ความคิดเห็นทั้งหมด : 7

Debate XLV: APEC กับรัฐบาลไทย


   ถึงแม้ว่าท่านนายกฯจะไม่ค่อย happy กับการแสดงความเห็น (ไม่เห็นด้วยซะมากกว่าที่ไม่ชอบ) ของ NGO หรือใครก็ได้ที่ไม่ได้สอดคล้องกับท่าน แต่ลองให้พวกเราลองแสดงความเห็นแถวๆนี้ดูบ้างคงไม่สั่นสะเทือนเลื่อนลั่นสักเท่าไรกระมัง?

มีใครอยากจะ air their view บ้างไหมครับ?



Posted by : Phoenix , Date : 2003-10-09 , Time : 01:04:05 , From IP : 172.29.3.215

ความคิดเห็นที่ : 1


   พี่นกไฟ
ฉันมีความรู้สึกว่าเนื้อหาของการประชุมระดับนานาชาติสองสามครั้งที่ผ่านมา ทั้งที่แคนคูน บาหลี รวมทั้งการประชุมที่บางกอกที่กำลังจะจัด มีหัวเรื่องหลักไม่ค่อยต่างคือความพยายามในการเปิดการค้าเสรี ท่านผู้นำของเราพยายามที่จะแสดงตนสนับสนุนเรื่องดังกล่าวเต็มที่ ในขณะที่ฉันยังได้แต่คิดสงสัยว่าเราจำเป็นจะต้องออกหน้าขนาดนั้นหรือ และการค้าเสรีจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศเท่าใดกันนะ
หากเป็นสมัยพ่อขุนรามคำแหง โครงสร้างการผลิตแบบเสรี ใครใคร่ค้าม้าค้า ค้าช้างค้า แบบซึ่งผู้นำของเรากำลังจะพากระโจนลงไป “อยู่ได้และไปรอด” เพราะทุกคนต่างมีกำลังการผลิต ชนิดของสินค้า และการถือครองทรัพยากรหรือปัจจัยการผลิตที่ไม่ลักลั่นกันมาก อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ภาคการผลิตของหลายประเทศในโลกเคลื่อนสู่คลื่นลูกที่สาม หมายถึงการใช้เทคโนโลยีและข่าวสารเป็นปัจจัยการผลิต ฐานการผลิตของไทยยังตั้งอยู่บน “ภาคการผลิตคลื่นลูกที่หนึ่งกึ่งสอง” หมายถึงภาคการเกษตรและบริการเป็นหลัก มาช้านาน ภาคอุตสาหกรรมของเราอาจกำลังเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง แต่ก็อาศัยพึ่งพิงเทคโนโลยีจากต่างชาติมาตลอด เราขาดการวางรากโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ กล่าวคือการศึกษา การสร้างวัฒนธรรมวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเอง หรือการสร้างความสามารถในการแข่งขัน มาช้านาน
เมื่อสังขารของชาติเป็นเช่นนี้ หากกระโจนลงไปบนสนามแข่งขัน เราหรือจะสู้ผู้ที่ครอบครองและผูกขาดอำนาจทางการเมือง ข้อมูลข่าวสาร และสิทธิบัตรมากมายได้ กล่าวในทางรูปธรรม เมื่อมีการเปิดเสรี ในด้านสินค้าเกษตรเราอาจเป็นต่อในสินค้าบางรายการ เช่นกุ้ง ข้าว และยางพารา แต่นั่นหมายถึงเราจะต้องยอมรับการไหลเข้ามาของหอม กระเทียมราคาถูกจากประเทศจีน เกษตรกรของเราที่เลี้ยงชีพอยู่บนการผลิตสิ่งเหล่านี้ จะอยู่ได้อย่างไร ในด้านอุตสาหกรรมซึ่งใช้แรงงานราคาถูก เราไม่อาจสู้จีนได้ และหากมีการไหลของทุนลงสู่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่า กัมพูชา ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยจะต่ำกว่าการผลิตในประเทศ ไม่ต้องพูดถึงอุตสาหกรรมซึ่งใช้เทคโนโลยีระดับสูงและเทคโนโลยีทางชีวภาพซึ่งเรายังอ่อนด้อย
