ความคิดเห็นทั้งหมด : 1

เปิดใจ 2 แพทย์ตัวอย่างกับการทำงานท่ามกลางมรสุมไฟใต้


   http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9500000090696


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - การคัดเลือกแพทย์ตัวอย่างในภาคใต้ ประจำปี 2550 ของคณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) แพทย์สองท่านที่ผ่านการคัดและกรองคุณสมบัติ จนเห็นบทบาทที่โดดเด่นที่สุด ทั้งประวัติการทำงานภายใต้จรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ ผลงานทางการแพทย์ ความกล้าหาญและการอุทิศตนเพื่อผู้ป่วยและสังคม จนได้รับการยกย่องและคัดเลือกให้เป็นแพทย์ตัวอย่างของภาคใต้

เป็นแพทย์ที่ทำงานอยู่ท่ามกลางมรสุมของไฟใต้ นั่นคือแพทย์หญิงภัททิรา ทางรัตนสุวรรณ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสายบุรี อ.สายบุรี จ.ปัตตานี และนายแพทย์ประชา ชยาภัม นายแพทย์ 9 (ด้านเวชกรรม สาขาศัลยกรรม) หัวหน้ากลุ่มงานศัลยกรรมและผู้อำนวยการศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษา โรงพยาบาลยะลา อ.เมือง จ.ยะลา

นับเป็นเกียรติประวัติของแพทย์สองท่าน เนื่องจากปีนี้เป็นปีมหามงคลในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเจริญพระชนมายุ 80 พรรษา และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ครบรอบ 40 ปี ซึ่งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ร่วมเฉลิมพระเกียรติและร่วมแสดงความยินดีกับความก้าวหน้าของ มอ.ในฐานะที่เป็นมหาวิทยาลัยที่รับใช้คนใต้มาอย่างยาวนาน

โดยการจัดให้มีการประชุมวิชาการของคณะแพทยศาสตร์ ประจำปี พ.ศ.2550 พร้อมกับประกาศแพทย์ตัวอย่างของภาคใต้ประจำปี 2550 ในวันที่ 15–17 สิงหาคม 2550 ณ ห้องทองจันทร์ หงศ์ลดารมภ์ คณะแพทยศาสตร์ (มอ.)

ด้วยเห็นว่า บทบาทของแพทย์ในปัจจุบันมิได้จำกัดเพียงการรักษาผู้ป่วย ให้พ้นจากโรคภัยไข้เจ็บเท่านั้น หากแต่บทบาทหลักที่มีความสำคัญเท่าเทียมกันนั่นคือ การให้ความรู้และส่งเสริมให้ประชาชนในประเทศมีสุขภาพที่ดี ซึ่งสุขภาพที่ดีเป็นพื้นฐานสำคัญของชีวิตที่จะนำไปสู่การพัฒนาด้านอื่นๆ ประชาชนที่มีสุขภาพดีเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าอย่างยิ่งของประเทศ และส่งผลต่อการพัฒนาประเทศ ชาติให้เจริญก้าวหน้า

น่าสนใจอย่างยิ่งกับบทบาทของแพทย์ตัวอย่างของทั้งสองท่าน ซึ่งมีจุดยืนในการทำงานหรือแม้แต่การสะท้อนมุมมองต่อสถานการณ์ใน 3 จังหวัดจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ลองไปฟังแนวคิดของแพทย์สองท่าน เริ่มจาก แพทย์หญิงภัททิรา ทางรัตนสุวรรณ

ทำไมถึงอยากเป็นแพทย์ ?

ต้องการช่วยเหลือผู้ป่วยและในขณะนั้นแพทย์มีจำนวนน้อยมาก โดยเฉพาะอำเภอที่เป็นภูมิลำเนามีแพทย์เพียงท่านเดียว ซึ่งเป็นไปได้ยากที่จะดูแลสุขภาพของประชาชนได้ทั่วถึง นอกจากนี้ทางครอบครัวก็สนับสนุนอยากให้เรียนแพทย์เพราะเป็นอาชีพที่สามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้ง่ายและเป็นอาชีพที่มีเกียรติ

เริ่มต้นชีวิตการทำงานที่ไหน เข้ามาทำทำงานในพื้นทำงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้เมื่อใดความรู้สึกของการเป็นแพทย์ที่ได้มีโอกาสรักษาผู้ป่วยเป็นครั้งแรก ?

