ถึงลูกถึงคน ถึง ร่าง พรบ. ยา
รายการ ถึงลูกถึงคน ปัญหา พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่
ผู้ร่วมรายการ
1. ภญ.รศ.ธิดา นิงสานนท์ นายกสภาเภสัชกรรม
2. ภก.คฑา บัณฑิตานุกูล ประธานมูลนิธิกลุ่มเภสัชกรชุมชน
3. นพ.เพิ่มบุญ จิรยศบุญยศักดิ์ ประธานเครือข่ายแพทย์เพื่อประชาชน
4. นพ.โชติศักดิ์ เจนพาณิชย์ เลขานุการ ชมรมวิชาชีพแพทย์
- สรยุทธ : ถ้ามองจากเหตุผลของแพทย์ และมองจากปัญหาที่ขัดแย้งกันอยู่ ว่าจะยึดอำนาจการขายยาไปอยู่ที่เภสัชกรฝ่ายเดียวเลยเหรอ
- ภค.รศ.ธิดา : คงไม่ใช่อย่างนั้น จริงๆ ต้องกำหนดพื้นที่ที่ร้านขายยาที่มีความพร้อม จะต้องกำหนดในพระราชกฤษฎีกา และต้องกำหนดรายการยาที่จะต้องมีใบสั่งแพทย์ โดยจะเริ่มจากยาที่มีความเสี่ยงและมีปัญหาอยู่ในขณะนี้ เช่น ยาลดความอ้วน ยานอนหลับบางชนิด แต่ขณะนี้การบังคับใช้ของกฎหมายไม่เป็นไปตามนั้น แต่จริงๆ มีการกำหนดอยู่แล้วใน พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 ไม่ได้เป็นของใหม่อะไร
- สรยุทธ : แต่ว่ายาที่เป็นยาพื้นฐาน เช่น พาราเซตามอล
- ภค.รศ.ธิดา : อันนี้เป็นยาสามัญประจำบ้านอยู่แล้ว ซื้อขายได้ทั่วไปอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นร้านขายของชำ ในเรือ ถ้าอยู่ในแพ็คกิ้งที่กำหนดตามกฎหมาย แต่ในความรู้สึกของดิฉันเองว่ายาชนิดไหนที่อยู่ในประเภทที่เภสัชกรจ่ายได้ จริงๆ แพทย์ก็ควรจะจ่ายได้
- สรยุทธ : ยาพื้นฐานให้แพทย์และเภสัชกรจ่ายได้ ได้ไม๊
น.พ.เพิ่มบุญ : พูดอย่างนี้เดี๋ยวผิดประเด็นนะครับ ต้องเข้าใจว่าเรากำลังพูดถึงร่าง พ.ร.บ.ยาใหม่ อย่าเพิ่งไปออกความเห็นของตัวเองดังกล่าว ใน พ.ร.บ.ยาใหม่ระบุว่าเภสัชกรจ่ายยาเองได้โดยวิชาชีพเภสัชกรรมเท่านั้นตามมาตรา 4 และบอกว่ารัฐมนตรีเป็นผู้กำหนด หรือที่ยังไม่กำหนดก็จ่ายเองได้ โดยเภสัชกรรมเท่านั้น เพราะฉะนั้นในกระบวนของมาตรา 4 ในเรื่องเภสัชกรจ่ายยาเองได้ ถือว่าเป็นกระบวนการจ่ายยาแบบเบ็ดเสร็จที่ร้านขายยาเท่านั้น
- สรยุทธ : คุณหมอกำลังบอกว่ากฎหมายใหม่ให้เภสัชกรขายฝ่ายเดียว แพทย์ห้ามขาย
- ภค.คฑา : แต่ว่าผมอยากให้ดูมาตรา 14 (3) วรรคแรก เขียนว่าแพทย์จ่ายยาที่มีทะเบียนได้ทุกตัว เพราะฉะนั้นยา 2 หมื่นกว่ารายการที่มีในประเทศไทย แพทย์จ่ายได้ทั้งหมดตามกฎหมายร่าง พ.ร.บ.ยาใหม่นี้ ขอยืนยัน
