แปรรูปจุฬาฯชั่วร้ายที่สุด!ในประวัติศาสตร์ชาติไทย
การแปรรูปจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยคือ การแปลง "สมบัติสาธารณะ" ให้เป็น"สินบน" (Briberization) ที่ชั่วร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย การแปรรูปจุฬาฯเป็นนโยบายที่อ้างอิงกลไกตลาด อันเป็นทฤษฎีที่ผิดโดยธรรมชาติ
ในประเด็นเรื่องข่าวสารอสมมาตร (Asymmetric Information)
สมบัติสาธารณะที่จะถูกแปลงได้แก่ ทรัพย์สินส่วนพระองค์ ที่พระราชทานให้ประชาชนชาวไทยในการพัฒนาการศึกษาของชาติ ตามเจตนารมณ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เพื่อต่อสู้กับการล่าอาณานิคมในยุคนั้น
"สินบน" ที่จะเกิดขึ้นในขั้นต้น ได้แก่ ผลประโยชน์ส่วนตนของผู้มีอำนาจกำหนดนโยบาย ส่วนสินบนที่จะเกิดขึ้นในขั้นสุดท้ายได้แก่ โอกาสการครอบงำทางความคิดของผู้ที่ต้องการยึดประเทศไทยเป็นเมืองขึ้น
เครื่องมือในการนำจุฬาฯออกนอกระบบ คือ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. ... ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการแปรญัตติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) จุดเริ่มต้นของร่างพ.รบ.นี้ คือ มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) 16 พฤศจิกายน2542 ซึ่งต้องการให้จุฬาฯดำเนินการอย่างมีอิสระ ซึ่งเป็นนโยบายที่อ้างอิงกลไกตลาดอันเป็น"ทฤษฎีลวงโลก"
หากการนำจุฬาฯออกนอกระบบ เป็นไปเพื่อการบริหารจัดการที่เป็น "อิสระ" และมีความ "คล่องตัว" มากขึ้น เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายในการจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ในร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ กลับไม่มีมาตราใดเลยที่บัญญัติเกี่ยวกับขั้นตอนวิธีการในการที่จะบรรลุเป้าหมายนั้น เหตุผลที่อ้างมาจึงเป็นเพียงการโกหกประชาชนทั้งชาติ
ที่สำคัญก็คือ ทรัพย์สินจำนวนมหาศาลของจุฬาฯทั้งหมด จะถูกถ่ายโอนมาเป็นของจุฬาฯ ที่เป็นนิติบุคคลตามที่ได้บัญญัติอย่างชัดเจนในมาตรา 5 และมาตรา69 เมื่อจุฬาฯที่เป็นนิติบุคคลนี้ ถูกนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ สมบัติสาธารณะก็จะถูกแปลงให้เป็นสินบนขั้นสุดท้ายซึ่งนำไปสู่การสิ้นชาติสิ้นแผ่นดินในอนาคตอันใกล้
สำนักราชเลขาธิการได้เคยมีหนังสือที่รล 0009/220 ลงวันที่26 เมษายน2543 ถึงนายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้ดำเนินการสนองพระราชกระแสที่ว่า "ก่อนประกาศใช้พระราชบัญญัติ ฯลฯ ควรมีการปรึกษาหารือกับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดก่อน(คณาจารย์ นักศึกษา ผู้บริหาร ฯลฯ) และร่างกฎหมายประกอบทั้งหมดให้ครบก่อนการปรึกษาเป็นในทำนองประชาพิจารณ์ เป็นการปรึกษาที่กว้างขวางรวมทั้งประชาชนทั่วไป"
ดูเหมือนว่าจนถึงปี 2550 นายกสภาจุฬาฯ ยังมิได้ดำเนินการสนองพระราชกระแสนี้ให้ครบถ้วน ฉะนั้นการนำจุฬาฯ ออกนอกระบบในสภาวะเช่นนี้ จึงเป็นเรื่องไม่สมควรอย่างยิ่ง นอกจากนี้การนำจุฬาฯ ออกนอกระบบในปัจจุบันยังไม่ชอบด้วยจริยธรรม กฎหมาย และจรรยาบรรณ ดังนี้