เริ่มบรรจุเป็นข้าราชการครั้งแรกในตำแหน่ง นายแพทย์ 4 ที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสายบุรี อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2535ความรู้สึกเมื่อได้มีโอกาสรักษาผู้ป่วยเป็นครั้งแรก คือ รู้สึกดีใจและภูมิใจที่ได้ช่วยเหลือผู้ป่วยให้หายจากโรคหรือให้มีอาการดีขึ้น โดยเฉพาะผู้ป่วยหนักถ้าสามารถรักษาจนหายและเดินออกจากโรงพยาบาลได้เองจะยิ่งรู้สึกภูมิใจมาก คงเหมือนแพทย์ทุกท่านที่จะมีความสุขทุกครั้งที่ประสบความสำเร็จในการดูแลรักษาผู้ป่วยแต่ละราย

รู้สึกอย่างไรบ้างที่ต้องทำหน้าที่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลที่ต้องดูแลบุคลากรทั้งโรงพยาบาลและยังเป็นโรงพยาบาลที่อยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ?

รู้สึกภาคภูมิใจและเป็นเกียรติที่ได้มีโอกาสเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสายบุรี และนับว่าโชคดีที่ได้ร่วมงานกับทีมงานที่มีคุณภาพ มีความมุ่งมั่นในการร่วมกันพัฒนาโรงพยาบาล และบุคลากรในโรงพยาบาลก็มีความรักองค์กร มีความสามัคคี ไม่มีความขัดแย้งกันถึงแม้ว่าจะมีความแตกต่างทางศาสนาและวัฒนธรรมที่หลากหลาย

เจ้าหน้าที่มีความภาคภูมิใจในความเป็นโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ทุกคนมีศูนย์รวมดวงใจและมีความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ รวมถึงชุมชนในอำเภอสายบุรีประชาชนส่วนใหญ่มีรายได้น้อย แต่มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีกับกิจกรรมของโรงพยาบาล

เวลาทราบข่าวเกี่ยวกับการทำร้ายบุคลากรของทางราชการรู้สึกอย่างไร?

รู้สึกหดหู่ใจและเห็นใจครอบครัวของผู้สูญเสีย อยากให้กำลังใจทุกคนไม่ว่าจะเป็นประชาชนผู้บริสุทธิ์ เจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่ถูกทำร้ายจากสถานการณ์ความไม่สงบฯ โดยได้แต่หวังว่าสถานการณ์จะดีขึ้นและสันติสุขจะกลับมาอีกครั้งโดยเร็ว

ประชาชนในพื้นที่รู้สึกต่อบุคลากรทางการแพทย์อย่างไรและท่านปฏิบัติตนอย่างไร ?

ทุกวันนี้โรงพยาบาลยังคงเป็นที่ไว้วางใจของชุมชน ภารกิจตลอดจนกิจกรรมต่างๆจะได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากชุมชน ด้วยความศรัทธาที่มีต่อโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสายบุรี แม้ในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ ประชาชนทั้งชาวไทยพุทธและชาวไทยมุสลิมได้ร่วมมือกันหาเงินบริจาคในการจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์และจัดซื้อที่ดินเพิ่มเติมให้กับโรงพยาบาลซึ่งได้ดำเนินการจัดซื้อแล้ว 9 ไร่เศษ โดยขณะนี้กำลังช่วยกันดำเนินการจัดซื้อที่ดินเพิ่มเติมอีกราวๆ 7 ไร่ ซึ่งรวมเป็นจำนวนเงินประมาณ 5 ล้านบาท

ดิฉันเป็นผู้อำนวยการอยู่ในพื้นที่หลายปี ทุกวันนี้มีความรักและความผูกพันกับอำเภอสายบุรีเป็นอย่างมากพยายามทำให้ชุมชนและประชาชนได้เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาโรงพยาบาลร่วมกัน เพราะโรงพยาบาลเป็นของประชาชน ทุกคนต้องช่วยกันดูแล ต้องช่วยกันพัฒนา

ดิฉันสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามหลักศาสนามีการจัดกิจกรรมทางศาสนาในวันสำคัญทางศาสนาพุทธและจัดกิจกรรมตามประเพณีอันดีงามของชาวมุสลิมทุกๆ ปีตลอดจนการเข้าร่วมงานประเพณีต่างๆของชุมชนทั้งชุมชนไทยพุทธ ไทยมุสลิมและชาวไทยเชื้อสายจีนอย่างสม่ำเสมอ

เคยมีความคิดจะออกนอกพื้นที่หรือไม่?

