ความคิดเห็นทั้งหมด : 2

อาลัย ครูเสรี หวังในธรรม




   
เพชรมงกุฎหลุดร่วงดวงมณี ครูเสรี หวังในธรรม อำลาหล้า
ไฟเวทีหรี่แสง สลัวเลา แว่วเสียงหัวเราะร่า..น้ำตาริน
พ่อยืนหลักปักโรงคอยโยงเรื่อง พ่อทรงเครื่องครบถ้วนกระบวนศิลป์
พ่อเป็นครูเป็นตำนานของแผ่นดิน พ่อคือปิ่นปักกรมศิลปากร

ทั้งตั้งโรงตั้งเรื่องตั้งเครื่องครบ ตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนสอน
ทั้งนอกโรงในโรงครบวงจร ชีวิตครูคือละครให้ย้อนดู
เอาเสียงไห้เสียงหัวร่อมาล้อเล่น ให้ได้เห็นสัจธรรมความเป็นอยู่
อิสระ..“เสรี” ที่น่ารู้ อันคงคู่กับใจ “หวังในธรรม”

เพชรมงกุฎหลุดร่วงอีกดวงแล้ว เสียงปี่แก้วแผ่วผจงลงครวญคร่ำ
ตะโพนโศกสะทกทึมอยู่พึมพำ ระนาดร้องฆ้องร่ำคำอาลัย
อาลัยครูเสรี หวังในธรรม อาลัยคำขำขันเคยขานไข
ครูลาจากเวทีโลกนี้ไป อยู่กับพ่อครูใหญ่ในชั้นฟ้า

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์


1 ก.พ.2550
วงการนาฏศิลป์ไทยต้องสูญเสียบรมครูผู้ยิ่งใหญ่อีกคนหนึ่งกันอีกครั้งกับการเสียชีวิตของ “อาจารย์เสรี หวังในธรรม” ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง(ศิลปะการละคร) ด้วยโรคหัวใจล้มเหลว ขณะที่มีอายุได้ 70 ปี

การเสียชีวิตของบรมครูแห่งวงการนาฏศิลป์ไทยท่านนี้ ไม่ต่างอะไรกับการสูญสิ้นร่มโพธิ์ร่มไทรของศิลปินแห่งกรมศิลปากรทุกคน เพราะอาจารย์เสรีไม่เพียงเป็นผู้บังคับบัญชาหรือเป็นครูเท่านั้น หากแต่ลูกศิษย์ของอาจารย์เสรีทุกคนต่างพร้อมใจเรียกขานท่านด้วยคำว่า “พ่อ”อย่างสนิทใจ

ประสาท ทองอร่าม หรือ ครูมืด ที่ทุกคนรู้จักกันดีนั้น ถือเป็นนาฏศิลปิน กรมศิลปากรคนหนึ่งที่ได้ชื่อว่า เป็นลูกศิษย์ที่อาจารย์เสรีให้ความรักและความเมตตามาก เนื่องเพราะเป็นลูกศิษย์ใกล้ชิดและรับช่วงมรดกทางการแสดงจากอาจารย์เสรีไว้ทุกกระบวนท่า

ครูมืดพูดถึงความรู้สึกหลังการสูญเสียว่า...
“ไม่ต่างอะไรกับการขาดร่มโพธิ์ร่มไทร ผมพูดไม่ออกจริงๆ เพราะไม่คิดว่าพ่อจะจากพวกเราไปเร็วอย่างนี้ ตลอดเวลาที่พ่ออยู่กับพวกเรา ท่านเป็นคนที่ให้ทุกอย่างและให้อย่างเดียว โดยไม่คิดอยากได้จากใคร พ่อจะเรียกทุกคนว่าลูก เลี้ยงดูทุกคนเหมือนลูก การสูญเสียครั้งนี้ไม่เพียงแต่เป็นการสูญเสียของคนในกรมศิลป์ เท่านั้น แต่เป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของคนไทยทุกคน”