- น.พ.โชติศักดิ์ : ร่าง พ.ร.บ.ยาที่เปิดตั้งแต่หน้าแรกจนถึงหน้าสุดท้าย ก็พบว่าประเด็นที่มีปัญหามี 3 เรื่อง คือ 1.ร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับนี้ไม่ได้คุ้มครองประชาชนตามเจตนารมย์ นั่นหมายความว่าการแบ่งแยกหน้าที่ระหว่างแพทย์และเภสัชกรไม่ถูกต้อง เพราะแพทย์ถูกจำกัดสิทธิ์การจ่ายยาตามมาตรา 14 (3) ขณะที่เภสัชกรสามารถที่จะตรวจ รักษา และจ่ายยาตามอาการของโรคได้ ประเด็นที่ 2.ร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับนี้ไม่ได้ผ่านการประชาพิจารณ์ภาคประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสอบถามประชาชนจากกลุ่มเป้าหมาย และ 3.ยังถือว่าเป็นการริดลอนสิทธิในการประกอบวิชาชีพของแพทย์ ทันตแพทย์ สัตวแพทย์ แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ ตลอดจนพยาบาล
- สรยุทธ : คุณหมอเปิดคลินิกใช่ไม๊
- น.พ.โชติศักดิ์ : : เปิดครับ
- สรยุทธ : เพราะฉะนั้นคุณหมอกลัวว่าต่อไปคลินิกต้องไปจ้างเภสัชกร ถ้าไม่มี เภสัชกร คุณหมอก็จ่ายยาเองไม่ได้ คุณหมอเคยกำไรจากการขายยา ก็เลยออกมาค้านใช่ไม๊ครับ
- น.พ.โชติศักดิ์ : ผมอยากให้ทุกท่านได้ศึกษาเนื้อความในกฎหมายฉบับนี้และตีความให้แตก และจะได้รู้ว่าเราค้านเพราะเรามีเหตุผล
- สรยุทธ : ยามี 3 กลุ่ม คือ กลุ่มยาสามัญประจำบ้าน ร้านขายของชำก็ขายได้ ไม่จำเป็นต้องร้านขายยา กลุ่มยาพื้นฐาน และกลุ่มยาอันตราย
- ภค.คฑา : กลุ่มยาพื้นฐานและกลุ่มยาอันตรายตอนนี้อยู่ในกลุ่มที่ 2 ที่เรียกว่ายาเภสัชกร ซึ่งเป็นกลุ่มที่ใหญ่มาก ส่วนกลุ่มที่ 3 มี 10-15 รายการ เป็นยาที่จ่ายโดยใบสั่งแพทย์เท่านั้น
- น.พ.เพิ่มบุญ : ยาในกลุ่มที่ 2 ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ แต่จริงๆ ไม่ได้กำหนดใน พ.ร.บ.ยา แต่ระบุว่ามีแต่วิชาชีพเภสัชกรรมเท่านั้นในมาตรา 4
- ภค.คฑา : ในมาตรา 4 จริง แต่ถ้าไปอ่านมาตรา 14 (3) จะเห็นว่าแพทย์จ่ายยาที่มีทะเบียนได้ทุกตัว
- น.พ.เพิ่มบุญ : เพราะฉะนั้นเราต้องดูว่าเป็นมาตราที่กำหนดชัดเจนไว้เลยว่า ยาเภสัชกรเท่านั้นที่จ่ายได้
- สรยุทธ : แพทย์จ่ายยาได้ทุกตัวหรือเปล่าครับ
- ภค.รศ.ธิดา : ใช่ค่ะ ถ้าตามมาตรา 14 (3) แต่ความที่ไม่เคลียร์กันตรงนี้
- สรยุทธ : และถ้าแพทย์จ่ายยาได้ทุกตัว แล้วจะมากำหนดทำไมครับ
- ภค.คฑา : เขาจะกำหนดให้มีระบบใบสั่งยาในเฉพาะพื้นที่ที่พร้อม และถามว่ามีกี่รายการ
- สรยุทธ : กฎหมายใหม่ที่เกิดขึ้นหลักการนี้ เพื่อให้มีการใช้ใบสั่งยาถูกไม๊ครับ
- ภค.คฑา : ถูกต้องครับ
- สรยุทธ : เพราะฉะนั้นแพทย์ก็ห้ามขายยา
- ภค.คฑา : เฉพาะรายการ 10 กว่ารายการนี้ แต่ที่เหลือตายหมดทุกอย่าง