ขณะนี้ยังไม่คิดที่จะย้ายออกนอกพื้นที่ เนื่องจากประการที่ 1 มีความเชื่อมั่นรัฐบาลในการแก้ปัญหาความไม่สงบฯและมั่นใจว่าสถานการณ์น่าจะดีขึ้นเป็นลำดับ ประการที่ 2 ดิฉันมีความสุขในการทำงาน ณ โรงพยาบาลแห่งนี้เป็นอย่างมาก เป็นโรงพยาบาลที่มีความพร้อมในการพัฒนาต่อไปอย่างไม่หยุดยั้งเนื่องจากมีทีมงานที่ดี เสียสละ ชุมชนก็ดีพร้อมที่จะให้ความร่วมมือ และยังอยากจะพัฒนา โรงพยาบาลสมเด็จพระ ยุพราชสายบุรีให้มีความเจริญก้าวหน้า พัฒนาเป็นโรงพยาบาลทุติยภูมิระดับกลาง (2.2) มีแพทย์เฉพาะทางทุกสาขา เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพในการรักษาพยาบาล รวมทั้งเป็นแม่ข่ายให้กับโรงพยาบาลชุมชนใกล้เคียง

ได้แก่ โรงพยาบาลไม้แก่น โรงพยาบาลกะพ้อ โรงพยาบาลทุ่งยางแดง โรงพยาบาลมายอ และโรงพยาบาลปะนาเระ ตลอดจนโรงพยาบาลอื่นๆ ของจังหวัดยะลาและนราธิวาสที่อยู่ใกล้เคียง ซึ่งขณะนี้กำลังจะขยายจำนวนเตียงให้บริการจาก 60 เตียง เป็น 120 เตียง คาดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จในปีหน้า ส่วนที่ดินที่คับแคบ ทางชุมชนกำลังช่วยกันดำเนินการจัดหาเพิ่มเติมให้รองรับการขยายโรงพยาบาลต่อไปในอนาคต

ประการที่ 3 จากการประเมินสถานการณ์แล้ว การย้ายออกนอกพื้นที่เนื่องจากสถานการณ์ของหัวหน้าส่วนราชการที่เป็นผู้อำนวยการผู้หญิง 1 คน จะมีผลทางจิตวิทยาต่อเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเป็นอย่างมาก รวมทั้งแพทย์โรงพยาบาลชุมชนอื่นๆก็อาจเกิดปัญหาขาดแคลนมากขึ้นเนื่องจากความไม่มั่นใจในความปลอดภัยและอาจส่งผลต่อชุมชนด้วย

ยึดถือคติอะไรในการทำงาน ?

ทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุดด้วยความตั้งใจและทุ่มเท ความสำเร็จก็อยู่ไม่ไกล

รู้สึกอย่างไรกับคำว่าแพทย์ตัวอย่าง ?

เป็นแพทย์ที่มีความรับผิดชอบเสียสละ มีการศึกษาหาความรู้อย่างสม่ำเสมอ ถ้าเป็นแพทย์ผู้บริหารต้องมีวิสัยทัศน์กว้างไกล มีภาวะผู้นำ มีความซื่อสัตย์ โปร่งใส ตรวจสอบได้ เป็นแบบอย่างที่ดีในการครองตน ครองคน ครองงาน ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง

ในมุมมองของ นายแพทย์ประชา ชยาภัม กับคำถามในประเด็นเดียวกัน

สาเหตุที่เรียนแพทย์หรือมีความใฝ่ฝันอย่างไร จึงอยากเรียนแพทย์ ?

บุคคลแรกที่ทำให้สนใจอาชีพแพทย์คือ คุณพ่อ พยายามพูดถึงความก้าวหน้าของวงการแพทย์ตั้งแต่สมัยยังเป็นเด็กชั้นประถม เช่นพูดถึงการเปลี่ยนหัวใจครั้งแรกของ Dr.Christian Barnard จากประเทศ Africa เป็นเหตุให้สนใจในวิชาชีพแพทย์ และพบว่าเป็นอาชีพที่มีเกียรติ มีบุญคุณ มีเงิน และมีความมั่นคง (ในสมัยนั้น)

ทัศนคติของคำว่า “แพทย์” ในความรู้สึกของท่านคืออะไร?