ครูมืดบอกอีกว่า กรมศิลปากรในวันนี้ได้รับประโยชน์หลายสิ่งหลายอย่างจากการทุ่มเททำงานหนักของ”พ่อ” ซึ่งในฐานะที่เป็นลูกศิษย์ใกล้ชิด ครูมืดพร้อมจะสืบทอดสิ่งที่อาจารย์เสรีได้เดินนำไว้ให้ โดยเฉพาะมรกดทางการแสดงของไทย

“ผมกราบพ่อตั้งแต่ท่านมีชีวิตอยู่แล้วว่า สิ่งใดที่พ่อสอนสั่ง สิ่งใดที่พ่อถ่ายทอดและต้องการสืบสานให้คงอยู่ ผมพร้อมจะเดินตามรอยที่พ่อได้ทำไว้ทุกอย่าง เพราะสิ่งที่พ่อทำล้วนเป็นสิ่งที่ดีงาม”

ครูมืดบอกด้วยว่า ภารกิจสำคัญที่อาจารย์เสรีเป็นห่วงคือการจัดแสดงโขนเพื่อถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมรี ที่อุทยานแห่งชาติ รัชกาลที่ 2 ในวันที่ 10 ก.พ.ที่จะถึงนี้ ในการนี้อาจารย์ได้ทูลขอสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ว่าจะนำช้างมาร่วมแสดงโขนด้วย ซึ่งพระองค์ก็มีพระบรมราชานุญาตแล้ว อาจารย์เสรีจึงได้เดินทางไปดูช้างที่สวนนงนุช จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 29 ม.ค.ที่ผ่านมา

ทว่า ระหว่างเดินทางกลับอาจารย์เสรีได้บ่นว่าเจ็บบริเวณหน้าอก และมีอาการเหนื่อย บรรดาลูกศิษย์ที่ร่วมเดินทางไปด้วยจึงนำอาจารย์เสรีเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลมิชชั่นทันที ในวันที่ 29 ม.ค. ซึ่งแพทย์ได้ดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด และในวันที่ 30 ม.ค. ตนยังเดินทางไปเยี่ยมอาการ ซึ่งอาจารย์ยังพูดคุยตามปกติดี กระทั่งในเวลา 03.00 น. ของวันที่ 1 ก.พ.อาจารย์เสรีมีอาการหัวใจล้มเหลวและเสียชีวิตอย่างสงบ สร้างความเสียใจให้แก่ลูกศิษย์ลูกหาทุกคน

สำหรับ “วันทนี ม่วงบุญ” นักวิชาการแสดงและดนตรี อีกหนึ่งศิลปินกรมศิลปากรที่รู้กันดีว่าเป็นลูกศิษย์คนโปรดของอาจารย์เสรี ถึงกับออกปากว่า “ไม่มีอาจารย์เสรีก็ไม่มีชื่อวันทนีในวันนี้”

“พ่อเป็นผู้ที่สร้างชื่อวันทนีให้เป็นที่รู้จักในสังคมไทย เพราะพ่อให้โอกาสให้พี่ได้เล่นละครพันทางเรื่องผู้ชนะสิบทิศรับบทเป็นนางนันทาวดีพระมเหสีของมังตรา ซึ่งโด่งดังมากในขณะนั้น จนทำให้ทุกคนรู้จักชื่อวันทนี การสูญเสียพ่อเสรี ลูกๆ ทุกคนต่างเสียใจ และเสียดาย เพราะพ่อเป็นปูชนียบุคคล ให้ความรักและเอ็นดูแก่ลูกๆ ทุกคน”

