ความคิดเห็นทั้งหมด : 2

ยังไม่ดูอย่าเพิ่งอ่าน รักแห่งสยาม..จากมุมมองของผู้หญิงที่เป็น "แม่" เอามาให้อ่านกัน




   รักแห่งสยาม..จากมุมมองของผู้หญิงที่เป็น "แม่"

หลาย ๆ คนคงเบื่อกระทู้รักแห่งสยามแล้ว และเท่าที่สังเกต พบว่า จะเป็นไปในสองกระแส คือ "ชอบ" (มักเป็นมุมมองของเหล่า Y ทั้งหลาย และจากคนที่ถูกเรียกว่า "หน้าม้า" ) และไม่ชอบ (จากผู้ที่พยายามบอกว่า ถูกหนัง (หรือที่ภาษาสื่อ เรียกว่า "หน้าหนัง") หลอกและพาลทำให้เกลียดหนังไทย

เราเองในตอนแรก ก็ถูกหน้าหนังหลอกเช่นกัน ทำให้มองและเข้าใจไปว่า เป็นหนังรักวัยรุ่น รวมทั้งจากการชม MV เพลงกันและกัน

ยิ่งทำให้รู้สึกว่า หนังวัยรุ่นมาอีกแล้วหรือนี่ ทำไมฉันจะหาหนังดี ๆ ดูส่งท้ายปลายปีไม่ได้เลยหรือ

แต่วันหนึ่ง เราก็ได้มีโอกาสแวะมาอ่านบทวิจารณ์ซึ่งจริงๆ น่าจะเป็นกระทู้แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ ทำให้รู้ว่า เป็นหนังเกี่ยวกับครอบครัว และรักระหว่างชายกับชาย กับการตัดสินใจที่จะก้าวข้ามวัย ทำให้เราเริ่มสนใจขึ้นมาบ้าง เพราะเราคงเลยวัยที่จะไปดูหนังรักกุ๊กกิ๊กแล้ว เราตามอ่านเกือบทุกกระทู้ที่ทั้งชมและด่า จนตัดสินใจว่าจะต้องไปดูเอง

และนี่เป็นมุมมองของเราที่ไม่จำเป็นต้องมีใครเห็นด้วยทั้งสิ้น

ทันที่เราดูหนังจบ เราบอกตัวเองว่านี่ไม่ใช่หนังเกย์ ฉากความสัมพันธ์ระหว่างมิวกับโต้งมีน้อยมาก (แทบจะนับได้ว่ามีไม่ถึง 30% ในหนัง) การที่วัยรุ่นชายสองคนมองตากัน ยิ้มให้กัน มันก็คือความรู้สึกบริสุทธิ์ที่มีต่อกันที่ปัจจุบันเราเห็นได้ง่ายมาก(และหลายคนสะอิดสะเอียน)

ถ้าใครจะว่าฉากจูบระหว่างทั้งสองนั่นแหละ ที่ทำให้บอกว่านี่คือหนังเกย์ เรากลับมองว่า มันเป็นการแสดงออกซึ่งความรักแบบเคอะเขินตามประสาวัยรุ่นเสียด้วยซ้ำ เพราะดูเหมือนว่า ทั้งสองก็ยังจูบกันไม่เป็น มุมกล้องก็ไม่ได้สื่อเรื่อง sex ใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่ได้ CU ที่หน้าของทั้งคู่ และไม่ทำให้รู้สึกด้วยซ้ำว่าเขาจูบกันดูดดื่มแค่ไหน (ที่คนดูวิ๊ดว๊าย น่าจะเพราะเราไม่ได้คาดหวังว่าจะได้เห็นวัยรุ่นชายจูบกันมากกว่า)

ในมุมมองของเรา ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นตัวแทนของปัญหาสังคมไทยที่สมควรปรบมือให้ และผู้ใหญ่ในสังคมควรไปดู เราไม่ได้ focus ไปที่ กระบวนการ production รวมถึงนักแสดง (แม้จะยังแอบอินกับ "มิว" อยู่มาก) นี่คือปัญหาของสังคมไทยที่หลายคนรับรู้แต่พยายามปฏิเสธมัน ไม่ว่าจะเป็น ....

