ความคิดเห็นทั้งหมด : 1

แด่ "คุณชายอ๋วย 108 จุด"


   "ชาติวุฒิดี" "คุณวุฒิเยี่ยม" "ประสบการณ์การทำงานยอด" เพียงแค่ 2 เดือนเศษเท่านั้น ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล จากบุคคลที่ได้ชื่อว่ามีภาพลักษณ์ที่ดีจนได้เป็นถึงอดีตแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีนั้น กลับต้องมาอยู่ในสภาพที่ต้องถูกตั้งคำถามจากสังคมในเรื่อง ความสุจริต ความมีจริยธรรม และความสามารถในการบริหารงานในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

นับว่า "ฟ้ามีตา" จริงๆ ที่นายกรัฐมนตรีที่มาจากรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนี้ไม่ใช่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล!!!

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เคยได้แต่ทำงานในอาณาจักรธนาคารกสิกรไทย อาณาจักรของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า อาณาจักรคอมลิงค์ และอาณาจักรของธนาคารแห่งประเทศไทย ล้วนแล้วแต่เป็นองค์กรที่ประชาชนทั่วไปไม่สามารถจะไปมองเห็นวิธีการทำงานของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ได้

ภาพลักษณ์ที่ "ร่วงหล่น" และ "ลงเร็ว" นี้ก็เกิดขึ้นเพราะการกระทำของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เองส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งก็เพราะม.ร.ว.ปรีดิยาธร ได้กลายเป็นบุคคลที่ยืนในที่สาธารณะและมีไฟส่องสว่างในฐานะที่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่สำคัญเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ความผิดพลาดที่บั่นทอนภาพลักษณ์ของ ม.ร.ว.ปรีดียาธรในระยะเวลา 2 เดือนเศษ ประกอบไปด้วย 4 กรณีสำคัญ

กรณีที่หนึ่ง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล แสดงตัวค้ำประกันออกมาให้สัมภาษณ์ว่ากรณีการซื้อขายที่ดินที่รัชดาฯ นั้นโปร่งใส ถูกต้องทุกขั้นตอน ไม่มีความผิด ทั้งๆ ที่เรื่องดังกล่าวอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ (คตส.) จนในที่สุด คตส.ก็ได้ชี้มูลความผิดออกมาสวนทางในที่สุด

กรณีที่สอง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล แสดงตัวออกมาค้ำประกันอีกครั้งหนึ่งออกมาให้สัมภาษณ์กรณีของนายศิโรฒม์ สวัสดิ์พาณิชย์ ว่าสมควรจะดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพากรต่อไป และกรณีของการขายหุ้นชินคอร์ปที่ไม่ต้องเสียภาษีนั้น นายศิโรฒม์ไม่ได้มีความผิด และในที่สุดคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ก็ได้ชี้มูลว่ามีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ฐานจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย และระเบียบของทางราชการ และฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง และยังมีความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต จนที่ประชุมคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือนหรือ อ.ก.พ. ของกระทรวงการคลัง (อ.ก.พ.) มีมติไล่ข้าราชการกรมสรรพากรออกถึง 5 คนในท้ายที่สุด

เฉพาะสองกรณีข้างต้นก็ได้ทำให้หลายคนต้องตั้งคำถามว่าการออกมารับประกัน และแสดงท่าทีกดดันและแทรกแซงการทำงานขององค์กรตรวจสอบอิสระของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุลนั้น ได้ปรากฏผลต่อมาว่าองค์กรตรวจสอบอิสระได้ชี้มูลความผิดทั้งสองกรณี

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ควรจะรับผิดชอบอย่างไร?

กรณีที่สาม ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ดึงดันเอากฎหมายหวยบนดินให้ผ่านคณะรัฐมนตรี และพยายามที่จะให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติผ่านกฎหมายฉบับนี้ให้ได้ จนเกิดแรงต้านจากสังคมในหลายภาคส่วน ทำให้ภาพลักษณ์ของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร และรัฐบาลได้ถูกตั้งคำถามในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง และความโปร่งใสในการทำหวยออนไลน์ในอนาคต จนในท้ายที่สุด ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ต้องถูกแรงกดดันให้ถอนร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเรื่องหวยก็ได้กลายเป็นเรื่องที่ติดตัว ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล จาก"หม่อมอุ๋ย" ที่ต้อง "อ่วม" จาก "หวย" ทำให้สื่อสารมวลชนบางกลุ่มได้ขนานนามว่าเป็น "หม่อมอ๋วย" ในเวลาต่อมา

