ทุจริตในสนามบินสุวรรณภูมิจนได้เรื่อง พบ 15 จุดเสี่ยงภัย!เกิดอุบัติเหตุต่อการบินสูง
ทุจริตในสนามบินสุวรรณภูมิจนได้เรื่อง พบ 15 จุดเสี่ยงภัย!เกิดอุบัติเหตุต่อการบินสูง
โดย ผู้จัดการรายสัปดาห์ 1 กุมภาพันธ์ 2550 08:38 น.
สนามบินสุวรรณภูมิได้กลายเป็นสัญญาลักษณ์แห่งการทุจริต ของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่นับวันจะยิ่งปรากฏให้สังคมโลกได้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้น ที่สำคัญการทุจริต กำลังจะนำไปสู่ความ "วิบัติ"ทางการบิน และอาจหมายถึงการปลิดชีวิตของผู้โดยสารที่พึ่งพาสนามบินแห่งนี้ โดยเฉพาะ 15 จุดเสี่ยงภัยที่ "กัปตัน"และ "วิศวกร" ต่างร้องเป็นเสียงเดียวกันว่า น่าสะพรึงกลัวที่สุด ด้าน พล.อ. สพรั่ง กัลยาณมิตร.สั่งตรวจสอบทุกโครงการทุกสัญญา พร้อมล้างบางพวกโกงกิน
พูดถึงเรื่อง "โครตโกง" แล้ว เวลานี้ใคร ๆ ก็นึกถึง การทุจริตในสนามบินสุวรรณภูมิ ที่เพียงเพิ่งผ่านไป 4 เดือน ปัญหาการใช้สนามบินอันเนื่องมาจากการทุจริตที่เกิดขึ้นจากโครงการต่าง ๆ ก็ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด โดยเฉพาะข่าวรอยร้าวกว่า 100 จุดของ รันเวย์ (ทางวิ่ง) และแท็กซี่เวย์(ทางขับ) จนบางวันมีการสั่งให้ปิดสนามบินสุวรรณภูมิบางส่วนเพื่อปิดซ่อม และล่าสุดมีแนวคิดจากภาครัฐบาลที่ต้องการให้ย้ายสายการบินภายในประเทศ (Domestic) แยกไปใช้ที่สนามบินดอนเมือง
อย่างไรก็ดีนอกจากปัญหาการทุจริต ที่มีการลดสเปกสินค้าตั้งแต่ขั้นตอนการถมทรายจนก่อสร้างสนามบิน รวมทั้งการเร่งสร้างสนามบินให้เสร็จตามกำหนดเวลาที่รัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กำหนดเองครั้งแล้วครั้งเล่า จนไม่คำนึงถึงประสิทธิภาพของตัวสนามบินสุวรรณภูมิที่จะเสร็จสิ้นแล้ว ปัญหาเรื่องความปลอดภัยทางการบิน ก็เป็นปัญหาใหญ่ ที่หากรัฐบาลไม่เร่งหาทางออก สนามบินสุวรรณภูมิที่ทุ่มทุนเงินภาษีประชาชนไปสร้างมากว่า 1.4 แสนล้านบาท ที่หวังดันเป็นฮับการบินแห่งเอเชียอาจตกอันดับ และสนามบินเวียดนามอาจขึ้นแท่นเป็นฮับการบินแห่งเอเชียแทน ในไม่ช้านี้!
15 จุดอันตราย-ถึงตาย
น.ต.ถนิต พรหมสถิตย์ กัปตัน บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ปัญหาของสนามบินสุวรรณภูมิ นอกจากการทุจริตแล้ว เป็นเรื่องของปัญหาความไม่ปลอดภัยทางการบิน ซึ่งมีอันตรายอาจถึงขั้นทำให้ผู้ใช้บริการต้องสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งจากประสบการณ์ที่ได้ใช้สนามบินสุวรรณภูมิ ทำให้เห็นปัญหาความไม่ปลอดภัยทางด้านการบิน ประกอบด้วย
1.การติดต่อวิทยุสื่อสารมีหลายหน่วยงาน ไม่มีการประสานงานที่ดี ทำให้ไม่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเวลาที่นักบินติดต่อหน่วยหนึ่งเพื่อขอนำเครื่องบินลงแบบเร่งด่วน หรือ Hi-speed และได้รับอนุญาต นักบินจึงเร่งเดินเครื่องใช้ความเร็วเต็มที่ แต่ปรากฏว่าพอมาถึงระยะที่อีกหน่วยงานหนึ่งรับผิดชอบ กลับไม่อนุญาตให้ใช้ความเร็วแบบ Hi-speed แต่ให้ลดระดับความเร็วของการบินลงแบบฉุกละหุก ทำให้เครื่องบินมีการสะดุด และการวางแผนการนำเครื่องลงของนักบินทำได้ยากขึ้น เพราะการนำเครื่องบินลงจอดในความเร็วที่ต่างกัน จำเป็นต้องใช้ระยะทาง หรือจุดที่จะลดการบินลงต่างกันด้วย หากถูกจำกัดด้วยระยะทางแล้ว การบินย่อมควบคุมยาก ซึ่งจะทำให้เกิดอุบัติเหตุเครื่องบินชนกันได้
2.ในการวางแผนการรองรับเครื่องบินที่มีการระบุว่าใน 1 ชั่วโมง จะรองรับเครื่องบินได้จำนวนกี่ลำของทอท.นั้น ไม่เป็นความจริง เพราะมีการใช้เครื่องบินที่มีสมรรถนะต่างกันมากในสนามบินสุวรรณภูมิ ตั้งแต่ขนาดใหญ่อย่าง โบอิ้ง 747 ที่จุคนประมาณ 400 ที่นั่ง แอร์บัส 340 ประมาณ 400 กว่าที่นั่ง เครื่องบินขนาดกลาง ได้แก่โบอิ้ง 777 ประมาณ 300 ที่นั่ง เครื่องบินขนาดเล็กอย่าง แอร์บัส 330 และโบอิ้ง 737 ขนาดประมาณ 100 กว่าที่นั่ง และเครื่องบินแบบเทอร์โบคอป ที่เป็นเครื่องบินแบบกังหันใบพัด
การที่มีทั้งเครื่องบินขนาดเล็กและขนาดใหญ่ แต่สมรรถนะต่างกันโดยสิ้นเชิง ทำให้เกิดปัญหาทางการบินอย่างมาก เพราะเครื่องบินแต่ละขนาดก็มีแรงลมและความเร็วต่างกัน เช่น เครื่องบินใหญ่ที่จะนำเครื่องบินขึ้นนั้น จะมีแรงลมที่แรงมาก หากเครื่องบินเล็กบินตามไปในระยะใกล้ ๆ ก็จะถูกดูด หรือ กระเด็นไป ทำให้เครื่องบินเล็กหากนักบินจะนำเครื่องขึ้น ต้องรอให้เครื่องบินใหญ่ออกไปแล้ว 2-3 นาที
ขณะที่หากเครื่องบินเล็กได้รับคิวให้นำเครื่องขึ้นบินก่อน เครื่องบินใหญ่ที่ต่อตามหลังจะต้องรอให้เครื่องบินเล็กไปก่อน 5-6 นาที เพราะเครื่องบินเล็กมีความเร็วการบินที่ช้ากว่าเครื่องบินใหญ่มาก หากเครื่องบินใหญ่บินตามไปทันทีก็จะเกิดอุบัติเหตุทำให้เครื่องบินเล็กสูญเสียการทรงตัว และถ้าเลวร้ายอาจทำให้เครื่องบินชนกันได้
"ผมเคยขับเครื่องบินโบอิ้ง 737 ซึ่งเป็นเครื่องบินขนาดเล็ก ประมาณ 150 ที่นั่ง บินมาจากทางใต้จะมาลงที่รันเวย์ 19 ขวา ขณะที่อีกลำเป็นเครื่องบินขนาดใหญ่ มีประมาณ 400 ที่นั่ง มีระยะเวลาลดระยะศูนย์ใกล้เคียงกัน อยู่ที่ระยะประมาณ 3,000 ฟุตจากพื้นดิน ลมจากเครื่องบินลำใหญ่ทำให้เครื่องบินลำเล็กกระเด็นออกไป ถ้าเครื่องบินลำเล็กกว่านี้อาจถึงขั้นพลิกคว่ำและร่วงลงพื้นดินได้ ซึ่งอันตรายมาก" เขาระบุ