1. ครอบครัวในสังคมไทยเป็นครอบครัวที่พ่อแม่/คนในครอบครัว ยึดติดกับอะไรบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็น สิ่งที่สูญเสียไป / กรอบอย่างที่พ่อแม่ต้องการ จนทำให้เกิดความคาดหวังและส่งผลให้ลูกอึดอัดกับกรอบที่ถูกกำหนดไว้

2. การปฏิเสธที่แสดงความรักต่อกัน จนถึงวันเสียคนที่รักไปแล้ว จึงย้อนระลึกถึง (ทั้งในฉากที่สุนีย์บอกจูนว่า "ตอนที่แตงอยู่ก็ไม่เคยจัดปาร์ตี้ให้เหมือนกัน" หรือฉากที่สุนีย์พูดเรื่องรูปที่แตงถ่ายว่า "นี่อาจเป็นเรื่องเล็กๆ น้อย แต่ก็เป็นหนึ่งในไม่กี่เรื่องที่เขาทำให้เรามีความสุข"

3. ภาวะก้าวข้ามผ่านวัยของวัยรุ่นไทย (comeing of age) เราเชื่อว่าในสังคม มีวัยรุ่นจำนวนไม่น้อย ที่มีพฤติกรรมทางเพศที่ผิดไปจากที่ควรจะเป็น เราไม่ใช้คำว่า "เบื่ยงเบน" เพราะเราไม่เคยคิดว่า การรักเพศเดียวกันเป็นเรื่องของความเบี่ยงเบนหรือความผิดปกติ แต่เป็นเรื่องของรสนิยม และเอกลักษณ์ทางเพศที่แตกต่างไปจากเพศจริงของตนเอง เนื่องจากสังคมและธรรมชาติกำหนด ชายต้องรักหญิง หญิงต้องรักชาย ดังนั้น การรักเพศเดียวกันจึงเป็นเรื่องที่ "วิปริต"

แต่เรากลับไม่คิดเช่นนั้น (พร้อมรับคำด่า กับความเห็นนี้)

มีวัยรุ่นจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถก้าวข้ามวัยนี้ไปอย่างปกติได้ เพราะความคาดหวังจากครอบครัว และข้อกำหนดของสังคม

สุนีย์กล่าวกับมิวว่า "รู้ใช่ไหม ว่าครอบครัวน้าผ่านอะไรมาบ้าง ต่อไปโต้งต้องเรียนจบ มีงานการทำ ถ้ามิวรักโต้ง มิวต้องปล่อยโต้งไป"

สุนีย์พยายามใช้ "ความรัก" ในการหว่านล้อมให้มิวยุติความสัมพันธ์แบบคนรัก ในขณะที่ตัวสุนีย์เอง กลับไม่ได้เข้าใจถึงความรักที่คนเป็นแม่พึงจะมี สุนีย์รักตนเองและคาดหวังจะให้โต้งเป็นในแบบที่ตนต้องการเพื่อจะเยียวยาความเจ็บปวดครอบครัว โดยที่ตนเองก็ไม่รู้ว่า ลูกชายคนเดียวที่เหลืออยู่จะเจ็บปวดเพียงใด

แต่อย่างน้อย เราก็ยังอุ่นใจที่แม้ว่าสุนีย์จะเจ็บปวดจากการเลือกตุ๊กตาผู้ชายของโต้ง แต่ก็ดูเหมือนว่าสุนีย์จะเข้าใจในสิ่งที่ลูกเลือกที่จะเป็น เพราะอย่างน้อย ในที่สุดเธอก็มีรอยยิ้มอย่างอบอุ่นแม้จะมีน้ำตาเปื้อนใบหน้าอยู่ก็ตาม