กรณีที่สี่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ได้ออกมาใช้มาตรการรุนแรงในการสกัดการเก็งกำไรค่าเงินบาท กีดกันทุนระยะสั้นจากต่างประเทศจนดัชนีตลาดหลักทรัพย์ร่วงลงวันเดียวถึง 108 จุด แล้วก็มากลับลำยกเลิกมาตรการนั้นในวันเดียวกัน ส่งผลทำให้ผู้ลงทุนต่างชาติขาดความเชื่อมั่นประเทศไทยอย่างรุนแรง

ทั้งจากรณี "หวย" และหุ้นตก "108 จุด" จึงไม่น่าแปลกใจที่จะมีคนตั้งสมญานามว่าเป็น "คุณชายอ๋วย 108 จุด!!!!"

"คุณชายอ๋วย 108 จุด" ได้ถูกหลายคนตั้งคำถามว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมานั้น เป็นเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ขาดความรอบคอบ หรือ มีวาระซ่อนเร้น กันแน่!!!

ฝ่ายที่เชื่อว่า "คุณชายอ๋วย 108 จุด" รู้เท่าไม่ถึงการณ์และขาดความรอบคอบก็อาจจะบอกว่าน่าเห็นใจ แต่จะปล่อยให้บริหารประเทศต่อไปโดยมีแต่ความไม่เชื่อมั่นในความเป็นมืออาชีพต่อไป ประเทศชาติก็อาจจะเสียหายได้

แต่สำหรับที่เชื่อว่า "คุณชายอ๋วย 108 จุด" เป็นคนที่มีประสบการณ์และฉลาดหลักแหลม ก็จะไม่เชื่อว่าการกระทำที่ได้ทำลงไปนั้นเป็นเพราะ "ไม่ฉลาด" หากแต่เป็นเพราะว่ามีวาระซ่อนเร้นบางประการ

ฝ่ายที่เชื่อว่ามีวาระซ่อนเร้นนั้นเป็นเพราะว่ามองไปที่ประวัติการทำงาน โดยเฉพาะในประเด็นที่ "เซี่ยงเส้าหลง" ได้เขียนทบทวนในคอลัมน์ "ข่าวปนคน คนปนข่าว" เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2549 ในหัวข้อ ย้อนรอย "หม่อมอุ๋ย" กับ "ค่าโง่-คอมลิงค์" ทำให้ได้มีข้อสงสัยว่า ม.ร.ว.ปรีดียาธรในฐานะเคยเป็นผู้บริหารธนาคารกสิกรไทยได้ปล่อยกู้ให้กับโครงการของคอมลิงค์ไม่โปร่งใสหรือไม่อย่างไร? และองค์กรอย่างคอมลิงค์ที่ได้แสวงหาผลประโยชน์และกำไรอย่างมหาศาลจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยนั้น ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เป็นผู้ถือหุ้นจำนวนเท่าใด?

เพราะถ้าในอดีตมีประวัติมีความไม่โปร่งใส และไม่ชอบธรรมในการแสวงหาผลประโยชน์ใส่ตัวเกิดขึ้นจริง คนที่ไปบริหารในองค์กรเหล่านั้นก็อาจจะถูกประเมินไปได้ว่ามีพฤติกรรมที่ไม่น่าไว้วางใจที่จะถูกมองไปว่ามีวาระซ่อนเร้นในการหาผลประโยชน์ได้

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เข้ามาเป็นกรรมการในคอมลิงค์ เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2535 และมาเป็นผู้ถือหุ้นในคอมลิงค์จำนวน 322,000 หุ้น เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2535 และก้าวมาเป็นถึงกรรมการผู้มีอำนาจลงนามในบริษัทในปี 2539 พร้อมๆ กับการย้ายบริษัทคอมลิงค์เข้ามาในอาคารตึกเอ็กซิมแบงก์ในเวลาต่อมา ซึ่งก็เป็นสถานที่เดียวกันกับการทำงานของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุลในฐานะกรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า ต่อมา ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ก็เข้ามารับหน้าที่เป็นผู้ว่าแบงก์ชาติจึงโอนหุ้นต่อไปให้ภรรยา ลูก ญาติ และบริษัทที่มีความสัมพันธ์กันจนถึงปัจจุบัน