ทั้งนี้เพราะปัญหาคือ 1 นาทีของเครื่องบินนั้น ต้องนับกันเป็นไมล์ 3 นาทีหรือ 5 นาทีที่ล่าช้าออกไปนั้น นั่นหมายถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นทุกนาที ต้องเข้าใจว่าเวลาของนักธุรกิจเขาแต่ละนาทีเป็นเงินเป็นทอง ทั้งเสียเวลา และสิ้นเปลืองพลังงานโดยใช่เหตุ
ต่างชาติเบื่อออก NOTAM ช้า
3.การออก NOTAM หรือ Notice to Airman ไม่มีการวางแผนไว้ก่อน ไม่เหมือนต่างประเทศที่เวลาเขาจะปิดรันเวย์หรืออะไรวันไหน เขาต้องบอกล่วงหน้า มีระยะเวลาบอก ไม่ใช่มาถึงสนามบินสุวรรณภูมิแล้วเพิ่งรู้ หรือรู้ก่อนตอนออกบินแค่นั้น ตรงนี้ทำให้เกิดปัญหาในช่วงที่มีการปิดสนามบินเพื่อซ่อมแซมบางส่วนมาก เพราะนักบินต่างชาติไม่รู้มาก่อน ทำให้ต้องมารอคิวลงจอดที่สนามบินสุวรรณภูมินานกว่าปกติ เครื่องบินต้องบินวนอยู่นานเพื่อรอคิว บางลำต้องไปลงจอดที่อื่นเพื่อเติมน้ำมันก่อน โดยเฉพาะที่สนามบินอู่ตะเภา สนามบินเชียงใหม่ สนามบินภูเก็ต สิ้นเปลืองมาก แถมทำให้นักบินต่างชาติเบื่อ ไม่อยากมาลงที่สนามบินสุวรรณภูมิ
"นักบินเขาจะวางแผนว่าจะเอาน้ำมันมาเท่าไร เช่นเอาน้ำมันมา 9 ตัน สามารถวนรอบๆได้ 45 นาที แต่พอมาถึงรันเวย์ปิด จะวนก็ไม่รู้ต้องรอนานเท่าไร ก็ต้องไปจอดที่อื่นเพื่อเติมน้ำมันก่อน ไปถึงอู่ตะเภาก็ต้องไปต่อคิวเพราะเครื่องบินที่บินวนกันอยู่ก็นิยมมาเติมน้ำมันที่นี่ เพราะใกล้กว่าที่อื่น"
4.ไฟในลู่วิ่งของเครื่องบิน ที่ปกติเครื่องบินทุกลำต้องวิ่งตามแนวไฟนี้ มีการเสียหายจำนวนมากนับพันดวง จากจำนวนทั้งหมด 7,000 ดวง ซึ่งนักบินต่าง ๆ ก็จะต้องใช้วิธีเปิดไฟเครื่องบินให้สว่าง เพื่อให้มองเห็นเส้นทางบิน แต่นักบินบางคนยังไม่เคยมาก็จะไม่ได้รับความสะดวก ประกอบกับทางวิ่งมีทั้งทางเลี้ยวทางโค้ง นักบินที่ไม่คุ้นเคยเส้นทางและตามไฟไม่ถูกอาจทำให้เครื่องบินโคลงเครงและตกรันเวย์ ทำให้เกิดอันตรายเครื่องบินพลิกคว่ำได้
ด้านวิศวกรในสนามบินสุวรรณ กล่าวว่า ปัญหาเรื่องไฟลู่วิ่งเสียหายเป็นพันดวงนั้น เป็นเรื่องจริง ซึ่งก็ได้มีการพูดคุยกับนักบินหลาย ๆคนและ หลาย ๆสายการบิน ซึ่งต่างบอกว่าหากไม่ได้รับการแก้ไขจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ในขณะที่เครื่องบินเข้าสู่ลู่วิ่ง เพราะหากไม่เห็นทางโอกาสเกิดอุบัติเหตุและผู้โดยสารได้รับอันตรายสูงมาก
"ไฟส่องทางก็ดับสนิท ป้ายบอกทางเพื่อทำตามคำสั่งหอบังคับการบิน ก็มองไม่เห็น ลูวิ่งก็มีการทรุดตัว นักบินจะต้องอาศัยความชำนาญ หลบรันเวย์และแท็กซี่เวย์ที่มีการทรุดตัว ซึ่งมีความเสี่ยงมากที่จะตกจากรันเวย์พลิกคว่ำได้ ซึ่งเรื่องนี้ทางผู้บริหารสุวรรณภูมิรู้ดี แต่ไม่คิดที่จะแก้ไข เพราะวันนี้พวกเราขาดขวัญกำลังใจ หากสั่งซื้อไฟก็จะถูกตรวจสอบว่ามีการทุจริต จึงต่างพากันอยู่เฉย ๆ ไม่สนใจกับปัญหาให้สายการบินแก้ไขกันเอง" แหล่งข่าวจากทอท.ระบุ
แปลนห่วย-สร้างทางรถยนต์ตัดแท็กซี่เวย์
5.แปลนสนามบินห่วย มีการจัดให้เครื่องบินเล็ก ๆ โดยเฉพาะพวกโลวคอร์สแอร์ไลน์ไปจอดในบริเวณเดียวกัน ซึ่งไม่ได้ทำทางให้เครื่องบินถอยหลังได้สะดวก ประกอบกับต้องจอดเรียงกันหลายลำ ทำให้เวลาเครื่องบินจะออกจากงวงจอดต้องรอต่อคิวให้เครื่องบินที่อยู่ด้านนอกถอยออกไปก่อน เสียเวลามาก
6.ป้ายบอกแท็กซี่เวย์ทำไม่ชัดเจน นักบินหาแท็กซี่เวย์ และงวงจอดไม่เจอ เสียเวลามาก
7.รันเวย์ที่มีปัญหาหลายจุด ที่มีลักษณะเป็นหลุมเป็นบ่อ ทำให้นักบินที่ไม่ค่อยได้มา หรือไม่เคยมาใช้สนามบินไม่สามารถบังคับเครื่องบินได้ดี และอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุยางเครื่องบินแตก อาจสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของผู้โดยสาร
8.การออกแบบเส้นทางเดินรถยนต์หรือ service bus ผิดพลาด เพราะตัดกับเส้นทางแท็กซี่เวย์ของเครื่องบิน ทำให้เกิดอันตรายจากเครื่องบินอาจชนรถยนต์ได้
"ไม่มีประเทศไหนเขาทำทางเดินรถยนต์ตัดกับแท็กซี่เวย์ มันอันตรายมาก ถ้าจะผ่านกันต่างประเทศเขาก็ให้ทางรถยนต์ลอดถ้ำไปด้านล่างแท็กซี่เวย์ ให้มันตัดกันอย่างนี้สักวันต้องชนกันจนได้"
9.ชื่องวงจอดหรือหลุมจอด กับแท็กซี่เวย์เป็นชื่อเดียวกัน ทำให้นักบินเกิดความสับสน และตามหลักสากลไม่มีใครเขาทำกัน
ไฟ Pati กะมุมร่อนลงใช้การจริงไม่ได้
แหล่งข่าวในแวดวงการบินของสายการบินต่างชาติ กล่าวว่า ปัญหาในด้านการบินของสุวรรณภูมินั้นนอกจากที่กล่าวมาแล้วยังมีสิ่งที่นักบินรู้สึกอึดอัดกับการบริหารงานของสนามบินสุวรรณภูมิ นั้นประกอบด้วย
10.การควบคุมหน่วยงานภาคพื้นดินมีการอะลุ้มอะล่วยให้สายการบินใหญ่ ๆ แซงคิวในการนำเครื่องขึ้นบินและนำเครื่องบินลงจอดได้ก่อนสายการบินอื่น ทำให้นักบินหงุดหงิด และไม่มีมาตรฐานการบริการ