กล่าวเช่นนี้มิใช่รังเกียจการแข่งขันหรือการเปลี่ยนแปลง แต่การกระโดดลงในสนามระดับโลกซึ่งใช้กติกาของประเทศมหาอำนาจ ประเทศซึ่งขาสั้นกว่าย่อมเหนื่อยกว่าในขณะที่ไม่เห็นโอกาสจะเอาชนะ นี่อาจเป็นมุมมองที่หลายชาติเห็นและพยายามปกป้องชาติของตนจนเกิดความล้มเหลวในการตกลงเปิดเสรีทางการค้าที่เมืองแคนคูน นี่อาจเป็นเหตุผลที่ประเทศซึ่งมีความเป็นตัวของตัวเองเสมอมาอย่างมาเลเซีย ไม่แสดงท่าทีลุกลี้ลุกลนที่จะพาชาติเข้าสู่สนามของการเปิดเสรีให้เร็วขึ้น มองในมุมของสิงคโปร์ ประเทศเขามีเศรษฐกิจที่ตั้งอยู่บนฐานการเป็นเมืองท่าการค้า และส่วนหนึ่งได้ก้าวเข้าสู่ความเป็นผู้นำในเทคโนโลยีแล้ว (ทั้งกำลังวางโครงสร้างการผลิตซึ่งใช้เทคโนโลยีทางชีวภาพ) เมื่อใดมีการเปิดเสรี เมื่อนั้นเขาได้ผลประโยชน์เต็มที่จากการที่ราคาสินค้าเกษตรถูกลงและเสถียรมากขึ้น สามารถส่งสินค้าอุตสาหกรรมหนักเข้าไปเจาะตลาดอินโดจีน ไทย หรือจีนง่ายขึ้นเมื่อมีการลดกำแพงภาษี แต่เมื่อมองภาพรวมของเราบ้าง GDP เราอาจอยู่ในเกณฑ์ที่ดีในปีที่ผ่านมาและมีแนวโน้มที่จะดีขึ้น (ซึ่งเป็นสาเหตุที่ท่านผู้นำเข้าใจว่าเป็นความสำเร็จในการบริหารประเทศอย่างสูง) แต่เราต้องไม่ลืมว่าเศรษฐกิจโลกกำลังอยู่ในขาขึ้นอยู่แล้ว และการโปรยเม็ดเงินจากภาครัฐโดยตรงตามนโยบายประชานิยมก็มีส่วน นั่นคืออง์ประกอบของ GDP เกิดจากการใช้จ่ายภายในและการใช้จ่ายภาครัฐด้วย ไม่ได้หมายถึงการเพิ่มขึ้นของกำลังการผลิตทั้งหมด ไม่ได้หมายถึงการฟื้นตัวอย่างจีรังของระบบเศรษฐกิจของไทย
อาจารย์อานันท์ ปันยารชุนเคยกล่าวไว้ว่า เราอาจต้องหลีกจากกระแสที่เชี่ยวกรากของการแข่งขันเพื่อเอาชนะหรือการเป็นมหาอำนาจ มาเป็นการแข่งขันเพื่อความอยู่รอด ฉันเชื่อเช่นนั้น เชื่อว่าเราไม่จำเป็นต้องรีบเห่อเหิมตามกระแสโลกาภิวัฒน์ ซึ่งเป็นกระแสอันตราย มาเป็นการพยายามวางรากฐานที่จะสร้างศักยภาพในการสร้าง “ความสามารถในการอยู่อย่างพอเพียง” ภายในชาติ นั่นหมายถึงรัฐบาลอาจต้องลดความสำคัญในการสร้างภาพแอคชั่นและปั่นตัวเลข มาเป็นการดูแลความเสถียรภายใน พยุง (subsidize) ส่วนของสังคมที่ยังอ่อนแอให้มีความสามารถในการพึ่งตัวเอง ให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจ กระจายทรัพยากร และการปกครองส่วนท้องถิ่น
ขอท่านพี่และผู้รู้ช่วยสอนให้เราได้เรียนร่วมกันมากขึ้น




Posted by : Shonikeka , Date : 2003-10-09 , Time : 10:01:27 , From IP : pedsurg.med.osaka-u.