กรณีของนายเริงชัย มะระกานนท์ ถูกธนาคารแห่งประเทศไทยสมัยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยที่ชื่อ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ฟ้องร้องค่าเสียหายถึง 186,000 ล้านบาท จากการปกป้องค่าเงินบาทในปี 2540 มาวันนี้ในปี 2549 เจ้าหน้าที่ระดับสูงของธนาคารแห่งประเทศไทยได้ให้สัมภาษณ์ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยได้ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนในรอบ 10 เดือนแรกของปีนี้ถึง 75,000 ล้านบาท ก็ได้ทำให้มีการคำนวณและคาดการณ์ว่าการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารแห่งประเทศไทยที่มาจากการแทรกแซงค่าเงินบาทนั้น อาจจะถึง 130,000 ล้านบาทในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมาภายใต้การบริหารงานของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล

ลำพังคนทั้งประเทศต้องฟ้องนายเริงชัย มะระกานนท์ให้รับผิดชอบแต่เพียงคนเดียวกับความเสียหายถึง 180,000 ล้านบาท ก็นับว่าเป็นเรื่องที่น่าสังเวชใจอยู่แล้วกับระบบการเงินของประเทศ วันนี้ถ้าเรื่องที่คล้ายคลึงแบบเดิมกลับมาเกิดขึ้นซ้ำซากอีกนับว่าเป็นเรื่องที่น่าหดหู่ยิ่งกว่าและยังไม่รู้ว่าจะต้องมีใครรับผิดชอบกับเรื่องดังกล่าวหรือไม่และอย่างไร?

ที่ดูเหมือนว่าจะเป็นที่เคลือบแคลงสงสัยในวงการตลาดหุ้นก็คือมีคนใกล้ชิด ม.ร.ว.ปรีดิยาธร รู้ข้อมูลภายในล่วงหน้า หรือไม่ว่าจะมีการใช้มาตรการรุนแรงและมีการเทขายหุ้นล่วงหน้า ช้อนซื้อเมื่อมีการประกาศมาตรการสกัดนักลงทุนระยะสั้น และมีใครได้ร่ำรวยอีกชั้นหนึ่งจากการยกเลิกมาตรการเข้มหรือไม่?

จะให้ดีหมดข้อครหาก็ควรจะเปิดเผยข้อมูลชี้แจงให้เด่นชัดว่าไม่มีใครรู้ข้อมูลภายใน และคนใกล้ชิดของม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ไม่ว่าจะเป็น "ภรรยา", "ลูก", และ "เพื่อน" ไม่มีใครได้ประโยชน์และร่ำรวยได้ในพริบตาจากกรณีดังกล่าว

จะให้ดีควรตอบโต้ข่าวในเรื่องการขายหุ้นล่วงหน้าก่อนเกิดเหตุของผู้ถือหุ้น "ธนชาติ" และ "ทรินิตี้" ว่ามีจริงหรือไม่? และควรรีบตรวจสอบด่วนกับการที่มีคนรู้ข้อมูลภายในเข้าช้อนซื้อหุ้นในช่วงบ่ายวันที่ 19 กันยายน 2549 หรือไม่ จะให้ดีควรตรวจสอบกรณีของ "เหมืองบ้านปู" ที่ราคาดีดสูงขึ้นก่อนรับข่าวดีอีกไม่กี่วันถัดมา

จะให้ดีกว่านั้นควรรีบชี้แจงก่อนที่จะมีการปรับคณะรัฐมนตรีจะได้บรรเทาข้อกล่าวหาว่าความผิดพลาดที่ผ่านมาเพราะ "ไม่รู้เรื่อง ไม่ฉลาด และไม่รอบคอบ" ดีกว่าถูกสังคมเข้าใจไปว่าเพราะ "มีวาระซ่อนเร้น" หาผลประโยชน์ให้ครอบครัวและพวกพ้อง

และไม่ว่าจะเป็นกรณี "ไม่รู้เรื่อง ไม่ฉลาด และไม่รอบคอบ" หรือ "มีวาระซ่อนเร้น" อย่างไรเสียก็ต้องแสดงความรับผิดชอบออกมาได้แล้วนะ "คุณชายอ๋วย 108 จุด!!!!"

โดย ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ 27 ธันวาคม 2549 17:12 น หนังสือพิมพ์: ผู้จัดการออนไลน์



Posted by : ... , Date : 2006-12-27 , Time : 20:31:07 , From IP : 222.123.148.45

ความคิดเห็นที่ : 1


   สรุปง่ายไปมั๊ง

Posted by : cabin_crew , Date : 2006-12-27 , Time : 21:18:16 , From IP : 172.29.4.83

ความเห็นจาก Social Network : Facebook


สงวนสิทธิ์การแสดงความคิดเห็นสำหรับ สมาชิกเท่านั้น
>>>>> Page loaded: 0.004 seconds. <<<<<