ความคิดเห็นทั้งหมด : 1

ไอซีทีไล่บี้ฟอร์เวิร์ดเมล์ +บังคับใช้พ.ร.บ.กระทำผิดคอมพ์ 18 ก.ค.นี้


   ไอซีทีไล่บี้ฟอร์เวิร์ดเมล์ +บังคับใช้พ.ร.บ.กระทำผิดคอมพ์ 18 ก.ค.นี้/ฝ่าฝืนปรับ500,000บ./ธุรกิจเน็ตคาเฟ่กระทบแน่

ไอซีที เตรียมใช้พรบ.กระทำผิดคอมพิวเตอร์ ชี้กระทบผู้ให้บริการเทเลคอม-ไอเอสพี-เน็ตคาเฟ่-บริษัทห้างร้าน-ราชการ ที่มีคอมพ์ใช้งานต้องเก็บข้อมูลหมด ขณะที่สมาคมร้านเน็ต ระบุกระทบธุรกิจแน่ ส่วนสมาคมไอเอสพี เตรียมระดมสมอง เสนอแนวทางเก็บข้อมูลลูกค้า ด้าน"เอไอเอส-ดีแทค "ขานรับ พร้อมปฏิบัติตาม ส่วนองค์กรปฎิรูปสื่อ ชี้สังคมสงสัย เร่งออกกฎหมายอ้างความมั่นคง





นายปริญญา หอมเอนก คณะกรรมการเตรียมการเพื่อดำเนินการตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ขณะนี้คณะกรรมการฯ อยู่ระหว่างการร่างประกาศกระทรวง เรื่องหลักเกณฑ์จัดเก็บข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ (Log File) สำหรับผู้ให้บริการเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นกฎหมายประกอบ ภายใต้ พรบ.ว่าด้วยการกระทำผิดคอมพิวเตอร์ที่ประกาศเป็นพระราชกิจจานุเบกษา ไปเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2550 ที่ผ่านมา และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 18 กรกฎาคม 2550





ทั้งนี้กฎหมายตามมาตรา 26 ระบุว่าผู้ให้บริการจะต้องเก็บจัดเก็บข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ (Log File) สำหรับผู้ให้บริการเครือข่ายคอมพิวเตอร์ เป็นเวลา 90 วันนับตั้งแต่วันที่ข้อมูลเข้าสู่คอมพิวเตอร์ โดยข้อมูลที่ผู้ให้บริการต้องดำเนินการจัดเก็บนั้นเก็บเฉพาะข้อมูลที่มีความจำเป็น เพื่อแสดงถึงแหล่งกำเนิดต้นทางและปลายทาง เส้นทาง ข้อมูลที่ระบุพฤติกรรม การเข้าถึงอินเตอร์เน็ต อาทิ วันเวลา ไม่ต้องเก็บเนื้อหาทั้งหมด หากผู้ให้บริการรายใดไม่ดำเนินการจัดเก็บข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ (Log File) มีความผิดปรับไม่เกิน 500,000 บาท หากเจ้าหน้าที่เรียกตรวจสอบข้อมูลแล้วผู้ให้บริการไม่มีข้อมูลดังกล่าวถูกปรับไม่เกิน 200,000 แสนบาท และปรับเป็นรายวันอีกไม่เกินวันละบาทจนกว่าจะปฏิบัติถูกต้อง





โดยผู้ให้บริการภายใต้กฎหมายนี้ ประกอบด้วย 1.กลุ่มผู้ให้บริการโทรคมนาคม , 2 กลุ่มผู้ให้บริการเข้าถึงระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ เช่น กลุ่มผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต หรือไอเอสพี หรือผู้ให้บริการร้านอินเตอร์เน็ตคาเฟ่ , 3 กลุ่มผู้ให้บริการเช่าระบบคอมพิวเตอร์ หรือ ให้เช่าบริการโปรแกรมประยุกต์ต่างๆ และ 4. กลุ่มผู้ให้บริการข้อมูล อาทิ เว็บไซต์ สนุกดอตคอม หรือกระปุกดอตคอม ทั้งนี้จากการที่กฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้อาจทำให้ผู้ให้บริการ ต้องมีค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บข้อมูล








