ความคิดเห็นทั้งหมด : 0

กระชากหน้ากาก"บริษัทยา" ปิศาจข้ามชาติสูบชีวิตคนจน


   ปิศาจข้ามชาติสูบชีวิตคนจน



ปี 2550 นับเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ต้องบันทึกไว้เพราะเป็นครั้งแรกที่กระทรวงสาธารณสุขไทยใช้ "มาตรการบังคับใช้สิทธิโดยรัฐ" ได้เป็นผลสำเร็จ เพื่อเป็นช่องทางผลิต "ยาติดสิทธิบัตร" ราคาแพงถึง 3 ชนิด ทำให้ได้ยาที่ราคาถูกลงหลายเท่าตัว ซึ่งนั่นหมายถึงผู้ป่วยโดยเฉพาะ "โรคเอดส์-โรคหัวใจ" จะได้เข้าถึงยามากขึ้นเช่นเดียวกัน แม้จะมีแรงเสียดทานพอสมควรจาก "บริษัทยาข้ามชาติ"!!!
การประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิหรือ Compulsory Licensing เพื่อนำเข้าและผลิตยาที่ติดสิทธิบัตรของรัฐบาลไทย ได้รับเสียงชื่นชมทั้งในระดับนานาชาติและในประเทศ ขณะเดียวกันก็ท้าทายบริษัทยาข้ามชาติแบบ "ขัดขา" กันจนล้มคว่ำด้วยเช่นกัน!!!
หากย้อนกลับไปเมื่อ 7 ปีที่แล้ว ปลายปี 2542 ที่ "เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี" ได้เคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ เพื่อผลิตยาต้านไวรัสที่ติดสิทธิบัตรและมีการผูกขาดราคาในตลาด ทำให้ยาแพงจนผู้มีเชื้อเอชไอวีไม่สามารถเข้าถึงได้ แต่รัฐบาลขณะนั้นกลับไม่สนใจและไม่กล้าใช้ เนื่องจากถูกกดดันจากอเมริกาที่ถูกล๊อบบี้จากล๊อบบี้ยีสที่ว่าจ้างโดยบริษัทยา โดยขู่ว่าจะยกเลิกการลดอัตราภาษีการนำเข้าสินค้าจากไทยภายใต้ระบบการให้สิทธิพิเศษทางการค้า(จีเอสพี) แม้มาตรการดังกล่าวจะเป็นที่ยอมรับร่วมกันในองค์การการค้าโลก(WTO) ว่า สามารถทำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย แต่ที่สุดรัฐบาลไทยก็ไม่กล้าพอที่จะใช้มาตรการดังกล่าว จนผู้ป่วยไม่ได้รับยาและเสียชีวิตไปจำนวนมาก
ล่าสุดรัฐบาลชุดปัจจุบันได้ประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ ตามสิทธิบัตรด้านยาและเวช ภัณฑ์ รวม 3 ฉบับ เนื้อหาหลักๆ คือ เพื่อนำเข้า "ยาต้านไวรัสเอฟฟาไวเร็นซ์" จากต่างประเทศที่มีรา คาถูกกว่าที่ขายในประเทศ เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2549 และตามมาด้วยการประกาศใช้สิทธิเพื่อนำ เข้ายาอีก 2 ชนิด คือ "ยาต้านไวรัสเอชไอวี" ภายใต้ชื่อทางการค้าว่า "คาเล๊ตตร้า" ที่มีราคาสูงถึง 12,000 บาทต่อเดือน