วันทนี บอกอีกว่า สังคมไทยไม่ได้สูญเสียพ่อเสรี แต่เป็นการสูญเสียอัจฉริยบุคคล ทั้งด้านการแสดงโขน ละคร การแต่งคำประพันธ์ ซึ่งสิ่งที่ประทับอยู่ในความรู้สึกของตนคือความเป็นศิลปินที่ดี เพราะอาจารย์เสรีมีความกรุณาเมตตาต่อลูกศิษย์ การสอนของศิลปินแห่งชาติท่านนี้ไม่ได้ปกครองแบบเจ้านายกับลูกน้อง แต่เป็นการปกครองแบบพ่อกับลูก แต่เวลามีปัญหาพ่อเสรีจะพูดและสั่งสอนลูกอย่างตรงไปตรงมา ไม่อ้อมค้อม

“ที่ใครๆ บอกว่าวันทนีเป็นลูกศิษย์คนโปรดนั้น อาจเป็นเพราะเราเป็นลูกผู้หญิงที่ใช้ได้ง่าย หรือบางครั้งพ่อมีเรื่องใช้สอยแล้วเราอยู่ตรงนั้นเราก็ไปทำให้พ่อ ขณะที่ลูกชายคนอื่นๆ อาจจะไม่ได้อยู่ตอนที่พ่อใช้งาน คงเพราะเราใช้งานคล่อง ใช้ได้ดังใจเลยกลายเป็นลูกศิษย์คนโปรดในความรู้สึกคนอื่น ซึ่งการเป็นลูกศิษย์ของพ่อนั้นถือเป็นความปลาบปลื้มอย่างหนึ่งในชีวิตทีเดียว”

ส่วน ปกรณ์ พรพิสุทธิ์ พระเอกเงินล้านของกรมศิลปากร มีความรู้สึกไม่ต่างกับพี่ๆ กรมศิลปากรคนอื่นที่ยังรับไม่ทันกับความสูญเสียที่เกิดขึ้น บอกเล่าความรู้สึกว่า ตลอดเวลากว่า 30 ปีที่ได้ใกล้ชิดกับพ่อเสรีได้รับทั้งความรู้ และแนวคิดจากพ่อทั้งทางตรงทางอ้อม ซึ่งเวลาที่พ่อสอนนั้นจะใช้หลักการเดียวกับครูสมัยก่อนคือให้ลองทำดูก่อน เพื่อให้แสดงความกล้าบนเวที ตรงไหนที่ไม่ดีก็จะบอกเพื่อให้ปรับปรุง ขณะที่บางเรื่องจะไม่บอกตรงๆ แต่ใช้กุศโลบายในการสอนลูก

ปกรณ์ กล่าวอีกว่า สิ่งสำคัญเลยคือพ่อให้โอกาสคน ตนเองก็ได้รับโอกาสจากพ่อในการเรียนรู้ และการแสดงต่างๆ จนมาถึงวันนี้ได้ ซึ่งหากจะบอกว่าพ่อทำให้กรมศิลปากรเป็นที่รู้จักของคนโดยทั่วไปคงไม่ผิดนัก จากการทำละครพันทางเรื่องผู้ชนะสิบทิศ จากกลุ่มแฟนละครวงแคบๆ ของกรมศิลป์ กระจายออกไปทั่วประเทศ หรือการร่วมกันแสดงละครเรื่องพระเวสสันดรชาดก เพื่อถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในปี 2529 ซึ่งพ่อเสรีเล่นเป็นชูชก ล้วนสร้างแฟนละครกลุ่มใหม่ๆ ให้แก่กรมศิลปากรทั้งสิ้น

“สิ่งที่เราเสียดายหรือหาไม่ได้อีกแล้ว คือความคิดความอ่านของพ่อเสรี เพราะถึงแม้เราจะอยู่จะทำงานกันต่อเนื่องต่อไป แต่ก็คงทำไม่ได้แบบที่ท่านทำ เพราะไม่ว่าท่านจะทำอะไรท่านจะมองอย่างรอบคอบ รอบด้าน ซึ่งความรู้ของท่านมีความพิเศษอยู่ในตัว และในตำราไม่มีสอน จึงน่าเสียดายที่สุดที่เราต้องสูญเสียคนเก่ง เพราะพ่อเสรีนั้น ท่านรู้ทุกอย่าง รู้แม้กระทั่งใจคนจึงเป็นเสน่ห์ของงานแสดงของพ่อเสรีที่คนอื่นทำไม่ได้”