4. วัยรุ่นในสังคมไทย "เหงา" กันมากขึ้น ทุกคนในเรื่องอยู่กับความเหงา มิว เหงาที่ขาดพ่อแม่และคนรัก ต้องใช้ชีวิตลำพัง โต้ง เหงากับความไม่เข้าใจของแม่ การที่พ่อไม่สามารถเป็น role model ที่ดีได้ โดนัท แม้จะสวยและรวย แต่เหงากับการแสวงหาคนมาข้างกาย จนต้องพยายามเรียกร้องความรัก หญิง เหงากับการพยายามไขว่คว้าหาความรักจากคนที่ตนเองพึงใจ

หลายฉากในเรื่องมากที่พยายามสะท้อนว่า วัยรุ่นไทยในปัจจุบันใช้ความเหงาอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นการไปดื่มเหล้า สังสรรค์กับเพื่อน การไปเดินเล่นกับเพื่อนตามห้างสรรพสินค้า การซื้อของมาปรบเปรอตัวเองให้หายเหงา (ทุกคนมีมือถือ และดูเหมือนว่าจะราคาแพง) ทั้งที่วัตถุเหล่านี้ไม่ได้ช่วยเยียวยาจิตใจได้เลยแม้แต่น้อย

หลายคนว่า มิว น่าสงสาร แต่เรากลับมองว่า มิวเป็นตัวละครที่เข้มแข็งมาก แม้ในฉากสุดท้ายที่มิวร้องไห้กับจมูกตุ๊กตาที่ได้รับ เรามองว่า มันสะท้อนถึงความปิติ ความสุขที่ได้รับความรักจากคนที่ตนเองเฝ้ารอ และมิวน่าได้รับคำตอบแล้วว่า นับจากนี้ไป ตนเองจะดำรงชีวิตอยู่อย่างไร กับประโยคที่ว่า "ขอบคุณนะ" มันคงสะท้อนอะไรได้มากกว่าคำพูดของวัยรุ่นอกหัก

มิวเป็นตัวละครที่มีทางออกกับความเหงาได้ดีที่สุด ในความรู้สึกของเรา ถ้าไม่นับ "หญิง" ที่ยอดเยี่ยมมากในการจัดการกับอารมณ์ตนเอง หญิงเป็นตัวอย่างของคนที่มีวุฒิภาวะและมีความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) สูงมาก หญิงเข้าใจโลก เข้าใจคนที่ตนรัก และสามารถทำเพื่อคนที่ตนรักได้อย่างมีสติ แม้ว่าในตอนท้ายจะมีน้ำตา แต่เรากลับมองว่า เป็นน้ำตาของ"ผู้ชนะ" ที่ชนะใจตนเอง และชนะใจคนที่ตนรัก(ในความดี)

กลับมาที่มิว

มิวได้รับการปลูกฝังที่ดีจากอาม่า ซึ่งเรารู้สึกว่า มีความเข้าใจและเป็นมิตรมากกว่าครอบครัวของสุนีย์มากมายนัก จากการพูดกับหลานว่า "เพื่อน" อาม่าพยายามสอนให้ใช้ดนตรีเป็นสื่อบอกคนอื่น จนทำให้มิวมีสิ่งหล่อเลี้ยงจิตใจ มิวมีดนตรีเป็นเพื่อน และเราเชื่อว่า มิวน่าจะใช้ดนตรีเป็นเครื่องเยียวยาจิตใจตนเองได้ พร้อม ๆ กับการมีเพื่อนที่ดีและเข้าอกเข้าใจ

กับประโยคลาโต้งที่ว่า "เราไปก่อนนะ เพื่อนรออยู่"

ก็สะท้อนให้เห็นว่า มิวพร้อมจะกลับไปเริ่มก้าวใหม่ในชีวิตกับเพื่อนที่พร้อมจะร่วมทุกข์ร่วมสุขไปด้วยกัน