แต่สามารถนำเข้าจากอินเดียได้ในราคาเพียง 4,000 บาทต่อเดือน ส่วนยาอีกตัว คือ "ยารักษาโรคหัวใจ" ชื่อการค้าว่า "พลาวิกซ์" ที่ขายในประเทศไทยราคาต่อเม็ดกว่า 75 บาท แต่เราสามารถนำเข้าจากอินเดียเพียง 6-12 บาทต่อเม็ดเท่านั้น ซึ่งราคาดังกล่าวจะทำให้มีผู้ป่วยจำนวนมากเข้าถึงยาโดยเฉพาะใน "ระบบหลักประกันสุขภาพ".....ประกาศดังกล่าวนอกจากจะเป็นหมุดหมายที่สำคัญแล้ว ยังถือเป็นก้าวแรกของการประกาศ "อิสรภาพทางยา" ของไทย!!! อย่างไรก็ดี มีคำถามตามมาว่า "ทำไมถึงต้องเรียกร้องให้มีการใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ"???
คำตอบก็คือเพราะ "ยา" ถือเป็นสินค้าอย่างหนึ่งที่ได้รับการคุ้มครองภายใต้ระบบทรัพย์สินทางปัญญา โดยการอนุญาตให้มีการถือสิทธิการเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์นั้นๆได้ในระยะเวลาที่กำหนด หากแต่ยารักษาโรคมีความต่างไปจากสินค้าอื่น เพราะเป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของมนุษย์ แต่ที่ผ่านมา "บริษัทยาข้ามชาติ" ต่างใช้ช่องว่างของ "กฎหมายสิทธิบัตร" ทำการผูกขาดราคาและตลาดยา ทำให้ไม่เกิดการแข่งขัน จนส่งผลให้มีเพียงบริษัทเจ้าของสิทธิบัตรมีสิทธิเพียงเจ้าเดียว.....ปัญหาจะไม่เกิดถ้าบริษัทยาข้ามชาติเหล่านั้นจะไม่ "โลภ" มาก ตั้งราคาจำหน่ายแพงลิ่ว "โก่งราคา" จนทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถซื้อยา ระบบบริการสาธารณสุขไม่มียาเพียงพอต่อคนไข้ ทำให้มีคนต้องเสียชีวิตไปเป็นจำนวนมาก
ปัจจุบันธุรกิจและอุตสาหกรรมที่ถือว่าทำกำไรติดอันดับท็อปของโลก คือ "อุตสาหกรรมการผลิตยา" ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเจ้าของอุตสาหกรรมเหล่านั้นต่างอยู่ในประเทศร่ำรวยแทบทั้งสิ้น แต่บริษัทยากลับอ้างเสมอว่าสาเหตุที่ "ยาแพง" เนื่องจากบริษัทต้องลงทุนในการวิจัยและค้นคว้าตัวยาใหม่ๆ.....ข้ออ้างดังกล่าวตรงกันข้ามกับงานวิจัยหลายชิ้นที่เปิดโปงข้อมูลว่า มีเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่มีการวิจัยยาใหม่โดยบริษัทยา แต่การวิจัยยาใหม่กลับเป็นผลงานของนักวิชาการ นักวิจัยตามสถาบันของรัฐ ซึ่งใช้เงินรัฐและภาษีประชาชนในการทำวิจัย ทำให้การอ้างถึงต้นทุนการวิจัยและการผลิตยาของบริษัทยา เป็นเพียงการกล่าวอ้างที่มีข้อเท็จจริงบางส่วนเท่านั้น



