แพทยสภาออกโรงปกป้องหมอ ชี้ ผลพิพากษาทำหมอขวัญเสีย ไม่กล้ารักษาผู้ป่วย ต้องส่งต่อให้วางยาสลบอย่างเดียว และผ่าตัด รพ.ที่มีความพร้อมมากกว่าแทน ส่งผลกระทบผู้ป่วยยิ่งเสี่ยงเสียชีวิตสูง พร้อมเตรียมขอข้อมูลจากศาล ทบทวนตั้งคณะกรรมการสอบจริยธรรมใหม่ ขณะที่ปลัด สธ.บ่นรับไม่ได้ เตรียมตั้งทนายช่วยเหลือเต็มที่
วันนี้ (7 ธ.ค.) ที่แพทยสภา นพ.อำนาจ กุสลานันท์ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวถึงกรณีศาลจังหวัดทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช มีคำพิพากษาให้จำคุก พญ.สุทธิพร ไกรมาก แพทย์ประจำโรงพยาบาลร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช เนื่องจากผ่าตัดไส้ติ่ง นางสมควร แก้วคงจันทร์ ด้วยการฉีดยาชาเข้าไขสันหลัง โดยประมาท ทำให้ นางสมควร เสียชีวิต โดยศาลลงโทษให้จำคุกเป็นเวลา 3 ปี ว่า แพทยสภารู้เสียใจต่อวงการแพทย์ และถือเป็นอุทาหรณ์ ซึ่งต่อจากนี้ การผ่าตัดใดๆ ก็ตาม ที่ต้องมีการดมยาสลบ หรือยาระงับความรู้สึกโดยการฉีดเข้าทางช่องไขสันหลัง ควรต้องทำในโรงพยาบาล ที่มีวิสัญญีแพทย์เท่านั้น เพราะแพทย์จะมีความเสี่ยงอย่างมาก หากผู้ป่วยเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง และอันตรายถึงชีวิตได้
ผลการพิพากษาในครั้งนี้ มีผลกระทบต่อขวัญกำลังใจของแพทย์ และอาจทำให้แพทย์ตื่นตระหนก จนไม่กล้าเสี่ยงที่จะตัดสินใจในการรักษาผู้ป่วย ทำให้ต้องส่งต่อผู้ป่วยไปรักษาที่โรงพยาบาลจังหวัด หรือโรงพยาบาลที่มีความพร้อมมากกว่า ซึ่งจะยิ่งทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสเสี่ยงเสียชีวิตสูงขึ้น นพ.อำนาจ กล่าว
นพ.อำนาจ กล่าวต่อว่า ต่อไปในทางการแพทย์จะมีผลกระทบรุนแรง เพราะไทยมีปัญหาขาดแคลนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยเฉพาะวิสัญญีแพทย์ ยังมีไม่ครอบคลุมโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โดยเฉพาะในโรงพยาบาลชุมชนเกือบ 700 แห่งทั่วประเทศ มีเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้นที่มีวิสัญญีแพทย์ประจำโรงพยาบาล ซึ่งกรณีเช่นนี้โรงพยาบาลที่ไม่มีวิสัญญีแพทย์ก็ไม่สามารถทำการรักษาผู้ป่วยด้วยการผ่าตัดที่จำเป็นต้องดมยา หรือฉีดยาระงับความรู้สึกเข้าทางไข้สันหลังได้ ทำให้ต้องส่งผู้ป่วยไปรักษาในโรงพยาบาลที่มีความพร้อมมากกว่าแทน ซึ่งจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาที่เพิ่มขึ้นเกินขีดความสามารถที่จะรักษาได้ จะทำให้เกิดความล่าช้า และเกิดความผิดพลาดได้ในที่สุด
นพ.อำนาจ กล่าวอีกว่า สำหรับกรณีของ พญ.สุทธิพร ที่มีคำพิพากษาศาลชั้นต้นลงโทษแล้วนั้น ทางแพทยสภาจะนำคำพิพากษาของศาล รวมถึงกระบวนการสืบพยาน การให้ปากคำของพยานบุคคลทั้งหมดมาพิจารณาอีกครั้ง เพื่อทบทวนว่ากรณีดังกล่าวความผิดเกิดจากแพทย์จริงหรือไม่ หรือเกิดจากความผิดพลาดตรงไหน เพื่อเป็นบทเรียนให้ทุกฝ่ายได้ทบทวนร่วมกันอีกครั้ง ทั้งนี้ การพิจารณาคดีความเสียหายทางการแพทย์ ไม่ควรใช้กฎหมายอาญาเป็นหลักในการพิจารณา แต่ควรมีกฎหมายพิเศษที่เป็นกฎหมายเฉพาะ เพื่อสามารถพิจารณาได้ว่ากรณีใดเป็นความประมาทของแพทย์ หรือกรณีใดที่ไม่ประมาท รวมถึงควรมีศาลพิจารณาคดีทางการแพทย์แยกจากศาลอาญาด้วย เพราะการแพทย์เป็นเรื่องเฉพาะทางควรให้ผู้เชี่ยวชาญตัดสิน