ไม่ชอบด้วยจริยธรรม เพราะมีการปรึกษาหารือกับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด (คณาจารย์ นักศึกษา ผู้บริหาร ฯลฯ) แล้วแต่มีผู้ไม่เห็นด้วยกับการนำจุฬาฯ ออกนอกระบบ ถึง 82 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งไม่มีการร่างกฎหมายประกอบทั้งหมดให้ครบก่อน ไม่มีการปรึกษาเป็นในทำนองประชาพิจารณ์เป็นการปรึกษาที่กว้างขวาง รวมทั้งประชาชนทั่วไป ที่สำคัญการมีผลประโยชน์ทับซ้อนในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.จุฬาฯ พ.ศ. ... ของ สนช. และใน สนช.เอง รวมถึงความผิดอื่นๆตามรายละเอียดในบันทึกของ ผศ.ชูชีพ ฉิมวงษ์ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ (คอมพิวเตอร์) จุฬาฯ ถึง สนช. เมื่อวันที่14 ธันวาคม2549
ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากมติสภามหาวิทยาลัยครั้งที่678 วาระ1 วันที่26 ตุลาคม2549 อ้างอิงการทำประชาพิจารณ์เมื่อปี2545 ที่ไม่ชอบด้วยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ.2539 ตามมติครม. วันที่ 3 ตุลาคม2543
อีกทั้ง มติครม. วาระ 2 วันที่21 พฤศจิกายน2549 เห็นชอบข้อเสนอของกระทรวงศึกษาธิการตามมติสภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ 678 วาระ1 วันที่ 26 ตุลาคม2549 ที่อ้างอิงการทำประชาพิจารณ์เมื่อปี2545 ที่ไม่ชอบด้วยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ.2539 ตามมติครม. วันที่ 3 ตุลาคม2543 และการทำประชาพิจารณ์ในปัจจุบันไม่ชอบด้วยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนพ.ศ.2548
ไม่ชอบด้วยจรรยาบรรณ เพราะมีการใช้หน้าที่และความรู้ทางวิชาชีพในการร่างกฎหมายมหาชนบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อหวังผลประโยชน์ส่วนตน ทำให้ผลประโยชน์ส่วนรวมเสียหายร้ายแรง และมีการอาศัยช่องโหว่ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ในการกระทำทางนิติบัญญัติที่ไม่สามารถตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐสภาได้
ทว่าการศึกษาเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สุดในการต่อสู้กับการล่าอาณานิคมในยุคโลกาภิวัตน์ ดังนั้นควรยกเลิกนโยบายเกี่ยวกับการแปรรูปมหาวิทยาลัยไทย หรือร่าง พ.ร.บ.ม.นอกระบบ ในปัจจุบันทั้งหมด เพราะมีความผิดพลาดในทุกๆด้าน ควรยึดหลักการว่าการแปรรูปมหาวิทยาลัยไทยเป็นเรื่องผลประโยชน์ของชาติไม่ใช่ผลประโยชน์ขององค์กร ไม่ควรให้ผู้ที่มีส่วนได้เสียในการแปรรูปมหาวิทยาลัยไทย เช่นผู้บริหาร และบุคลากรของมหาวิทยาลัย เป็นผู้กำหนดนโยบาย
การแปรรูปมหาวิทยาลัยไทยหรือ ม.นอกระบบ "รัฐบาลขิงแก่" ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลชุดใหม่ ที่จะเข้ามาบริหารประเทศหลังการเลือกตั้งครั้งใหญ่ 23 ธันวาคม 2550 สิ้นสุดลง
ด้วยการจัดการศึกษาของชาติ เป็นหน้าที่ของรัฐพึงจัดบริการอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม อีกทั้งเป็นการเตรียมพร้อมทรัพยากรของชาติในอนาคตอีก 5-20 ปีข้างหน้า ที่ต้องใช้เวลาพิจารณาศึกษาอย่างรอบด้านให้มากที่สุด เพื่อให้ประโยชน์สูงสุดตกถึงคนส่วนใหญ่ของประเทศ ผู้เป็นเจ้าของเม็ดเงินทุกบาททุกสตางค์ที่เสียภาษี
ฉะนั้นประเด็นปัญหาการแปรรูปมหาวิทยาลัยไทย จึงไม่ใช่แค่ "ค่าเทอมแพงหูฉี่" พ่อแม่ ผู้ปกครอง ต้องแบกรับภาระค่ามใช้จ่ายเพิ่ม แต่การแปรรูปมหาวิทยาลัยภายใต้เงื่อนไขที่คลุมเคลือ บนพื้นฐานของความ "ผิดพลาด" สุดท้ายประเทศชาติจะเหลืออะไร
จากคมชัดลึก 3กันยายน 2550
Posted by : insulin , Date : 2007-09-04 , Time : 08:39:24 , From IP : 172.29.8.161
|