ตัวละคนที่น่าห่วงมากกว่า คือ โต้งกับโดนัท โต้ง ยังต้องกำหนดกรอบตัวเองอยู่ในความคาดหวังของแม่ ต้องเป็นหัวหน้าครอบครัวแทนพ่อ ในขณะที่จิตใจลึกๆ ก็ยังไม่รู้ว่าตนเองต้องการอะไร จากหลายประโยคที่โต้งชอบพูดว่า "เราไม่รู้" "ไม่รู้ดิ" "ไม่รู้เหมือนกัน" จนน่าเป็นห่วงว่า เมื่อโตขึ้น โต้งจะใช้ชีวิตอย่างไรต่อไปในสังคม โต้งคงเป็นผู้ชายอีกคนหนึ่งที่แต่งงานมีครอบครัว แต่ขณะเดียวกันก็ไปมีความสัมพันธ์กับเพศเดียวกันแบบหลบ ๆ ซ่อน ๆ และโต้งจะหาความจริงใจจากความรักไม่ได้

ในขณะที่โดนัท ซึ่งหลงกับรูป และการรายล้อมจากเพศตรงข้าม โดนัทจะผ่านวัยรุ่นไปได้อย่างไรโดยที่ไม่เสียคนหรือเสียตัวก่อนวัยอันควร

และสุดท้าย หนังเรื่องนี้ ทำให้เราคิดถึงลูกขึ้นมาจับใจ

เราเองก็เป็นแม่คนหนึ่งที่พยายามคาดหวังกับลูก อยากให้ลูกเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ด้วยความหวังดีและพยายามหาคำอธิบายว่า "เพราะฉันเป็นแม่ ฉันหวังดีกับลูก ฉันเหนื่อยทุกวันนี้ก็เพราะลูก"

และหลายครั้งที่เรามัวแต่คิดถึงความทุกข์ของตนเอง สงสารตัวเองกับความทุกข์ซ้ำๆ ที่เกิดขึ้นในครอบครัว เอาความทุกข์ของตัวเองมาจับเจ่ากับมันซ้ำแล้วซ้ำเล่า

หนังเรื่องนี้ ทำให้เราได้คำตอบว่า เราจะจัดการยังไงต่อไปกับครอบครัว มันทำให้เราหันกลับมามองครอบครัวอย่างเข้าใจมากขึ้น คนที่เราเคยโกรธและเกลียดจนไม่อยากมองหน้า วันนี้เราเข้าใจเขามากขึ้น ว่าเขาเองก็คงทุกข์ไม่น้อยกับการไม่ประสบความสำเร็จในการก้าวข้ามวัยมาได้

มันทำให้เราหันไปมองลูกอย่างเข้าใจมากขึ้น ว่า วันข้างหน้า เราจะปล่อยให้ลูกเป็นอย่างที่เขาอยากเป็น แม้ว่าเราอาจยอมรับมันไม่ได้ อย่างไรก็ตาม เราเชื่อว่า ความรัก และความเข้าใจในครอบครัว จะทำให้ทุกชีวิตสามารถก้าวผ่านความทุกข์ไปได้ และเข้มแข็งขึ้นทุกครั้งที่ได้รับบทเรียนใหม่ ๆ

ขอบคุณ รักแห่งสยาม

"ขอบคุณนะ"



จากคุณ : แค่คนหนึ่งคน www.pantip.com


Posted by : กูลิโกะรสช็อกโกแลต , Date : 2007-12-01 , Time : 01:20:34 , From IP : 172.29.21.104

ความคิดเห็นที่ : 1


   ตามไปอ่านต่อได้ที่
http://www.pantip.com/cafe/chalermthai/topic/A6067681/A6067681.html


Posted by : กูลิโกะรสช็อกโกแลต , Date : 2007-12-01 , Time : 17:21:35 , From IP : 172.29.21.104

ความคิดเห็นที่ : 2


   ดี....ครับ
ควรจะอ่านเพื่อทำความเข้าใจกับอีกมุมมองหนึ่ง(ที่หนังไทยพยายามจะสื่อ)


Posted by : stem_neo , Date : 2007-12-02 , Time : 08:54:56 , From IP : 117.47.104.127

ความเห็นจาก Social Network : Facebook


สงวนสิทธิ์การแสดงความคิดเห็นสำหรับ สมาชิกเท่านั้น
>>>>> Page loaded: 0.003 seconds. <<<<<