ความคิดเห็นทั้งหมด : 10

ข่าวด่วน ผอ.รพ.นาหม่อม ถูกยิงตาย


   มือปืนโหดบุกยิงถล่มฆ่าหมู่ 6 ศพเจ็บสาหัส 2 ราย ที่สงขลา

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 2 มีนาคม 2551 09:28 น.


ศูนย์ข่าหาดใหญ่ – เกิดเหตุคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงถล่มฆ่าหมู่ 6 ศพ มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 ราย 1 ในนั้นเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาล อ.นาหม่อม จ.สงขลา เจ้าหน้าที่สันนิษฐานเกิดจากความโกรธแค้นที่กลุ่มผู้ตายก่อความเดือดร้อนรำคาญให้กับเพื่อนบ้าน

เมื่อเวลาประมาณ 00.30 น. วันนี้ (2 มี.ค.) พ.ต.ท.สินชัย พาบับพา สารวัตรเวร สภ.หาดใหญ่ รับแจ้งมีคนถูกยิงเสียชีวิตบริเวณขนำหลังบ้านเลขที่ 70/4 บ้านปลักธง ม.7 เขตเทศบาลเมืองคอหงส์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา หลังรับแจ้งรุดไปตรวจสอบที่เกิดเหตุพร้อมด้วย พล.ต.ต.วิรุฬ เอี่ยมไพจิตร์ ผบก.ภ.จว.สงขลา, พ.ต.อ.วีระสิทธื เพ็ชรคล้าย รอง ผบก.ฯ, พ.ต.อ.อำพล บัวรับพล ผกก.กลุ่มงานสืบสวนภูธรจังหวัดสงขลา, พ.ต.อ.ศุภวัฒน์ ทับเคลียว ผกก.สภ.หาดใหญ่, พ.ต.ท.ศักดา เจริญกุล รอง ผกก.กลุ่มงานสืบสวนภูธรจังหวัดสงขลา, พ.ต.ท.นิรัตน์ ปานดำ รอง ผกก.สภ.หาดใหญ่, พ.ต.ต.เอกรรัฐ สวนแสน สว.สส.สภ.หาดใหญ่ และเจ้าหน้าที่กู้ภัยมูลนิธิมิตรภาพสามัคคี หาดใหญ่

ขณะเจ้าหน้าที่กำลังเข้าไปตรวจสอบที่เกิดเหตุได้พบคนเจ็บก่อนจะถึงขนำ 2 ราย เจ้าหน้าที่รีบนำส่งโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ (มอ.) หาดใหญ่ ทั้งสองคนถูกยิงด้วยอาวุธปืนขนาด 9 ม.ม. เข้าที่ลำตัวรายละ 1 นัด ทราบคนเจ็บชื่อนายศราวุธ ลีลาณิชประเสริฐ์ อายุประมาณ 30 ปี และ นายตรีตรัตน์ โชโต อายุ 27 ปี อยู่บ้านเลขที่ 32 ซอย 1 ถนนเพชรเกษม ต.หาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ทั้งสองคนอาการสาหัส และทราบว่ามีคนเจ็บอีกคนถูกนำส่งโรงพยาบาลราษฏร์ยินดี ชื่อนายบุญทิพย์ เดสโร อายุ 43 ปี อยู่บ้านเลขที่ 70/5 ม.7 เขตเทศบาลเมืองคอหงส์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ถูกยิงเข้าที่ลำตัวด้วยกระสุนขนาด 9 ม.ม. ทนพิษบาดแผลไม่ไหวเสียชีวิตในเวลาต่อมา

เมื่อถึงบริเวณขนำเจ้าหน้าที่ถึงกับผงะ มีเลือดไหลนองพื้น เมื่อพบศพชายหญิงร่วมกัน 5 ศพ สภาพศพแต่ละรายถูกยิงด้วยกระสุนปืนขนาด 9 ม.ม. เข้าที่บริเวณศีรษะและลำคอรายละ 1 นัด ทราบว่าผู้ตายชื่อ นายปวราห์ เจริญสวัสดิ์ อายุ 25 ปี อยู่บ้านเลขที่ 60 ม.5 ต.ควนลัง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เป็นพนักงานการไฟฟ้าภูมิภาคที่ ต.ควนลัง อ.หาดใหญ่, นายเรืองทิตย์ แตงเกษม อายุ 28 ปี อยู่บ้านเลขที่ 3 ม.9 ต./อ.นาหม่อม จ.สงขลา, นางสาวสุธาทิพย์ ธรรมชาติ อายุ 28 ปี อยู่บ้านเลขที่ 60/52 ม.2 ต.ท่าทราย อ.เมือง จ.นนทบุรี และเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลนาหม่อม อ.นาหม่อม จ.สงขลา และหญิงสาวอีก 2 คน ไม่ทราบชื่อ เจ้าหน้าที่กู้ภัยมูลนิธิมิตรภาพสามัคคี นำศพส่งโรงพยาบาลหาดใหญ่เพื่อตรวจสอบอีกครั้ง

นอกจากนี้บริเวณที่เกิดเหตุมีขวดเบียร์, แก้วน้ำ และเศษอาหารตกกระจายเกลื่อน เจ้าหน้าที่พบหัวกระสุนขนาด 9 ม.ม.ตกอยู่ 6 ปลอก เจ้าหน้าที่เก็บไว้เป็นหลักฐาน

พล.ต.ต.วิรุฬ เอี่ยมไพจิตร์ ผบก.ภ.จว.สงขลา กล่าวว่า จากการสอบสวนเบื้องต้นบริเวณที่เกิดเหตุ ทราบว่าก่อนหน้านี้กลุ่มของผู้ตายได้มาซื้อที่ดินและบ้านที่เกิดเหตุเมื่อไม่นานมานี้ และมีบางคนเป็นนักดนตรีอยู่ที่ห้องอาหารบนเกาะแห่งหนึ่งในจังหวัดพังงา ได้ตั้งวงดื่มกิน เปิดเพลงและร้องเพลงเสียงดัง สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้แก่เพื่อนบ้านบริเวณใกล้เคียงเป็นอย่างมาก โดยจะส่งเสียงดังตั้งแต่ประมาณช่วงค่ำไปจนถึงเวลาประมาณ 04.00 น. เกือบทุกวัน ทำให้เพื่อนบ้านใกล้เคียงเดือดร้อนรำคาญและเคยมีเพื่อนบ้านหลายคนมาตักเตือนให้ลดพฤติกรรมดังกล่าวลงบ้าง แต่ก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

และเมื่อบ่ายของวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา หนึ่งในกลุ่มของผู้ตายได้ขับรถชนชาวบ้านบริเวณใกล้เคียงมีการโต้เถียงกัน จากนั้นก็เรียกเจ้าหน้าที่ประกันมาเคลม จนกระทั่งก่อนเกิดเหตุขณะที่กลุ่มของผู้ตายกำลังส่งเสียงดังเดือดร้อนรำคาญแก่เพื่อนบ้านใกล้เคียง มีชายคนหนึ่งเดินมาพูดคุยเหตุการณ์เรื่องรถชน แต่ปรากฏว่ากลุ่มของผู้ตายไม่สนใจพร้อมกับเปิดเพลงเสียงดังกว่าเก่า จังหวะนั้นมีเสียงปืนมาจากบริเวณสวนยางพาราด้านข้างขนำหลายนัด จนมีคนเจ็บและตายดังกล่าว ส่วนผู้ต้องสงสัยก่อคดีในครั้งนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งประเด็นโกรธแค้น หรือทะเลาะวิวาท เจ้าหน้าที่ตำรวจบันทึกไว้เป็นหลักฐานเพื่อดำเนินการต่อไป