- น.พ.เพิ่มบุญ : และที่เหลือก็ถูกกำหนดโดยยาเภสัชกรจ่ายเท่านั้นในมาตรา 4 เขียนไว้ชัดเจนนะครับ
- สรยุทธ : แต่ว่ายาอื่นๆ นอกเหนือจาก 10 กว่ารายการนี้ หรือในอนาคต ให้รัฐมนตรีกำหนดเพิ่มให้เป็นกลุ่มที่มียามีความเสี่ยง
เอ้า คุณหมอฟังดูแล้วไม่เป็นปัญหาเลย
- น.พ.เพิ่มบุญ : เป็นปัญหาแน่นอน ในมาตรา 4 เขียนไว้ว่ายาเภสัชกรจ่ายเท่านั้น และมันจะมีคำไหนให้แพทย์จ่ายด้วยล่ะครับ หลักการใช้ยาที่ถูกต้อง ต้องรู้โรคจริงไม๊ แต่ถ้าไม่รู้โรคแล้วไปจ่ายยา ผมถามว่าที่ผ่านมาบ้านเรามีปัญหาเสรีการขายยาผิดจนรู้สึกว่ามันถูก ที่จริงมันผิด แต่ถ้าเราบอกว่าเรากำหนดให้มียาที่เภสัชกรจ่ายเองได้ โดยไม่ได้ตรวจวินิจฉัยโรคจากแพทย์ ก็แสดงว่าเรากำลังจะเปลี่ยนจากที่เคยขายโดยเภสัชกร จากผิดให้มันถูกกฎหมาย
- สรยุทธ : แต่เภสัชยืนยันว่าไม่ได้คิดอย่างนั้น
- ภค.คฑา : ข้อ 4 (3) วรรคแรก ชัดเจนอยู่แล้ว
- สรยุทธ : การผลิตยา ขายยา นำหรือสั่งยาเข้ามาในราชอาณาจักรของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ และสภากาชาดไทย เพื่อใช้ในหน้าที่ป้องกันบำบัดโรค ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
- ภค.คฑา : ยกเว้นโรงพยาบาลต่างๆ ไม่ต้องขายยา ไม่ต้องนำสั่ง
- สรยุทธ : และห้ามมิให้ผู้ใดประกอบกิจการ ผลิตยา ขายยา หรือนำหรือสั่งยาเข้ามาในราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากผู้อนุญาต การขออนุญาตและออกใบอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง และมาตรา 13 ไม่ใช้บังคับแก่การผลิตยา ขายยา นำหรือสั่งยาเข้ามาในราชอาณาจักรของกระทรวง ทบวง กรม และวงเล็บ 3 ระบุว่าการขายยาที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้แล้ว หรือการขายยาที่สั่งบรรจุตามวงเล็บ 2 ที่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนไทย ประเภทเวชกรรมไทย หรือผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ ขายสำหรับคนไข้ของตน
- ภค.คฑา : เห็นไม๊ครับ เอาแค่นี้แหละ ได้ทุกตัวเลย
- น.พ.โชติศักดิ์ : ก่อนอื่นผมขอแก้ต่างนิดนึงว่า การประกอบวิชาชีพของแพทย์ แพทย์ไม่ได้ขายยานะครับ มีแต่จ่ายยาตามคำจำกัดความของคำว่าวิชาชีพเวชกรรม ถ้ามาดูในกฎหมายแค่วรรคแรกจบก็คงไม่มีปัญหา แต่มีประเด็นมาผูกปมที่ว่า ทั้งนี้เว้นแต่ในพื้นที่ที่มีความพร้อม ตรงนี้อาจจะคลุมเคลือ แต่พอย้อนกลับไปดูมาตรา 4 เมื่อกี้เป็นมาตรา 13 และ 14 (3) นะครับ ซึ่งมาตรา 4 ระบุพูดถึงคำจำกัดความต่างๆ ซึ่งประเด็นที่มีปัญหามากก็คือว่ามาตรา 4 จะมีคำนึงที่บอกว่ายาที่ต้องจ่ายโดยเภสัชกร