ความคิดเห็นทั้งหมด : 0

วิจัยพบหมอฝึกหัด 2% เป็น "สิงห์ขี้ยา" แถมมี 1 ใน 3 เท่านั้นที่อยากเลิก


   ผลวิจัยพบหมอฝึกหัดสูบบุหรี่ 2% แถมมีแค่ 1 ใน 3 เท่านั้นที่คิดอยากเลิกสูบ แถมหากติดเหล้า-ติดยา-ปัญหาทางจิตใจมีโอกาสสูบบุหรี่มากขึ้น ระบุแนวโน้มเลิกยาก พบเป็นแพทย์เต็มตัวแล้วสูบหนักขึ้น 4-5% ทำภาพลักษณ์แพทย์เสื่อมเสีย คนไข้ไม่เชื่อหมอ ระบุ มี กม.คุ้มครองให้โรงหมอปลอดบุหรี่มาสิบกว่าปี แต่ยังทำไม่ได้จริง





วันนี้ (11 ก.ย.) ในการประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 6 นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้เสนอผลการศึกษาเรื่องปัจจัยทางสุขภาพที่สัมพันธ์กับการบริโภคยาสูบของนิสิตนักศึกษาแพทย์ไทย โดยสอบถามจากนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 1-6 ของ 13 สถาบันในไทย จำนวน 10,171 คนในปี 2549 ได้รับแบบสอบถามกลับคืน 5,603 ราย ถือเป็น 55.6% พบว่า มีนักศึกษาแพทย์เคยบริโภคยาสูบ 14% และที่ปัจจุบันยังคงสูบบุหรี่อยู่ 2.1% โดยเพศชาย 4.8% และหญิง 0.6% ทั้งนี้ กลุ่มผู้ที่ยังคงสูบอยู่มีเพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่ต้องการเลิกสูบบุหรี่

“ก่อนหน้านี้ เคยมีการศึกษาเก็บข้อมูล พบว่า บรรดาแพทย์สูบบุหรี่จำนวน 4-5% แม้ว่าเมื่อเทียบกับประชากรทั่วไปในวัยเดียวกันแล้ว ยังถือว่าแพทย์สูบบุหรี่น้อยกว่า แต่หากมองในส่วนของนักศึกษาแพทย์ที่พบว่าสูบบุหรี่ 2.1% แต่ในอนาคตเมื่อเป็นแพทย์แล้วจะเพิ่มเป็น 4-5% นั้น มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น ซึ่งฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้การที่นักศึกษาแพทย์ที่สูบบุหรี่ส่วนใหญ่เกิดจากความไม่มั่นใจ หรือมีความเชื่อผิดๆ หากทราบสาเหตุแล้วก็สามารถนำไปแก้ไขได้”นพ.สุทัศน์ กล่าว

นพ.สุทัศน์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ เมื่อวิเคราะห์ถึงปัจจัยอื่นๆ ที่กระทำร่วมกับการสูบบุหรี่ พบว่า นิสิตส่วนใหญ่ที่สูบบุหรี่อาศัยอยู่ใน กทม.และอัตราการสูบบุหรี่ของนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 4 ถือว่าสูงสุด คิดเป็น 3.4% นิสิตแพทย์ที่ดื่มสุราถึง 14% จะสูบบุหรี่ด้วยและส่วนที่ใช้สารเสพติดควบคู่ไปกับการสูบบุหรี่มีถึง 12.2% นอกจากนี้ รวมถึงการมีปัญหาทางด้านสุขภาพหรือสังคม 3.9% ทำให้สูบบุหรี่ รวมถึงนิสิตแพทย์ที่มีปัญหาทางด้านจิตใจ อาทิ เครียดกับการเรียน ปัญหาครอบครัว ไม่มีที่ปรึกษา ทำให้มีโอกาสสูบบุหรี่มากกว่าปกติ เช่น บางรายที่สูบบุหรี่ยอมรับว่าเคยมีปัญหารู้สึกอยากฆ่าตัวตายมากก่อนถึง 2.9% ส่วนปัจจัยอื่น เช่น การออกกำลังกาย พฤติกรรมการบริโภคอาหารและการพักผ่อน ไม่สัมพันธ์กับการสูบบุหรี่ของนิสิตแพทย์ของไทย