Posted by : จริงใจ , Date : 2008-03-02 , Time : 10:34:34 , From IP : 172.29.5.238

ความคิดเห็นที่ : 1


   หลายคนอาจจะไม่เคยได้ยินชื่อคุณหมอท่านนี้มาก่อน ลองอ่านเรื่องนี้ดูนะ

เรื่องเล่า เร้าพลัง: ดอกมะลิบาน... ที่ รพ.นาหม่อม

น.พ.สกล สิงหะ

ปีนี้สถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล (HA) จัดประชุม National Forum HA ครั้งที่ 9 ที่ศูนย์ประชุม IMPACT เมืองทองธานี ใน theme : Living Organization ท่ามกลางรายการวิชาการนิทรรศการ มากมาย ปีนี้มีชุมนุมเรื่องเล่า เร้าพลังเป็นการรวบรวมเรื่องราวการดูแลผู้ป่วย ที่น่าประทับใจ ของแต่ละโรงพยาบาลเข้ามาร่วมแสดง ร่วมพูด ร่วมเป็น poster หลายร้อยเรื่อง และเรื่องเล่าของรพ.นาหม่อม จ.สงขลา ก็เป็นหนึ่งในเรื่องที่ถูกคัดมาว่าโดนใจกรรมการผมจึงได้มีโอกาสไปเยี่ยมที่ รพ.นาหม่อม เพื่อไปสัมภาษณ์ ไปสัมผัส บรรยากาศณ the source ว่าเป็นอย่างไร เนื่องจากเป็นที่รู้กันดีว่าเบื้องหลังเรื่องเล่าแต่ละเรื่องนั้น คุณค่าที่แท้จริงมักจะแฝงเร้นมิสามารถจะบรรยายหรือพรรณนาออกมาได้ทั้งหมด และก็เป็นไปตามที่คาดเรื่องราวที่เป็น "เบื้องหลังการถ่ายทำ" ของเรื่องเล่าโดนใจครั้งนี้ ที่ชื่อเรื่องหวานสดชื่นว่า "ดอกมะลิ ... เบ่งบานในใจเราเสมอ"มีอะไรอีกมากมาย ที่พอผมฟังจบ ต้องขออนุญาตเจ้าของเรื่องทุกคนนำมาถ่ายทอดลง ณ ที่นี้ มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อจะได้เป็นการ shareพลังบริสุทธิ์ แรงบันดาลใจทุกอย่างที่ทำให้วันนีเป็นวันที่มีความสุขมากอีกวันหนึ่งของอาชีพแพทย์

โรงพยาบาลนาหม่อม เป็นโรงพยาบาล 30 เตียง มีตำแหน่งสำหรับหมอ 3 คน แต่ตอนนี้มีอยู่แค่ 2 คน เป็น ผ.อ. 1 คือ หมอสุธาทิพย์ ธรรมชาติและน้องหมอที่พึ่งจบมา 1 ปีอีกคนนึง จึงเป็นที่คาดได้ว่างานจะหนักขนาดไหนทว่าความหนักของงานนั้น ไม่สามารถจะประเมินได้เลยจากสีหน้า แววตาและน้ำเสียง ของบุคลากรที่นี่ ตั้งแต่คนขับรถ คือคุณจงรัก หนุ่มจะนะ (แต่มาอยู่นาหม่อม) ที่เคยไปทำงานนราธิวาสมาแล้วเกือบสิบปี อาสาสมัคร และทีม Home Care และพยาบาลที่แข็งขันอย่างคุณภัณฑิรา โมสิกะ และคุณพรรณภัทร สินธุแปง ไปจนถึง ผ.อ. หมอสาวแกร่งของเรา

ปรัชญา รพ. นาหม่อมคือ "ดูแลอย่างใกล้ชิด ดุจญาติมิตรยามป่วยไข้" และทีม รพ.นาหม่อมได้สะท้่อนปรัชญานี้ออกมาเป็นภาคปฏิบัติได้อย่างชัดเจน เท่าที่จะชัดได้ ลงไปในเนื้องานของทุกคนใน รพ.

งานที่ รพ.ทำและนำเสนอ และประทับใจมากๆก็คืองาน HHC หรือ Home HealthCare ที่คุณภัณฑิราผู้เปี่ยมพลัง ดันทุกสิ่งทุกอย่าง ดันทีม ดันคนดันทรัพยากร ภายใต้การหล่อเลี้ยงสนับสนุนจากบน คือ หมอสุธาทิพย์ และทีมคือพยาบาล คนขับรถ อสม. นายอำเภอทำให้รูปแบบเครือข่ายชุมชนดูแลสุขภาพที่ดีอบอุ่นมาก ศูนย์ HHC ของที่นี่มีศูนย์กายอุปกรณ์ด้วย มีเครื่องมือเครื่องไม้ อาทิ เตียง Fowler เตียงลมและรถเข็น ซึ่งได้งบประมาณมาจาก สปสช ทุนผู้พิการ เครื่อง suctionไว้ดูดเสมหะ ซึ่งของทุกอย่างมีคนรอใช้อยู่เกือบตลอดเวลา

คุณภัณฑิราเล่า case ตัวอย่างให้ฟังจำนวนมาก รุปภาพ powerpointsวิ่งไปเป็นสายๆ แต่คุณภัณฑิราไม่ต้องดูโพยหรือโน้ตแต่อย่างใดแสดงถึงความรู้จักคนไข้ทุกคนเป็นอย่างดี แต่ละ caseมีเรื่องเล่าจำเพาะเจาะจงทั้งสิ้น ระบบของ รพ.นาหม่อมนี้ ถ้ามี caseเรื้อรังที่จำเป็นต้องไปเยี่ยมบ้าน จะมีการส่งทีมไปดูที่ทางที่บ้านก่อนเพื่อจะได้ตระเตรียมช่วยเหลือเท่าที่ทำได้ รวมทั้งการไปทำความรู้จักกับprimary caregiver ที่บ้าน เพื่อที่จะแนะนำเทคนิกการดูแลคนไข้ที่เป็นญาติของตนเองอย่างไรบ้างโดยละเอียด ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรที่collection รูปถ่ายกิจกรรมของทีม HHC รพ.นาหม่อม จึงประกอบไปด้วยรูปพยาบาลรูปทีม PCU และ HHC กำลังทำความสะอาดลานบ้าน จัดบ้าน เป็นจำนวนมากคือภาพการเตรียมต้อนรับกลับบ้านคนไข้นั่นเองจากรูปเหล่านี้แทบจะไม่สามารถแยกออกว่าใครเป็นเจ้าหน้าที่ ใครเป็นญาติทุกคนทำงาน ยิ้มแย้ม เหมือนอยู่ในครอบครัวเดียวกัน

ด้วยระบบเกาะติดของ HHC นี่เอง บางครั้งรพ.นาหม่อมจึงสามารถตรวจพบว่ามีคนไข้บางคนที่อพยพย้ายที่อยู่มาจากนอกเขตและทำให้ไม่อยู่ในทะเบียนราษฎร์ เมื่อพบ case แบบนี้ เจ้าหน้าที่รพ.นาหม่อมก็จะติดต่อประสานกับเขต เพื่อหาทางออกเช่นโอนย้ายสำเนาสำมะโนครัว หรือพามาลงทะเบียนบัตรทองติดต่อเรื่องค่าช่วยเหลือคนพิการหน่วยงานที่รับผิดชอบและให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้เป็นต้น