ความคิดเห็นที่ : 2


   มีหลายประเด็นที่ถูกยกมา และนำไปสู่พวงลูกโซ่ที่จะตามมา แทนที่จะตอบเอาเป็นผมลองวิเคราะห์สังเคราะห์ดูบ้าง

เริ่มต้นด้วยพวกเราต้องเข้าใจว่าเราเป็นใครก่อน เราเป็นใคร เราอยู่เพื่ออะไร และอะไรทำให้เรามีอยู่ อันนี้เป็นสังคมศาสตร์ เพราะฉะนั้นใครที่กำลังจะลากเข้าศาสนาหรือโสดาบันขอให้เบรกไว้ก่อนหรือตั้งกระทู้ใหม่ ขณะนี้ถ้าเอาโจทย์เป็นคนไทยประเทศไทยก็แล้วกันนะครับ นั่นคือ "เรา" ในที่นี้เป็น collective ของประชาชนที่ภูมิศาสตร์อยู่ในพื้นที่เดียวกัน พูดภาษาเดียวกัน อยู่ภายใต้ตัวบทกฏหมายรัฐธรรมนูญเดียวกัน มีบริบท "ร่วม" กัน มีชายแดนเป็นขอบเขตฟิสิกส์เพื่อแยก "เขา" จาก "เรา" อันนั้นเป็นคำตอบของ "เราเป็นใคร" survive หรือ exist เพื่ออะไร อันนี้คงจะเหมือนกันหมดทั้งโลก ปัญหาทั้งหมดจะเกิดจากคำถามสุดท้ายที่เป็นผลตามจากคำถามที่สองนี่เอง "อะไรทำให้เรามีอยู่?"

ถ้าเราตอบคำถามที่สามนี้ว่าเราอยู่ได้โดยระบบนิเวศน์ปิดภายใต้ระบบกฏเกณฑ์ของ"พวกเรา"เท่านั้น เรื่องของเรื่องก็จบ แต่ที่ไม่จบเพราะการที่เรา "จำเป็น" ต้องมีปฏิสัมพันธ์-ปฏิสัมพัทธ์กับ "เขา" รอบๆข้างนี่เอง ภาวะ symbiosis ที่เกิดขึ้นทำให้ปัญหาต่างๆตามมา ทีนี้ "เขา" ที่ว่านี้ ไม่ใช่ทุกคนจะเป็นกัลยาณมิตรหมด ปรากฏว่า "เขา" ประเภทนักเลงโตหรือปลาใหญ่นี่มีเยอะมาก สสารไม่สูญหายหรือเกิดมาจากอนัตตาฉันใด ร่ำรวยย่อมมีรากฐานมาจากความยากจนของอีกที่อีกบริเวณฉันนั้น แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าปลาเล็กเป็นเสมือนบัวใต้ตมเสมอไป ปลาเล็กก็สามารถอยู่ได้ ถ้าฝูงใหญ่และฉลาดพอ ฉลาดพอในที่นี้ต้อใหมายถึงหูตากว้างไกล และรู้ว่าปลาใหญ่อยู่ที่ไหน กำลังทำอะไรอยู่ หรือวางแผนจะมาไม้ไหนในอนาคตด้วย

รู้เขารู้เรา รบชนะร้อยครา ซุนวูว่าไว้ เปลี่ยนเป็นภาษายุคนี้ก็คือ Information is POWER เราจะวางแผนอะไรซักอย่าง จะตั้งกลยุทธ์สักประการ เราต้องใช้ "ข้อมูล" จะใช้ข้อมูลต้องเริ่มจากการ สร้างข้อมูลเป็น (คนละอันกับ make data นะครับ) รวบรวมข้อมูลเป็น วิเคราะห์ สังเคราะห์เป็น แล้วก็นำไปใช้เป็น SWOT analysis หรือ Strength, Weakness, Opportunity, and Threat นั้นจะเป็นกระบวนการหลังๆ หลังจากที่เราได้ establish database ซะก่อน ฐานข้อมูลที่ "ต้องมี" ในปัจจุบัน ไม่เพียงแต่ข้อมูลของ "เรา" ต้องรวมทั้งข้อมูลของ "เขา" ด้วย เพราะมั่นใจไว้เถิดว่าปลาใหญ่นั้นก็ศึกษาข้อมูลของเราอยู่ไม่น้อย เล่นไพ่กันโดยที่อีกฝ่ายรู้ไพ่ทั้งสองมือ อีกฝ่ายดูของมือตนเองยังไม่ทั่ว ก็มีผลลัพธ์เพียงประการเดียวเท่านั้นคือ "หมดตูด"