นพ.สุทัศน์ กล่าวว่า หากนักศึกษาแพทย์ที่สูบบุหรี่ อนาคตเมื่อได้ปฏิบัติหน้าที่แพทย์ และต้องให้คำแนะนำเรื่องการสูบบุหรี่กับคนไข้ ก็ไม่สามารถบอกให้คนไข้เลิกสูบบุหรี่ เพราะคนไข้ก็จะไม่เชื่อถือ เนื่องจากเห็นแพทย์สูบบุหรี่ ความน่าเชื่อถือต่างๆ ก็จะลดลง ที่สำคัญ ภาพลักษณ์ของแพทย์ที่จะดูไม่ดี ดังนั้น ควรหันกลับมาพิจารณาเรื่องการให้การศึกษาทางการแพทย์ ที่ระบุว่า การสูบบุหรี่มีโทษ ก่อให้เกิดโรคต่างๆ มากมาย ล้มเหลวหรือไม่ เพราะไม่สร้างตระหนักให้กับนิสิตแพทย์เท่าที่ควร ที่ส่งผลกระทบต่อคนไข้ แม้ไม่ใช่รูปในการรักษาที่ผิดแปลกไป แต่ทำให้ความเชื่อถือของแพทย์หมดไป

“ขณะเดียวกัน ฝ่ายสถาบันการศึกษาควรให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าว โดยคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ที่สัมพันธ์กับการบริโภคยาสูบ และควรจัดระบบช่วยเหลือให้คนเลิกสูบบุหรี่ เพื่อให้เป็นแบบอย่างที่ดีทางด้านสุขภาพของประชาชน เพราะนอกจากจะทำให้เสียภาพลักษณ์ของแพทย์ที่เป็นผู้รักษาโรคต่างๆ แต่กลับมีพฤติกรรมทำลายสุขภาพ อาจทำให้ประชาชนและผู้ป่วยที่มาใช้บริการหมดความน่าเชื่อถือได้” นพ.สุทัศน์ กล่าวว่า

นพ.สุทัศน์ กล่าวว่า ในขณะนี้มี พ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ.2535 ที่ระบุให้สถานพยาบาลเป็นที่ปลอดการสูบบุหรี่ ซึ่งมีผลบังคับมานาน 10 กว่าปีแล้ว แต่ในความเป็นจริงก็ยังไม่สามารถครอบคลุมอย่างจริงจัง กลับมีผู้แอบสูบบุหรี่ในสถานพยาบาลมากมาย ไม่เพียงเฉพาะอาคาร แต่เป็นโรงจอดรถ ห้องน้ำ ฯลฯ ทั้งที่เขตของสถานพยาบาลควรปลอดบุหรี่ 100% ภายหลังจากการศึกษาดังกล่าวจะเตรียมขยายผลไปศึกษารายละเอียดกับนักศึกษาแพทย์ที่สูบบุหรี่ว่าป่วยเป็นโรคใดหรือไม่ พร้อมทั้งให้คำแนะนำและตรวจสุขภาพ และให้คำปรึกษาในการเลิกบุหรี่ด้วย


โดย ผู้จัดการออนไลน์ 11 กันยายน 2550 18:38 น.


Posted by : Yorestinowa , Date : 2007-09-11 , Time : 22:31:52 , From IP : 172.29.21.146

ความเห็นจาก Social Network : Facebook


สงวนสิทธิ์การแสดงความคิดเห็นสำหรับ สมาชิกเท่านั้น
>>>>> Page loaded: 0.003 seconds. <<<<<