ที่ผ่านมาไม่เคยมีบริษัทยาบริษัทใด นำตัวเลขต้นทุนการวิจัยและผลิตยาออกมาพิสูจน์ให้เห็น แต่ในงานวิจัยหลายชิ้นกลับพบว่าบริษัทยาทุ่มเงินเป็นจำนวนมากกว่า 60% ของต้นทุนการผลิต ในการโฆษณาและเป็น "ค่าคอมมิชชั่น" ให้กับโรงพยาบาลและแพทย์เพื่อทำตลาดยาตัวใหม่ การกล่าวอ้างเรื่องต้นทุนการวิจัยยาใหม่ถือเป็นการ "โกหก" คำโตที่บริษัทยามักนำมากล่าวอ้างเสมอ เมื่อถูกตั้งคำถามต่อราคายาที่แพงเกินจริง!!!
ความจริงอันโหดร้ายของการที่ผู้คนในประเทศยากจนเข้าไม่ถึงการรักษา ไม่สามารถมียาที่มีประสิทธิภาพที่จะใช้ในการรักษาอันเนื่องมาจาก "การค้าเสรี" และ "การผูกขาดผ่านระบบสิทธิบัตร" ทำให้มีการรณรงค์เพื่อเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยในการประชุม "ทริปส์ เคาน์ซิล"(TRIPs Counsil) ภายใต้องค์การการค้าโลก ประเทศกำลังพัฒนาร่วมกันเสนอให้ทบทวน "ข้อตกลงทริปส์" โดยเฉพาะในส่วนที่กระทบกับสุขภาพของประชาชน และได้มีคำประกาศ "ปฏิญญาโดฮา" ว่าด้วยความตกลงทริปส์และการสาธารณสุข ซึ่งมีสาระสำคัญว่า.....
"การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญามิได้กีดขวางประเทศสมาชิกในการใช้มาตรการต่างๆ เพื่อปกป้องสาธารณสุขของประเทศ ความตกลงทริปส์อนุญาตให้ประเทศสมาชิกใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ(Compulsory licensing) ภายใต้เหตุผลที่ประเทศสมาชิกเป็นผู้กำหนด ปฏิญญาโดฮา ยังได้เล็ง เห็นความจำเป็นในการช่วยเหลือประเทศที่ขาดศักยภาพการผลิตยา และกำหนดให้คณะมนตรีทริปส์ กำหนดแนวทางแก้ปัญหานี้ ซึ่งคณะมนตรีทริปส์ได้เสนอให้มีการใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิเพื่อส่ง ออกผลิตภัณฑ์ยาไปยังประเทศที่ไม่มีศักยภาพการผลิต"
แม้ประเทศกำลังพัฒนาจะไม่ค่อยได้ใช้มาตรการดังกล่าว แต่กลับปรากฏว่าประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศได้ใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิอย่างกว้างขวาง โดยใช้เพื่อป้องกันการผูกขาดตลาด ส่งเสริมการแข่งขันและเพื่อปกป้องสาธารณสุขของประเทศ ดังเช่นการใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิโดยรัฐบาลสหรัฐอเมริกากับสิทธิบัตรยา "Cipro" เพื่อป้องกันโรคแอนแทรกซ์ หลังเหตุการณ์ 11 กันยา ยน 2544 หรือการบังคับใช้สิทธิกับลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ของไมโครซอฟต์เพื่อแก้ปัญหาผูกขาด
ประเทศแคนาดาเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิมากที่สุด โดยเฉพาะในช่วงปี 2506 ถึง 2530 มีการบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตรยากว่า 100 ฉบับส่งผลให้แคนาดาเป็นประเทศที่มีราคายาถูกที่สุดในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม.....ประเทศอังกฤษก็ใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิหลายครั้ง ดังเช่นการใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิโดยสถาบันสาธารณสุขแห่งชาติ (NHS) เพื่อผลิตยา "Librium" และ "Valium" แจกจ่ายให้สถานพยาบาลของรัฐ โดยไม่ต้องขออนุญาตจากบริษัทยาเจ้าของสิทธิบัตรก่อน
การประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิของ "รัฐบาลไทย" เพื่อนำเข้า "ยาต้านไวรัสเอชไอวี" และ "ยารักษาโรคหัวใจ" จากอินเดีย ที่ถือเป็นยาจำเป็นต่อชีวิตคนไทยกว่าล้านคน จึงเป็นก้าวสำคัญต่อการ "ปลดแอก" ตัวเองจากระบบทรัพย์สินทางปัญญาที่ไม่เป็นธรรม และการใช้สิทธิดังกล่าวถือว่ามีความชอบธรรมเป็นอย่างยิ่ง
การตัดสินใจของกระทรวงสาธารณสุขไทยในการใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ จึงมิใช่เพียงการแสดงจุดยืนที่กล้าหาญในการปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนเท่านั้น แต่ยังเป็นการสะกิดเตือนไปยังบริษัทยาข้ามชาติว่า.....
ไทยจะไม่เปิดโอกาสให้บริษัทเหล่านั้นเข้ามาผูกขาดตลาดแบบไม่เป็นธรรมอีกต่อไป.....
รวมทั้งเป็นการประกาศไปทั่วโลกให้เห็นถึงความเป็นอิสระ ไม่ยึดติดกับตัวเลขเศรษฐกิจจนละเลยชีวิตของประชาชน!!!


แนวหน้า 1 ก.พ.50
http://www.naewna.com/news.asp?ID=46312#news

---------------------------------------------------------------------

ผมกำลังคิดว่า เราใช้ Compulsory licensing เนี่ย
ยุติธรรมต่อบริษัทค้ายาหรือไม่ครับ


Posted by : Elixia , Date : 2007-02-02 , Time : 15:23:56 , From IP : 172.29.4.159

ความเห็นจาก Social Network : Facebook


สงวนสิทธิ์การแสดงความคิดเห็นสำหรับ สมาชิกเท่านั้น
>>>>> Page loaded: 0.003 seconds. <<<<<