+++ตั้งคณะรับร้องทุกข์กล่าวโทษ


นายปริญญา กล่าวอีกว่ากฎหมายดังกล่าวมีผลกระทบวงกว้าง ต่อไปองค์กรที่ใช้งานคอมพิวเตอร์ก็ถือเป็นการให้บริการคอมพิวเตอร์ภายในองค์กร .ซึ่งก็ต้องเก็บข้อมูลล็อก ไฟล์ ไว้ทั้งหมด หรือ ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ ต่อไปต้องให้ลูกค้า บริการบัตรเติมเงินหรือพรีเพดลงทะเบียน โดยผู้ใช้บริการโทรศัพท์ระบบพรีเพด ก็มีลูกค้าที่ใช้บริการรับ-ส่งข้อมูลผ่านโครงข่ายจีพีอาร์เอส





นอกจากนี้ยังมีกลุ่มองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร หน่วยงานภาครัฐและโรงเรียน ที่ใช้งานคอมพิวเตอร์ ซึ่งก็ถือว่ามีคอมพิวเตอร์เพื่อให้บริการเหมือนกัน ก็จำเป็นต้องเก็บข้อมูลล็อกไฟล์ เอาไว้ ซึ่งกระทรวงไอซีที จะต้องเร่งประชาสัมพันธ์ และสร้างความเข้าใจ ต้องมีแนวปฏิบัติหรือ ไกด์ไลน์ การเก็บข้อมูลให้ โดยต้องอธิบายให้ชัดเจนว่ากฎหมายดังกล่าวให้เก็บข้อมูลที่จำเป็นเท่านั้นไม่ได้เก็บข้อมูลทั้งหมด อีกทั้งต้องออกกฎกระทรวง ระยะเวลาการอนุโลมการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อให้ทุกภาคส่วนเตรียมพร้อม ซึ่งขณะนี้กำลังพิจารณากันอยู่ว่าจะมีช่วงระยะเวลาอนุโลม 6 เดือน หรือ 1 ปี





"นอกจากนี้คณะอนุกรรมการ ยังอยู่ระหว่างร่างหลักเกณฑ์ เกี่ยวกับคุณสมบัติของเจ้าพนักงาน และเจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนเฉพาะความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ โดยเจ้าหน้าที่ไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ แต่จะต้องผ่านการอบรมและรับประกาศนียบัตรรับรอง ด้านความปลอดภัยข้อมูล (Information Security) และ เจาะลึกในการพิสูจน์หลักฐานทางคอมพิวเตอร์ หรือ นิติคอมพิวเตอร์ (Computer Forensics) ซึ่งหมายถึง การแสวงหา, เก็บรักษา, วิเคราะห์, และ การนำเสนอพยานหลักฐานที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ การใช้กระบวนการที่จะระบุ, บ่งชี้, เก็บรักษา, และ กู้คืน ข้อมูลดิจิตอลที่มีความสำคัญต่อการสืบสวน "





อย่างไรก็ตามในการเตรียมความพร้อมด้านเจ้าหน้าที่อาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี ดังนั้นคาดว่าประมาณเดือนกรกฎาคม กระทรวงไอซีที จะประกาศเป็นกฎกระทรวง ตั้งเป็นคณะทำงาน ขึ้นมารับคำร้องทุกข์ หรือคำกล่าวโทษ และสืบสวนสอบสวนความผิดตาม พรบ.ดังกล่าว โดยคณะทำงานชุดนี้ ประกอบด้วย ตัวแทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ , กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ,กระทรวงไอซีที และตนในฐานะผู้เชี่ยวชาญทางด้านระบบรักษาความปลอดภัย





+++เน็คคาเฟ่หวั่นกระทบธุรกิจ





ด้านนายเฉลิมศักดิ์ เลิศลบราตรี นายกสมาคมผู้ประกอบการร้านอินเตอร์เน็ต กล่าวว่าในทางปฏิบัติจะให้ร้านอินเตอร์เน็ตคาเฟ่ จัดเก็บข้อมูลการจราจรทางคอมพิวเตอร์นั้นทำยาก โดยผู้ที่ออกกฎหมายดังกล่าวไม่มีความเข้าใจการดำเนินธุรกิจร้านอินเตอร์เน็ต ซึ่งในทางเทคนิคนั้นไม่ใช่เวลาเจ้าของร้านอินเตอร์เน็ตทุกรายจะมีความรู้ทางด้านเทคนิคคอมพิวเตอร์