การทำงานมีการประสานกันทั้งทีมแพทย์ ผู้บริหาร หัวหน้าหอผู้ป่วยในหัวหน้า PCU และ HHC รวมไปถึงคนขับรถ และทีมภายนอกได้แก่ อสม. อบต.และนายอำเภอ สาธารณสุขตำบล


Posted by : จริงใจ , Date : 2008-03-02 , Time : 10:38:27 , From IP : 172.29.5.238

ความคิดเห็นที่ : 2


   คุณภัณฑิราได้สรุปประเด็นจากการเยี่ยมบ้านไว้น่าสนใจว่า
* การดูแลผู้ป่วยที่บ้านเป็นงานที่ละเอียดอ่อนบางครั้งอาจพบกับปัญหาที่ซับซ้อนจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากองค์กรที่เกี่ยวข้องในการช่วยเหลือให้บุคคลสามารถพึ่งตนเองได้ และอยู่ในสังคมอย่างมีคุณค่า
* การดูแลผู้ป่วยที่บ้าน บุคคลที่จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองได้และอยู่ในครอบครัว และสังคมได้อย่างมีคุณค่าคือ ญาติผู้ป่วย
* การเสริมสร้างพลังอำนาจให้กับผู้ป่วย ญาติ ครอบครัว จะเป็นแรงผลักดันที่จะทำให้การดูแลผู้ป่วยที่บ้านประสบความสำเร็จ

และได้เขียนคล้ายๆคำขวัญของกลุ่มบุคลากรรพ.นาหม่อมไว้ว่า

เราจะเป็น . . ."เป็นดวงตาสำหรับผู้ที่นัยน์ตาเริ่มบอด" "เป็นหนทางสำหรับเด็กเกิดใหม่" "เป็นความรู้ ความมั่นใจสำหรับผู้เริ่มเป็นมารดา" "เป็นแขนขาสำหรับผู้พิการ" "เป็นเสียงขานสำหรับผู้ที่อ่อนเพลีย เปล่งเสียงบอกความต้องการไม่ได้”

ซึ่งเป็น mission statement ที่อ่อนโยน เมตตา และงดงามที่สุดที่ผมเคยได้ยินมา

รพ.นาหม่อมมีประวัติทำงานที่สร้างสรรค์มานานก่อนหน้านี้แล้ว เป็นรพ.ที่ได้รับรางวัลนวตกรรมสร้างเครื่องมือกะลานวดเท้าโดยสามารถชนะการประกวดได้ระดับเขต และแพร่หลายให้รพ.อื่นในบริเวณรอบข้างนำไปดัดแปลงเอาไปใช้ รวมทั้ง รพ. สงขลานครินทร์ด้วย

ซึ่งเป็นนวตกรรมง่ายๆ ที่แม้แต่คนไข้ หรืิอครอบครัวก็สามารถนำไปดัดแปลงทำเองที่บ้าน ด้วยราคาที่ไม่แพง วัสดุอุปกรณ์ก็ง่ายๆ

นี้เป็นรูปกะลานวดเท้าดัดแปลง ที่ญาติฝังกะลาบนพื้น เพื่อให้ผู้ป่วยหัดเดิน สามีผู้ป่วยทำราวให้เอง กะลาก็ถูกฝังลงในพื้น

HHC team และอาสาสมัครประจำหมู่บ้านจะเดินทางไปที่บ้านเพื่อตระเตรียมทั้งญาติ และบ้านเพื่อพร้อมที่จะต้อนรับผป.กลับมาใช้ชีวิตที่มีคุณภาพให้ดีที่สุด



Posted by : จริงใจ , Date : 2008-03-02 , Time : 10:39:19 , From IP : 172.29.5.238

ความคิดเห็นที่ : 3


   ดอกมะลิ...เบ่งบานในใจเราเสมอ

โรงพยาบาลนาหม่อม จังหวัดสงขลา

โดย.... แพทย์หญิงสุธาทิพย์ ธรรมชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล

และคณะทีมงานโรงพยาบาลนาหม่อม

หญิงไทยคู่วัย 42 ปี ประวัติเป็นโรคเบาหวานมาประมาณ 3 ปี เธอมีนามว่า มะลิ ได้รับการวินิจฉัยและรักษาที่โรงพยาบาลนาหม่อมและไปรักษาต่อที่สถานีอนามัย แต่รักษาและรับยาไม่ต่อเนื่อง ไม่สม่ำเสมอ สุดท้ายในเดือนมกราคม ปี 2550 มะลิต้องมาโรงพยาบาลด้วยอาการแขนขาข้างซ้ายอ่อนแรง หายใจเหนื่อยหอบ จุกแน่นลิ้นปี่ ปรากฏว่าน้ำตาลในเลือดสูงมากๆ จึงรับมะลิรักษาเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาลนาหม่อม เพื่อปรับน้ำตาลและรักษาอาการดังกล่าว แพทย์วินิจฉัยเป็นโรค Diabetic ketoacidosis (DKA) ) ต่อมามีอาการช็อก และหมดสติ ต้องใส่ท่อช่วยหายใจส่งต่อโรงพยาบาลศูนย์ นอนรักษาที่โรงพยาบาลศูนย์เป็นเวลา 1 เดือน แล้วส่งตัวผู้ป่วยมารักษาต่อที่โรงพยาบาลนาหม่อม เนื่องด้วยทางโรงพยาบาลศูนย์ บอกว่าอาการผู้ป่วยดีขึ้น และไม่เกิดแผลกดทับใดๆ

แรกรับมะลิกลับมาที่โรงพยาบาลนาหม่อม แขนขาข้างซ้ายอ่อนแรง เจาะคอใส่ท่อช่วยหายใจ ช่วยเหลือตัวเองได้น้อยมาก มีแผลติดเชื้อที่รอบๆอวัยวะเพศ มีอุจจาระออกทางช่องคลอด มีภาวะซีด ร่างกายผ่ายผอม ทีมแพทย์พยาบาลโทรปรึกษาแพทย์โรงพยาบาลศูนย์เรื่องถ่ายอุจจาระทางช่องคลอด แพทย์ทางโรงพยาบาลศูนย์ไม่ได้ทำอะไรต่อ เพียงให้ทำความสะอาดสม่ำเสมอและให้ระวังเรื่องการติดเชื้อ ทีมแพทย์พยาบาลโรงพยาบาลนาหม่อมต้องมานั่งคิดร่วมกันว่าจะดูแลอย่างไร ทุกคนก็ลงความเห็นว่ายังไงๆต้องทำให้ผู้ป่วยช่วยเหลือตัวเองให้ได้แม้ใช้เวลานานเท่าไรก็ตาม เรามีความสามารถในการดูแลแผลที่ถือว่ายอดเยี่ยมทำให้ผู้ป่วยหลายคนหายมาแล้วแม้แผลจะเป็นมากขนาดคิดว่าจะต้องตัดขา ตัดนิ้ว ยังหายได้โดยไม่ต้องสูญเสียอวัยวะเลย พวกเราจึงมั่นใจว่าทำได้แม้จะมีสีหน้าที่บ่งบอกว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ซึ่งในช่วง 2-3 วันแรกที่มะลิกลับมานอนที่โรงพยาบาลนาหม่อม มะลินอนร้องไห้ตลอด จะพูดก็พูดไม่ได้ จะเขียนก็เขียนหนังสือไม่เป็น มีภาวะซึมเศร้า เวลาแพทย์ พยาบาลมาดูแลจะร้องไห้ตลอด บางครั้งไม่ยอมให้ความร่วมมือใดๆ จึงปรึกษาพยาบาลจิตเวช เมื่อพยาบาลจิตเวชผู้ที่มีร่างอวบแบบอบอุ่นมาดูแลมะลิ พยาบาลจิตเวชไม่ได้พูดอะไรกับมะลิเลย แค่นั่งนิ่งๆ พูดเพียงเล็กน้อยและจับมือมะลิทั้ง 2 ข้างมากุมนิ่งๆอยู่สักพักใหญ่ๆ ทำเช่นนี้ทุกวันเป็นเวลาประมาณ 4-5 วัน เราเรียกว่ามีการถ่ายทอดพลังกายทิพย์ ทำให้มะลิรู้สึกดีขึ้นอย่างประหลาด คนอื่นๆที่เฝ้าดูก็รู้สึกทึ่งมาก หลังจากนั้นเป็นต้นมามะลิก็ให้ความร่วมมือในการรักษา ยังร้องไห้อยู่บ้างแต่น้อยลง มะลิพยายามสื่อสารว่ากลัวตัวเองไม่หาย กลัวตัวเองพูดไม่ได้ กลัวเดินไม่ได้ สามีก็ไม่ค่อยได้มาดูแลเพราะต้องทำงานรับจ้างหาเงินมาใช้จ่าย



