าใครอยากทำแบบหมอก็ขอให้คำแนะนำว่า "ต้องรีบเก็บสตางค์ไว้ตั้งแต่เริ่มทำงานเลยทีเดียว" เพื่อที่เราจะมีเงินมาใช้จ่ายเพื่อสังคมตรงนี้โดยไม่เดือดร้อนครอบครัว ทุกวันนี้ครอบครัวหมอไม่เคยว่าเลยเรื่องเอาเงินไปซื้อยา เพราะเราก็ไม่เคยรบกวนเขาเลย

รู้สึกอย่างไรเมื่อได้รับรางวัล "แทนคุณแผ่นดิน" สาขาสาธารณสุข
คงไม่มีอะไรจะบอกมากกว่าคำว่า "ดีใจ" แม้ว่าเราจะทำงานตามปกติ ไม่ได้คิดว่าทำเพื่อรับรางวัลอะไร แต่ทุกรางวัลก็ต้องถือเป็นความภาคภูมิใจของชีวิต

ที่มา www.komchadluek.net



Posted by : 7s , Date : 2008-06-04 , Time : 10:35:30 , From IP : 172.29.15.242

ความเห็นจาก Social Network : Facebook


สงวนสิทธิ์การแสดงความคิดเห็นสำหรับ สมาชิกเท่านั้น
>>>>> Page loaded: 0.003 seconds. <<<<<