ส่วนนายสายัณห์ เอี่ยมศรีปลั่ง ทนายความสมาคมผู้ประกอบการร้านอินเตอร์เน็ต กล่าวว่าโดยภาพรวมของพระราชบัญญัตินี้ถือเป็นกฎหมายที่ดี แต่ในเรื่องของการจัดเก็บข้อมูลการจราจรทางคอมพิวเตอร์ เพิ่มภาระให้กับผู้ประกอบการร้านอินเตอร์เน็ต รวมถึงทุกภาคส่วนที่มีการใช้คอมพิวเตอร์เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตแน่นอน นอกจากนี้กลุ่มผู้ประกอบการร้านอินเตอร์เน็ตคาเฟ่ ยังไม่เห็นด้วยกับกฎหมายดังกล่าวในมาตรา 4 ที่ระบุให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้และให้อำนาจในการออกกฎกระทรวง เพื่อปฎิบัติตามพรบ.ดังกล่าว เนื่องจากกระทรวงไอซีทีมักออกกฎหรือประกาศมา โดยไม่มีความเข้าใจการดำเนินธุรกิจ และการถามความคิดเห็นจากผู้ประกอบการ ซึ่งคาดว่าภายหลังจากประกาศกระทรวงออกมา ผู้ประกอบการร้านอินเตอร์เน็ต จะต้องขึ้นทะเบียน และต้องขอจดทะเบียน ทั้งที่กระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงไอซีที





+++โอปอเรเตอร์พร้อมปฏิบัติตาม





นายสมชัย เลิศสุทธิวงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการสายงานการตลาด บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอริ์วิส จำกัด (มหาชน) (บมจ.) หรือ เอไอเอส กล่าวว่าในฐานะผู้ให้บริการ พร้อมทำตามกฎระเบียบที่ภาครัฐออกมา และดำเนินการตามกฎหมายอยู่แล้ว โดยการเก็บข้อมูลการจราจรการใช้งานผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่นั้นที่ผ่านมาบริษัทได้จัดเก็บเพื่อใช้ในการพิมพ์ใบแจ้งหนี้อยู่แล้ว อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังไม่ทราบเงื่อนไขการจัดเก็บของกฎหมาย หากจัดเก็บนานบริษัทก็มีต้นทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งก็จะมีผลไปต้นทุนการให้บริการ





ส่วนกฎหมายนี้จะส่งผลให้ผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่แบบเติมเงิน หรือพรีเพด ลงทะเบียนใช้งานด้วยหรือไม่นั้นจุดขายของผลิตภัณฑ์พรีเพด คือซื้อขายโดยง่าย ซึ่งทุกวันนี้การซื้อขายจะต้องแสดงบัตรประจำตัวประชาชนอยู่แล้ว แต่ขณะนี้ยังไม่ทราบว่ากฎหมายต้องการให้ผู้ให้บริการเก็บข้อมูลผู้ใช้อะไรบ้าง หากเก็บข้อมูลมากกว่าการแสดงบัตรประจำตัวประชาชน ก็จะสร้างความไม่สะดวกให้ผู้ใช้ และมีผลต่อต้นทุนการให้บริการ





นายธนา เธียรอัจฉริยะ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการพาณิชย์ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (บมจ.) หรือ ดีแทค กล่าวว่าที่ผ่านมามีการเก็บข้อมูลการจราจรทางคอมพิวเตอร์เป็นเวลา 6 เดือนอยู่แล้ว ดังนั้นคิดว่าถ้ามีกฎหมายออกมาไม่น่ามีปัญหา เพราะอยู่ในวิสัยที่บริษัทสามารถดำเนินการได้





+++ไอเอสพีกลัวละเมิดสิทธิ์บุคคล


ส่วนนายบัณฑิต ว่องวัฒนะสิน กรรมการผู้จัดการ บริษัทอินเตอร์เน็ตโซลูชั่น แอนด์ เซอร์วิส โพวายเดอร์ จำกัด หรือไอเอสเอสพี กล่าวว่า สมาคมผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต จะประชุม เพื่อให้ผู้ให้บริการแต่ละรายแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการข้อมูลจราจร และศักยภาพการจัดเก็บข้อมูล และใช้เวทีในนามสมาคมเสนอความคิดเห็นไปยังกระทรวงไอซีทีว่าควรมีการจัดเก็บข้อมูลอะไรบ้าง นอกจากนี้ยังกังวลว่ากฎหมายดังกล่าวจะละเมิดสิทธิ์ของผู้ใช้บริการหรือไม่ เพราะในอดีตเก็บข้อมูลหมายเลขไอพี เวลาเข้าออก แต่ภายหลังกฎหมายนี้บังคับใช้เจ้าหน้าที่สามารถเก็บข้อมูลว่าใครทำอะไรที่ไหน ซึ่งผู้ใช้อาจตีความได้ว่าเป็นการละเมิดสิทธิ์