Posted by : จริงใจ , Date : 2008-03-02 , Time : 10:40:05 , From IP : 172.29.5.238

ความคิดเห็นที่ : 4


   มะลิมีเพียงลูกชายคนเดียวอายุเพียง 10 ปี ชื่อน้องสมบูรณ์ ที่ไม่ได้ไปโรงเรียนเพราะเป็นห่วงแม่ คอยซักถามแพทย์และพยาบาลตลอดว่าแม่เป็นอย่างไรบ้าง ทำอย่างไรแม่จะหาย เราเห็นเป็นเด็กที่ฉลาดและกตัญญู พยายามที่จะพูดให้เข้าใจง่ายๆ ว่า " ช่วงนี้แม่ไม่สบาย ยังเดินไม่สะดวก ยังพูดไม่ได้ แต่ไม่เป็นไร แม่ของหนูต้องดีขึ้น ถ้าแม่ทำตามที่หมอและพยาบาลบอก แต่ให้หนูมาเป็นกำลังใจให้แม่ด้วยนะ" ดังนั้นทุกครั้ง ที่พยาบาลสอนมะลิหรือให้การรักษาบางครั้งมะลิจะไม่ยอมบ้าง แต่ลูกจะช่วยคอยบอกแม่ว่า "แม่ทำตามพยาบาลเถอะ แล้วแม่จะได้หายเร็วๆ ได้กลับบ้าน"

จนกระทั่งมะลิมีกำลังใจเพิ่มขึ้น น้องสมบูรณ์ยังไปช่วยรับจ้างล้างจานเพื่อหาเงินมาช่วยครอบครัว เป็นการพยายามโดยตัวของน้องสมบูรณ์เอง ไม่ได้มีใครบอกให้ทำ สมบูรณ์ก็จะคอยมาดูแล ป้วนเปี้ยนใกล้ๆเตียงแม่ตลอดเวลา เป็นภาพที่เราเห็นแล้วซึ้งใจ แม้ผู้ป่วยและญาติเตียงข้างเคียงยังอดสงสารไม่ได้ ส่วนเรื่องที่มีอุจจาระออกทางช่องคลอด ทีมแพทย์และพยาบาลคิดว่าควรทำการเย็บบริเวณช่องคลอด เมื่อเห็นพ้องต้องกันจึงนำมะลิเข้าห้องผ่าตัดเย็บปิดแผลที่ช่องคลอด และทำความสะอาดทางช่องคลอด ผลที่น่าพอใจคือไม่มีการติดเชื้อใดๆในช่องคลอดเลย นับเป็นผลงานที่ทำให้เราภูมิใจและมั่นใจในการดูแล

พยาบาลเข้าใจปัญหามะลิอย่างลึกซึ้งและเริ่มศึกษาปัญหาและวางแผนการรักษามะลิอย่างจริงจังด้วยกันทั้งแพทย์ พยาบาล เริ่มวางแผนดูแลเรื่องการสื่อสารเป็นอับดับ 1 ที่มะลิกลัวว่าพูดไม่ได้ พยาบาลได้ฝึกมะลิโดยให้มะลิหายใจทางจมูกแล้วใช้ผ้าก๊อสมาปิดที่ท่อเจาะคอ ฝึกให้เปล่งเสียง พยาบาลจะมาทำให้วันละ 1 ชั่วโมง พูดคุยให้กำลังใจตลอด แม้ไม่ได้รับการพูดกลับมาจากมะลิก็ตาม พยาบาลก็จะพูดคนเดียวให้มะลิฟังทุกๆวัน อย่างไม่รู้สึกเบื่อหน่าย แล้วเพิ่มเวลามากขึ้นทุกๆวัน จากวันละครั้ง เป็นวันละ 2 ครั้ง จนเป็นวันละหลายครั้ง จนกระทั่งมีเสียงออกจากคอและปากบ้าง มะลิดีใจจนร้องไห้ ทำให้เราผู้ดูแลน้ำตาซึมไปด้วย น้ำตาแต่ละครั้งเริ่มเปลี่ยนจากน้ำตาแห่งความซึมเศร้า หมดอาลัยในชีวิต เป็นน้ำตาจากความดีใจและภาคภูมิใจ

เราก็จะพูดให้สามีเข้าใจปัญหาของมะลิ และเริ่มหาเวลามาดูแลช่วงก่อนไปทำงาน โดยสามีจะมาประมาณ 06.00 น. ของทุกวัน และหลังเลิกงานประมาณ 18.00 น. ของทุกวัน อยู่มาวันหนึ่งในเวรดึก มะลิก็ดึงท่อที่เจาะคอเอง พวกเราตกใจ และพยาบาลเองเฝ้าดูอย่างใกล้ชิดว่าจะเกิดอาการอะไรหรือเปล่า มะลิสามารถหายใจเองได้ เมื่อมั่นใจว่าไม่เกิดภาวะแทรกซ้อน เราก็ถอนหายใจด้วยความโล่งอกและยินดี และแล้วมะลิก็พูดได้แม้จะช้าบ้างก็ตาม ทั้งมะลิและสามีพร้อมกับลูกดีใจมากๆ เราได้เห็นรอยยิ้มแห่งความอบอุ่นและแววตาที่บอกเราว่าขอบคุณ จนเราอดคิดไม่ได้ว่าแม้เพียงรอยยิ้มกับแววตาที่สื่อมา สามารถบอกอะไรแทนคำพูดได้ดีจริงๆ



Posted by : จริงใจ , Date : 2008-03-02 , Time : 10:40:52 , From IP : 172.29.5.238

