ปีหมูทองวงการสเต็มเซลล์ โรงเรียนแพทย์แห่อวดผลงาน
ปีหมูทองวงการสเต็มเซลล์ โรงเรียนแพทย์แห่อวดผลงาน
ในปี 2550 งานวิจัยด้านสเต็มเซลล์หรือเซลล์ต้นกำเนิดก้าวหน้าอย่างมาก ทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยหลายโครงการได้ส่งต่อให้โรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์ทดลองใช้กับอาสาสมัครผู้ป่วย บางโครงการก็อยู่ในขั้นตอนของสัตว์ทดลอง และเตรียมที่จะขยายสู่การทดสอบในคน โรงเรียนแพทย์สังกัดมหาวิทยาลัยมหิดล มีความก้าวหน้ามากสุดในเทคโนโลยีนี้
มหิดลเพาะเซลล์ผิวหนังทำกระจกตา
ดร.มลวิภา ศิลาอาสน์ สถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) สกัดและเพาะสเต็มเซลล์ผิวหนัง ให้เป็นเซลล์ผิวกระจกตา เพื่อรักษาผู้ที่ประสบอุบัติเหตุอย่างรุนแรงจากสารเคมี เช่น กรด-ด่าง หรือความร้อน การแพ้ยาอย่างรุนแรง และการอักเสบที่เกี่ยวข้องกับกระจกตาอื่นๆ
ทีมวิจัยวางแผนจะทดสอบเทคนิคนี้กับอาสาสมัคร 10 คน โดยได้ประชาสัมพันธ์ไปยังจักษุแพทย์ทั่วประเทศ สำหรับคัดเลือกอาสาสมัคร โดยทางโรงพยาบาลจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้านการรักษาให้ทั้งหมด ขณะนี้ได้อาสาสมัครแล้วจำนวนหนึ่ง และอยู่ระหว่างเตรียมพร้อมทางห้องปฏิบัติการทางเนื้อเยื่อ คาดว่าในปี 2553 จะขยายผลให้สามารถใช้ในการรักษาจริง
ข้อดีของการรักษาแนวใหม่คือ เซลล์ที่นำมาปลูกถ่ายเป็นของตัวคนไข้เองจึงไม่เกิดปฏิกิริยาต่อต้านจากร่างกายของผู้ปลูกถ่าย ไม่ต้องกินยากดภูมิคุ้มกัน และยังไม่ทำลายเซลล์ดีของตาอีกข้างด้วย
ศิริราชดึงเซลล์ผิวรักษากระดูกพรุน
ศ.เกียรติคุณ นพ.ณรงค์ บุญยะรัตเวช คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล พบความเป็นไปได้ที่จะใช้สเต็มเซลล์รักษาโรคกระดูกพรุน โดยทดลองฉีดสเต็มเซลล์ในกระดูก พร้อมกับให้วิตามินเค 2 พบว่าการรักษาควบคู่กันให้ประสิทธิภาพดีกว่าการรักษาวิธีใดวิธีหนึ่งเพียงอย่างเดียว ผลของวิตามินเค 2 มีส่วนช่วยสร้างคอลลาเจนและไฟเบอร์ สร้างโปรตีนกระดูก และเนื้อกระดูกเพิ่มขึ้น
ขั้นตอนต่อไปของการศึกษาคือ การทดลองฉีดสเต็มเซลล์เข้าในเซลล์กระดูก ที่พบปัญหารูพรุนของอาสาสมัคร สเต็มเซลล์ที่ใช้มาจากผิวหนังของผู้ป่วยเอง เพื่อลดปัญหาการต่อต้านของร่างกาย หากเริ่มต้นทำการทดลองในคนได้ คาดว่าจะสรุปผลการรักษาได้ใน 6 เดือน ความรู้นี้สามารถประยุกต์ใช้รักษาโรคกระดูกอื่นๆ ได้ด้วย เช่นกระดูกหัก กระดูกเปราะ คาดว่าจะเป็นเทคโนโลยีใหม่แทนการใช้ยาและผ่าตัด
ศาลายาพบวิธีเร่งกระดูกหักฟื้นเร็ว
โครงการการสร้างเนื้อเยื่ออวัยวะ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา คิดวิธีร่นเวลารักษาผู้ป่วยกระดูกเชิงกรานและขาหัก ใช้น้ำยากระตุ้นกระดูก ในการเลี้ยงเซลล์ไขกระดูก (สเต็มเซลล์) บนกระดูกบริจาคภายในห้องปฏิบัติการ 3 สัปดาห์ พบเซลล์เนื้อเยื่อในกระดูกบริจาคเจริญเติบโตเพิ่มขึ้น ทั้งยังสามารถดึงไปใช้ประโยชน์โดยใส่ในร่างกายคนได้เลย ซึ่งปลอดภัยจากภาวะเซลล์เข้ากันไม่ได้ เพราะกระดูกบริจาคผ่านการแช่แข็ง ทำให้เซลล์เก่าตายหมดแล้ว
