ในคดีอาญาหรือคดีแพ่งก็ตาม หากคู่ความประสงค์จะนำข้อมูลที่อยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือข้อมูลติดต่อสื่อสารระหว่างกันมานำสืบในคดีย่อมสามารถกระทำได้ครับ โดยฝ่ายทึ่อ้างมานั้นจะต้องนำสืบให้ศาลเห็นให้ได้ว่าข้อมูลนั้นมีน้ำหนักน่าเชื่อถือให้รับฟัง กล่าวคือ ต้องยืนยันได้ว่าข้อมูลนั้นเป็นของบุคคลใดหรือบุคคลใดเป็นผู้ทำ ต้องยืนยันได้ว่าเจ้าของข้อมูลเป็นผู้ส่งข้อมูลให้แก่ผู้รับข้อมูลโดยเจตนา และต้องยืนยันได้ว่าข้อมูลที่นำมาแสดงนั้นมิได้มีการเปลี่ยนแปลงไป หากแสดงได้เช่นนี้แล้วศาลย่อมรับฟังข้อมูลนั้นเป็นพยานหลักฐานอย่างหนึ่งของฝ่ายที่อ้างได้
อย่างไรก็ดีปัจจุบันนี้ได้มีการเตรียมการเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาซึ่งร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ...... ซึ่งจะมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันประกาศเป็นต้นไป พ.ร.บ.นี้คงจะตอบปัญหาของเจ้าของกระทู้ได้บ้าง ขอให้อดใจรอสักหน่อยจะได้ศึกษากัน แต่จะขอนำบางส่วนที่สำคัญมาแจ้งให้ทราบเพื่อเป็นกระสายไปพลางก่อน
มาตรา ๓ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับแก่ธุรกรรมในทางแพ่งและพาณิชย์ที่ดำเนินการโดยใช้ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เว้นแต่...
มาตรา ๗ ห้ามมิให้ปฏิเสธความมีผลผูกพันและการบังคับใช้ทางกฎหมายของข้อความใดเพียงเพราะเหตุที่ข้อความนั้นอยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์
มาตรา ๘ ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งมาตรา ๙ ในกรณีที่กฎหมายกำหนดให้การใดต้องทำเป็นหนังสือ มีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือมีเอกสารมาแสดง ถ้าได้มีการจัดทำข้อความนี้ขึ้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถเข้าถึงและนำกลับมาใช้ได้โดยความหมายไม่เปลี่ยนแปลง ให้ถือว่าข้อความนั้นได้ทำเป็นหนังสือ มีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือมีเอกสารมาแสดงแล้ว
มาตรา ๙ ในกรณีที่บุคคลพึงลงลายมือชื่อในหนังสือ ให้ถือว่าข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้นมีการลงลายมือชื่อแล้ว ถ้า
(๑) ใช้วิธีการที่สามารถระบุตัวเจ้าของลายมือชื่อ และสามารถแสดงได้ว่าเจ้าของลายมือชื่อรับรองข้อความในข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้นว่าเป็นของตน และ
(๒) วิธีการดังกล่าวเป็นวิธีการที่เชื่อถือได้โดยเหมาะสมกับวัตถุประสงค์ของการสร้างหรือส่งข้อมูล โดยคำนึงถึงพฤติการณ์แวดล้อมหรือข้อตกลงของคู่กรณี
มาตรา ๑๐ ในกรณีที่กฎหมายกำหนดให้นำเสนอหรือเก็บรักษาข้อความใดในสภาพที่เป็นมาแต่เดิมอย่างเอกสารต้นฉบับ ถ้าได้นำเสนอหรือเก็บรักษาในรูปข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าได้มีการนำเสนอหรือเก็บรักษาเป็นเอกสารต้นฉบับตามกฎหมายแล้ว
(๑) ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ได้ใช้วิธีการที่เชื่อถือได้ในการรักษาความถูกต้องของข้อความตั้งแต่การสร้างข้อความเสร็จสมบูรณ์ และ
(๒) สามารถแสดงข้อความนั้นในภายหลังได้
ความถูกต้องของข้อความตาม (๑) ให้พิจารณาถึงความครบถ้วนและไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดของข้อความ เว้นแต่การรับรองหรือบันทึกเพิ่มเติม หรือเปลี่ยนแปลงใดๆที่อาจเกิดขึ้นได้ตามปกติในการติดต่อสื่อสาร การเก็บรักษา หรือการแสดงข้อความซึ่งไม่มีผลต่อความถูกต้องของข้อความนั้น
(วรรคสาม.....)
มาตรา ๑๑ ห้ามมิให้ปฏิเสธการรับฟังข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เป็นพยานหลักฐานในกระบวนการพิจารณาตามกฎหมายเพียงเพราะเหตุว่าเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์
ในการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานว่าข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์จะเชื่อถือได้หรือไม่เพียงใดนั้นให้พิเคราะห์ถึงความน่าเชื่อถือของลักษณะหรือวิธีการที่ใช้สร้าง เก็บรักษา หรือสื่อสารข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ลักษณะหรือวิธีการรักษา ความครบถ้วน และไม่มีการเปลี่ยนแปลงของข้อความ ลักษณะหรือวิธีการที่ใช้ในการระบุหรือแสดงตัวผู้ส่งข้อมูล รวมทั้งพฤติการณ์ที่เกี่ยวข้องทั้งปวง
..........นอกจากนี้พ.ร.บ.นี้ยังบัญญัติถึงเรื่องคำเสนอ คำสนอง การส่งข้อมูลไปถึง การรับข้อมูล เวลาที่การรับข้อมูลมีผล เป็นเรื่องที่ได้พัฒนาหลักในเรื่องสัญญาให้กว้างขวางออกไป และยังมีลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ ผู้ออกใบรับรองลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ คณะกรรมการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ บทกำหนดโทษของผู้ที่ประกอบธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์โดยไม่แจ้ง ขึ้นทะเบียน หรือไม่ได้รับใบอนุญาต และอื่นๆ รวม ๔๖ มาตรา
ผมไม่สามารถนำพ.ร.บ.นี้ทั้งหมดมาลงให้ดูได้เพราะไม่มีเครื่องสแกน พิมพ์ไม่ไหวแน่ ก็ขอให้ไปสืบเสาะหาอ่านและศึกษากันนะครับ พ.ร.บ.นี้กำหนดให้ใช้กับธุรกรรมในทางแพ่งและพาณิชย์เท่านั้น แต่หากจะนำไปใช้ในคดีอาญาด้วยก็เห็นว่าน่าจะนำหลักการเดียวกันนี้ไปใช้ได้ ไม่น่าจะขัดข้องแต่อย่างใด....
ศาลทรัพย์สินทางปัญญากับศาลล้มละลายกำลังใช้อยู่ ศาลอื่นก็น่าจะกำลังใช้
สรุป ขึ้นกับ องค์ประกอบอื่นๆ และพยานแวดล้อมมากกว่า
Posted by : ผู้พิพากษาเต้ย , Date : 2003-10-08 , Time : 00:19:28 , From IP : 172.29.3.98
|