ความคิดเห็นที่ : 5


   ต่อมามีคำถามในทีมตลอดว่า "ทำไมน้ำตาลในเลือดของมะลิสูงอยู่อีก ทั้งๆที่เราพยายามให้ยา ควบคุมอาหาร" จนเราสืบค้นได้ว่าเตียงข้างๆทั้งผู้ป่วยและญาติ สงสารพยายามให้อาหารบ้าง ขนมบ้าง ระหว่างมื้อ ทำให้เราต้องบอกผู้ป่วย และญาติเตียงข้างเคียงว่าไม่ให้ขนมและอาหารกับมะลิระหว่างมื้อโดยเฉพาะของหวาน เพราะเราพยายามควบคุมอาหารให้มะลิ ไม่เช่นนั้นมะลิก็จะไม่หาย อาจเป็นมากกว่าเดิม และญาติเตียงข้างเคียงมาไม่ซ้ำกันทำให้บางคนไม่เข้าใจ ยังให้ขนมมะลิอีก มะลิก็กินทุกครั้ง จนพยาบาลต้องเขียนป้ายว่า ห้ามให้อาหารหรือของกิน เนื่องจากผู้ป่วยต้องควบคุมอาหาร ได้ผลทุกคนเข้าใจและเราสังเกต น้ำตาลมะลิจะสูงมากช่วงบ่ายและเย็น ทำให้แพทย์ต้องปรึกษาเภสัชกรขอปรับยาเบาหวานที่กินมื้อเช้ามาเป็นมื้อเที่ยงแทนซึ่งได้ผลชัดเจน และควบคุมน้ำตาลได้

"มะลิผึกเดินด้วยกะลานวดเท้า...ที่คลินิกแพทย์แผนไทย"

เรื่องต่อมาที่เราต้องดูแลและใช้ความพยายามและอดทนอย่างมาก คือต้องฝึกให้มะลิมีกำลังกล้ามเนื้อที่ดูจะลีบเอามากๆทั้งที่โรงพยาบาลนาหม่อมเป็นโรงพยาบาลชุมชนเล็กๆ เราไม่มีเจ้าหน้าที่กายภาพบำบัด แต่เราพร้อมสวมวิญาณเป็นนักกายภาพบำบัดแบบมือสมัครเล่น โดยเราคิดว่าจะให้มะลิพยายามตักอาหารเข้าปากตัวเองให้ได้ พยาบาลหัวหน้าตึกก็ไปซื้อลูกบอลแบบยางมาให้มะลิฝึกกำและคลายทุกวันวันละหลายครั้งครั้งละ 15 นาที และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ฝึกส่งลูกบอลยางสลับมือกันบ้าง เรารอคอยอย่างมีความหวัง เพราะทั้งสามีและลูกก็ช่วยกันฝึกให้มะลิอย่างต่อเนื่อง และวันหนึ่งมะลิก็พยายามที่จะใช้มือตักอาหารได้บ้าง 2-3 คำ แม้ยังสั่นอยู่มาก เราก็ให้กำลังใจว่า "มะลิมีความพยายามพูดก็พูดได้แล้ว ส่วนเรื่องตักอาหารเราเชื่อว่ามะลิต้องทำได้ ดูสิ ทั้งสามีและลูกคอยลุ้นอยู่นะ" ต่อมาเราก็พยายามทำถุงทรายถุงละครึ่งกิโล 2 ถุง โดยเอาเชือกมาผูก แล้วให้มะลิถือเชือกยกขึ้นลงทุกวัน จนกระทั่งมะลิสามารถตักอาหารเองได้หมดถาดทุกวัน ต่อมาเราก็ฝึกให้มะลิลุกนั่งโดยการประคอง ต่อมาสอนวิธีให้มะลิสามารถลุกเองได้แม้จะไม่มั่นคง โดยเราก็คอยประคองและให้กำลังใจ สอนวิธีการปฏิบัติทุกๆวัน และภาพที่เราเห็นทุกครั้งที่มาดูแลมะลิ มะลิจะยกมือไหว้ สวัสดีและขอบคุณพวกเราทุกครั้ง บางครั้งวันละ 5-6 รอบ จนบางครั้งเราก็ยิ้มๆขำๆไปด้วย ก็มันทำให้เราชื่นใจไปด้วย คงพยายามโชว์เสียงที่พูดได้ชัดเจนแล



Posted by : จริงใจ , Date : 2008-03-02 , Time : 10:41:33 , From IP : 172.29.5.238

ความคิดเห็นที่ : 6


   เรื่องที่คิดว่าหนักที่สุดคือการฝึกเดินเราก็นำถุงทราย 1 กิโลมาผูกเชือกแล้วให้มะลิใช้เท้าและขายกเชือกที่ผูกถุงทรายขึ้นลงทุกวันๆ ขณะนี้มะลิก็เป็นมะลิที่ใครๆก็รู้จักกันไปทั่วในทีมผู้รักษา ขั้นต่อมาเราประคองให้มะลินั่งรถเข็นไปชมสวนนอกตึกบ้าง ต่อมาให้สามีและลูกจะมาช่วยพยุง มารับมะลินั่งรถเข็นออกไปดูทิวทัศน์นอกตึกผู้ป่วยในบ้าง ช่วงเวลานี้เราไม่เห็นความเศร้าหมองของมะลิอีกเลย เราเห็นแต่รอยยิ้มและเสียงทักทาย และภาพที่เราเห็นจนติดตา คือภาพที่สามีและลูกชายช่วยกันเข็นรถเข็นให้มะลิออกมาชมทิวทัศน์ทุกเย็นหลัง 6 โมงเย็นและทุกเช้าเวลาประมาณ 06.00 น. แล้วสามีต้องไปทำงานรับจ้างที่โรงงาน ส่วนลูกต้องไปเรียน จะเป็นอย่างนี้ไปทุกๆวัน จนเราเห็นภาพครอบครัวที่อิ่มอุ่น แม้ลำบากเท่าใดก็ต่อสู้และดูแลไม่ทอดทิ้ง มีกำลังใจที่ดีให้กันและกัน สามีและลูกดูแลมะลิอย่างดีเยี่ยมอย่างที่เราฝึกและให้ความรู้ความเข้าใจ จนเราต้องชมจากใจจริง เป็นครอบครัวที่น่าประทับใจมากๆ

เรามักจะพูดกันในทีมว่าแม้มะลิจะโชคร้ายที่เป็นแบบนี้แต่มะลิโชคดีที่มีครอบครัวที่อบอุ่น มีสามีที่ดีและลูกชายที่น่ารัก เมื่อมาถึงเวลาที่มะลิต้องเริ่มฝึกเดินและทรงตัว เมื่อเราเตรียมความพร้อมของกล้ามเนื้อขาและแขนมาพอสมควร โดยเริ่มฝึกยืนเองโดยมีคนประคองและให้เกาะยึด มีคนช่วยประคอง 2 คน จนกระทั่งมีคนประคองเพียง 1 คน มะลิก็สามารถทรงตัวได้ และสามารถนั่งบริหารกล้ามเนื้อขาได้มั่นคงขึ้น ถึงบทเรียนที่หนักคือพยายามก้าวขาเดิน เราก็ลุ้นกันตัวโก่งเหมือนฝึกหัดเด็กที่เพิ่งตั้งไข่และฝึกเดิน จนกระทั่งสามารถใช้ Walker ได้เองโดยมีพวกเราคอยเดินเคียงข้างระวังหลังหากเกิดอาการเซหรือป้องกันการล้ม ระหว่างนั้นเราก็พามะลิมาลองเดินกะลา " กะลานวดเท้า " ซึ่งเป็นนวัตกรรมชิ้นโบว์แดงของงานแพทย์แผนไทย สามารถนวดฝ่าเท้าคลายกล้ามเนื้อที่เกร็งหรือมีอาการชาได้ ทุกวันเราก็จะเห็นสามีประคองมะลิเดินกะลานวดเท้าทุกเช้าและเย็น ก่อนและหลังทำงาน เวลากลางวันพยาบาลก็พามาเดินไปมาบ้าง เดินกะลาบ้าง ประมาณ 1 เดือน นับวันความสัมพันธ์ครอบครัวมะลิและทีมดูแลกระชับมากขึ้น มะลิมักจะเรียกทีมที่มาร่วมดูแลว่า "คุณครู" พอเจอหน้าใครที่เป็นทีมการดูแลรักษาพยาบาล มะลิจะทักทายว่า "สวัสดีค่ะ คุณครู" พวกเราก็มักจะบอกว่า "คุณหมอกับพยาบาล ไม่ใช่คุณครู" แม้จะบอกซักกี่ครั้ง มะลิก็ยังเรียกพวกเราว่า คุณครู ทุกครั้งไป จนพวกเราในทีมกลายเป็น "คุณครู " ของมะลิไปทุกคน