ข้อดีของเทคนิคการใช้น้ำยากระตุ้นกระดูกร่วมกับสเต็มเซลล์ สามารถลดอาการบาดเจ็บของคนไข้ เพิ่มประสิทธิภาพการรักษาอาการบาดเจ็บให้หายเร็วขึ้น และที่สำคัญเพิ่มโอกาสเกิดเนื้อเยื่อใหม่ สำหรับเชื่อมต่อกระดูกและเนื้อขาได้เร็วขึ้น จากเดิมที่ต้องรอให้เนื้อเยื่อเจริญเติบโตถึง 3 เดือน จึงพร้อมที่จะยึดเหล็กหรือกระดูกที่ใส่เข้าไป
โครงการวิจัยใช้น้ำยากระตุ้นกระดูกร่วมกับสเต็มเซลล์ พร้อมที่จะทดสอบในผู้ป่วยกระดูกหักในปี 2551 ได้รับความร่วมมือจากโรงพยาบาลศิริราช
จุฬา-สมิติเวชเจาะกลุ่มเบาหวาน
โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิจัยรักษาแผลเบาหวานเรื้อรังด้วยสเต็มเซลล์จากเลือดของผู้ป่วยเอง พบผู้ป่วยทั้งหมด 6 ราย อายุ 50 - 72 ปี ที่ใช้สเต็มเซลล์ แผลหายและติดสนิทภายใน 3-4 เดือน โดยไม่ใช้วิธีรักษาอย่างอื่นเพิ่มเติม ทีมแพทย์ตั้งเป้าจะเพิ่มจำนวนกลุ่มตัวอย่างให้ได้อย่างน้อย 20-30 รายก่อนเปิดโอกาสใช้เป็นทางเลือกใหม่ในการรักษาต่อไป
"ขณะนี้จำนวนผู้ป่วยที่เข้าโครงการศึกษาวิจัยดังกล่าวยังน้อยอยู่ เนื่องจากต้องคัดเลือกผู้ป่วยที่ไม่มีโรคแทรกซ้อน เช่น โรคหัวใจ หรือการแพ้ยา เซลล์เส้นเลือดบริเวณแผลต้องไม่ตายก่อนที่จะรับการรักษา เป็นต้น เพื่อความปลอดภัยในการดำเนินการทดลอง และดูประสิทธิภาพการรักษาผู้ป่วย" ศ.เกียรติคุณ นพ.ธีรชัย ฉันทโรจนศิริ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมิติเวช กล่าว
การศึกษาดังกล่าวจะได้ผลดี หากเส้นเลือดและเซลล์ประสาทบริเวณแผลยังไม่ตาย โดยหลังการนำฟิล์มเอกซเรย์ก่อนและหลังฉีดสเต็มเซลล์มาเปรียบเทียบกัน พบว่าเนื้อบริเวณดังกล่าวมีการสร้างเซลล์เส้นเลือดขึ้นใหม่ขึ้นมาหล่อเลี้ยงอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งมีผลการศึกษายืนยันจากหลายแห่ง เช่น มหาวิทยาลัยซับโปโล เมืองฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น ที่ทดลองฉีดสเต็มเซลล์บริเวณแผลที่ขา พบว่าเส้นเลือดที่เกิดขึ้นใหม่นั้นเกิดขึ้นจากการฉีดสเต็มเซลล์เข้าไปอย่างชัดเจน
มธ.-ปิยะเวทมุ่งรักษาโรคทางประสาท
โรงพยาบาลปิยะเวทโดดร่วมวงสเต็มเซลล์เช่นกัน โดยมี 2 โครงการวิจัยใหญ่คือ ร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศึกษาสเต็มเซลล์จากเลือดสายสะดือ รักษาโรคทางประสาท โรคเบาหวาน โรคเลือด และร่วมมือกับเอกชนในจีน วิจัยสเต็มเซลล์รักษาโรคทางสมอง โดยโรงพยาบาลเปิดรับผู้ป่วยชาวต่างชาติในจีน ที่เป็นโรคทางสมอง เบาหวาน และโรคเลือด มาทดลองรักษาที่ประเทศไทย พบประสิทธิภาพการรักษาได้ผลค่อนข้างดี