11.ปัญหาที่สำคัญอีกหนึ่งประการคือ ผู้ปล่อยเครื่องบินให้วิ่งขึ้นได้นั้น มีการปล่อยแบบรีบเร่งจนไม่มีการจัดระยะเคียง เช่นเครื่องเล็กวิ่งขึ้นตามเครื่องใหญ่ในระยะเวลาสั้นเกินไป อาจทำให้เกิดอันตรายได้ง่าย จุดนี้ทำให้นักบินต่างชาติเก็บอารมณ์ไม่อยู่ถึงกับมีการตำหนิกันเกิดขึ้นบ่อยครั้ง
12.ไม่มีไฟเขียวที่ไว้เปิดฉุกเฉินเพื่อจัดการจราจรให้มีความสะดวก อย่างสิงคโปร์ เขามีทางเรียกว่า "Taxi Follow the Green" สำหรับเครื่องบินที่ลงจอดแล้ว ให้บินตามไฟที่เปิดให้เพื่อไปเข้างวงจอดได้ง่าย หรือ เครื่องบินที่กำลังจะออกจากงวงไปที่รันเวย์ ก็จะมีเปิดไฟนี้ให้เช่นกัน แต่เมืองไทยกลับไม่มี
13.ไฟ Pati ที่ให้นักบินไว้กะมุมร่อนลง ที่จะติดอยู่บริเวณปลายรันเวย์ 2 ข้าง ข้างละ 4 ดวงนั้น เป็นไฟที่ไม่ได้คุณภาพ ไฟไม่แรง แถมมีการออก Notam ว่าไฟนี้จะมองไม่เห็นหลังระยะทาง 2 ไมล์ทะเล (ประมาณ 3.6 กิโลเมตร) ซึ่งเป็นจุดที่อันตรายมาก คือปกตินักบินจะกะระยะการร่อนลงโดยดูจากคลื่นความถี่ในเครื่อง ILS (Instrument landing systems) แต่หากเครื่องเสีย จะดูจากมุมร่อนตามไฟ Pati แทน ซึ่งเมื่อไฟที่สนามบินสุวรรณภูมิไม่สามารถมองเห็นหลังระยะทาง 2 โมล์ทะเลได้ ก็จะทำให้นักบินกะระยะมุมร่อนผิด ทำให้ระยะทางแตะพื้นรันเวย์เปลี่ยนไป บางเครื่องไปลงเอาที่กลางหรือปลายรันเวย์ ทำให้มีโอกาสหลุดพื้นรันเวย์ได้ง่าย
14.การให้นักบินเปิดสัญญาณ Transponder ซึ่งเป็นตัวบอกโคชของเครื่องบินแต่ละลำนั้น ปกติจะใช้ในประเทศที่มีภูมิอากาศหรือทัศนวิสัยเลวร้าย เช่นหิมะตกหนักเท่านั้น ไทยไม่มีความจำเป็นต้องใช้ เพราะไทยมีหอการบินที่สูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียที่มีวัตถุประสงค์ในการเห็นทัศนวิสัยที่ดีอยู่แล้ว การระบุให้นักบินเปิดสัญญาณดังกล่าวจึงเป็นการกระทำเกินความจำเป็น และไม่รู้ว่าทำไปเพื่ออะไร
15.ป้ายบอกให้จอดเครื่องบิน ไม่มีการระบุจุดพิกัดบอกละติจูด ลองติจูด ซึ่งจำเป็นสำหรับนักบินเวลาที่ก่อนนำเครื่องขึ้นจะต้องระบุพิกัดของเครื่องบิน แต่ป้ายที่สนามบินสุวรรณภูมิไม่มีการบอกพิกัดใด ๆ ทั้งสิ้น ซึ่งสนามบินทั่วโลกเขาต้องระบุพิกัดกันทั้งนั้น
ระวัง!ต่างชาติย้ายไปสนามบินเวียดนาม
แค่ปัญหา 15 จุดนี้ นับเป็นเรื่องใหญ่ ที่เมื่อนำมารวมกับความเสียหายของอาคารสนามบินสุวรรณภูมิที่เกิดขึ้นจากโครงการอภิมหาโคตรทุจริตแล้วด้วย ยิ่งทำให้ต่างชาติต่างเบื่อที่จะใช้สนามบินสุวรรณภูมิ และเมื่อมีน้องใหม่ที่น่าสนใจกว่าอย่างสนามบินนานาชาติแห่งใหม่ของเวียดนามที่จะกำลังจะทุ่มทุนสร้างกว่า 3 แสนล้านบาท
สุดชัย เสวะมาตย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเวียดนาม เวียดนามเซ็นเตอร์ เปิดเผยว่า ปี ค.ศ.2005 Phan Van Khai นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ได้อนุมัติ ให้มีการก่อสร้างโครงการท่าอากาศยานสากลลองแถ่งห์ ( Long Thanh ) ในจังหวัดด่ง นาย (Dong Nai) ที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของนคร โฮจิมินห์ ประมาณ 40 กม. และกลุ่มการท่าอากาศยานภาคใต้ร่วมกับคณะกรรมการประชาชนจังหวัดด่งนาย ได้จัดงานพิธิเปิดโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานลองแถ่งห์ อย่างเป็นทางการไปแล้วเมื่อวันที่ 19 ธันวาคมปีที่ผ่านมา
โดยท่าอากาศยานสากลลองแถ่งห์ นี้มีพื้นที่ทั้งสิ้นประมาณ 31,250 ไร่ รองรับผู้โดยสารได้ 100 ล้านคนต่อปี โดยในช่วงเวลาเร่งด่วนสามารถรองรับได้ 30,000 คนใน1ชั่วโมง อาคารสินค้ารองรับสินค้าได้ 5 ล้านตันต่อปี เป็นสนามบินเกรด 4F หรือสูงกว่าตามมาตรฐานองค์การการบินสากล ICAO คาดว่าจะสร้างเสร็จในปี คศ.2020 โดยเมื่อสนามบินลองแถ่งห์ เสร็จสมบูรณ์ แล้วจะรองรับการบินระหว่างประเทศ ส่วนสนามบินสากลเติน เซิน เญิ๊ต ที่ขณะนี้กำลังแออัดอย่างมากนั้น จะใช้เป็นสนามบินภายในประเทศแทน
สำหรับเวียดนามนี้ ได้รับการกล่าวขานกันอย่างมากในด้านของประเทศที่น่าเข้าไปลงทุนในภูมิภาคนี้ เพราะมีจีดีพีสูงเป็นอันดับ 2 ในเอเชียรองจากจีน คือเฉลี่ยแล้วไม่ต่ำกว่า 7.6% ต่อปี และเพิ่งเข้าสู่การเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกหรือ WTO จากข้อมูลการลงทุนของต่างชาติ ที่เข้าไปขุดทองที่เวียดนามใน 4 เดือนแรกของปี 2549 พบว่า ไต้หวัน ลงทุน 1,463 โครงการ เม็ดเงินลงทุน 7,904 ล้านเหรียญสหรัฐ, สิงคโปร์ 409 โครงการ เม็ดเงินลงทุน 7,795 ล้านเหรียญสหรัฐ, ญี่ปุ่น 640 โครงการ มูลค่า 6,729 ล้านเหรียญสหรัฐ และฮ่องกง 365 โครงการ มูลค่า 4,361 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยที่การลงทุนของไทยติดอันดับ 11 จำนวน 133 โครงการ มูลค่า 1,471 ล้านเหรียญสหรัฐ
โดยนครโฮจิมินห์ ถือเป็นตัวจักรสำคัญของเศรษฐกิจเวียดนาม เพราะมีสัดส่วนของการลงทุนและการส่งออกอยู่ที่นี่กว่า 60% โดยเศรษฐกิจนครโฮจิมินห์ขยายตัวสูงถึง 12.2% เทียบกับอัตราเฉลี่ยของทั้งประเทศที่อยู่ในระดับ 8.43% ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา โดยสาขาที่ขยายตัวสูงสุด คือ อุตสาหกรรมและการก่อสร้าง 15.1% ภาคบริการ 11.1% และเกษตรกรรม 2% ทั้งนี้รัฐบาลเวียดนามมีโครงการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งทุกด้าน ทั้งท่าเรือ ทางรถยนต์ และสนามบิน เพื่อรองรับการเติบโตดังกล่าว