Posted by : จริงใจ , Date : 2008-03-02 , Time : 10:42:17 , From IP : 172.29.5.238

ความคิดเห็นที่ : 7


   และแล้ววันที่มะลิต้องคืนสู่เหย้า ทีมแพทย์ พยาบาลในหอผู้ป่วยและพยาบาลแพทย์แผนไทยที่ดูแลเรื่อง Home Health Care ( HHC ) วางแผนการจำหน่าย ก่อนจำหน่ายเป็นธรรมเนียมที่ผู้ป่วยที่นอนโรงพยาบาลนานๆหรือมีภาวะแทรกซ้อนหรือผู้ที่ต้องได้รับการดูแลที่ดีเป็นพิเศษ เราทั้งทีมไปเยี่ยมบ้านก่อนจำหน่ายผู้ป่วย เพื่อเตรียมความพร้อมในการต้อนรับสมาชิกที่จะกลับมาใช้ชีวิตที่บ้านอย่างเหมาะสมที่สุด บ้านของมะลิเป็นบ้านลักษณะคล้ายกระท่อมหลังเล็กๆยกพื้น ฝาบ้านทำจากไม้ไผ่ หลังคามุงจาก มีบันไดขึ้นบ้าน 4 ขั้น ภายในบ้านแบ่งเป็น 2 ฟาก ส่วนหนึ่งเป็นที่นอนและเก็บเสื้อผ้า อีกส่วนเป็นครัวเล็กๆสำหรับทำกับข้าว อยู่ด้วยกัน 3 คน มะลิ สามีและลูกชาย ห้องน้ำห้องส้วมอยู่ห่างจากบ้านประมาณ 100 เมตร รอบๆบ้านมีหญ้าขึ้นค่อนข้างรก จนกระทั่งพนักงานขับรถพูดว่า "พี่ๆเรามาช่วยกันตัดหญ้า ให้มะลิหน่อยดีมั๊ย บ้านจะได้น่าอยู่มากขึ้น" เราเองฟังแล้วรู้สึกชื่นใจที่น้องมีความคิดที่ดีที่อยากจะช่วย แต่เราก็ได้พูดคุยกับสามีมะลิ ให้ช่วยกันจัดสภาพบ้านให้สะอาดและเป็นระเบียบมากขึ้น พร้อมทั้งการตัดหญ้าดูแลสิ่งแวดล้อมรอบบ้าน ซึ่งสามีมะลิก็รับปากกับทีมเราจะจัดสิ่งแวดล้อมตามที่แนะนำ อีก 2 วัน มะลิก็ได้จำหน่ายกลับบ้านด้วยสีหน้าแววตาสดชื่น พร้อมหน้าพร้อมตาครอบครัว บอกลา "คุณครู" ทุกคน พวกเราก็ไปส่งถึงบ้านเลยทีเดียว ก่อนกลับก็ร่ำลากันอยู่นาน

มีการติดตามเยี่ยมบ้านต่อเนื่อง ครั้งแรกในการเยี่ยมบ้านมะลิ สภาพบ้านวันนี้สะอาดและเป็นระเบียบ ไม่มีหญ้ารกเหมือนวันเก่า เมื่อเราไปถึงบ้านเรียกทักทายมะลิ มะลิดีใจมากยิ้มและแสดงแววตาที่ดีใจสุดๆ จนเราอดหัวเราะไม่ได้ คำแรกที่มะลิทักทายแบบตะโกนดังลั่นว่า "ดีจังที่คุณครูมาเยี่ยม " ตอนนั้นมะลิอยู่บ้านคนเดียว ช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น ทำกิจวัตรประจำวันได้บางส่วน มะลิบอกว่า กลางวันลูกจะไปเรียน ส่วนสามีไปทำงานรับจ้างที่โรงงาน มะลิอยู่บ้านช่วยเหลือตนเองได้บ้าง โดยสามีจะเตรียมอุปกรณ์ต่างๆไว้ให้มะลิ หยิบใช้ได้สะดวกใกล้ๆตัว เตรียมอาหารไว้ให้ใกล้ตัว เราถามมะลิว่าอยู่บ้านคนเดียวเป็นอย่างไรบ้าง มะลิบอกเราว่า "อยู่ได้ค่ะคุณครู ตอนเย็นแฟนหนูก็จะกลับมาค่ะ" เราก็พูดคุยเรื่องความเป็นอยู่ มะลิก็บอกว่า "ดีเพราะสามีก็ดูแลเอาใจใส่ดี ช่วยหนูฝึกหัดเดินทุกวัน " แรกๆให้เดินกับเครื่องช่วยเดิน 4 ขา และพยาบาลแนะนำกะลาแบบที่เคยเดินที่โรงพยาบาลวางเรียงที่พื้นและใช้มือจับที่ฝาบ้าน จนกระทั่งมะลิเดินได้คล่องขึ้น พวกเราก็ตามมาดูแลการรับประทานยาของมะลิ ซึ่งมะลิก็ปฏิบัติได้ถูกต้อง ได้ย้ำเรื่องการระมัดระวังการหกล้มเพราะต้องขึ้นลงบันได การปฏิบัติตัวถูกต้อง ทุกวันก็ฝึกการบริหารกล้ามเนื้อ เมื่อเราเห็นแววตาที่สดใส สีหน้าแห่งความดีใจ ตื้นตันใจ เป็นภาพที่พวกเราจำฝังใจก็เป็นมีความสุขที่ยาวนาน มันเกิดขึ้นในใจเรา เราได้ถามเพื่อนบ้านมะลิถึงความเป็นอยู่ของมะลิ ทุกคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า สามีเอาใจใส่ดีมากทุกวันก่อนไปทำงานและหลังจากทำงาน จะมาช่วยกระตุ้นกล้ามเนื้อ ฝึกเดิน จนกระทั่งช่วยเหลือดูแลการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันต่างๆที่เอื้อให้มะลิสามารถช่วยเหลือตัวเองได้มากที่สุดและสะดวกที่สุด เป็นน้ำทิพย์ที่ช่วยหล่อเลี้ยงชโลมใจให้มะลิมีความอดทนและพยายามชนะโรคภัยไข้เจ็บ และเราก็ไปเยี่ยมบ้านมะลิเป็นระยะๆตามแผน

มะลิดูดีขึ้นเป็นลำดับ ขณะที่เราก็ยังเป็น "คุณครู" ทุกลมหายใจของมะลิ


Posted by : จริงใจ , Date : 2008-03-02 , Time : 10:43:07 , From IP : 172.29.5.238