จีนใช้สเต็มเซลล์รักษาโรคอย่างแพร่หลาย เนื่องจากรัฐบาลสนับสนุนทุนวิจัย ส่งเสริมให้ศึกษาเทคนิคการเพิ่มจำนวนสเต็มเซลล์ การกำหนดชนิดสเต็มเซลล์จากแหล่งต่างๆ เช่น ไขกระดูก เลือด และสายสะดือ ปัจจุบันในจีนคนไข้รอรักษาจำนวนมาก โดยเฉพาะชาวต่างชาติจนโรงพยาบาลไม่สามารถรองรับได้
มช.ประเดิมเซลล์กระดูกอ่อนสุนัข
น.พ.กสิสิน กลั่นกลิ่น คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมมือกับคณะสัตวแพทยศาสตร์ ทดลองปลูกถ่ายสเต็มเซลล์กระดูกอ่อนในสุนัขพันธุ์ไทยทั้งหมด 10 ตัว เป็นการมองหาทางเลือกใหม่รักษาอาการข้อบาดเจ็บแทนการเจาะไขกระดูก จากนั้นจะขยายผลไปทดลองปลูกเซลล์กระดูกอ่อนในคนได้ในปี 2551 เพื่อนำไปสู่การรักษาโรคจากการบาดเจ็บของไขข้อ ที่เกิดจากอุบัติเหตุการเล่นกีฬา อุบัติเหตุทางรถยนต์ งานวิจัยครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกของไทยที่มีการทดลองเพาะเลี้ยงเซลล์กระดูกอ่อนในห้องปฏิบัติการ
นักวิจัยต่างประเทศได้ทดลองด้านนี้มานานและสามารถผ่าตัดปลูกถ่ายในคนได้แล้ว การปลูกถ่ายเซลล์กระดูกอ่อนในต่างประเทศ มีค่าใช้จ่ายสูงถึง 4-5 แสนบาท ตั้งแต่การเพาะเซลล์ จนถึงกระบวนการผ่าตัด สำหรับประเทศไทยคาดว่าหากการทดลองนี้เป็นผลสำเร็จ จะใช้ต้นทุนในการรักษาผู้ป่วยคนละ 20,000 บาท รวมค่าผ่าตัด ใช้ระยะเวลา 1 เดือน โดยที่ไม่เกิดโรคแทรกซ้อนหรือผลกระทบตามมาหลังการรักษา
แล็บบริการเชิงพาณิชย์แห่งแรก
บริษัท เธราวีเท จำกัด ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับเซลล์ต้นกำเนิด เปิดห้องปฏิบัติการเซลล์ต้นกำเนิดในประเทศไทย คาดว่าจะตั้งอยู่ที่จังหวัดชลบุรี ถือเป็นครั้งแรกที่ภูมิภาคเอเชียรวมถึงไทยจะมีห้องแล็บสเต็มเซลล์เชิงพาณิชย์ ทั้งยังมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกรองรับความต้องการในระดับภูมิภาค ทำหน้าที่วิจัยพัฒนาการเพาะเลี้ยงเซลล์ต้นกำเนิดชนิดต่างๆ เช่น เซลล์ประสาท เซลล์ตับและเซลล์เม็ดเลือด เพื่อป้อนให้สถานพยาบาลและหน่วยงานวิจัยทางการแพทย์ทั่วเอเชีย รวมทั้งบริการปลูกถ่ายเซลล์และจัดเก็บเซลล์ต้นกำเนิดในรูปแบบธนาคารสเต็มเซลล์ ตลอดจนร่วมกับโรงเรียนแพทย์ในไทยและเอเชีย ค้นคว้าวิจัยด้านสเต็มเซลล์ เป็นต้น
เธราวีเทเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างไทย สหรัฐอเมริกา อิสราเอลและฮ่องกง เพื่อวิจัยพัฒนาการเพาะเลี้ยงเซลล์ต้นกําเนิดชนิดต่างๆ ในการรักษาโรค โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศไทย ได้รับความร่วมมือจากคณะนักวิจัยและทีมการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากเมืองคิรยาด ไวซ์แมน ประเทศอิสราเอล
copyright © NKT NEWS CO.,LTD.All Right Reserved.
Contact us :ktwebeditor@nationgroup.com
Posted by : cosmo , Date : 2008-01-01 , Time : 12:06:25 , From IP : 194.brs0104.brs.ipri
|