ความคิดเห็นทั้งหมด : 0

"ใส่หัวใจมนุษย์" ให้ นศ.แพทย์ โครงการดีๆ จากมอ. (www.manager.co.th)


   



"ใส่หัวใจมนุษย์" ให้ นศ.แพทย์ โครงการดีๆ จากมอ.


คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ “ใส่หัวใจมนุษย์” ให้นักศึกษาแพทย์รุ่นใหม่ ด้วยกิจกรรมให้นักศึกษาแพทย์ (นศ.พ.) ได้สัมผัสและเรียนรู้จิตใจของผู้ป่วย หวังให้แพทย์รุ่นใหม่ดูแลผู้ป่วยทั้งกายและจิตใจ

‘แพทย์’ เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่ได้รับความสนอกสนใจในการเข้าเรียนเป็นอย่างมาก และผู้ที่สามารถสอบเข้าเรียนได้ต้องร่ำเรียนอีกถึง 6 ปีเต็ม โดยระหว่างเรียนนั้นแพทย์จะต้องเรียนรู้จากตำราด้วยการท่องจำทั้งชื่ออวัยวะในร่างกายทั้งหมด ศัพท์เฉพาะ ฯลฯ นอกจากนี้อาชีพแพทย์ถือเป็นอาชีพที่ถูกขีดเส้นอยู่ระหว่างความเป็นกับความตาย การรักษาจึงมิอาจจะเกิดความผิดพลาดขึ้นได้

จากภาวะความกดดันที่เกิดขึ้นตั้งแต่เรียนจนถึงการทำงานนั่นเอง ทำให้การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้างน้อยลง อีกทั้งการผลิตแพทย์ในปัจจุบันมุ่งไปที่การรักษาโรคมากจนละเลยเรื่องความทุกข์ทางจิตใจของผู้ป่วย และกลายเป็นปัญหาในการสื่อสารระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย.

ปัญหาดังกล่าว ผศ.นพ.อานนท์ วิทยานนท์ รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) กล่าวว่าคุณสมบัติในการแพทย์ที่ดี ไม่เพียงมีความรู้ในการรักษาโรคให้หายเท่านั้น แต่ต้องเป็นผู้ที่มีจิตวิทยาในการสื่อสารที่ดี มีความอดทน สามารถรับฟังความทุกข์ของผู้ป่วยได้ และมีการจัดการกับปัญหาได้ดี

“นักศึกษาแพทย์ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคนที่เรียนเก่ง ไอคิวสูง ก็ใช่ว่าจะมีคุณสมบัติในการเป็นแพทย์ที่ดีทุกประการ นักศึกษาแพทย์แต่ละคนจะมีคุณสมบัติข้อดี ข้อด้อยแตกต่างกันไป ซึ่งแม้จะไม่ใช่ปัญหารุนแรงสำหรับการอยู่ในสังคม แต่สิ่งเหล่านี้ถือเป็นปัจจัยของการก้าวสู่การเป็นแพทย์ที่ดีในอนาคต”

เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาและเตรียมความพร้อมแพทย์รุ่นใหม่ให้มีการบริการทางการแพทย์ด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์มากยิ่งขึ้น คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จึงได้จัดให้มี
กิจกรรม “โครงการเพื่อนวันอาทิตย์” ให้กับนักศึกษาชั้นปีที่ 1 โดยมุ่งเน้นเติมเต็มทักษะด้านการสื่อสาร การรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น รวมถึงสะท้อนปัญหาซึ่งเป็นจุดอ่อนของนักศึกษาแพทย์แต่ละคน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและแก้ไข

“วีรเชียร ถวัลย์วงศรี” นักศึกษาแพทย์ มอ. ในฐานะประธานโครงการเพื่อนวันอาทิตย์ รุ่นที่ 2 กล่าวว่า เขาได้รับคัดเลือกเข้าร่วมกิจกรรมนี้ด้วยข้อบกพร่องที่ว่าตัวเขาไม่สามารถเรียบเรียงคำพูดได้อย่างเหมาะสม จนทำให้คนอื่นไม่เข้าใจในสิ่งที่ตัวเองพูด

“เมื่อผมได้มาทำกิจกรรมของกลุ่มเพื่อนวันอาทิตย์ ก็ได้รับมอบหมายให้ช่วยกันคิดโครงการช่วยเหลือผู้ป่วยในอาคารเย็นศิระ บริเวณวัดโคกนาว ใกล้ๆ มหาวิทยาลัย ซึ่งได้รับทุนก่อสร้างจากมูลนิธิโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เป็นอาคารของผู้ป่วยไร้ญาติและผู้ป่วยโรคมะเร็งที่รอการรักษา

โดยมีอาสาสมัครเป็นผู้ดูแล หลังจากไปดูผู้ป่วย และกลับมาช่วยกันคิดจนได้ไอเดียมากมายที่คิดว่า ถ้าทำแล้วผู้ป่วยจะรู้สึกดี เช่น ทาสีตึกใหม่ ทำอาหารให้คนไข้ ทำความสะอาด ทำกระดานหมากรุก จัดหาหนังสือ นิตยสาร และของเล่นสำหรับเด็ก”