ความคิดเห็นที่ : 8


   และวันที่หมอนัดมะลิมาดูอาการและเจาะน้ำตาลในเลือด เป็นภาพที่เราเห็นประจำคือสามีประคองมะลิเดินและนั่งรถเข็นรอหมอตรวจ หมอและทุกคนร้องทักทายมะลิคำที่มะลิทักทายกลับมาคือ "คุณครูคะหนูดีขึ้นมากเลย" สามีก็บอกอาการ ว่าเริ่มเดินได้ดีแล้ว ซึ่งสามีมะลิทำราวให้มะลิเดินกะลาคล้ายแบบโรงพยาบาล และระดับน้ำตาลอยู่ในเกณฑ์ที่ดีเป็นที่พอใจต่อผู้รักษา มะลิในวันนั้นที่เราเจอเป็นดอกมะลิที่เบ่งบานและสดชื่นพร้อมรับวันใหม่ในวันนี้และยังคงเบ่งบานในใจเราตลอดไป

เป็นความรู้สึกที่ยากจะบอกใครได้ว่า สิ่งที่พวกเราได้ทำให้ใครคนหนึ่งที่คิดว่าชีวิตนี้หมดความหมาย หมดคุณค่า ท้อแท้ทั้งตนเอง ผู้ที่รักและผู้ที่อยู่รอบข้าง—

บทสะท้อน
ดอกมะลิแห่งนาหม่อมและวิถีแพทย์พยาบาล

ผมได้ไปเยี่ยม รพ.นาหม่อม เจอคุณหมอสุธาทิพย์ คุณภัณฑิรา คุณพรรณภัทร และทีมงาน รวมทั้งคุณจงรัก คนขับรถของ รพ.ที่เป็นคนออกความเห็นและอาสาลงมือตัดต้นไม้ถางหญ้าแต่งลานบ้านให้คุณมะลิ พูดคุยสนทนากันครึ่งวัน

เป็นครึ่งวันที่มีความหมาย และมีความสุขมาก

เบื้องหลังเรื่องเล่าแต่ละเรื่อง แฝงไว้ด้วยพลัง ด้วยพลังงานและพลังใจอันบริสุทธิ์ การทำงานเพื่อช่วยคนอื่นจนถึงที่สุด อย่างที่ทีม รพ.นาหม่อมได้ทำกับคุณมะลิ เป็นเพียงหนึ่งเรื่องในงานประจำ และมีอีกหลายสิบ หลายร้อย หลายพัน ที่สมาชิกของทีม รพ.นาหม่อม เก็บเอาไว้ในความทรงจำ มิได้เอามาเผยแพร่

ผมเชื่อว่าทุกๆโรงพยาบาล หากมองหา ก็จะมีเรื่องทำนองเดียวกันอีกมากมายมหาศาล

เรื่องเล่าแบบนี้ ทำให้เรายิ่งมองเห็นได้ว่า อันคุณค่าแห่งโรงพยาบาล แห่งวิชาชีพแพทย์ พยาบาล แห่งปรัชญาอันมีชีวิตเพื่อผู้อื่นนั้น จะเป็นการยากเพียงไร ที่จะนับ ที่จะคำนวณ ว่าเราได้ทำอะไรลงไป และเกิดอะไรขึ้นมาบ้าง ถ้าจะนับ กรณีคุณมะลิก็คงจะเป็น 1 ราย แต่ตัวเลข 1 รายนี้ก็คงจะไม่ justified สิ่งที่เกิดขึ้นกับทุกๆคนที่เกี่ยวข้อง

ตอนผมไปเยี่ยมบ้านคุณมะลิ ก็ได้เห็นลานบ้านอันสะอาดสะอ้าน ไม่มีหญ้ารกปรกพง อันเป็นผลงานของคุณจงรัก คนขับรถโรงพยาบาลนาหม่อมและทีม HHC คุณมะลินั่งห้อยขาอยู่ที่หน้าประตูบ้าน โบกมือทักทายทีมเราอย่างดีอกดีใจ

"คุณครูมาแล้วๆ" มะลิเรียกหา

มะลิอยู่บ้านคนเดียว สามีไปทำงาน น้องสมบูรณ์ก็ไปเรียนหนังสือ หมอสุธาทิพย์เล่าให้ฟังว่าได้นำเอาเรื่องราวของคุณมะลิไปเล่าให้นายอำเภอฟัง ให้ผู้ใหญ่บ้านฟัง พอใครๆได้ยินเรื่องราว ก็พยายามจะช่วยกัน จะหาทุนการศึกษาให้น้องสมบูรณ์ เพราะน้องสมบูรณ์เป็นเด็กน่ารัก มะลิบอกว่าขอให้น้องเป็นคนดีก็พอ พอเราถามว่าจะให้น้องเป็นอะไรในอนาคต มะลิก็ตอบว่า "เป็นอะไรก็ได้ น้องเป็นคนดี" ฟังแล้วช่างอบอุ่นใจ และภาคภูมิใจในความเป็นแม่ นั่นน่ะสิ สำหรับแม่จะต้องการอะไรอีก เมื่อพบว่าลูกเป็นคนดี มีความกตัญญูกตเวที เด็กอย่างนี้ ทำอะไรก็ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ มะลิพร่ำบอกว่าเธอดีใจแค่ไหน ภาคภูมิใจแค่ไหนที่ได้เห็นทีมคุณครูมาเยี่ยมเธอ

ในการเรียนรู้ชีวิต บทเรียนจริงมีค่า มีความหมายมากกว่าทฤษฎี สมมติฐาน อย่างมากมายมหาศาล ยกตัวอย่างน้องสมบูรณ์ จะมีใครเข้าใจ หรือให้นิยามคำเมตตา กรุณา กตัญญู ได้อีกไหม ทั้งหมดออกมาเป็นเชิงปฏิบัติ จับต้องได้ แต่ต้องจับต้องหรือสัมผัสด้วยหัวใจ ไม่ใช่การนับการคำนวณ

รพ.นาหม่อมมีหมอแค่ 2 คน ทั้งๆที่มี 3 ตำแหน่ง แต่ด้วยภาระงานขนาดนี้ หมอสุธาทิพย์และทีม ก็ทำงานอย่างยิ้มแย้ม มีกำลัง ขณะที่คุยเรื่องคุณมะลิ หมอสุธาทิพย์ก็ยังฉวยโอกาสพูดคุยกับ อสม. กับอำเภอ ว่าจะนัดประชุมกันเรื่องระบบการกำจัดขยะในอำเภอนาหม่อมกันอย่างไรดี เพราะอยู่นอกเขตเทศบาล ชาวบ้านเผาขยะกันเอง และหลายคนก็เป็นหอบหืด เป็นโรคปอด

ผมเคยอ่านเจอประโยคประโยคหนึ่งว่า "Once we have found our dream work, then we will never have to work again. Just live." เมื่อเราสามารถค้นพบงานเพื่อชีวิตที่มีความหมายอย่างแท้จริงของเราเมื่อไร หลังจากนั้น ก็จะเสมือนกับว่าเราไม่ต้องทำงานอีกต่อไป เพียงแค่ "ใช้ชีวิต" เท่านั้น เพราะงาน และชีวิตเรา ได้บูรณาการเป็นหนึ่งเดียว เหมือนกับการหายใจ เดินไปมา กิน ทำงาน เราจะไม่ทุกข์กับงาน เพราะเรามีแต่ขอบคุณที่เรามีชีวิต เราจะไม่ขึ้งเครียดเกลียดผู้ร่วมงาน นาย ลูกน้อง คนไข้ เพราะทั้งหมดอยู่ในนิเวศชีวิตของเรา เราจะไม่รู้สึกเดือดร้อนเมื่ออยู่เวรแล้วถูกตามมาดูคนไข้ เพราะนี่เป็นส่วนหนึ่งของ package