เรื่องของเรื่องกลับมาที่หัวประเด็น ผมว่าเรา "ต้อง" รู้ว่า What the hell is going on ในโลกนี้ ถ้าเรื่องมันสำคัญพอ ในขณะเดียวกันเหมือนวงไพ่ ก็คือไม่ต้องโชว์ไพ่หรือทิ้งไพ่ให้เพื่อนหมด play by your ear and play by your strength ปลาเล็กก็น่าจะหา allies ที่อยู่ภายใต้ Threat เดียวกันมาร่วมมือกัน ยกตัวอย่างย่านนี้ประเทศไทยเป็นใหญ่ในการขายยาง แล้วก็มีมาเลเซีย อินโดเนเซีย มันเป็น Strength ของเราไหม ถ้าเป็นจะเอามันเป็นอำนาจต่อรองได้หรือไม่เพื่อเอามาโปะรอยรั่ว รอย Weakness ที่อื่น อย่านึกว่าข้ามาคนเดียว แล้วเลยฆ่ากันเองซะก่อนพวกเพื่อนบ้านนี่แหละ ประเดี๋ยวปลาใหญ่มันจะได้งาบไปทีเดียวหมดทั้ง region เพราะแต่ละคนจะเป็นไม้ซีกด้วยความภาคภูมิใจในเอกราช

อยู่แบบท่านอานันท์ว่าได้ก้ดีครับทั้งประเทศ ประเทศในอุดมคติก็คือประเทศที่เต็มไปด้วยโสดาบันบุคลลเป็นประชากร แต่ผมว่าท่านอานันท์เองคิดได้ขนาดนี้ ไม่ทราบว่าเป็นเพราะการศึกษาที่ได้ไปรวบรวมที่เห็นอะไรๆมาจากโลกภายนอกบ้างรึเปล่า ผมสงสัยว่า "หลีกจากกระแสที่เชียวกราก" นั้น อาจจะไม่ได้หมายความว่าเราขึ้นมาอยู่บนฝั่ง แต่จะเป้นพายเกาะๆตลิ่งไป ว่างไกลองบริหารร่างกายออกไป "ชิมน้ำ" กลางๆลำบ้าง เพิ่มความแข็งแรงทีละนิด ละนิด เพราะอยู่บนตลิ่งนั้น ไม่ได้หมายความว่ากระแสที่เชี่ยวกรากจะไปไม่ถึง ตลิ่งที่ไหนๆที่มีแต่รอวันพังครับ geographic rule มันเป็นอย่างนั้น เรามาก่อร่างสร้างเรือ หัดพายเรือ พัดเหวี่ยงแหตกปลา จะได้อยู่ในกระแสนี้ได้ อาจจะปลอดภัยกว่ารึเปล่าก็ไม่แน่ใจ แต่ผมว่าเป็นคนเล่นเกม หรือมีส่วนในเกมนั้น สบายใจกว่าเป็นแค่ observer ซื้อตั๋ว ที่ว่ามาทั้งหมดนี้คงยังไม่ได้มีการอภิปรายกันจริงๆจังๆ แต่เป็นแค่ "โลกทัศน์" ก่อน เชื่อว่าในทางปฏิบัติแล้วยังมีกระบวนท่าอีกมากมายซ่อนเร้นอยู่ ค่อยๆแพลมโผล่มาก็แล้วกันนะครับ

ลูกบอลลงไปกลางสนามอีกครั้ง



Posted by : Phoenix , Date : 2003-10-10 , Time : 03:00:04 , From IP : 172.29.3.245