ที่สำคัญเวียดนามมีระยะทางการบินห่างจากไทยเพียงใช้เวลาแค่ 1 ชั่วโมงเศษ ๆ เมื่อค่าโลจิสติกส์ที่สนามบินสุวรรณภูมิของไทยก็ยังแพงกว่าโลจิสติกส์ของเวียดนาม การเปลี่ยนเป้าหมายของนักลงทุนต่างชาติไปใช้สนามบินเวียดนามเป็นฮับการบินเอเชียแทนไทยก็มีความเป็นไปได้สูง
ฉะนั้นทั้งรัฐบาลและทุกคนในประเทศไทยเวลานี้ควรหยุดใช้สุวรรณภูมิเป็นแค่เครื่องมือโจมตีกัน และหันมาร่วมมือแก้ไขปัญหาสุวรรณภูมิในแต่ละจุดให้ลุล่วงไปได้ เพราะหากต่างชาติเบนเข็มไปใช้สนามบินเวียดนามเป็นศูนย์กลางทางการบินแทนสุวรรณภูมิ รวมทั้งศูนย์กลางโลจิสติกส์เอเชีย เมื่อถึงวันนั้นสิ่งที่ไทยเราต้องสูญเสียไป จึงยากที่จะเรียกกลับคืน
************
"สพรั่ง" ลั่นกล้าเพื่อชาติ
ล้างบางคนโกง-ขอข้อมูล "นักบิน"สกัดภัยการบิน
"สพรั่ง"เดินหน้าลุยทุจริตสุวรรณภูมิทุกโครงการ ชี้ปัญหาบุคลากรต้องสะสางเตรียมลงดาบระดับ "คีย์แมน"ที่ "ไร้ประสิทธิภาพ ขาดภาวะผู้นำ" ก่อนจะลุย ระดับรองลงไป พร้อมดึงนักบินและประชาชน ร่วมให้ข้อมูลเพื่อป้องกันอุบัติเหตุทางการบิน ชี้รัฐบาล "ทักษิณ ชินวัตร" เล่นพรรคเล่นพวกจนการบริหารงานเละ
ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นในสนามบินสุวรรณภูมิกลายเป็นข่าวประเด็นร้อนออกมาอย่างต่อเนื่อง ยิ่งเมื่อ "ทักษิณ ชินวัตร"หมดอำนาจวาสนาทางการเมือง ยิ่งเข้าตำรา "น้ำลดตอผุด" หน่วยงานที่เข้ามาตรวจสอบทั้ง คตส. สตง.ปปช.และแม้แต่ คมช.เองต่างก็พยายามอย่างยิ่งที่จะคุ้ยหาข้อมูลการทุจริตเพื่อจะได้เอาคนผิดมาลงโทษให้ได้
ขณะเดียวกันผลเสียหายที่เกิดขึ้นสืบเนื่องมาจากการทุตริจคอรัปชั่นทำให้การบริหารจัดการในบริษัทการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยหรือ ทอท."เสียรังวัด"อย่างแรงเจ้าหน้าที่ไล่มาตั้งแต่ระดับบริหารจนถึงระดับปฏิบัติการที่ "ไม่เอาด้วย"กับการโกงกินต่างถูกปิดปาก สั่งเด้งโยกย้ายไปอยู่ในพื้นที่ที่ไม่สามารถ "เข้าไปขัดขวาง"จนสร้างความเสียหายอย่างมหาศาลให้กับประเทศ
นี่คือปัญหาใหญ่ที่ พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร ผู้ช่วยผบ.ทบ. และผู้ช่วยเลขาธิการ คมช. ในฐานะประธานกรรมการ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน) หรือ ทอท.เปิดใจกับ"ผู้จัดการรายสัปดาห์" ว่ากำลังจะเข้าไป "สะสาง"เพื่อฟื้นฟูวัฒนธรรมองค์กรของ ทอท.ที่ "บิดเบี้ยว"ให้กลับเข้าที่อีกครั้งหนึ่ง
ลั่นอย่าให้ "คนเลว"เสียงดังในสังคม
ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหลายต่างคร่ำเคร่งที่จะขุดคุ้ยปัญหาการทุจริตในสนามบินหนองงูเห่าอย่างขมักเขม้น ในฐานะประธานบอร์ดทอท.ก็กำลังเข้าไปสะสางปัญหาการทุจริตในสนามบินเริ่มตั้งแต่ปัญหาสัญญาบริษัทล็อกเลซ์ ซีทีเอ็กซ์ ปัญหาบริษัทคิงส์เพาเวอร์ โรงแรมในสนามบินสุวรรณภูมิ และปัญหาอื่นๆอีกหลายสิบโครงการ
ในการทำหน้าที่ประธานบอร์ดการท่าฯนั้นต้องบอกตรงๆว่าเข้ามาเพราะที่นี่มันเป็นศูนย์รวมของการทุจริตคอรัปชั่น กินบ้านกินเมือง และจะทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายมาเต็มกำลังความสามารถและให้คำมั่นว่าคนดีๆที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องจะไม่ได้รับผลกระทบแน่นอนและจะไม่ให้คนที่เลวร้ายเหล่านั้นมาเสียงดังในสังคมอย่างเด็ดขาด
สำหรับ สนามบินสุวรรณภูมิเป็นชื่อที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานมา เป็นสนามบินที่เกิดจากภาษีของประชาชนคนไทยทุกคน แต่มีคนกลุ่มหนึ่งเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ กอบโกยกันจนสนามบินที่เพิ่งสร้างเสร็จใหม่ๆต้องมีการซ่อมบำรุงกันอย่างที่เห็นแล้วก็ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคตหากพวกเราไม่หันมาร่วมมือกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง
ต้องยอมรับว่าปัญหาการทุจริตในสนามบินสุวรรณภูมินั้นมีมากมาย ขณะนี้คณะกรรมการ ทอท. อยู่ระหว่างตรวจสอบสัญญาว่าจ้างระบบรักษาความปลอดภัย ที่ทอท.ว่าจ้างบริษัท เอเชีย ซีเคียวริตี้ เมเนจเมนท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ล็อกซเล่ย์ จำกัด(มหาชน) ในวงเงินกว่า 5.4 พันล้านบาท เป็นระยะเวลายาวรวดเดียว 10 ปี เบื้องต้นพบว่าบริษัทไม่สามารถจัดหาบุคลากรได้ครบตามเงื่อนไขสัญญา โดยอ้างว่าอยู่ระหว่างฝึกอบรมบุคลากร โดยคณะกรรมการจะตรวจสอบรายละเอียดก่อนยกเลิกสัญญาว่าจ้างต่อไป
เตรียม "ล้างบาง"คีย์แมน ทอท.
นั่นเป็นปัญหาใหญ่ที่กำลังรอการสะสางแต่สิ่งที่หลายๆคนคาดไม่ถึงว่าจะกลายเป็นปัญหาใหญ่เทียบเคียงกับการทุจริตที่เกิดขึ้นก็คือการแต่งตั้งบุคลากรที่เข้ามารับผิดชอบงานต่างๆนั้นมีการ "เล่นเส้นเล่นสาย"กันอย่างมโหฬาร ซึ่งส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงานต่างๆและยังเอื้อต่อการทุจริตครั้งมโหฬารนี้เช่นกัน