ในแง่ธุรกิจนั้นลูกค้าอินเตอร์เน็ตแบบบัตรเติมเงิน หรือ พรีเพด ยังน่าหนักใจว่าจะใช้วิธีใดในการเก็บข้อมูลการใช้งานลูกค้า เพราะที่ผ่านมาลูกค้ากลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีนิยมลงทะเบียนใช้งาน ส่วนลูกค้าองค์กร ที่ต่อไปจะต้องเข้าข่ายผู้ให้บริการด้วยนั้นบริษัทก็ต้องพยายามเข้าไปอธิบายลูกค้าให้เกิดความเข้าใจ





+++เชื่อตลาดซีคิวริตี้โตมหาศาล





นาย นักรบ เนียมนามธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็นฟอร์ซ ซีเคียวริตี้ ซิสเต็มส์ เอพี จำกัด ผู้ให้บริการระบบรักษาความปลอดภัยคอมพิวเตอร์ กล่าวว่า กฎหมายดังกล่าวจะเป็นตัวผลักดันให้ตลาดเกิดความตื่นตัว ในการเก็บข้อมูลการจราจรคอมพิวเตอร์มากขึ้น ซึ่งในอดีตผู้ที่มีอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยอยู่แล้วไม่เคยใช้งานฟังค์ชั่นการเก็บข้อมูล ใช้สำหรับรักษาความปลอดภัยอย่างเดียว ซึ่งบริษัทจะมีทีมวิศวกรที่ปรึกษาเข้าไปให้คำปรึกษา ขณะที่กลุ่มที่ไม่มีอะไรเลยจะเข้าไปนำเสนอระบบบริการข้อมูลการจราจรทางคอมพิวเตอร์ (Log Management) ซึ่งเชื่อว่ากฎหมายที่ออกมาจะช่วยให้ตลาดดังกล่าวเติบโตมหาศาล





นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ(คปส.) กล่าวว่า รู้สึกกังวลกับการที่กระทรวงไอซีที.จะออกกฎกระทรวงนี้มา และความจริงแล้วก็น่ากังวลตั้งแต่การผลักดันพระราชบัญญัติการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ออกมาบังคับใช้แล้ว เพราะเป็นกฎหมายที่ออกมารวดเร็วเกินไปโดยที่สังคมยังไม่ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันให้ได้ข้อยุติอย่างทั่วถึง การเร่งรัดให้ออกกฎหมายนี้มาบังคับใช้ แม้ทางการจะอ้างว่าเพื่อป้องกันปัญหาอาชญากรรมที่เกิดขึ้นบนโลกไซเบอร์ แต่สังคมส่วนใหญ่เชื่อว่ามาจากแรงจูงใจด้านการเมืองโดยอ้างความมั่นคงเป็นหลักมากกว่า





อนึ่งพรบ.ดังกล่าวเป็นกฎหมายฉบับแรกที่ออกมาภายใต้รัฐบาลรัฐประหาร โดยภายหลังจากประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา กระทรวงไอซีที ได้ประกาศยกเลิกประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ฉบับที่ 5 ว่าด้วยเรื่องให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ดำเนินการควบคุม ยับยั้ง สกัดกั้น และทำลายการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในระบบสารสนเทศ ผ่านระบบเครือข่ายการสื่อสารทั้งปวง ที่มีบทความ ข้อความ คำพูด หรืออื่นใด อันอาจจะส่งผลกระทบต่อการปฏิรูปการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข


Posted by : garnet , Date : 2007-07-04 , Time : 08:19:04 , From IP : 172.29.1.230

ความคิดเห็นที่ : 1


   เอกสารเต็ม

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2550/A/027/4.PDF


Posted by : garnet , Date : 2007-07-06 , Time : 12:28:41 , From IP : 172.29.1.230

ความเห็นจาก Social Network : Facebook


สงวนสิทธิ์การแสดงความคิดเห็นสำหรับ สมาชิกเท่านั้น
>>>>> Page loaded: 0.005 seconds. <<<<<