ความคิดเห็นที่ : 3


   ฉันไม่ปฏิเสธพี่ว่า "แม้นไม่ถวิลหา กระแสโลกาภิวัฒน์ก็จะถั่งโถมเข้าสู่ชุมชนของเรา มันจะเป็น great attractor ที่ทำให้เกิด economic chaos และนำโลกเข้าสู่สมดุลย์ใหม่" และไม่ปฏิเสธมุมมองอย่าง idealists ที่ว่า สุดปลายทางของกระแสความเปลี่ยนแปลง (at the end of chaos) โลกจะมีกระบวนทรรศน์ใหม่ในการกำหนดนิยามหรือขอบเขตของชาติ เราจะสนใจพรมแดนทางภูมิศาสตร์น้อยลง มีความกลมกลืนทางวัฒนธรรมและระบบเศรษฐกิจมากขึ้น (มองในมุมกลับคือลดความหลากหลายและ susceptible ต่อ attractor มากกว่าเดิม)
.
แต่ก่อนที่จะผ่านกระบวนการปรับสมดุลย์ไปได้ ชาติปลาน้อยคงเหนื่อยไม่ใช่เล่น และหากไม่เตรียมรับมือด้วยการทำให้เรามี"ความเป็นอิสระและอำนาจต่อรอง" มากขึ้น เราจะต้องเป็นเบี้ยล่างของปลาใหญ่ ซึ่งมีท่าทีที่คอยจะ งาบ มากกว่าที่จะเป็น ผู้นำฝูง ที่กล่าวเช่นนี้ก็ด้วยหลักฐานที่ประจักษ์ได้จาก
การตัดสินใจทำสงครามโดยไม่ใส่ใจต่อระเบียบโลกของกลุ่มประเทศมหาอำนาจ
การที่สหรัฐอเมริกาปฎิเสธที่จะลงนามในสนธิสัญญาเกียวโตโดยอ้างผลประโยชน์ของประเทศ
การที่สหรัฐอเมริกายังให้การอุดหนุนสินค้าเกษตรของตนเองทั้งทางตรงและทางอ้อม ในขณะที่พยายามชักนำประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรเข้าสู่ตลาดเสรี
ความพยายามที่จะแทรกเซงกิจการภายในของประเทศอื่น และชักนำให้เกิดกระแสคิดแบบเสรีนิยมแบบอเมริกันในประเทศเป้าหมาย โดยไม่คำนึงถึงรากฐานทางวัฒนธรรมและศาสนา
สิ่งเหล่านี้บอกกับเราว่ากระแสโลกาภิวัฒน์ อาจไม่ใช่กระแสบริสุทธิ์ที่จะนำมนุษยชาติไปสู่ยุคพระศรีอารย์อย่างตรงไปตรงมา หากจะนำโลกไปหยุดอยู่ที่สมดุลย์ใหม่ซึ่งมีการคานอำนาจระหว่างผู้ได้เปรียบกลุ่มน้อย และผู้ด้อยเปรียบส่วนมาก
.
ก่อนที่สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงจะพัดมาอีกครั้ง
.
ก่อนที่ฉันจะเตะลูกคืนให้สนาม ฉันขอทอยทรรศนะที่ต่างประการหนึ่ง "ระบบนิเวศน์ปิด" อยู่ไม่ได้จริงหรือ เรามีแบบจำลองของระบบนิเวศน์ปิดที่ดีอยู่ข้างบ้านนี่เอง เขาอาจจะมิได้กำลังเสพเทคโนโลยีชั้นสูง ยกตัวอย่างเช่นเขาอาจมีมาตรฐานทางการแพทย์ที่ต่างไปจากเรา หากเอาเงินในกระเป๋าเขาไปแลกดอลล่าห์ เขาอาจได้คืนมาแค่เหรียญสำหรับทำบุญ แต่ฉันเชื่ออย่างสนิทใจว่า หากเข้าไปในประเทศเขาตอนนี้ เรายังอาจเห็นรอยยิ้มของเด็ก การทำงานของหนุ่มสาว กล่าวเล่นได้ว่ากระบวนการกิน ขี้ ปี้ นอน ยังเป็นไปตามปกติของมัน
.
แน่ล่ะ เราอาจทนไม่ได้ถ้าต้องปิดแล้ว จะต้องทนกับระดับมาตรฐานการครองชีพระดับนั้น แต่การพยายามที่จะขี้ตามช้างในขณะที่ตูดเราไม่ได้ใหญ่เท่าช้าง มันก็เป็นเรื่องหนักหนา
.
ฉันขอสรุปอย่างเอาใจตนเองไว้ว่า ระดับของการพัฒนามันเป็นเพียงสิ่งสัมพัทธ์ และการจะวางตำแหน่งของชาติเราเองไว้ตรงไหน มันเป็นเรื่องที่เรามีอธิปไตยพอที่จะกร้าวทำ ไม่จำเป็นต้องหันรีหันขวางไปถามกระแส


Posted by : shonikeka , Date : 2003-10-10 , Time : 07:27:05 , From IP : pedsurg.med.osaka-u.