หมายถึงว่ายาที่ต้องจ่ายโดยผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม และให้หมายความรวมถึงยาที่รัฐมนตรียังไม่ได้ประกาศกำหนดให้เป็นยาที่จ่ายตามใบสั่งยา และยาสามัญประจำบ้าน เราตีความตรงไปตรงมาก็หมายความว่ายาที่ต้องจ่ายโดยเภสัชกร ยังไม่รู้ว่าเป็นยารายการอะไร ดังนั้น ทางท่านนายกสภาเภสัชกรรม กับคุณคฑา บอกว่ามียาประมาณ 10 รายการ เป็นการพูดโดยไม่มีข้อเท็จจริง ที่ยังไม่ได้กำหนด ในความเป็นจริงอาจจะเป็นยาร้อยรายการ พันรายการ รัฐมนตรีจะประกาศตัวไหนก็ได้ และต้องกลับไปดูมาตรา 7 คณะกรรมการยา ซึ่งเป็นผู้เสนอพื้นที่ที่มีความพร้อม และรายการยาที่มีความพร้อม คณะกรรมการยามีส่วนที่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับนี้ เป็นจำนวนมาก ปัญหาที่ถกเถียงกันมากคือ มาตรา 14 (3) จะอิงเข้าไปในมาตรา 4 โดยผ่านทางคณะกรรมการยา มาตรา 7
ภค.คฑา : สมมติว่าวันนี้เราไม่มีมาตรา 14 (3) ขอถามว่าถ้าอยากให้บ้านเรามีระบบใบสั่งยา คุณหมอจะแนะนำยังไง ลองเล่ามา
- น.พ.เพิ่มบุญ : ผมมีความคิดว่าเราสามารถออกกฎกระทรวงได้ อย่างเช่น ให้แพทย์เขียนใบสั่งยาให้คนไข้ทุกคน เขียนชื่อให้ละเอียดของยา จำนวน วิธีการใช้ เสร็จแล้วก็สามารถกำกับที่ท้ายใบสั่งยาว่าให้ผู้ป่วยสามารถนำใบสั่งยาไปซื้อเองได้ และต้องมีหน้าที่ตรวจสอบยานี้ว่าตรงกับแพทย์ที่ให้ไว้หรือไม่ มีการเก็บไว้เป็นหลักฐาน ดีกว่าที่จะให้มีมาตรา 4 ซึ่งเภสัชกรจ่ายเองได้ ซึ่งไม่มีหลักฐานอะไรเลย
- ภค.คฑา : เพื่อนร่วมวิชาชีพหลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่าวิวัฒนาการวิชาชีพเภสัชไปไกลขนาดไหน เดี๋ยวนี้มีข้อสรุปชัดเจนว่าถ้าเภสัชกรรู้แต่เรื่องตัวยา รู้โครงสร้างเคมี ไม่สามารถจ่ายยาให้เหมาะสมแก่คนไข้ได้ ขณะนี้เราเรียนหลักการเรื่องการจ่ายยาที่ดี 3 ข้อคือ 1.รู้เรื่องโรค 2.รู้เรื่องยาที่ดี 3.รู้เรื่องพฤติกรรมของประชาชน และขณะนี้หลักสูตรเภสัชฯ มี 6 ปี เพราะกลุ่มยาที่เป็นโรคพื้นฐานที่เภสัชกรต้องซักประวัติหรือตั้งคำถาม เพื่อคัดเลือกยาที่เหมาะสมให้
- สรยุทธ : ผมถามตรงๆ ตอนนี้เภสัชฯ เริ่มวินิจฉัยโรคได้แล้วเหรอ
- ภค.คฑา : ในโรคพื้นฐาน เราทำได้
สรยุทธ : ทีแพทย์ ทางผู้บริโภคจะเอาหลักฐานไว้ตรวจสอบย้อนกลับ แต่กลับเภสัชกรวินิจฉัยเอง แล้วเกิดให้ยาไปผิด และผู้บริโภคจะมาเล่นงานเภสัชกรได้ยังไง หลักฐานอะไรก็ไม่มี
- ภค.รศ.ธิดา : มีที่ซองยา
- น.พ.เพิ่มบุญ : ผมเพิ่งเคยเห็นนะหลักฐานมีที่ซองยา