แพทย์ก็เป็นอาชีพ ๆ หนึ่ง เหมือนกับอาชีพอื่น ๆ แต่มีความซับซ้อน มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ต้องการความละเอียดและการเป็นคนช่างสังเกตุคล้ายนักสืบ มีจิต
ใจโอบอ้อมอารีย์ดุจพระพรหม แพทย์ที่ดีต้องมีการพัฒนาตัวเองตลอดเวลา และที่สำคัญที่สุดคือถือประโยชน์ของผู้ป่วยเป็นกิจที่หนึ่ง

ความรู้สึกที่ได้รักษาผู้ป่วยเป็นครั้งแรก ?

ต้องย้อนกลับไปตอนเป็นนักเรียนแพทย์ปี 3 ตอนเรียนวิชากายวิภาคใหม่ ๆ ความรู้สึกหวาด ๆ แต่ก็จบมาด้วยจิตใจที่ (เข้ม) แข็งขึ้น มองผู้คนเป็นวัตถุไปหมดตอนเป็นนักเรียนแพทย์ปี 5 ที่ต้องไปสัมผัสกับผู้ป่วยจริงในฐานะนักเรียนแพทย์ที่ยังมีความรู้ทางการแพทย์น้อย ความรู้สึกต่อผู้ป่วยยังคงเป็นวัตถุ

ต้องการคำตอบทางวิชาการโดยไม่คำนึงถึงความละเอียดอ่อนของความเป็นมนุษย์พอจบเป็นแพทย์ เริ่มต้นเป็นแพทย์ฝึกหัดที่มีคนไข้เป็นของตัวเอง เริ่มมองคนไข้เป็นมนุษย์มากขึ้น แต่รู้สึกว่าตัวเองความรู้น้อย ไม่ค่อยยุติธรรมที่จะให้ชะตากรรมของผู้ป่วยมาอยู่ในมือของผู้ที่ด้อยประสบการณ์เช่นเรา ไม่สามารถชักจูงผู้ร่วมงาน (พยาบาล และเจ้าหน้าที่อื่น ๆ ) มาร่วมมือกับเราในการขจัดความทุกข์ของผู้ป่วยได้ ต่อมาจึงพัฒนาได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ

เข้าไปทำงานในพื้นที่ 3 จังหวัด รู้สึกอย่างไรบ้าง ?

ความจริงคุณพ่อคุณแม่อพยพมาอยู่ที่ยะลาตั้งแต่อายุได้ 2 ขวบ มีความรู้สึกเหมือนเป็นบ้านเกิดสมัยเด็ก ๆ ซนมากหนีเที่ยวบ่อยโดยเฉพาะตามป่าเขา มีเพื่อนเป็นมุสลิมมาก มีความอยากรู้อยากเห็นไปทั้งหมดพบเห็นความขัดแย้ง ความอยุติธรรม การสู้รบมาตั้งแต่บัดนั้นเข้ามาเรียนหนังสือใน กทม.ตั้งแต่อายุ 16 จนกลับไปทำงานในพื้นที่เมื่ออายุ 33 ปี พบความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง

การเปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง รถยนต์ถนนหนทาง เทคโนโลยี โรงพยาบาลยะลาที่ชาวบ้านเรียกว่าโรงฆ่าสัตว์ในอดีต มาเป็นโรงพยาบาลชั้นแนวหน้าในภาคใต้ เป็นพี่ใหญ่ที่พึ่งพิงของน้อง ๆ ใน 3 จังหวัด จนกระทั่งมีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นความจริงก็เป็นธรรมชาติของเมืองชายแดนที่มีทั้งโอกาสและวิกฤติ

เป็นแพทย์ด้านศัลยศาสตร์คนเดียวในพื้นที่ 3 จังหวัด รู้สึกอย่างไรบ้าง ?