ความคิดเห็นที่ : 4


   ถ้าจะปิดต้องปิดจริงจัง

อยู่ได้แน่นอนครับ ระบบนิเวศน์แบบปิดนั้นด้วยวิทยาการและความรู้เท่าที่มี เราสามารถ sustain ได้ แต่ต้อง "ร่วมมือกันทั้งประเทศ" ซึ่งคำนี้อาจจะต้องมาลูบคลำกันให้ละเอียดว่าเป็นอุดมคติหรือ practically possible

ถ้าช่องเศรษฐกิจยังมีรั่วออกไปและเรายัง consume import อยู่ หรือนัยหนึ่งไม่ได้ปิดจริง การครึ่งปิดครึ่งเปิดจะทำให้เกิดผลร้ายมากกว่าดี (รึเปล่า?) จะลองสร้างระบบสังคมใหม่ตอนนี้ อาจจะต้องอาศัยระบบกึ่งเผด็จการ เพราะโอกาสที่เราจะให้คนที่ผลักดันเสรษฐกิจประเทศในปัจจุบันเกิดสำนึกเปลี่ยนใจและหันมาปิดประเทศ for the sake of survival นั้น ผมยังนึกหาวิธีที่สำเร็จไม่ออก (ปราชญ์ซุนวู "จงเริ่มสงครามหลังจากที่ได้ศึกษาและมองเห็นทางชนะอย่างแจ่มแจ้งแล้วเท่านั้น") ไม่งั้นแล้วเรากำลังแข่งกันประพันธ์สร้างเมืองสาระขันธ์ euthopia กันอยู่โดยไม่รู้ตัว ยอมรับว่าสนุกไม่น้อยแต่ reality bites จะตื่นมาพร้อมรอยพกช้ำดำเขียว

เรื่องของเรื่องคือโมเมนตัมของเศรษฐศาสตร์นั้นไม่อำนวยให้ประเทศหนึ่งประเทศใดรวยไปเรื่อยๆและ sustain ความได้เปรียบ การที่ประชาชนของ "ปลาใหญ่" รวยขึ้น ค่าครองชีพสูงขึ้น ความต้องการค่าจ้างมากขึ้น ที่สุด "ตลาดแรงงาน" และ "ตลาดมันสมอง" จะสูญเสียอำนาจความมีเปรียบ เพราะโดยกฏธรรมชาติประเทศปลาเล็กจะสามารถ supply ความต้องการตลาดทั้งสองส่วนได้ในราคาและคุณภาพที่คุ้มทุน ไม่เป็นเรื่อง co-incidence ที่มีการ laid-off white collar ราคาแพง แล้วมาจ้าง import white collar จากจีน อินเดีย หรือแม้กระทั่งมาตั้งสาขาปฏิบัติงานในพื้นที่นี้วะเลย เพราะ capital, hardware, etc ถูกกว่า ลดต้นทุนดีกว่า

เรื่องของเรื่องคือในฐานะปลาเล็ก เราต้องพัฒนาเอา "กระแส" ที่ว่านี้เป็นจุดแข็ง จุดต่อรองให้ได้ อย่าปล่อยให้ถูกซื้อออกไปหมด ด้วยสภาพแวดล้อมเราสามารถเป็นแหล่งผลิดตบาดแรงงานและตลาดสมองได้อย่างมีความคุ้มทุนกว่า ดูจากค่าใช้จ่ายต่อหัวในการศึกษาขั้นต่ำในขณะนี้เปรียบเทียบกับปลาใหญ่ ขณะเดียวกันเราก็ไม่ต้องไปขยายความต่างของจุดนี้ไปมากกว่านี้ แต่ตรงกันข้ามควรจะ Push และ ใส่ capital ลงไปเพิ่มเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ทรัพยากรบุคลนั้นลงทุนสูงจริงแต่ขายได้แพงกว่า คุ้มกว่าเยอะมากมายหลายเท่ากว่าที่เราจะเน้นจำนวนโดยเร่งผลิต เร่งส่ง low quality product ที่ผ่านการ train แค่ short course ที่น่าเป็นห่วงคือ เมื่อชำเลืองดูรอบๆข้างดูเหมือนเพื่อนบ้านเราจะดำเนินการไปเรียบร้อยแล้วในทิศทางนี้ การที่ Singapore, Malaysia, India, และ จีน ทำอย่างที่ว่าไม่ได้บอกว่าน่าจะเลียนแบบ แต่เราไม่ได้มีชื่อเสียงทางมองการณืไกล หรือเป้นนักวางแผน นักเศรษฐศาสตร์มากนัก ไม่น่าละอายที่จะครูพักลักจำมาดัดแปลง ใส่พริก ใส่เครื่องแกง ให้ออกรสไทยๆแล้วส่งแข่งในตลาดบ้าง

พริกขี้หนูเม็ดเล็กก็จริง แต่แหกตูดช้างได้แน่นอน!!