ปัจจุบันพนักงานบริษัทการท่าฯนั้นค่อนข้างจะสับสน ส่วนหนึ่งหมดกำลังใจในการทำงาน คือเขาไม่มีแรงกระตุ้นที่จะทำงาน โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริหารในระดับปฏิบัติการ แต่ไม่มีอำนาจสั่งการ เนื่องจากมีกระแสข่าวการทุจริตที่เกี่ยวข้องในหน่วยงานของเขาอย่างต่อเนื่องซึ่งในฐานะประธานบอร์ดก็จะดำเนินการในทุกปัญหาอย่างเป็นธรรมที่สุด
มรดกที่รัฐบาลทักษิณทิ้งไว้ให้เราแก้ไขอีกอย่างหนึ่งนอกเหนือจากการทุจริตกันก็คือการโยกย้ายคนของตนเองหรือคนที่ตนเองสามารถสั่งการได้เข้ามาบริหารในตำแหน่งที่ๆสามารถจะเข้าไปทำการทุจริตได้ คนดีๆที่มีความซื่อสัตย์และคนที่ไม่เห็นด้วยส่วนหนึ่งกลับถูกเตะโด่งไปประจำในที่ไกลตา ไม่ว่าจะเป็นสนามบินดอนเมือง ภูเก็ต หาดใหญ่ เชียงใหม่ บางคนแม้จะรู้อยู่ว่ามีการทุจริตก็ทำเป็น "ทอดธุระ"ไม่รู้ไม่เห็นก็มีอยู่ไม่น้อย เรื่องนี้หากเราไม่เข้าไปจัดการอย่างจริงจังก็จะเหมือนเราปล่อยให้ปลวกเข้าไปกัดกินบ้านจนในที่สุดเราก็จะไม่เหลืออะไรเลย
ดังนั้นสิ่งที่จะเริ่มดำเนินการต่อไปควบคู่ไปกับการตรวจสอบการทุจริตก็คือ การโยกย้ายระดับผู้บริหารหรือ คีย์แมน ซึ่งที่ผ่านมากระทำในลักษณะที่เรียกว่า "ขาดภาวะผู้นำ"อย่างร้ายแรง จากนั้นก็จะขยับไปยังผู้บริหารระดับกลาง ซึ่งหากพบว่าใครบกพร่องในหน้าที่หรือขาดภาวะผู้นำเราก็จะดำเนินการทั้งทางด้านอาญาและวินัยอย่างเด็ดขาดและทันทีเช่นกันเพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้กับคนที่มีความซื่อสุตย์สุจริต
ในการดำเนินการของคณะกรรมการบอร์ดนั้น พร้อมจะให้ความเป็นธรรมกับทุกคนใครก็ตามที่ทำผิดต้องได้รับโทษส่วนคนทำความดีนั้นจะเห็นผลเช่นกัน เพราะที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่เราละเลยที่จะดูแลสมบัติของชาติมานานเนื่องจากหมดกำลังใจเพราะคนที่อำนาจบารมีในตอนนั้นมักจะมีเส้นสาย แล้วจะมีใครไปกล้าขัดขวางหรือคัดค้านเพราะถ้าออกหน้าเมื่อไหร่ก็โดนเด้งทันที
อย่างไรก็ดีมีคนจำนวนไม่น้อยที่ทำงานใน ทอท.ที่มองเห็นความเสียหายของชาติบ้านเมืองด้วยความสะใจเพราะเข้าใจว่า "ธุระไม่ใช่"หรือคิดว่า ไม่เกี่ยวกับตัวเอง ซึ่งคิดว่าจุดนี้ถือเป็นอันตรายมากที่สุดเราจึงจำเป็นที่จะต้องหาหนทางแก้ไขไม่เช่นนั้นไม่มีทางที่องค์นี้นี้จะก้าวไปสู่การแข่งขันกับสากลได้ แถมจุดนี้ยังกลายเป็นจุดด้อยที่จะฉุดให้องค์กรถอยหลังเข้าคลองอีกด้วย เพราะความเสียหายไม่ได้เกิดขึ้นแค่รัฐเสียประโยชน์เท่านั้นแต่มันทำให้หน่วยงานนั้นๆจะประสบกับความยุ่งยาก ก่อให้เกิดการทำลายวัฒนธรรมขององค์กรทำให้การบริหารงานนั้นไม่ราบรื่นแน่นอน
นี่คือความเสียหายของการเข้ามาครอบงำของนักการเมือง และทำให้เห็นว่าเมื่อใดก็ตามที่การเมืองเข้ามาหาผลประโยชน์จากกิจการของรัฐจะสร้างความเสียหายเป็นลูกโซ่
ทำเพื่อชาติเมินข้อครหา "เคาะกะลา"
ส่วนที่มีการกล่าวหาถึงวิธีการปฏิบัติงานของเขาว่าเป็นการหาผลประโยชน์ บอกได้เลยว่าคนพวกนี้เปลี่ยนความคิดเสียใหม่ หรือหากบรรดาคนทำผิดทั้งผู้รับเหมา หรือ ผู้บริหารที่ไร้ประสิทธิภาพ ไม่ต้องคิดมาวิ่งเต้น หรือเข้ามาพบ จนทำให้ถูกแปรเจตนาไปว่าเป็นการเคาะกะลา เพื่อเรียกเก็บค่าต๋งนั้น ไม่มีทางเกิดกับนักรบผู้นี้ ใครผิดก็ต้องรับในสิ่งที่ตนกระทำ ส่วนคนที่ไม่ผิดก็ไม่ต้องกลัว พร้อมแอ่นอกปกป้อง
ดังนั้นจะสั่งให้มีการตรวจสอบทุกสัญญา ทุกโครงการในสนามบินสุวรรณภูมิ หากพบว่าสัญญาไหนไม่มีความเป็นธรรม และมีการทุจริตเกิดขึ้น จะสั่งให้มีการทบทวนหรือยกเลิก ซึ่งฝ่ายใดจะแพ้ชนะ อยู่ชั้นศาลเป็นผู้วินิจฉัย
ในส่วนของการตรวจสอบปัญหารันเวย์ และแท็กซี่เวย์ ที่มีการทรุดตัวนั้น ได้มีการขุดเจาะถึงชั้นทรายเพื่อนำไปตรวจสอบแล้ว และจะต้องรอผลว่าทางเทคนิคด้านวิศวกรรมนั้น จะสรุปออกมาเช่นใด ซึ่งจะนำไปสู่การเกิดอุบัติภัยทางการบินหรือไม่ เพราะข้อสรุปหรือบ่งชี้ทางเทคนิคจะทำให้ตัดสินใจได้ว่า จะต้องมีการปิดซ่อมสนามบินอย่างเป็นทางการหรือไม่ และจะใช้เวลาเท่าใด รวมไปถึงต้องมีการย้ายกลับสู่ดอนเมืองทั้งหมดหรือไม่ ซึ่งจะต้องนำเสนอความเห็นต้องรัฐบาลเป็นผู้ตัดสินใจ แต่วันนี้ได้มีการเสนอให้สายการบินภายในประเทศ (Domestic) ที่สมัครใจไปใช้ที่สนามบินดอนเมืองแล้ว
พร้อมเปิดรับข้อมูลทุกกลุ่ม
ปัญหาวันนี้ของสนามบินสุวรรณภูมิ ไม่ได้มีเฉพาะเรื่องการทุจริต ยังมีปัญหาในเรื่องการบริหาร จัดการ ส่งผลกระทบต่อเรื่องการจัดการด้านการบินที่ขาดประสิทธิภาพ ดังนั้น จึงอยากได้ข้อมูลทั้งจาก บรรดานักบิน และประชาชนที่เข้าไปใช้บริการสนามบินว่า มีอะไรที่เป็นอุปสรรค และทำให้เกิดภาวะเสี่ยงภัยทางการบินบ้าง ซึ่งเชื่อว่า นักบินทุกคนๆ จะรู้ว่าเมื่อทำการบินแล้วจะเกิดอะไรขึ้นบ้างจากปัญหาการทุจริตของสนามบิน ซึ่งตรงนี้จะมีการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อแก้ไขต่อไป เพราะถ้าปล่อยไว้ หากเกิดอุบัติเหตุทางการบินขึ้นมาจะทำให้ประเทศเสียหาย จึงต้องเร่งป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นภายหลัง
***********
เผย 2 สาเหตุ "สุวรรณภูมิ"ทรุดตัว
ชี้ทรายไม่ใช่ปัญหา-สั่งตรวจทุกตรม.