- ภค.รศ.ธิดา : ไม่ใช่ค่ะ คุณหมอใจเย็นๆ สิคะ คือที่ซองยามีชื่อยาอยู่
- สรยุทธ : ผมไม่ได้เข้าร้านขายยามานานแล้ว สมัยก่อนผมจำได้ว่าเขาไม่เขียนชื่อยา
- ภค.คฑา : ตอนนี้ก็เขียนอยู่น้อย ไม่ใช่ทุกร้าน ฉะนั้นสภาเภสัชกรรมถึงมีโครงการ CPA เทียบกับ HA ของโรงพยาบาล สภาฯ กำลังดำเนินการทำเรื่องรับรองมาตรฐานร้านยา ถ้ามีร้านยาที่ได้รับรองมาตรฐานจากสภาฯ มีจำนวนเหมาะสมกับพื้นที่หรือกับสัดส่วนแพทย์ จึงใช้ระบบนี้ ซึ่งในวันที่ 27 ก.ย.นี้ จะประกาศกลุ่มแรก 20 กว่าร้านขายยา
- ภค.รศ.ธิดา : พอร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่กำหนดให้เภสัชกรเป็นผู้ดำเนินการของทุกร้านยา จะไม่มีเรื่องแขวนป้ายว่าเป็นเภสัชกรปริญญา แต่ถ้าในอนาคตเมื่อร่าง พ.ร.บ.ยานี้บังคับใช้ ก็จะมีเภสัชกรเป็นผู้ดำเนินการตลอดเวลาที่เปิดร้าน และต้องไปหาผู้ปฏิบัติการมาอยู่ ถ้าหากตัวเภสัชกรผู้นั้นไม่อยู่ แต่ถ้าหาผู้ปฏิบัติการไม่ได้ ก็จะมีโทษ ซึ่งแรงกว่า พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 มาก
- สรยุทธ : ถ้าเป็นยาพื้นฐาน แพทย์ก็จ่ายได้
- น.พ.โชติศักดิ์ : ส่วนที่ดีในร่าง พ.ร.บ.ยา ก็มีอยู่ โดยเฉพาะการควบคุมมาตรฐานร้านขายยา ซึ่งผมเห็นว่าเภสัชกรให้คะแนนกันเองหรือเปล่า ส่วนการจ่ายยาที่คลินิก ผมขอยืนยันว่าเราไม่ได้ขายยา แต่เราจ่ายยา ถ้าสมมติว่าวันหนึ่งข้างหน้ามี พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์ โดยเครื่องมือแพทย์ห้ามเก็บไว้ที่คลินิกแพทย์ ต้องเก็บไว้ที่ร้านขายเครื่องมือแพทย์ เวลามีคนไข้มารักษา ก็ต้องวิ่งไปเอาเครื่องแพทย์มา ทำไมไม่ให้ทางเลือกประชาชนที่ต้องการรับยาไปเลย หรือบางคนจะขอรับแต่ใบสั่งยา ทำไมไม่ให้ทางเลือกอย่างนั้น ทำไมต้องไปจำกัดสิทธิ์
- สรยุทธ : ทำไมต้องมีเภสัชกรเข้ามาในขั้นตอน
- น.พ.โชติศักดิ์ : ในมาตรา 4 ควรตัดข้อความที่ว่ายาที่ต้องจ่ายโดยเภสัชกรออก เหลือยา 2 อย่าง คือยาที่ต้องจ่ายตามใบสั่งแพทย์ กับยาสามัญประจำบ้าน เหมือนโรงพยาบาลครับ การตรวจสอบของโรงพยาบาลก็คือว่า แม้แต่ยาเม็ดเดียว ก็ไม่สามารถไปรับยาที่ห้องจ่ายยา แต่ต้องผ่านทางแพทย์เขียนใบสั่งยา เพื่อให้เภสัชกรที่ห้องจ่ายยา หรือเจ้าหน้าที่ห้องยา ภายใต้การดูแลของเภสัชกร จ่ายยาตามนั้น
- สรยุทธ : มีทางบ้านเขียนเข้ามาว่า ถ้าชาวบ้านป่วย จะไปหาใครก่อน
- ภค.คฑา : ต้องดูว่าป่วยขนาดไหน ถ้าคนป่วยมาหาผม ในฐานะเภสัชกร ถ้าผมมีจรรยาบรรณพอเป็นผู้คัดกรองส่งไปหาแพทย์ ผมก็ทำอย่างนั้นอยู่เป็นประจำ
