ฟ้องหมอ : แพ้ชนะ หมอเลือกเอง
ฟ้องหมอ : แพ้ชนะ หมอเลือกเอง
โดย ทีมข่าวอาชญากรรม ผู้จัดการออนไลน์ 20 ธันวาคม 2550 11:44 น.
ชนภัทร วินยวัฒน์
สำนักงานอัยการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ปัญหาการฟ้องแพทย์ไม่ใช่เพิ่งจะเกิดเพียงแต่เพิ่งจะมา บูมสุดขีด ในระยะหลังนี้เอง เพราะ กระแสสังคมเกี่ยวกับการเรียกร้องสิทธิและความถูกต้องให้กับตัวเองในยุคนี้ได้แทรกซึมเข้าไปทุกวงการ ไม่เว้นแม้แต่การฟ้องร้องดำเนินคดีกับแพทย์ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญาเมื่อคนไข้หรือญาติคิดว่า ฝ่ายตนไม่ได้รับความถูกต้องจากการปฏิบัติของแพทย์
สาเหตุหลักที่ทำให้ฝ่ายคนไข้ฟ้องแพทย์ คือ การไม่พอใจในการรักษาของแพทย์ ซึ่งหลายครั้ง คนไข้อาจคาดหวังในวิธีการรักษาของแพทย์ คิดว่าแพทย์เป็นเทวดาสามารถดลบันดาลความสุขให้แก่คนไข้
การห้ามคนไข้ฟ้องในกรณีการไม่สมหวังจากการรักษานั้นคงห้ามได้ยาก เพราะถ้าเกิดความเสียหายแก่ใคร ผู้เสียหายก็ย่อมจะต้องฟ้องผู้ทำความเสียหายไปก่อน แล้วค่อยไปพิสูจน์กันในศาล
โอกาสที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะแพ้ชนะกันก็อยู่ที่ว่า ใครจะเป็นฝ่ายพิสูจน์ให้ศาล เชื่อ ว่าตนเป็นฝ่ายถูกมากกว่ากันเท่านั้น
เมื่อไม่กี่เดือนมานี้ ผู้เขียนได้เข้าร่วมประชุมกับผู้บริหารแพทยสภาที่โรงพยาบาลราชบุรี จึงได้เรียนเสนอให้ผู้บริหารทั้งหลายทราบว่า การที่แพทย์จะแพ้หรือชนะในคดีนั้น แพทย์ต่างหากที่เป็นฝ่ายกำหนดเอง เช่น
ในการปฏิบัติทางเวชกรรมนั้น ถ้าหากแพทย์ได้ปฏิบัติตามหลักวิชาชีพที่ตนเรียนมา ไม่กระทำทุรเวชปฏิบัติ (Maltreatment) หรือไม่มีความประมาททางการแพทย์ที่ผิดแผกไปจากหลักวิชา (Medical Negligence) ถึงญาติคนไข้จะมาฟ้องแพทย์กี่ข้อหา กี่คดี แพทย์ก็เป็นฝ่ายได้เปรียบทั้งสิ้น
นอกจากนั้น เมื่อทุกคนต่างยอมรับว่า แพทย์ไม่ใช่เทวดาที่จะทำได้ทุกเรื่อง ดังนั้น เมื่อมีปัญหาทางคดีความเกิดขึ้น แพทย์ควรที่จะนำเรื่องดังกล่าวปรึกษาผู้บังคับบัญชาหรือปรึกษานักกฎหมายในทันทีที่สามารถทำได้ไม่ควรคิดและทำจากมุมมองของตนเองเพียงลำพัง เพราะ การมองประเด็นในคดีของนักกฎหมายจะช่วยให้แพทย์สามารถปรับกระบวนยุทธ์รับมือได้อย่างเหมาะสม และบางสถานการณ์บุคคลเหล่านั้นสามารถช่วยเหลือแพทย์ไม่ให้ตกอยู่ในสภาพเสียเปรียบเพราะเหตุเพียงเทคนิคเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้ เช่น การขาดนัดยื่นคำให้การ การขาดนัดพิจารณา การไม่ได้รับการประกันตัว
เคยมีอยู่คดีหนึ่ง เหตุเกิดที่จังหวัดปทุมธานี แพทย์คลินิกได้รับตัวเด็กหญิงคนหนึ่งที่ล้มและถูกสังกะสีบาดเส้นเอ็นที่ฝ่ามือขวาขาด แต่แพทย์เย็บได้ไม่ดีทำให้เส้นเอ็นไม่ติด ต่อมาผู้ปกครองได้พาเด็กหญิงคนนั้นไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลใหญ่แห่งหนึ่งจนมือใช้การได้ดีขึ้น ต่อมาผู้ปกครองได้ยื่นฟ้องหมอคนแรกเป็นคดีแพ่ง ปรากฏว่า หมอคนแรกไม่ให้ความสนใจกับคดี ไม่ไปศาล ไม่ยื่นคำให้การหรือต่อสู้ใด ๆ ทั้งสิ้น ศาลจึงพิพากษาตามพยานหลักฐานของฝ่ายเด็กให้หมอชดใช้ค่าเสียหาย แต่ยังไม่ทันชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ผู้ปกครองก็เอาข้อเท็จจริงในคดีดังกล่าวมาแจ้งความกับตำรวจให้ดำเนินคดีอาญากับหมอคนนี้อีกในข้อหาประมาทเป็นเหตุให้ลูกสาวได้รับอันตรายสาหัส ผู้เขียนเชื่อว่าถ้าคดีนี้มีทนายความแต่แรกและแพทย์ให้ความสนใจติดตามคดี เรื่องราวคงไม่เป็นเช่นนี้
ในการพิจารณาคดีของศาล ศาลจะพิจารณาจากพยานหลักฐานและชั่งน้ำหนักตามหลักเหตุผลว่าพยานหลักฐานของใครน่าเชื่อถือกว่ากัน เพราะฉะนั้น หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่นำพยานหลักฐานมาพิสูจน์ก็ยากที่จะทำให้ศาลเชื่อถือในฝ่ายนั้นได้
การประชุมครั้งนั้น มีข้อเสนอแนะที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานในวิชาชีพแพทย์หลายประการ เพื่อป้องกันการถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย เพียงแต่ว่าจะมีการนำข้อเสนอดังกล่าวมาปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมมากน้อยเพียงใด
เพราะฉะนั้น อย่างที่เรียนให้ทราบ รูปคดีแพทย์จะได้เปรียบหรือเสียเปรียบ แพทย์เท่านั้นที่จะเป็นผู้กำหนด อย่าปล่อยให้คนอื่นเป็นผู้กำหนดชีวิตแพทย์อีกเลย
Posted by : insulin , Date : 2007-12-20 , Time : 13:53:59 , From IP : 172.29.8.161
|