เดินหน้าพิสูจน์แท็กซี่เวย์และรันเวย์ร้าว เจาะตัวอย่างชั้นหิน-ดิน-ทรายพิสูจน์ความบกพร่องรันเวย์อย่างละเอียด คาดสรุปผลสอบภายใน 2สัปดาห์ ขณะที่ข้อสันนิษฐานเบื้องต้นพบ 2 ประเด็น "ออกแบบผิด-ไม่ได้ระบายน้ำออกหลังทำPVD" ส่วนปัญหาทรายไร้ข้อสงสัย ขณะที่กรรมการทอท.เผยต้องมีการตรวจทุกตร.ม.ในสนามบินสุวรรณภูมิเพื่อหาความบกพร่องซึ่งต้องใช้เวลา 6เดือน -1ปีเป็นอย่างน้อย
รศ.ต่อตระกูล ยมนาค กรรมการบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)หรือบอร์ดทอท.และในฐานะประธานคณะกรรมการกลางการตรวจสอบการชำรุดของแท็กซี่เวย์และรันเวย์ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กล่าวว่า คณะทำงานฯได้เริ่มการตรวจสอบแล้ว โดยได้เข้าไปขุดเจาะหลุมแรกพื้นที่ผิวรันเวย์ และแท็กซี่เวย์ด้วยความลึกถึงพื้นทรายประมาณ 70เซนติเมตร โดยจะมีการส่งทรายส่วนหนึ่งไปที่ห้องทดลองของกรมทางหลวง ซึ่งจะเร่งนำผลการตรวจสอบทรายเข้าไปพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการเพื่อให้ได้ข้อสรุปโดยเร็วที่สุด หากยังไม่สามารถหาสาเหตุในชั้นทรายได้ก็จะสั่งให้ขุดต่อไปจนถึงชั้นดินล่างสุดคือชั้นเดินเหนียวและจะนำผิวทุกชั้นมาตรวจสอบอย่างละเอียด และขุดหลุมในส่วนอื่นต่อไปอีก เพื่อสุ่มดูความบกพร่องในจุดต่างๆพร้อมกันไปด้วย ซึ่งคาดว่า1-2สัปดาห์จะได้ความคืบหน้าในเรื่องนี้
เชื่อ"ออกแบบ"ไม่ได้มาตรฐาน
สำหรับข้อสันนิษฐานเบื้องต้นที่ทำให้แท็กซี่เวย์-รันเวย์เกิดรอยร้าวร้าวและทรุดตัวนั้นน่าจะมาจาก 3 สาเหตุหลักคือ1.จากวัสดุก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน 2.การดูแลรักษาบกพร่อง 3.รวมถึงวิศวกรผู้ออกแบบ ซึ่งโดยส่วนตัวเชื่อว่าเกิดจากสาเหตุหลังเพราะพบรอยปริแตกอย่างต่อเนื่องแม้ในขณะที่น้ำไม่ท่วมจึงเสนอให้มีการเจาะเอาทรายและดินขึ้นมาตรวจสอบตามที่มีนักวิชาการเสนอก่อนหน้านี้ พร้อมเสนอให้กระทรวงคมนาคมตั้งคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยนักวิชาการจากหลายสถาบันเข้าร่วมพิสูจน์หาสาเหตุโดยมีรมว.คมนาคม เป็นประธานแทนการให้คณะกรรมการทอท.จัดตั้งเองเพื่อป้องกันข้อครหา
โดยผู้ทรงคุณวุฒิในการร่วมตรวจสอบประกอบด้วย สุรฉัตร สัมพันธรักษ์ วิศวกรผู้เชี่ยวชาญด้านดิน นพดล เกียรติเวช พลากร ไม้เลียง โดยทั้งสองเป็นตัวแทนจากวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ พล.อ.ท.อิทธพร ศุภวงศ์ กรรมการ ทอท. และนายสืบศักดิ์ พรหมบุญ ผู้เชี่ยวชาญปัญหาด้านดิน
นอกจากนี้แล้วยังมีอีกหลายสาเหตุที่จะต้องตรวจสอบเพิ่มเติมอาทิ ปัญหาผู้รับเหมา และปัญหาน้ำท่วม จะนำผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาตรวจสอบหาสาเหตุที่แท้จริงต่อไป โดยเฉพาะปัญหาการแตกร้าวที่เกิดขึ้นกับท่าอากาศยานที่ก่อสร้างใหม่ ในด้านหลักการมีโอกาสเกิดขึ้นได้ หากเป็นความผิดพลาดทางวิชาการ หรือการคำนวณไม่ดี แต่หากเป็นความผิดพลาดที่มีการทุจริตเข้าไปเกี่ยวข้อง หรือมีความผิดพลาดอยู่แล้ว ก็ต้องหาผู้กระทำผิดมาลงโทษต่อไป
อย่างไรก็ตามในส่วนมาตรการในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเบื้องต้นในการประชุมคณะกรรมการ ทอท.ที่ผ่านมาได้อนุมัติงบซ่อมแซมรันเวย์และแท็กซี่เวย์เบื้องต้นแล้ว10 ล้านบาท และแนวทางต่อไปขึ้นอยู่กับนโยบายกระทรวงคมนาคมและผู้ที่เกี่ยวข้องว่าต้องการให้มีการดำเนินการอย่างไร แต่ในทางปฏิบัติเพื่อป้องกันปัญหาการจราจรทางอากาศ จะต้องแบ่งการซ่อมแซมหรือปรับปรุงออกเป็น 2 ขั้นตอนคือการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และการแก้ไขปัญหาระยะยาว
สอบโครงสร้างอาคาร -หลังคาเพิ่มเติม !
รศ.ต่อตระกูล กล่าวอีกว่าได้รับรายงานถึงความไม่ปกติในหลายเรื่องอาทิ เรื่องโครงสร้างอาคาร และการออกแบบหลังคาที่ไม่ได้มาตรฐานก็จะต้องมีคณะทำงานเข้าไปตรวจสอบเพื่อให้เกิดความแน่ใจอีกครั้ง แต่จะไม่ใช่คณะทำงานชุดของตนเอง จะเป็นคณะทำงานอีกชุดที่มาทำหน้าที่ด้านนี้โดยเฉพาะ ซึ่งในวันศุกร์ที่ 2กุมภาพันธ์นี้คณะกรรมการกลางตรวจสอบสาเหตุแท็กซี่เวย์ รันเวย์ร้าว จะมีการประชุมร่วมกันที่สนามบินสุวรรณภูมิในเวลา 10.00 น. โดยจะมีการนำสื่อมวลชนเข้าไปดูขั้นตอนการทำงานในการตรวจสอบพื้นผิวรันเวย์และแท็กซี่เวย์ด้วย"สนามบินสุวรรณภูมิต้องตรวจสอบทุกอย่างที่อยู่บนพื้นดินจนกระทั่งเสาเข็ม "
สอบทุกตร.ม.ในพื้นสุวรรณภูมิ
ขณะที่ ยอดเยี่ยม เทพธรานนท์ กรรมการบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน)หรือทอท. กล่าวว่าการตรวจสอบทั้งหมดจะเป็นหน้าที่ของรศ.ต่อตระกูลและคณะทำงานฯเพื่อพิสูจน์ให้ทราบว่าสาเหตุแท็กซี่เวย์ร้าวนั้นมากจากสาเหตุอะไรกันแน่ เพราะถ้ารู้สาเหตุที่แท้จริงแล้วก็จะแก้ปัญหาได้ตรงจุดซึ่งคณะทำงานชุดนี้น่าจะสรุปรายละเอียดทั้งหมดได้ภายใน 2อาทิตย์นี้
อย่างไรก็ดีจากข้อมูลที่มีอยู่นั้นสามารถสันนิษฐานเบื้องต้นถึงสาเหตุแท็กซี่เวย์ร้าวน่าจะมาจาก 4 สาเหตุคือ การออกแบบผิด การก่อสร้างผิด วัสดุก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน และการดูแลรักษาผิดพลาด ซึ่งสาเหตุไม่ใช่ว่าจะมาจากจุดเดียวอาจจะมาทั้งการออกแบบผิดบวกวัสดุก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ต้องได้รับการตรวจสอบในทุกมิติ
"สนามบินสุวรรณภูมิเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่กว่า 500,000ตร.ม.จึงคิดว่าต้องมีจุดบกพร่องเพิ่มเติมแน่ จึงต้องนำความจริงมาพูดกันว่าอะไรมีปัญหาต้องแก้ไขไม่ใช่ปกปิดสิ่งที่ผิดพลาดโดยต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก ซึ่งคาดว่าต้องมีการตรวจสอบทุกพื้นตร.ม.ในสนามบินสุวรรณภูมิโดยจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 6เดือนถึง1ปีเป็นอย่างน้อย
2 สาเหตุสนามบินทรุดตัว
ด้านแหล่งข่าวจากทอท. ระบุว่า จากการที่ทีมงานเข้าไปขุดเจาะหลุมแรกพื้นที่ผิวรันเวย์ และแท็กซี่เวย์ด้วยความลึกถึงพื้นทรายประมาณ 70เซนติเมตร นั้น วิศวกรที่อยู่บริเวณนั้นต่างเชื่อว่าวัสดุหรือทรายต่าง ๆ นั้นได้มาตรฐานตามที่กำหนดไว้ แต่ปัญหาที่ทำให้เกิดจากการทรุดตัวนั้นน่าจะเกิดจากเหตุ 2 ประการคือ 1น้ำจากข้างล่างขึ้นมาทำให้เกิดการทรุดตัว 2.การออกแบบผิดพลาดในเรื่องของการนำวัสดุมาใช้ ไม่มีความเหนี่ยวแน่นหรือคงทนเพียงพอกับการรับน้ำหนักของเครื่องบิน
"ตัดปัญหาเรื่องทรายไปได้ทุกอย่างถูกต้อง ตอนนี้ต้องมาดูที่แบบและวิธีการก่อสร้าง เพราะน้ำที่ทะลักจากชั้นดินขึ้นมานั้น น่าจะเกิดจากหลังทำ pvd เพื่อเร่งการทรุดตัวของดินให้เร็วขึ้น ด้วยการระบายน้ำออกจากดินอ่อนให้ผ่านทาง แผ่น Vertical Drained เมื่อน้ำระบายออกหมด ก็จะเหลือเฉพาะส่วนที่เป็นเม็ดดินทำให้ดิน มี Strength สูงขึ้น แต่เมื่อทำการPavement แล้วอาจไม่ได้มีการระบายน้ำออกจึงทำให้น้ำทะลักสูงขึ้นมาได้ และอาจมีปัญหาว่าวัสดุเช่นพลาสติกที่ใช้นั้นไม่เหนียวพอหรือไม่สามารถรับหรือทนน้ำหนักกดทับจากการขึ้นลงของเครื่องบินจึงทำให้เกิดการทรุดตัว" แหล่งข่าวระบุ และย้ำว่า ขณะนี้ปัญหาของกลุ่มวิศวกรที่มีการพูดคุยกันก็คือเมื่อน้ำซึมขึ้นมาแล้วจะหาทางระบายออกได้อย่างไร
*************
รวมโคตรทุจริตสนามบินสุวรรณภูมิ
"ทักษิณ"และพวกพ้องไม่รอด!