- สรยุทธ : คือเภสัชกรจะเป็นผู้วินิจฉัยโรคเบื้องต้น
- ภค.คฑา : ครับ
- สรยุทธ : แต่ในทางแพทย์ ผมอ่านในแถลงการณ์บอกว่า เภสัชกรเรียนมาเรื่องยา แต่ไม่ได้เรียนมาทางวินิจฉัยโรค ถ้าวินิจฉัยผิดพลาด เกิดชาวบ้านเป็นอะไรไป เภสัชกรจะรับผิดชอบยังไง
- น.พ.เพิ่มบุญ ดูกรณีของ บิ๊ก D2B แค่ปวดหัว ยังไปหาหมอที่โรงพยาบาลเลย ถ้าไปหาเภสัชกรที่ไม่มีความสามารถคัดกรอง หรือไม่มีจรรยาบรรณ ผมว่า บิ๊กคงไปไม่ถึงโรงพยาบาล
- สรยุทธ : ถ้าผมปวดหัว ผมควรจะไปหาใครครับ
- น.พ.เพิ่มบุญ ต้องถามคนไข้ว่าต้องการแค่บรรเทา หรือต้องการหาย แน่นอนว่าทุกคนต้องบอกว่าอยากจะหาย แต่มีข้อสังเกตอย่างหนึ่ง ถ้าร้านหมอ ซองยาส่วนใหญ่เขียนชื่อร้านหมอเลย แต่ถ้าเป็นเภสัชกรที่ร้านขายยาจะไม่มี เป็นซองยาเปล่าๆ ไม่มีชื่อร้าน
- ภค.รศ.ธิดา ร้านขายยาขณะนี้มี 12,000 กว่าร้าน แต่ 6,000 ร้าน เป็น ขย.1
- ภค.คฑา : ขย.1 คือร้านที่ต้องมีเภสัชกร แต่แขวนป้ายมีเภสัชกรอยู่แค่ 3,000 ร้าน ขณะนี้จึงยังผสมปนเปกัน
- น.พ.โชติศักดิ์ : พ.ร.บ.ฉบับนี้ร่างโดยทางฝ่าย อ.ย. ซึ่งเป็นเภสัชกรรมเสียส่วนใหญ่ และแม้ว่าเลขาธิการของ อ.ย. เป็นแพทย์ก็จริง แต่ท่านต้องทำหน้าที่ ไม่ใช่ว่ามาปกป้องแพทย์
- สรยุทธ : ระบบที่คุณเชื่อว่ากฎหมายฉบับนี้ก็คือ ผมไปหาคุณหมอ คุณหมอจ่ายยาให้ผมไม่ได้ คุณหมอให้ผมได้แต่ใบสั่งยา แล้วผมจะถือใบสั่งยานั้นไปหาเภสัชกร แล้วเภสัชกรจะวิเคราะห์ใบสั่งยา แต่ถ้าผมเป็นโรคทั่วๆ ไป ปวดศีรษะ ตัวร้อน เป็นไข้ คุณหมอก็จ่ายยามาเลย แต่ถ้าเป็นโรคพิเศษ คุณหมอจ่ายยาเองไม่ได้ เพราะมีบัญชียากำหนดไว้ คุณหมอต้องเอาใบสั่งยามาให้ผม แล้วผมเอาไปให้เภสัชฯ ทางเภสัชฯ จะวิเคราะห์อาการอย่างผม จำเป็นต้องใช้ยาตัวนี้ไม๊
- ภค.คฑา : อันนี้ต้องเป็นพื้นที่ที่พร้อมด้วยนะ ไม่ใช่ทั่วประเทศ
- น.พ.โชติศักดิ์ : กฎหมายนี้เปิดช่องไว้มาก ยาที่จ่ายโดยเภสัชฯ เป็นยาอะไรก็ไม่รู้ รวมทั้งยาที่รัฐมนตรีจะประกาศกำหนด มันกว้างมาก
สรยุทธ : นี่เป็นการกำหนดลอยๆ ไม๊ครับ
- ภค.คฑา : ไม่ใช่ ผมคิดว่าควรให้สภาวิชาชีพเข้ามาคุ้มครองคนในวิชาชีพ ถ้าคนในวิชาชีพไม่ได้มาตรฐาน สภาวิชาชีพจะต้องเป็นผู้ตอบคำถาม ฉะนั้นการที่สภาวิชาชีพลงมาทำเรื่องร้านยามาตรฐาน เรื่องการจ่ายยาเหมาะสม เป็นเรื่องที่สภาวิชาชีพต้องทำ ไม่ใช่ให้ พ.ร.บ.ยามาบังคับ
- สรยุทธ : โพลล์คุณเห็นด้วยกับใคร ? เห็นด้วยกับแพทย์ 47.71% เห็นด้วยกับเภสัชกร 52.29%.
Posted by : คนบ้า พรบ. , Date : 2003-10-10 , Time : 15:24:41 , From IP : 203.157.14.245
|