Posted by : Phoenix , Date : 2003-10-11 , Time : 01:38:17 , From IP : 172.29.3.214

ความคิดเห็นที่ : 5


   คุณ Phoenix ลงท้ายได้แสบจริงๆ

ไม่ว่าจะไปทางไหนก็ดีทั้งนั้นล่ะครับ ถ้าหากมีการคิดวางแผนไว้อย่างรอบคอบ และทำอย่างจริงจัง ความสำเร็จทุกอย่างเกิดขึ้นได้จากความร่วมมือของคนทั้งประเทศได้อย่างแน่นอน

เมืองไทยเราก็มีดีตรงนี้ล่ะครับ

ไม่รู้ว่าช่วงประชุม APEC เหล่า NGO จะกล้าตั้งม็อบกันจริงๆหรือเปล่า เพราะกระแสประชาชนนั้นไม่เห็นด้วยตามท่านนายกแล้วล่ะ

อ้อ กทม.สวยขึ้นครับ (เพิ่งไปมาเมื่อสองอาทิตย์ก่อน) คึกคักดีด้วย


Posted by : ArLim , Date : 2003-10-11 , Time : 11:43:34 , From IP : maliwan.psu.ac.th

ความคิดเห็นที่ : 6


   รออยู่หลายวันไม่มีใครมาทอยกระบาลเพิ่ม เอาเป็นว่าฉันขอกล่าวสรุปความเห็นอย่างมองโลกในแง่อาภัพของฉันว่า การเปิดการค้าเสรีตามแนวทางของ APEC ซึ่งประเทศในกลุ่มจะต้องพยายามไปให้ถึงในราวยี่สิบปีข้างหน้านั้น มันอาจมิใช่เป็นสิ่งสวยหรูและเนรมิตผลประโยชน์ลงถึงระดับรากหญ้าอย่างที่รัฐบาลฝัน
.
ประเทศที่ได้เปรียบจากการเปิดเสรีคือประเทศที่มีอำนาจต่อรองเหนือกว่า และประเทศจะมีอำนาจต่อรองเหนือกว่าได้ก็ต่อเมื่อมีอิสระทางเศรษฐกิจมากกว่า
.
ร้อยละแปดสิบของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในของเรา มาจากการพึ่งพิง หมายถึงการค้าระหว่างประเทศ การบริการ การท่องเที่ยว
.
เปิดเสรีเมื่อใด หมายถึงสิ่งเหล่านี้จะต้อง "แข่งขันได้ ขายสู้เขาได้" เราจึงจะยังรอด และตักตวงผลประโยชน์ได้จากตลาดที่กว้างและมีแรงต้านทางทางภาษีหรือปัจจัยทางการเมืองท้องถิ่นน้อยลง
.
แต่เปิดเมื่อไหร่ แล้วกลายเป็นปลาเล็กที่แพ้ในเรื่องทุน การจัดการ ข้อมูลข่าวสาร และที่สำคัญที่สุด "ทุนทางเทคโนโลยี" หรือพูดอีกทางหนึ่ง ไม่มีแรงแข่ง เราจะได้เห็นภาพปลาน้อยพลอยตายตามน้ำ และนั่นจะเป็น real reality bite หรือขอบัญญัติศัพท์ใหม่ว่าเป็น dream-day incompatibility เราจะเห็นการจากไปของร้านโชว์ห่วย ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ร้านยาขนาดเล็ก คลินิกหมอวันชัยหน้าตลาด และการเข้ามาแทนที่ของธุรกิจของผู้กำทุน เราจะได้เห็นการที่แรงงานมีฝีมือถูกดูดออกจากประเทศด้วยการแข่งขันทางผลประโยชน์
.
มองโลกในแง่ร้ายกว่านั้น
.
เสรี ก็ คือ เผด็จการ ของผู้ครอบครองทุน


Posted by : Shonikeka , Date : 2003-10-16 , Time : 09:14:45 , From IP : pedsurg.med.osaka-u.

