Extern หมายถึงนักศึกษาแพทย์เวชปฏิบัติ คือนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 6 ที่นอกจากมีหน้าที่เรียนแล้ว สิ่งสำคัญประการหนึ่งของการเป็นแพทย์ก็คือการฝึกปฏิบัติ โดยนัยแล้วเราไม่มีคำว่า extern แต่ศัพท์นี้เรียกกัน ตั้งแต่ปีการศึกษา2527 อั้นเป็นปีแรกที่หลักสูตรแพทย์เปลี่ยนระบบใหม่จากเดิมระบบ 2-2-2 และ intern 1 ปี (เตรียมแพทย์ 2 ปี ปรีคลินิก 2 ปี และ คลินิกอีก 2 ปี)เป็นระบบ 1-2-3 คือชั้นเตรียมแพทย์ 1 ปี ปรีคลินิกอีก 2 ปี และชั้น คลินิกอีก 3 ปี และปีที่ 6 นี่เองที่เราเรียกว่า extern และไม่มี intern ภายหลังการจบพบ.ก็ปฏิบัติงานเป็นแพทย์ได้เลย การปฏิบัติงานในชั้นปีที่ 6 ยุคนี้เลยเหมือน intern แต่ไม่ใช่ intern เพราะยังไม่จบพบ. และไม่ได้เงินเดือน extern เป็นชื่อที่เรียกกันสั้นๆเพื่อให้สื่อกันได้ง่ายแต่โดยแท้จริงแล้วไม่มีการบัญญัติศัพท์คำนี้ขึ้นมา ภายหลังระบบแบบนี้เป็นมานานนับสิบกว่าปี ได้เล็งเห็นว่าความรู้ทางการแพทย์มีมากขึ้น ความเจริญมากขึ้น ได้มีการจำกัดขอบเขตในภาคปฏิบัติมากขึ้น ดังนั้นจึงเล็งเห็นว่านักศึกษาแพทย์ที่จบชั้นปี 6 แล้วน่าจะได้มีการฝึกหัดในรพ.ใหญ๋ๆ อีก 1 ปี ก่อนที่จะไปปฏิบัติงานในรพ.ชุมชน จึงได้มีการออกระเบียบให้ผู้ที่จบการศึกษาพบ. ต้องปฏิบัติงานอีก 1 ปี คล้ายกับเป็น intern หรือแพทย์ฝึกหัด แต่ตอนนี้เราเรียกว่าแพทย์เพิ่มพูนทักษะ เป็นเวลา 1 ปี และในเวลา 1 ปีดังกล่าวนอกจากได้รับเงินเดือนแล้วยังได้อายุราชการ ซึ่งต่างจากแพทย์ฝึกหัดในอดีตที่ได้เงินเดือนแต่ยังไม่บรรจุ จนกว่าจะปฏิบัติงานจบ
intern หมายถึงแพทย์ฝึกหัด ภายหลังจบการศึกษาได้แพทยศาสตรบัณฑิตแล้ว จะต้องฝึกปฏิบัติงานก่อนหนึ่งปี เมื่อจบและผ่านการประเมินแล้วจะได้ใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม ที่เราเรียกกันว่าใบประกอบโรคศิลป์ ปัจจุบันไม่มีแล้วมีแต่แพทย์เพิ่มพูนทักษะ ซึ่งจะคล้ายๆกับ intern .ในสมัยก่อน
Resident หมายถึง แพทย์ประจำบ้านหมายถึงแพทย์ที่เข้ามาศึกษาต่อเพื่อเป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาใดสาขาหนึ่ง ระยะเวลาแล้วแต่สาขาวิชาเช่นอายุรศาสตร์ กุมารเวชศาสตร์ สูตินรีเวชวิทยา จะใช้เวลา 3 ปี บางสาขา 4 ปี เช่นศัลยศาสตร์ การสมัครเรียนต่อโดยการเป็นแพทย์ประจำบ้านต้องสมัครผ่านแพทยสภา เมื่อจบการศึกษาจะได้ วุฒิบัตรผู้ชำนาญการในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมสาขาต่างๆ ของแพทยสภา สถาบันที่เปิดสอนมีในกทม.และตามหัวเมืองใหญ่ ๆ
Fellow หรือ แพทย์ผู้ช่วยอาจารย์ หมายถึงแพทย์ที่จบสาขาเฉพาะทางแล้วยังต้องการเป็นแพทย์เฉพาะทางอนุสาขาย่อยลงไปอีกเช่นทางโรคหัวใจ โรคไต โรคปอด ของผู้ใหญ่ หรือของเด็ก เป็นต้น ใช้เวลาศึกษาต่ออีก 2-3 ปี แล้วแต่สาขา ภายหลังจบการศึกษาจะได้วุฒิบัตรผู้ชำนาญการสาขาย่อยๆ เนื่องจากไม่กี่ปีที่ผ่านมาแพทยสภาได้ควบคุมการเปิดเรียนดังนั้นจึ่งมีเพียงบางอนุสาขาที่ได้รับอนุมัติให้เปิดการสอน และได้รับการรับรองจากแพทยสภาเช่นโรคระบบหัวใจหลอดเลือดในเด็กและผู้ใหญ่ โรคระบบการหายใจในเด็กและผู้ใหญ่ โรคไต โลหิตวิทยา เป็นต้นมีบางอนุสาขาที่ไม่ได้รับการอนุมัติก็ยังเปิดทำการสอนแต่ไม่ได้รับการรับรองจากแพทยสภา พวกที่ไม่ได้รับการรับรองจะได้รับประกาศนียบัตรวิชาชีพเฉพาะทางสาขาต่างๆ
คิดว่าผู้อยากรู้คงได้ไอเดียบ้าง หรืออาจจะทำให้งงหากไม่ได้อยู่ในสายแพทย์ครับ
Posted by : วันวาน , Date : 2003-09-13 , Time : 23:58:29 , From IP : 203.113.76.13
|