ย้อนชีวิตบรมครูนาฏศิลป์ไทย

อาจารย์เสรี หวังในธรรมเกิดเมื่อวันที่ 3 ม.ค.2480 ที่กรุงเทพมหานคร ได้รับการศึกษาชั้นอนุบาลที่โรงเรียนศรีจรุง จากนั้นไปศึกษาต่อชั้นประถมที่โรงเรียนปิยะวิทยา ชั้นมัธยมต้นที่โรงเรียนชิโนรส แล้วจึงย้ายไปเรียนต่อที่โรงเรียนนาฏศิลปของกรมศิลปากร ตามลำดับ

ณ ที่นั้น อาจารย์เสรีได้ศึกษาศิลปะการแสดงแขนงต่าง ๆ ทั้งดุริยางค์ไทยและสากล คีตศิลป์ไทย ศิลปะการแสดงละคร และโขน เป็นต้น เมื่อจบการศึกษา ในปี 2497 เข้ารับราชการในแผนกดุริยางค์ไทย กองการสังคีต กรมศิลปากร จนกระทั่งถึงปี 2505 ได้รับทุนให้ไปศึกษาต่อที่ม.อีสต์เวสต์เซ็นเตอร์ สหรัฐฯ เป็นเวลา 3 ปี จึงได้กลับมารับราชการต่อที่ต้นสังกัดเดิม

ตั้งแต่เริ่มต้นเข้ารับราชการจวบจนปัจจุบัน อาจารย์เสรีนับเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญอย่างสูงยิ่ง ทั้งในฐานะนักแสดง นักประพันธ์ นักดนตรี นักร้อง นักพูด นักบรรยาย ผู้อำนวยการสร้าง ผู้กำกับการแสดง และนักบริหารที่ได้ใช้ความรู้ความสามารถของตนสร้างความบันเทิง และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทย ให้เป็นที่นิยมแพร่หลายในหมู่คนไทย และเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

ในด้านการแสดง ท่านเป็นศิลปินผู้มีความสามารถหลากแขนง และหลายบทบาท ทั้งบทพระ นาง ยักษ์ ลิง กษัตริย์ ฤษี พราหมณ์ ขุนนาง ตัวดี ตัวโกง ตัวตลก ฯลฯ จนเป็นที่รู้จักและชื่นชอบของผู้ชมและถือเป็นตัวชูโรงของละครกรมศิลปากรมาเป็นเวลายาวนาน บทบาทดีเด่นที่เป็นที่กล่าวขวัญของคนดูได้แก่ บท “พระมหาเถรกุโสดอ” ในละครเรื่องผู้ชนะสิบทิศ “เถรขวาด” ในเรื่อง ขุนช้าง ขุนแผน “ชูชก” ในเรื่อง พระเวสสันดร “ท้าวเสนากุฏ” ในเรื่อง สังข์ศิลปชัย “นางมณฑา” ในเรื่อง สังข์ทอง ตอน มณฑาลงกระท่อมหาเนื้อหาปลา ฯลฯ