เปิดตำนาน โคตรโกงในสนามบินหนองงูเห่า นักการเมือง-ขรก.-ผู้รับเหมา รวมหัวงาบงบรัฐ มาแล้วแทบทุกยุค คตส. มั่นใจงานนี้ไม่มีการคว้าน้ำเหลว เรียกร้องให้สังคมใจเย็น ทางด้านปชป. ชี้ "ทักษิณ"และพวกพ้องไม่รอดคดีอาญา-แพ่ง ภายใต้กฎหมายป้องกันฮั้ว
การที่สรรเสริญ วงศ์ชะอุ่ม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ออกมาระบุอย่างชัดเจนว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในเวลานี้ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ทั้งในแง่ความสะดวกและความปลอดภัยนั้นมีมากมายกว่า 100 รายการ นั้น ฟังดูอาจเป็นปัญหาที่มากมายมหาศาล แต่ขอบอกว่าหลายคนเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง...!
ยิ่งปัญหาเกิดขึ้นกับผู้ใช้บริการสนามบินสุวรรณภูมิมากเท่าใด ทั้งการใช้พื้นที่ภายในตัวสนามบินที่พบความขัดข้องมากมาย และล่าสุดประเด็นที่ได้กลายเป็นปัญหาหนักจนทำให้ที่ประชุมครม.มีมติให้ย้ายสายการบินภายประเทศเกือบทั้งหมดมาใช้สนามบินดอนเมืองเป็นการชั่วคราว ระหว่างนั้นก็จะได้ทำการปิดซ่อมแท็กซี่เวย์ และรันเวย์ ที่กำลังสร้างความกังวลต่อความปลอดภัยของผู้ใช้บริการทั้งคนไทยและชาวต่างชาติอย่างหนักในเวลานี้
จากการเปิดใช้สนามบินแห่งชาติสุวรรณภูมิเพียงระยะเวลาหลังเปิดอย่างเป็นทางการไม่กี่เดือนที่ผ่านมา นอกจากจะไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่น เป็นหน้าตาให้กับประเทศได้ตามที่หลายคนคาดหวังแล้ว ยังเป็นการชี้ให้เห็นคนในสังคมและต่างประเทศได้รับรู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มาจากปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น ที่มีการโกงกินของนักการเมืองในโครงการสนามบินแห่งชาติ แห่งนี้มาทุกยุคทุกสมัย...!
หากจะมีการบันทึกโครงการที่มีการทุจริตมากที่สุด ในประเทศไทย อาจต้องยกให้กับโครงการท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งที่2 หรือสนามบินสุวรรณภูมิ แห่งนี้อย่างแน่นอน เพราะว่ากันว่าตั้งแต่เริ่มนับหนึ่งในโครงการดังกล่าวผ่านร้อน ผ่านหนาวมากว่า 40 ปี จากหนังสือ "หนองงูเห่า โคตรคอร์รัปชั่น" ในเครือหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ได้เคยชำแหละการทุจริตคอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้น ครั้งแรกตั้งแต่เริ่มโครงการในปี 2503 สมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ แต่เมื่อมาถึงสมัยรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร เกิดเหตุการณ์การเมืองไม่สงบ 14 ตุลาคม 2516 เกิดกระแสการคัดค้านการก่อสร้างสนามบินหนองงูเห่า จนต้องยกเลิกไปในที่สุด
จากนั้นโครงการหนองงูเห่าได้ถูกนำกลับมาพิจารณาและเดินหน้าอีกครั้งในสมัยรัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ แต่ก็เกิดการสะดุดเป็นระยะๆเนื่องมากจากความไม่นอนทางการเมือง จนมาถึงยุครัฐบาล "ชวน1" โครงการก่อสร้างสนามบินแห่งนี้ก็ส่อแววเป็นรูปธรรมมากขึ้น และเมื่อโครงการได้เริ่มขึ้นอย่างจริงจัง ก็ดูเหมือนขบวนการทุจริตคอร์รัปชั่นได้เริ่มขึ้นพร้อมๆกัน
สำหรับกรณีการทุจริตที่อื้อฉาวมากที่สุดคงไม่พ้น "การประมูลถมทราย" โดยพบว่ามีการล็อกสเปกงานเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับผู้รับเหมาบางกลุ่มที่มีสายสัมพันธ์กับนักการเมือง ซึ่งจากความไม่โปร่งใสจากกรณีดังกล่าวส่งผลให้ราคาประมูลถมทรายสูงถึงคิวละ 500 บาท ทั้งที่ในขณะนั้นราคาทรายในตลาดอยู่ที่คิวละ220 บาทเท่านั้น.. การดำเนินงานถมทรายที่อื้อฉาวครั้งนี้เกิดขึ้นในขณะที่ยังมีรัฐบาลรักษาการ แต่กลับมีการอนุมัติการว่าจ้างเกิดขึ้น เพื่อเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนเพียงไม่กี่รายในขณะนั้น
จากกรณีการทุจริตโครงการถมทรายที่สร้างความสูญเสียให้กับงบประมาณของรัฐแล้ว ยังพบว่าระหว่างที่โครงการก่อสร้างสนามบิน ได้ดำเนินการผ่านไปในแต่ละช่วงรัฐบาล ก็จะมีนักการเมืองหมุนเวียนเปลี่ยนหน้าเข้ามารับผิดชอบในฐานะเจ้ากระทรวงคมนาคม ซึ่งแต่ละคน แต่ละพรรคการเมืองที่เข้ามาเกี่ยวข้องก็มักจะมองเห็น "ผลประโยชน์"มูลค่ามหาศาล ที่พวกเขาสามารถกอบโกยร่วมกับข้าราชการประจำกระทรวงหูกวาง คนในการท่าอากาศยานฯ และบริษัทท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ (บทม.)กันอย่างคึกคัก
และเมื่อมาถึงรัฐบาลยุคอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร ตั้งแต่ปี2544 จนถึงปลายปี2549 กลับยิ่งพบความไม่โปร่งใสในการดำเนินการก่อสร้างอย่างมากมาย โดยว่ากันว่าการทุจริต คอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้นในยุคนี้ ไม่เพียงแต่จะมีรัฐมนตรีในครม. เท่านั้นแต่ยังปรากฏว่า ญาติพี่น้องของอดีตนายกฯทักษิณ ก็ล้วนมีชื่อมีส่วนได้เสียแทบทั้งสิ้น แม้รัฐบาลไทยรักไทย จะพยายามเร่งรัดให้เปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมิอย่างเป็นทางการในวันที่ 28 ก.ย.2549 เพื่อหวังดึงรายได้เข้าประเทศและเป็นหน้าเป็นตาก็ตาม แต่จากนั้นเพียงไม่กี่เดือนผลพวงจากการทุจริตในโครงการต่างๆในอดีตได้ปรากฏเป็นความเดือดร้อน แก่ผู้ใช้บริการกันอย่างถ้วนหน้า โดยเฉพาะปัญหาในด้านความปลอดภัย...!