ทว่าสิ่งที่พวกเขาคิดที่จะทำเพื่อผู้ป่วยนั้น หาใช่ความต้องการที่มากจากผู้ป่วยแต่อย่างใด เพราะ พวกเขาไม่ได้ถามผู้ป่วยแม้แต่น้อยว่าผู้ป่วยต้องการอะไร จนกระทั่งอาจารย์ของพวกเขาแนะนำพวกเขาว่า สิ่งที่จะทำให้ผู้ป่วยได้รับความสบายทั้งร่างกายและจิตใจควรจะมาจากความต้องการของผู้ป่วย

“พออาจารย์แนะนำมาเราก็ลองกลับไปพูดคุยกับผู้ป่วย สอบถามเขาว่าเขาต้องการอะไรเพิ่มเติมบ้างไหม เพื่อให้พวกเขาได้อยู่รักษาตัวอย่างสบาย เราพบว่าสิ่งที่คิดว่าดีสำหรับผู้ป่วยอาจไม่ใช่สิ่งที่ผู้ป่วยต้องการเสมอไป อย่างผู้ป่วยบางคนเขาต้องการคนพูดคุยด้วย ต้องการให้มีคนไปเยี่ยมไปรับฟังความกังวลหรือความทุกข์ใจของเขามากกว่าการรักษาโรค

ซึ่งเราเป็นเพียงนักศึกษาที่ยังไม่สามารถจะรักษาโรคให้เขาได้ แต่เรารับฟังและคลายความทุกข์ใจให้เขาได้ ผู้ป่วยมักเล่าเรื่องความทุกข์ใจให้ฟังมากกว่า เช่น คิดถึงลูก เจ็บตรงนี้ หรือว่าวันนี้ไปหาหมอแล้วถูกหมอดุมาไม่สบายใจเลย เราสังเกตุเห็นว่าแม้จะเป็นเรื่องที่ไม่สบายใจแต่ผู้ป่วยกลับพูดด้วยน้ำเสียงสดใส และใบหน้าที่เต็มไปด้วยรอยยิ้ม
เพราะสิ่งที่ผู้ป่วยต้องการมากที่สุดและเป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยผ่อนคลายความทุกข์ใจให้คนไข้ได้อีกทางหนึ่ง นั่นคือการรับฟังอย่างเข้าใจ

เพื่อนนักศึกษาแพทย์ที่เข้าร่วมโครงการอย่าง “อนุวัตร พลาสนธิ์” กล่าวว่าหลังจากเข้าร่วมโครงการฯ ได้พูดคุยรับฟังเรื่องราวของผู้ป่วย ซึ่งส่วนมากจะเป็นเรื่องทุกข์ใจทำให้เขาเข้าใจความหมายของชีวิตมากขึ้นว่า ชีวิตของผู้คนในสังคมมีแง่มุมหลากหลาย

“ปัญหาที่ผู้ป่วยพบเจอไม่ใช่แค่ความเจ็บป่วย หากแต่ยังมีเรื่องกลุ้มใจและต้องคิดอีกมาก บางครั้งเราอาจเกิดมาในครอบครัวที่พร้อม จึงทำให้ไม่เข้าใจถึงปัญหา ทำให้ละเลยความรู้สึกของผู้ป่วยไปและนี่คือสิ่งที่ทำให้ผมเข้าใจเป้าหมายในการเป็นแพทย์มากขึ้น”

“ผมได้เรียนรู้ว่าหน้าที่ของแพทย์มิใช่เพียงรักษาโรคให้หาย แต่ยังต้องบำบัดความทุกข์ในใจให้ผู้ป่วยได้ด้วย เราควรมองไปเบื้องหลังด้วยว่าสภาพปัญหาที่นอกเหนือจากความเจ็บป่วยเป็นเช่นไร ที่สำคัญต้องสร้างสุขกับสิ่งที่เขามีอยู่ด้วย นั่นคือทำอย่างไรที่จะให้ผู้ป่วยทำใจได้ ดำรงชีวิตได้และมีความสุขโดยไม่ใส่ใจกับโรคร้ายที่เป็นอยู่”

ผศ.นพ.อานนท์กล่าวเพิ่มเติมว่าโครงการดังกล่าวได้ช่วยฝึกนักศึกษาแพทย์ให้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้ป่วย และพูดคุยซักถามกับคนไข้ด้วยหัวใจ ในฐานะเพื่อนมนุษย์คนหนึ่ง และใช้เรื่องราวชีวิตประสบการณ์ของผู้ป่วยมาเป็นครูช่วยสอนให้ นศ.พ.ค้นพบตัวเองว่าบางครั้งสิ่งที่คิดอาจไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับคนไข้เสมอไป

ที่สำคัญการช่วยเหลือห่วงใยผู้ป่วยในฐานะเพื่อนมนุษย์คนหนึ่งนั่นจะช่วยให้พวกเขาได้ซึมซับความรู้สึกภาคภูมิใจในการทำความดี ทำให้เข้าใจถึงบทบาทหน้าที่และเป้าหมายในการเป็นแพทย์ที่ดีในอนาคตมากขึ้น.....

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 27 มิถุนายน 2550 10:44 น.


Posted by : JoeJo , Date : 2007-06-28 , Time : 10:22:32 , From IP : 172.29.1.153

ความเห็นจาก Social Network : Facebook


สงวนสิทธิ์การแสดงความคิดเห็นสำหรับ สมาชิกเท่านั้น
>>>>> Page loaded: 0.003 seconds. <<<<<