ความจริงไม่ใช่แพทย์ด้านศัลยศาสตร์คนเดียวในพื้นที่ 3 จังหวัด เคยเป็นศัลยแพทย์ประสาทสมองคนเดียวในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้มา 13 ปี จนได้คุณหมอนันทกา มาช่วยได้ 4 ปี แล้ว เราเคยมีศัลยแพทย์ประสาทสมองในโรงพยาบาลยะลามากที่สุดถึง 3 คน

นอกจากนี้ยังมีคุณหมอสุรกิจ มาประจำที่ รพ.นราธิวาสราชนครินทร์ น่าจะมีสัก 7 คนค่อยอยู่อย่างมีคุณภาพทางวิชาการสมัยที่อยู่คนเดียว เพื่อนร่วมงานศัลยกรรมสาขาอื่น ๆ ก็มีจำนวนคนน้อย เลยแยกรับผิดชอบกันไปตามสาขาที่ตัวเองถนัด เป็นที่ปรึกษาและรับส่งต่อจาก รพ.ชุมชนโรงพยาบาลทั่วไปใน 3 จังหวัดชายแดนใต้บางครั้งก็รับผู้ป่วยจากบางส่วนของสงขลา สำหรับโรคทางระบบประสาท สมอง ไขสันหลัง เส้นประสาท รู้สึกว่าตัวเองเป็นพี่ใหญ่ให้น้อง ๆ ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ และภูมิใจที่ได้รับใช้บ้านเกิดเมืองนอน

ประชาชนในพื้นที่รู้สึกต่อการทำงานของท่านอย่างไรบ้าง ?

คงตอบแทนความรู้สึกของประชาชนในพื้นที่ไม่ได้ แต่ถ้าถามว่ารู้สึกต่อประชาชนในพื้นที่อย่างไรบ้าง อยากจะตอบว่าเป็นกลุ่มชนส่วนน้อยของประเทศที่มีวัฒนธรรม ประเพณี ภาษา ศาสนาและความเชื่อที่แตกต่างไปจากคนส่วนใหญ่ของประเทศ

มีบางอย่างก็เป็นจุดแข็ง บางอย่างก็เป็นจุดด้อยจุดแข็งเช่นเป็นผู้ที่อยู่อย่างเศรษฐกิจพอเพียงตัวจริง ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำปี พ.ศ. 2540 นอกจากจะไม่ค่อยได้รับผลกระทบ ยังเป็นผู้ที่ได้ประโยชน์จากการถือเงินสดในมืออีกด้วย เป็นกลุ่มชนที่มีความเป็นเอกภาพสูงมาก ฯลฯจุดอ่อนคือการศึกษาที่ไม่ให้ความสนใจในวิชาสามัญที่จะไปอยู่ร่วมกับคนส่วนใหญ่ในประชาคมโลก

มีความคิดอยากออกจากพื้นที่หรือไม่ ?

การที่จะอยู่ในที่หนึ่งที่ใดได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกที่เราควบคุมไม่ได้หลายอย่าง ที่สำคัญที่สุดคือความมั่นคงในชีวิต รองลงมาคือปัจจัยสี่ การประกอบอาชีพ การได้รับการยอมรับในสังคม ฯลฯ ซึ่งรวม ๆ กันแล้ว จะเป็นตัวประกอบในการตัดสินใจว่าจะอยู่ที่ใด ถ้าพูดถึงสถานการณ์ในปัจจุบันความน่าอยู่ลดลงเรื่อย ๆ ถ้ายังอยู่ในภาวะเช่นนี้สักวันหนึ่ง ก็คงจะอยู่ไม่ได้

อยากฝากอะไรถึงใครบ้างหรือไม่ ?

อยากฝากถึงแพทย์รุ่นน้องๆ ว่าสถานการณ์ของชีวิตแพทย์เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก ภาพพจน์ของแพทย์เริ่มตกต่ำเนื่องจากการทำตัวของพวกเรากันเอง มีการฟ้องร้องค่อนข้างสูงอยากจะให้พวกเรารักษามาตรฐานของวิชาชีพให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคม เชื่อว่าวิชาชีพแพทย์คงไม่อดตาย แต่จะร่ำรวยเหมือนอาชีพอื่นไม่ได้ แต่จะเป็นเกราะคุ้มกันตัวเราเอง


Posted by : garnet , Date : 2007-08-03 , Time : 16:54:08 , From IP : 172.29.1.230

ความคิดเห็นที่ : 1


   ขอแสดงความยินดีด้วยครับ

Posted by : Botsumu , Date : 2007-08-06 , Time : 08:53:00 , From IP : 172.29.9.163

ความเห็นจาก Social Network : Facebook


สงวนสิทธิ์การแสดงความคิดเห็นสำหรับ สมาชิกเท่านั้น
>>>>> Page loaded: 0.004 seconds. <<<<<