รวมมิตรโครงการคอร์รัปชั่นฉาว
ขณะนี้พบว่ามีโครงการทุจริตที่ยังอยู่ในระหว่างการตรวจสอบของคตส. ป.ป.ช.และสตง. ซึ่งอาจส่งผลให้บรรดานักการเมืองและผู้ที่เกี่ยวข้องกำลังนับถอยหลังรอการชี้ขาดจากคตส.อีกหลายเรื่อง ซึ่งประกอบด้วย
1.โครงการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดหรือ ซีทีเอ็กซ์ 9000 มูลค่า 2,600 ล้านบาท ทั้งที่ในข้อเท็จจริงแล้วโครงการดังกล่าวมีมูลค่าเพียง 1,200 ล้านบาทเท่านั้นตามราคาซื้อขายตามท้องตลาด
ล่าสุดทางคตส.ได้ดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษแล้วและถือเป็นผลงานของคตส.หลังใช้เวลาสืบสวนความผิดมานานกว่า3เดือน
2. โครงการให้บริการระบบไฟฟ้า 400Hz และระบบปรับอากาศ PC-AIR โดยพรรคประชาธิปัตย์ได้ยื่นเรื่องต่อสตง.ให้ตรวจสอบการให้สิทธิแก่เอกชนเพื่อดำเนินการในโครงการดังกล่าว ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)(ทอท.)แต่กลับพบความไม่โปร่งใสในการคัดเลือกบริษัทผู้ลงทุน
3.โครงการประมูลจ้างงานให้บริการรถเข็นกระเป๋าผู้โดยสารที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 534 ล้านบาท ซึ่งโครงการดังกล่าวพบว่ามีเอกชนหลายรายที่เป็นผู้ผลิตรถเข็นสัมภาระในสนามบินระดับโลกเข้าร่วม แต่มีการแก้ไขสเปกถึง 2 ครั้ง
4.โครงการประมูลก่อสร้างคลองระบายน้ำ สถานีสูบน้ำ สะพานน้ำยกระดับพร้อมอาคารประกอบส่วนที่ 3 ตามโครงการระบายน้ำบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ ระยะทาง 10 กิโลเมตร มูลค่า 8,000 ล้านบาท
5.โครงการแอร์พอร์ต ลิ้งค์ ในสนามบินสุวรรณภูมิ วงเงิน 2.59 ล้านบาท
6. โครงการระบบจ่ายไฟฟ้าและเครือข่ายท่อร้อยสายไฟ วงเงิน 2 พันล้านบาท
ชี้ "ทักษิณ-พวกพ้อง"ผิดทั้งอาญา-แพ่ง
ในฐานะมือติดตามและตรวจสอบการกระทำทุจริต ของพรรคประชาธิปัตย์ อลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคและ ประธานคณะทำงานตรวจสอบทุจริต เชื่อว่าจากกระบวนการติดตามและเอาผิดการทุจริตในสนามบินสุวรรณภูมิของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ(คตส.) คณะกรรมการป.ป.ช.และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) จะสามารถเอาผิดกับบุคคลที่เกี่ยวข้องได้ทั้งในทางอาญาและทางแพ่งอย่างแน่นอน ตั้งแต่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารการพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ (กทภ.) ) ไปจนถึงอดีตรัฐมนตรีที่เข้าไปพัวพันหาประโยชน์อีกหลายคน
" เวลานี้ต้องถือว่าคตส. ป.ป.ช.และสตง.เองได้เดินมาถูกทางแล้วสำหรับการติดตามสืบสวนสอบสวนการทุจริตในสนามบินสุวรรณภูมิแห่งนี้ ทั้งจากหลักฐานและร่องรอยการกระทำผิด การเอื้อประโยชน์ ไปจนถึงการให้สัมปทานกับพวกพ้อง และการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษในโครงการต่างๆ เชื่อว่าผู้กระทำผิดทั้งหมดตั้งแต่ตัวคุณทักษิณและอดีตรัฐมนตรีคมนาคม ที่เกี่ยวข้อง จะถูกดำเนินการทั้งในคดีอาญาและทางแพ่งอย่างแน่นอน"
นอกจากนี้เขายังเชื่อว่าจากการทำงานด้วยความรัดกุมของคตส. บวกกับการเลือกนำพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดการเสนอราคา พ.ศ.2542 หรือกฎหมายป้องกันการฮั้ว มาใช้ดำเนินการเอาผิดในคดีทุจริตสนามบินสุวรรณภูมิ ถือเป็นการใช้เครื่องมือได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมอย่างมาก
" ยังมีคดีอื่นๆอีก ทั้งโครงการเช่ารถลีมูซีนที่มีความไม่เหมาะสมทั้งในแง่รูปแบบโครงการ จนทำให้ทอท.ต้องแบกรับภาระเป็นเงินเกือบ 3000 ล้านบาท รวมทั้งคดีที่คาดว่าจะเป็นโซ่ตรวนสำหรับผู้กระทำผิดคือโครงการจ้างบริหารเขตปลอดอากรและศูนย์ลอจิสติกในสนามบินสุวรรณภูมิ มูลค่า 10,000 ล้านบาทโดยไม่มีการประมูลแข่งขันที่โปร่งใส ซึ่งประเด็นเหล่านี้ล้วนแล้วแต่โยงใยไปถึงตัวพ.ต.ท.ทักษิณ ทั้งสิ้น"
มั่นใจคตส.ไม่คว้าน้ำเหลว
ขณะที่แหล่งข่าวด้านกฎหมายจากสำนักงานคณะกรรมการตรวจสอบเงินแห่งชาติ (สตง.) ได้เปิดเผยกับผู้จัดการรายสัปดาห์ถึงการพิจารณาสืบสวนสอบสวนคดีทุจริตที่เกิดขึ้นในสนามบินหนองงูเห่าหลายคดี ว่า คดีต่างๆที่อยู่ในมือคตส.เวลานี้ อาทิโครงการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดหรือ ซีทีเอ็กซ์ 9000 มูลค่า 2,600 ล้านบาท โครงการท่อร้อยสายไฟฟ้าภายในสนามบิน โครงการแอร์พอร์ต ลิ้งค์ ในสนามบินสุวรรณภูมิ วงเงิน 2.59 ล้านบาท ที่พบว่ามีผู้เกี่ยวข้องด้วยหลายคน ทั้งนักการเมืองและเจ้าหน้าที่ระดับสูง นั้นเชื่อว่าท้ายที่สุดแล้วจะสามารถดำเนินการสั่งฟ้องกับบุคคลเหล่านี้ได้อย่างแน่นอน
"เราสามารถให้ความเชื่อมั่นกับประชาชนได้ว่าทางคตส.และสตง.จะทำงานด้วยความรอบคอบ โดยนำเอาบทเรียนความผิดพลาดที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เมื่อครั้งที่ดำเนินการยึดทรัพย์กับนักการเมืองสมัยรสช. ซึ่งสุดท้ายก็ไม่สามารถจับใครได้ แต่ครั้งนี้ต้องเข้าใจทางคตส.และสตง.เองซึ่งมีแต่นักกฎหมาย และทนายความที่ไม่ได้รับเงินทองมากมายจากใครไม่เหมือนคนอื่นที่มีทนายความ มีนักกฎหมายมากมายพร้อมที่รับทำงานให้อย่างสุดจิตสุดใจ
แต่เราทำงานด้วยความเสี่ยง จะถูกอุ้มเมื่อไหร่ก็ยังไม่รู้ ดังนั้นการที่เราจะทำงานด้วยความเร่งรีบ โดยขาดหลักฐาน ข้อเท็จจริง ก็จะยิ่งสร้างผลเสียทั้งต่อคนทำงานเองและที่สำคัญคือประเทศชาติ"
แหล่งข่าวระบุว่า ก่อนที่คณะกรรมการคตส.จะทำการพิจารณาสืบสวนสอบสวนคดีการทุจริตที่ยื่นฟ้องเข้ามาจนไปถึงขั้นตอนการชี้มูลความผิด มีชื่อบุคคลต่างๆเข้ามามีส่วนด้วยนั้น ทุกอย่างต้องมีหลักฐาน มีความชัดเจนมากพอก่อนที่จะชี้มูลความผิดออกมา
"ในคตส.เรามีนักกฎหมาย มีผู้ทรงคุณวุฒิถึง 4 ท่าน จะทำอะไรโดยไม่มีหลักฐานไม่ได้แน่นอน และในส่วนสตง.เองในฐานะที่ตัวเองอยู่กับเอกสาร และหลักฐานต่างๆมากมาย ยืนยันได้ว่าเราจะสามารถชี้มูลความผิดกับบุคคลต่างๆได้แน่นอน เพียงแต่จะให้เร็วทันใจใครคงไม่ได้ และขอให้ใจเย็นคดีไม่ขาดอายุความแน่
อย่างน้อยที่สุดในแค่ในขั้นส่งฟ้องศาลประชาชนก็จะได้ประโยชน์อยู่แล้ว ส่วนศาลจะตัดสินชี้ขาดออกมาอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจและอำนาจของศาล เราก็ถือว่าเราหมดภาระหน้าที่แล้ว"
อ่านข่าวต่อเนื่อง
- สายการบิน-ท่องเที่ยว ปรับยุทธศาสตร์ใหม่รับกลับดอนเมือง...
Posted by : อ่านแล้วน่ากลัวมาก:ผู้ใช้เครื่ , Date : 2007-02-01 , Time : 09:51:46 , From IP : 172.29.1.86
|