ความคิดเห็นที่ : 7


   โลกนี้มัน run ด้วย the rules of the game

เราจะเล่นเกมแบบไหน ทุกเกมมีกฏกติกาหมด รวมทั้ง package ที่มาพร้อมกับเกม ในโลกแห่งความเป็นจริงเบี้ยเป็นคนจริง แบ็งค์กงเต็กเป็นเงินและหนี้จริง เวลาเจ๊งก็เจ๊งจริง มีคนผูกคอตายจริงๆ มีคนถูกยึดบ้านหรือกลายเป็นโจรจริงๆ

เรื่องของเรื่องคือเราจะอยู่ในระบบที่ประเทศถูกบริหารด้วยรัฐบาลหรือเปล่า? ถ้าอยู่แปลว่าท่านเบื๊อกทั้งหลายที่นั่งเป็นเจ้ากระทรวงอยู่นี้นั่นแหละที่จะเป็นคนบริหารเงินของเรา เอามาสร้างถนน โรงเรียน โรงพยาบาล หรือเอามาเปิดบ่อน คุมซ่อง ขายยาแพง ดังนั้นนั่นคือความสำคัญของ democratic machine ที่คนที่อยู่ในประเทศต้องเข้าใจ คนในประเทศที่เข้าใจแล้วก็ต้องอธิบายให้คนที่ยังไม่เข้าใจ ได้เข้าใจ มิฉะนั้นแล้วก็จะไม่มีประโยชน์ใดๆทั้งสิ้น

ความสนใจด้าน politics ของ so-called ปัญญาชนของเรา "อาจจะ" ไม่อยู่ในระดับที่สมควร "รึเปล่า?" ใน flood ของกระทู้คณะแพทย์ของเราถ้าจัดลำดับความยอดนิยมของ themes ต่างๆ พอจะบอกได้หรือไม่ว่า Creme de la creme ของประเทศไทยนั้น เขาคิดอะไรอยู่เวลาเขาว่างจาก SDL, PBL, CRT ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ ถ้าใครจะทำ (แต่อาจจะไม่สามารถเอาไปขอตำแหน่งทางวิชาการได้) ดูท่าเราสามารถกักตัวเองหรือสร้างโลกโรแมนติกส่วนตัวอยู่ในความเป็นพุดทะมามะก๊ะได้ยอดเยี่ยม สมกับที่มหายานเขาเรียกเราว่าหินยานจริงๆ

โลกอาภัพที่คุณ Shonikeka เห็นนั้นเป็นโลกใบจริงที่กั้นจากพวกเราหลายๆคนด้วยเปลือกตาหนึ่งชั้น tear-film หนึ่ง layer และ illusion อีกกระบุงหนึ่ง ที่ที่เราอยากจะแก้อยากให้มีกันนั้น ไม่เกิดใน generation นี้หรอกครับ แต่เราอาจจะทำให้เกิดได้ในอีกสองสาม generations ข้างหน้า ชาติหน้ามีจริงอีกสัก 6-70 ปี เราคงได้เกิดใหม่และกลับมาดูเหตุการณ์ว่ามัน foldout ยังไง ขอเพียงเราเชื่อว่าที่เราทำอยู่ here and now อาจจะมีผลระยะไกลอยู่บ้าง มันก็จะพอเป็นกรอบ เป็นเป้า เป็นราว เป็นแผนที่ เป็น dream ที่อาจจะต้องนอนนานหน่อย เพื่อจะตื่นมากลายเป็น dey-dream compatible แทน แค่งีบๆปีสองปีไม่พอ แต่ถ้าเราไม่หวัง ไม่ฝันแล้ว อะไรๆก็ถูกจัดครรลองไว้เท่าที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน คุณ Shoni อ่านสถาบันสถาปนาแล้ว (The Foundation, Asimov) ก็คงจะทราบว่าอาณาจักรล่มนั้นเมื่อเห็น signs ก็แปลว่า too late แผนก็คือจะ recover ใน 1000 ปี หรือ 30,000 ปีเท่านั้น

Namaste



Posted by : Phoenix , Date : 2003-10-16 , Time : 18:00:55 , From IP : 172.29.3.210

ความเห็นจาก Social Network : Facebook


สงวนสิทธิ์การแสดงความคิดเห็นสำหรับ สมาชิกเท่านั้น
>>>>> Page loaded: 0.004 seconds. <<<<<