ความคิดเห็นทั้งหมด : 0

ใช้มือถือในรพ.ปลอดภัย พบ"ซีดีพกพา"เสี่ยงกว่า


    นักวิจัยสหรัฐฯพบ การใช้งานโทรศัพท์มือถือในโรงพยาบาลไม่มีผลใดๆต่อเครื่องมือทางการแพทย์นานาชนิด สิ่งที่มีความเสี่ยงสูงต่ออุปกรณ์เยียวยาผู้ป่วยกลับกลายเป็นเครื่องเล่นแผ่นซีดีพกพา และระบบสัญญาณกันขโมยแม่เหล็กไฟฟ้าที่ใช้กันมากในร้านค้าปลีก

ผลการศึกษาเหล่านี้มาจากการทดสอบของนักวิจัยในเครือบริษัทเมโยคลินิก (Mayo Clinic) บริษัทผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์เมืองโรเชสเตอร์ มินนิสโซตา สหรัฐอเมริกา ทีมนักวิจัยของเมโยฯไม่พบความผิดปกติใดๆบนเครื่องมือแพทย์ หลังจากทดลองรับสายหรือการโทรออกด้วยโทรศัพท์มือถือภายในบริเวณใกล้เคียงที่ตั้งเครื่องมือ สวนทางความเข้าใจของผู้บริโภคและหน่วยงานทั่วไปที่มีมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา

ดร.เดวิด ฮาเยส (Dr. David Hayes) ตัวแทนทีมนักวิจัยให้ความเห็นว่า การศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าการประกาศไม่อนุญาตให้ใช้งานโทรศัพท์มือถือในโรงพยาบาลส่วนใหญ่นั้นเป็นความเข้าใจที่ผิด โดยระหว่างการศึกษา ทีมสำรวจได้ทดลองใช้โทรศัพท์มือถือหลากเทคโนโลยี หลายค่ายผู้ให้บริการ มีการผลัดเปลี่ยนเครื่องมือแพทย์สำหรับทดสอบกับโทรศัพท์มือถือถึง 192 เครื่องมือ

จากการทดลองกว่า 300 ครั้งตลอด 5 เดือนที่ผ่านมา รายงานระบุว่าไม่มีความผิดปกติใดๆเกิดขึ้นกับอุปกรณ์การแพทย์ที่มีการใช้โทรศัพท์มือถือในบริเวณใกล้เคียง

อย่างไรก็ตาม อุปกรณ์ที่ทีมนักวิจัยสามารถตรวจจับความผิดปกติได้กลับเป็นเครื่องเล่นแผ่นซีดีพกพา การสำรวจพบว่าเมื่อผู้ป่วยใช้งานเครื่องเล่นแผ่นซีดีบริเวณใกล้กับเครื่องมือตรวจวัดสัญญาณคลื่นหัวใจ การอ่านค่าอีเล็กโตรคาร์ดิโอกราฟิกหรือ electrocardiographic (ECG) ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับการวิเคราะห์การบีบตัวของหัวใจนั้นผิดปกติ



ระบบสัญญาณกันขโมยที่มักนิยมติดไว้บริเวณทางเข้าออกร้านค้าปลีก การสำรวจล่าสุดพบว่าสนามแม่เหล็กไฟฟ้าบริเวณระบบกันขโมยนี้มีผลทำให้การทำงานของอุปกรณ์คลื่นหัวใจผิดปกติ ขอบคุณภาพจาก tycoasia.com


ความเสี่ยงที่พบในผลิตภัณฑ์เครื่องเล่นซีดีนั้นปรากฏบนหนึ่งในรายงานหลายชิ้นที่ทางเมโยคลินิกนำออกเผยแพร่สู่สาธารณชนประจำเดือนมีนาคม ที่น่าสนใจคือ รายงานสองชิ้นระบุตรงกันว่า ระบบสัญญาณกันขโมยที่มักติดตั้งอยู่บริเวณทางเข้าออกของร้านค้าปลีกและห้างสรรพสินค้านั้น มีผลรบกวนการทำงานของเครื่องมือหรืออุปกรณ์การแพทย์ที่ผู้ป่วยโรคหัวใจต้องพกพาติดตัวตลอดเวลาเช่นเครื่องกระตุ้นหัวใจชนิดไฟฟ้า หรือเครื่องควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจ ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยมีอันตรายถึงชีวิตได้

ดร.เจ. ร็อด กิมเบล (Dr. J. Rod Gimbel) จากบริษัทที่ปรึกษา East Tennessee Heart Consultants และดร.เจมส์ ค็อกซ์ (Dr. James Cox) จากศูนย์วิจัยทางการแพทย์ มหาวิทยาลัยแห่งรัฐเทนเนสซี่ อธิบายถึงความผิดปกติที่เกิดจากระบบสัญญาณกันขโมยไว้คนละกรณี กรณีแรกคือผู้ป่วยโรคหัวใจรายหนึ่งที่พกพาเครื่องควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจหรือ pacemaker ไว้กับตัว ถึงกับล้มลงหลังจากหยุดยืนบริเวณประตูร้านค้าปลีกที่ติดตั้งสัญญาณนี้ครู่หนึ่ง

อีกกรณีเกิดกับผู้ป่วยที่พกเครื่องกระตุ้นหัวใจชนิดไฟฟ้า ผู้ป่วยมีอาการชักหลังจากเข้าใกล้บริเวณรัศมีการทำงานของระบบสัญญาณกันขโมย

ระบบสัญญาณกันขโมยที่มีผลต่อเครื่องมือการแพทย์เหล่านี้คือระบบสัญญาณกันขโมยชนิดสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (Electronic Article Surveillance) หรืออีเอเอส โดยกิมเบลและค็อกซ์ให้ข้อมูลว่า ระบบอีเอเอสนั้นแพร่หลายไปทั่วโลก คาดว่าถูกติดตั้งไปแล้วกว่า 1 ล้านระบบ จุดนี้ทั้งสองมองว่าพนักงานภายในร้านควรจะได้ทราบถึงผลกระทบด้านลบของระบบสัญญาณกันขโมยเหล่านี้

ดร.กิมเบลให้ข้อมูลว่าทางที่ดีพนักงานควรออกห่างจากอุปกรณ์ระบบสัญญาณกันขโมยเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ระบุว่าควรประชาสัมพันธ์ข้อมูลนี้แก่ผู้บริโภคให้ระมัดระวังไว้ก่อนจะเกิดปรากฏการณ์วัวหายล้อมคอก

"หลายครั้งแล้วที่ประเด็นความปลอดภัยถูกหยิบขึ้นมากล่าวถึงหลังจากมีเหตุการณ์ร้ายแรงก่อนขึ้นก่อน นี่คือโอกาสที่เราจะให้ความรู้แก่ประชาชนเพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา"



Posted by : garnet , Date : 2007-03-12 , Time : 15:39:28 , From IP : 172.29.11.250

ความเห็นจาก Social Network : Facebook


สงวนสิทธิ์การแสดงความคิดเห็นสำหรับ สมาชิกเท่านั้น
>>>>> Page loaded: 0.003 seconds. <<<<<