ส่วนด้านการประพันธ์ ท่านก็ได้แต่งบทโขน ละคร ลิเก เพลงไทยสากล บทอวยพร และบทเบ็ดเตล็ดอีกเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ อาจารย์เสรี ยังเป็นศิลปินที่มีความคิดริเริ่มดีเด่น และมี “ไฟ” ในการทำงานที่โชติช่วงอยู่ตลอดเวลา โดยท่านได้ริเริ่มจัดทำรายการแสดงประเภทต่าง ๆ ที่ให้ทั้งสารประโยชน์และความบันเทิง เช่น รายการชุด ดนตรีไทยพรรณนา ซึ่งเป็นรายการที่ให้ความรู้เกี่ยวกับดนตรีไทยในแง่มุมต่าง ๆ รายการชุดนาฏยาภิธาน อันเป็นรายการที่ว่าด้วยเรื่องการแสดงละครแบบต่าง ๆ รายการชุดขับขานวรรณคดี อันว่าด้วยเรื่องเกี่ยวกับวรรณคดีต่างๆ ที่นำมาจัดทำเป็นบทนาฏกรรม

ทั้งยังได้คิดริเริ่มจัดทำรายการ ศรีสุขนาฏกรรม ซึ่งเป็นรายการที่ประกอบการละเล่นต่าง ๆ เช่น โขน ละคร ลิเก ฟ้อน รำ ระบำ เซิ้ง ในรูปแบบสารพันบันเทิงจนเป็นรายการที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง รวมทั้งรายการธรรมะบันเทิง ซึ่งเป็นรายการแสดงที่ว่าด้วยเรื่องของธรรมะ และศีลธรรม อันล้วนแต่ยังประโยชน์แก่ส่วนรวมทั้งสิ้น

ส่วนผลงานภาคภูมิใจคือ ท่านเป็นผู้คิดและประดิษฐ์ท่ารำ “ระบำไดโนเสาร์”ทูลเกล้าฯถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีตามพระราชดำริและพระราชประสงค์ ก่อนเสียชีวิต ท่านดำรงตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการสังคีต (พนักงานราชการ) กรมศิลปากร

จากเกียรติประวัติดังกล่าว ทำให้ท่านได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ศิลปะการละคร) เมื่อปีพุทธศักราช 2531

ทั้งนี้ ปริศนา พงษ์ทัดศิริกุล เลขาธิการคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เปิดเผยว่าในวันที่ 2 ก.พ.นี้เวลา 16.00 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชทานน้ำหลวงอาบศพอาจารย์เสรี หวังในธรรม ณ วัดตรีทศเทพ ศาลา 5 สำหรับบุคคลทั่วไปและศิษยานุศิษย์ที่จะไปรดน้ำศพ สามารถไปรดน้ำศพได้ตั้งแต่เวลา 13.00-15.30 น.




Posted by : Phoenix , Date : 2007-02-02 , Time : 10:40:05 , From IP : 172.29.3.231

ความคิดเห็นที่ : 1


    โศกเศร้า เสียใจต่อครอบครัว ผู้อยู่ในวงการและประเทศชาติ ท่านเป็นบุคคลที่ให้คำว่าครูได้สนิทใจ ท่านทำธรรมแห่งอาชีพของท่านได้สมบูรณ์ เป็นแบบอย่างคนหนึ่งที่ประชาคม มอ.ควรศึกษาและปฏิบัติตาม ถ้าเราคาดหวังว่า***จะสร้างคนดีให้สังคม***( ผมสมมติว่าถ้าแบบพิมพ์ดี พิมพ์ที่ออกมาก็จะดีไปด้วย )

Posted by : อำนาจ , Date : 2007-02-02 , Time : 12:34:01 , From IP : 172.29.3.92

ความคิดเห็นที่ : 2


    ขอร่วมไว้อาลัยแด่หนึ่งปูชนียบุคคลแห่งกรมศิลป์ บุคคลอันมีค่าที่ควรจารึกไว้ในแผ่นดินสยามชั่วกัลป์

Posted by : GING , Date : 2007-02-03 , Time : 20:04:35 , From IP : 172.29.7.127

ความเห็นจาก Social Network : Facebook


สงวนสิทธิ์การแสดงความคิดเห็นสำหรับ สมาชิกเท่านั้น
>>>>> Page loaded: 0.004 seconds. <<<<<