ความคิดเห็นทั้งหมด : 0

แพทยสภาร้อง สตง.ตรวจสอบการใช้งบฯ สปสช.


   
แพทยสภา เตรียมทำเรื่อง สตง. ตรวจสอบงบบริหารจัดการ สปสช.แค่เงินเดือนผู้บริหารสูงมากกว่านายกรัฐมนตรี ระบุขาดความโปร่งใสปกปิดบัญชีเงินเดือนมาตลอด ขณะที่เงินเดือนข้าราชการเปิดเผย พร้อมเสนอแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แยกเงินเดือน สปสช. จากงบบริหารให้ชัดเจน


พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา กรรมการแพทยสภากล่าวในระหว่างแถลงชี้แจงรายละเอียดการออกประกาศข้อเท็จจริงทางการแพทย์ ว่าอยากให้ทบทวน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพราะขณะนี้มีความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้น เนื่องจากผู้มีสิทธิในโครงการนี้เป็นคนไทยที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพใด ๆ จึงมีทั้งคนรวย คนไม่รวย และคนไม่จนได้สิทธินี้ ผู้มีสิทธิกว่า 47 ล้านคน มีคนจนจริงควรได้รับสวัสดิการรักษาพยาบาลราว 20 ล้านคน อีก 27 ล้านคนจนไม่จริง ทำให้แพทย์ต้องรับภาระหนัก ขณะนี้สถานพยาบาลที่ให้บริการในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าต่างประสบปัญหาขาดทุนนับหมื่นล้านบาทโดยสถานพยาบาลที่รับการส่งต่อผู้ป่วยต้องรับแบกรับภาระค่าใช้จ่ายการรักษาพอทำเรื่องไปเบิกงบค่าใช้จ่ายจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กลับได้รับน้อยกว่าที่จ่ายไป เช่น มีโรงพยาบาลแห่งหนึ่งรับรักษาผู้ป่วยในโครงการนี้ มีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น 190 ล้านบาท แต่เมื่อเรียกเก็บจาก สปสช. ได้แค่ 140 ล้านบาท ตามราคาที่ สปสช.กำหนด แต่เมื่อหมดปีงบประมาณแล้ว เพิ่งได้รับเงินเพียงแค่ 80 ล้านบาทเท่านั้น ดังนั้นหากรัฐบาล และ นพ.มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข อยากทราบตัวเลขปัญหาขาดทุนของโรงพยาบาลทุกแห่งก็สามารถขอได้จากโรงพยาบาลต่าง ๆ

“อยากให้รัฐบาล ป.ป.ช. และ ป.ป.ง. ตรวจสอบการใช้งบประมาณของ สปสช.ว่าใช้เงินของชาติอย่างคุ้มค่าหรือไม่ หรือว่าใช้งบประมาณไปในทางฟุ่มเฟื่อยเพราะเท่าที่ทราบ เพียงแค่ค่าบริหารจัดการภายใน สปสช.ก็สูงนับพันล้านบาทแล้ว” พญ.เชิดชู กล่าว

ด้าน นพ.สมศักดิ์ เจริญชัยปิยกุล รองเลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า ทางสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ควรเข้าตรวจสอบการบริหารของ สปสช.โดยเฉพาะในส่วนของค่าบริหารจัดการในสำนักงานสูงถึง 1,000 ล้านบาทต่อปี เป็นเงินภาษีของประชาชน เพราะเท่าที่ทราบ พนักงาน สปสช.ต่างได้รับเงินเดือนสูงมาก ทั้งที่ทำงานเพียงแค่ควบคุมงบประมาณและเมื่อเทียบกับข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขในฐานะผู้ให้บริการประชาชนกลับได้เงินเดือนน้อยมากจะเห็นได้ว่าแพทย์ที่ประจำตามโรงพยาบาลชุมชนซึ่งมีภาระหน้าที่หนัก หากเป็นแพทย์จบใหม่จะได้รับเงินเดือนเพียง 9,200 บาท แต่ถ้าต้องการเงินเดือน20,000 บาท จะต้องอยู่เวรแบบวันเว้นวัน ได้ค่าตอบแทนเวรละ 600 บาท เงินเดือนก็ขึ้นทีละขั้นราว 200-300 บาทต่อปี ซึ่งกว่าจะได้เงินเดือน 20,000 บาท ต้องใช้เวลาหลายปี

“บัญชีเงินเดือน สปสช. เป็นที่คลางแคลงใจมาโดยตลอดเท่าที่ทราบผู้บริหารบางคนของ สปสช. ได้รับเงินเดือนมากกว่านายกรัฐมนตรีโดยมีเงินเดือนสูงถึง 200,000 บาท ขณะที่นายกรัฐมนตรีได้รับเงินเดือนเพียงแค่140,000 บาทเท่านั้น นอกจากนี้ผู้แทน สปสช.ที่ประจำอยู่จังหวัดต่าง ๆ ยังมีเงินเดือนสูงถึง 120,000 บาท ดังนั้นอยากถามว่า ที่ผ่านมา ตลอดเวลา 4-5ปี มีใครเคยเห็นบัญชีเงินเดือนของ สปสช.หรือไม่ ทั้งที่ควรเป็นข้อมูลเปิดเผย แต่กลับมีการปกปิดมาโดยตลอดทั้งที่มีการเรียกร้องให้เปิดเผย ต่างจากหน่วยงานราชการหรือรัฐวิสาหกิจอื่น ๆ ซึ่งสามารถขอดูได้ ดังนั้น ควรมีการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพเพื่อให้มีการแยกเงินเดือนออกจากค่าใช้จ่ายรายหัวเพื่อให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้มีแพทย์กลุ่มหนึ่งใน สธ. พยายามที่จะแยกงานของ สธ. ออกไปบริหารอิสระเช่นเดียวกับ สปสช.เพราะจะทำให้ได้รับงบประมาณก้อนหนึ่งมาบริหารจัดการกันเองโดยไม่มีหน่วยงานควบคุม อย่างเช่นการผลักดัน ร่าง พรบ.สุขภาพแห่งชาติ และร่าง พรบ.การแพทย์ฉุกเฉิน ซึ่งจะมีอำนาจการตั้งเงินเดือนกันเองอย่างอิสระ อย่าง สปสช.ในขณะนี้ และเท่าที่ทราบในพื้นที่เริ่มทำงานลำบาก เพราะเหมือนมีนาย 2 คน คือ สธ. และ สปสช. หากมีคำสั่งที่ไปในทางเดียวกันก็ไม่เป็นปัญหา แต่หากเป็นคำสั่งที่ขัดแย้งกัน คนทำงานก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะหน่วยงานหนึ่งเป็นผู้บริหารตามสายงาน แต่อีกหน่วยงานหนึ่งเป็นผู้ให้งบประมาณ


http://manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9490000152351


Posted by : ผู้จัดการออนไลน์ , Date : 2006-12-12 , Time : 16:48:38 , From IP : 172.29.5.244

ความเห็นจาก Social Network : Facebook


สงวนสิทธิ์การแสดงความคิดเห็นสำหรับ สมาชิกเท่านั้น
>>>>> Page loaded: 0.003 seconds. <<<<<