ขณะที่ ศ.นพ.ธารา ตริตะการ ภาควิชาวิสัญญีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล อดีตประธานราชวิทยาลัยวิสัญญีแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงหลังการดมยา หรือฉีดยาระงับประสาททางไขสันหลังสามารถเกิดขึ้นได้ หากเป็นการดมยา มักจะเกิดกับผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องปอด และโรคหัวใจ โดยผู้ป่วย 10,000 ราย จะมีอัตราการเสียชีวิต 5-6 ราย แต่หากเป็นการฉีดยาเข้าทางไขสันหลังมักจะเกิดกับผู้ป่วยที่มีร่างกายแข็งแรง หรือนักกีฬา โดยผู้ป่วย 10,000 ราย มีอัตราการเสียชีวิต 2-6 ราย ซึ่งเป็นเรื่องที่ทางการแพทย์ยังไม่สามารถวินิจฉัยได้ว่าเกิดจากสาเหตุอะไร
กรณีของแพทย์ที่ถูกตัดสินจำคุกนั้น เป็นแพทย์ที่ตั้งใจทำงานอย่างมาก แต่ภาวะแทรกซ้อนที่เกิด สามารถเกิดขึ้นได้เอง และอาจเกิดขึ้นจากความประมาทหรือไม่ก็ได้ แต่เชื่อว่า แพทย์ไม่เจตนาทำให้เกิดอันตรายแก่ผู้ป่วยอย่างแน่นอน ซึ่งผมก็ไม่ทราบว่าศาลมีข้อมูลหรือมีความเข้าใจเกี่ยวกับข้อมูลการเกิดภาวะแทรกซ้อนด้วยหรือไม่ ศ.นพ.ธารา กล่าว
ศ.นพ.ธารา กล่าวต่อว่า ปัจจุบันประเทศไทย มีวิสัญญีแพทย์ ประมาณ 700 กว่าคน ในจำนวนนี้เป็นแพทย์ในสังกัดโรงพยาบาลของรัฐ ประมาณ 200 กว่าคน ส่วนที่เหลือเป็นแพทย์ในสังกัดโรงเรียนแพทย์ และโรงพยาบาลเอกชน นอกจากนี้ แพทย์สาขาอื่นก็ประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากรด้วยเช่นกัน ทั้งศัลยแพทย์ สูตินรีแพทย์ ศัลยแพทย์สมองและกระดูก เป็นต้น ซึ่งหากมีการส่งต่อผู้ป่วยไปรักษาในโรงพยาบาลที่มีความพร้อม หรือมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ซึ่งอยู่ห่างไกลออกไปอีก จะยิ่งทำให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงในการเสี่ยงชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 5 เท่า เพราะได้รับการรักษาล่าช้าไม่ทันท่วงที
ด้านนพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวในงานประชุมโครงการแนวทางการสนับสนุนการสร้างขวัญกำลังใจสำหรับแพทย์ ทันตแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลชุมชน ที่จัดโดยชมรมแพทย์ชนบท ที่โรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ต ด้วยว่า ขณะนี้ได้ให้ฝ่ายกฎหมายของ สธ.ติดต่อขอเนื้อหาคำพิพากษาและคำร้องจากศาลจังหวัดทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งคดีนี้ยังไม่ถึงที่สุด เพราะมีการอุทธรณ์เพื่อให้ศาลสูงพิจารณาวินิจฉัย และตนต้องการจะพบตัว และหารือกับ พญ.สุทธิพรอย่างมาก เพื่อจะหาทนายของ สธ.ไปช่วยเหลือ และจะดำเนินการอุทธรณ์ต่อไปเพื่อนำมาสร้างเป็นบรรทัดฐานในการปฏิบัติงานของแพทย์ในชนบทต่อไป
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่อ่อนไหวมาก เพราะเป็นการนำผลการฟ้องร้องที่แพ้ในคดีทางแพ่งไปฟ้องร้องต่อในคดีอาญา ซึ่งในครั้งที่ผ่านมา นพ.พีระ คงทอง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลร่อนพิบูลย์ จำเลยที่ 1 และ พญ.สุทธิพร ถูกกักบริเวณ ซึ่งสาเหตุมาจากความผิดพลาดจากการผ่าตัดไส้ติ่งที่ไม่มีวิสัญญีแพทย์ร่วมผ่าตัดด้วย แต่ในคำพิพากษาของศาลชั้นต้นของ พญ.สุทธิพร คือ การประมาทเลินเล่อ เนื่องจากการฉีดยาโดยประมาทเลินเล่อ ซึ่งขณะนี้วิสัญญีแพทย์ในโรงพยาบาลจังหวัดที่เป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ไม่ถึง 50% ของโรงพยาบาลจังหวัดทั่วประเทศ นี่คือความทุกข์ที่เราได้รับ ซึ่งเป็นเรื่องที่เรารับไม่ได้เลย นพ.ปราชญ์ กล่าว
Posted by : insulin , Date : 2007-12-08 , Time : 07:58:26 , From IP : 172.29.5.145
|