ถึงเวลานี้ เราก็สามารถบอกกับตัวเองได้ว่า เราได้ประจักษ์อีกเหตุผลหนึ่งที่เราพึงภาคภูมิใจในวิชาชีพของเรา ในคนรอบๆข้างของเรา และความน่ารักของมนุษย์ถึงแม้ว่าบางทีจะแฝงอยู่ในโรคภัยไข้เจ็บก็ตาม


Posted by : จริงใจ , Date : 2008-03-02 , Time : 10:44:28 , From IP : 172.29.5.238

ความคิดเห็นที่ : 9


   ดอกมะลิบาน คนสวนอยู่ที่ใด

เช้านี้ผมได้ข่าวร้ายที่คาดไม่ถึง เป็นข่าวที่น่าสะเทือนใจ และนำมาซึ่งความเศร้าสลดเสียใจอย่างยิ่ง เมื่อไม่กี่วันก่อน ผมได้ไปเยี่ยม รพ.นาหม่อม เพื่อรับฟังเรื่องราว "ดอกมะลิ... เบ่งบานในใจเราเสมอ" เป็นเรื่องราวของทีม รพ.นาหม่อม จ.สงขลา ที่นำโดยผู้อำนวยการ รพ.คือ คุณหมอสุธาทิพย์ ธรรมชาติ และทีมพยาบาล บุคลากร รพ.นาหม่อม เป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับการทำงานของคุณหมอสุธาทิพย์ และทีม เพื่อนำคุณภาพชีวิตที่แท้จริงมาให้แก่คนไข้ชื่อคุณมะลิ ผู้เป็นเบาหวาน และได้รับความทุกข์ทรมานจากโรค คุณหมอสุธาทิพย์และทีม ได้ดูแลทั้งตัวคุณมะลิเอง และสามี กับลูกชายคือน้องสมบูรณ์จนกระทั่งคุณมะลิกลับบ้านได้ เรืองราวของทีม รพ.นาหม่อม สร้างความประทับใจ และเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้เสียสละในวงการเป็นอย่างมาก และกำลังจะได้รับรางวัลเรื่องเล่า การบริการสุขภาพที่ใช้หัวใจแห่งความเป็นมนุษย์ ของสถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล ในวันที่ 12 มีนาคมนี้
ปรากฏว่า เช้านี้ ผมรับโทรศัพท์จากหมอกระแต เธอเล่าให้ผมฟังว่า คุณหมอสุธาทิพย์ได้์เสียชีวิตเสียแล้ว เป็นหนึ่งในผู้รับเคราะห์การฆาตกรรมหมู่ เมื่อเช้ามืดวันนี้เอง

ผมฟังข่าวนี้ด้วยรู้สึกหลากหลายประการ พูดไม่ถูก อธิบายไม่ได้

ผมโทรศัพท์ไปหาคุณสุดาวดี หนึ่งในทีมงาน รพ.นาหม่อม เธอกำลังนำคุณหมอสุธาทิพย์กลับไปประกอบพิธีที่ จ.สตูล บ้านของคุณหมอ เธอเล่าให้ฟังว่า คุณหมอสุธาทิพย์ตื่นเต้นที่จะได้นำเรืองราวของคุณมะลิ ไปเล่าในงาน National Forum เป็นอย่างมาก ทีมงานมีความภาคภูมิใจในผลงาน และรู้สึกปลื้มใจที่จะได้ไป share เรื่องราวนี้ ให้เพื่อนๆแพทย์และพยาบาล รับทราบ เพื่อให้เห็นว่าอาชีพของเรานั้น ถ้าเราตั้งใจจริงๆ สามารถจะทำประโยชน์อะไรได้บ้างให้แก่ผู้อื่น คุณหมอสุธาทิพย์และทีมได้ช่วยกันทำ video clip และเตรียมการนำเสนออย่างตั้งใจที่สุด

ในฐานะที่ผมทำงานดูแล คนไข้ระยะสุดท้าย แม้ว่าจะได้ทำความเข้าใจเรื่องความไม่แน่นอนแห่งชีวิต ความเปราะบางของสิ่งที่เราเผอเรอคิดว่าคงทนถาวร แต่ก็ยังอดมิได้ ที่จะคิดว่าชีวิตบางชีวิตลุกโพลงสว่าง ให้แสง ให้ความอบอุ่น แก่ชีวิตอื่นๆ จนเราอยากให้ชีวิตนั้น คงอยู่ต่อไปอีกนานเท่านาน

ใครจะนึกถึงว่าเปลวเทียนแห่งชีวิต ของคุณหมอสุธาทิพย์ ที่ผมได้สัมผัสด้วยตนเอง ได้ยินน้ำเสียง ได้มองเห็นประกายตา ได้ "รู้สึก" ถึงความสุขลึกๆขณะที่หมอสุธาทิพย์ พรรณนาถึงคุณมะลิ คนไข้ของเธอ ว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างไร และหมอมีความสุขเพียงไรในการที่ได้นึกถึงภาพ นึกถึงเรื่องราว และได้เล่าออกมารอบแล้วรอบเล่า เปลวเทียนนี้จะเป็นประกายสุดท้าย ที่เจิดจรัสขึ้นมา เป็นหลักฐานที่หลงเหลือว่า ชีวิตคนๆหนึ่ง อยู่เพื่ออะไร ทำอะไรเพื่ออะไร

ชีวิตคนสุดท้าย ก็คือ Live for do the deeds and tell the tales เท่านั้น



Posted by : phoenix , Date : 2008-03-02 , Time : 11:24:18 , From IP : 172.29.9.38

ความคิดเห็นที่ : 10


   Deeds ที่คุณหมอสุธาทิพย์ได้ทำ ผมเชื่อเหลือเกินว่า กุศลบุญของเธอจะทำให้เธอได้ไปอยู่ในภพภูมิที่สุขสันติ Tales ที่คุณหมอสุธาทิพย์เล่า จะเป็นเชื้อเพลิง เป็นพลังหนุนเสริม เป็นอีกตำนานหนึ่งของวงการแพทย์ ตำนานเล็กๆ ที่อาจจะมีน้องสมบูรณ์ ลูกคุณมะลิ ได้เรียนรู้และจดจำคุณหมอ ที่ได้ดูแลคุณมะลิแม่ของน้อง อย่างสมศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์

ณ ที่นี้ ขอสำรวมจิต รำลึกถึงคุณความดี ของคุณหมอสุธาทิพย์ ขอให้เธอไปอยู่ยังแดนสุขาวดี ขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของคุณหมอสุธาทิพย์เป็นอย่างยิ่ง ขอให้ครอบครัวคุณหมอสุธาทิพย์ทราบเถิดว่าคุณหมอได้ทำทุกอย่างสมศักด์ศรีแห่ง คนๆหนึ่ง และเรื่องของเธอจะเป็นที่จดจำตลอดไป


Posted by : phoenix , Date : 2008-03-02 , Time : 11:25:17 , From IP : 172.29.9.38

ความเห็นจาก Social Network : Facebook


สงวนสิทธิ์การแสดงความคิดเห็นสำหรับ สมาชิกเท่านั้น
>>>>> Page loaded: 0.008 seconds. <<<<<