ความคิดเห็นทั้งหมด : 9

ประกาศจำกัดสิทธิความเป็นมนุษย์ของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม


   ประกาศจำกัดสิทธิความเป็นมนุษย์ของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม

ประกาศจำกัดสิทธิความเป็นมนุษย์ของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม


เพื่อให้การดำเนินการทางการแพทย์เป็นไปด้วยความพึงพอใจของผู้ใช้บริการเท่าน ั้น จึงประกาศให้ทราบและให้ยึดเป็นหลักปฏิบัติดังนี้

ข้อ 1 ประกาศฉบับนี้ให้มีผลเฉพาะกับแพทย์ที่ยังทำหน้าที่ตรวจรักษาผู้ป่วยอยู่เท่า นั้น

ข้อ 2 แพทย์ต้องพยายามบ่งชี้โรคให้ผู้ป่วยทราบทุกกรณี ไม่ว่าขีดจำกัดในการแพทย์แผนปัจจุบันจะทำให้ไม่สามารถวินิจฉัยโรคได้ และต้องพยายามรักษาโรคให้หาย แม้ว่าโรคนั้นยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาดในปัจจุบัน ถ้าทำไม่ได้แพทย์ก็ต้องรับผิดชอบและรับโทษตามที่กำหนด ทั้งนี้ก็เพื่อให้ผู้รับบริการเกิดความสบายใจนั่นเอง

ข้อ 3 หากเกิดสภาวะอันไม่พึงประสงค์อันเป็นผลข้างเคียงจากการรักษา ไม่ว่าจะเป็นเหตุสุดวิสัยหรือไม่ แพทย์ก็ต้องรับโทษและชดใช้

ข้อ 4 ผู้ป่วยย่อมใช้ดุลยพินิจในการเลือกกระบวนการดำเนินการทางกา รแพทย์ รวมทั้งการปรึกษาหารือส่งต่อ โดยคำนึงถึงความรู้สึกของตนเองเป็นสำคัญ แพทย์ต้องปฏิบัติตามและรับผิดชอบ

ข้อ 5 เพื่อประโยชน์ต่อตัวผู้ป่วยเอง ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมมิอาจปฏิเสธการรักษาผู้ป่วยได้ แม้ว่าผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมจะอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถปฏิบัติงานได้ก็ตาม เช่น ล้มป่วยหนักต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล เป็นต้น

ข้อ 6 ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมไม่ควรฟ้องร้องผู้ป่วย ไม่ว่าผู้ป่วยจะกระทำละเมิดอย่างไรก็ตาม ทั้งนี้เพราะการฟ้องร้องผู้ป่วยผิดจารีตประเพณีอันดีงาม

ข้อ 7 ภาระงาน ข้อจำกัดของสถานพยาบาล ความพร้อมทางร่างกาย จิตใจ และสภาพแวดล้อม ของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ไม่สามารถนำมาเป็นข้ออ้างให้ผู้ป่วยละเว้นซึ่งการฟ้องร้องได้ ผู้ป่วยย่อมคำนึงถึงประโยชน์ของตนเองเป็นหลัก

ข้อ 8 การปกปิดข้อมูลด้านสุขภาพและข้อเท็จจริงต่างๆ ทางการแพทย์ของผู้ป่วยต่อผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมย่อมมีผลเสียต่อการวินิจฉั ยและการรักษา แต่ผู้ป่วยไม่ต้องร่วมรับผิดชอบการกระทำดังกล่าว

ข้อ 9 การไม่ปฏิบัติตนตามคำแนะนำของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ย่อมเป็นสิทธิของผู้ป่วย แต่หากทำให้ผลการรักษาไม่เป็นไปตามเป้าหมาย แพทย์ก็ต้องรับผิดชอบ

บทเฉพาะกาล สิ่งใดที่ยังมิได้ประกาศไว้ ณ ที่นี้ก็ให้นำหลัก"สิทธิผู้ป่วย"มาใช้ไปก่อนโดยไม่ต้องคำนึงถึงความเหมาะสมข องระบบเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข หรือความพร้อมของระบบสาธารณสุขแต่ประการใด


Posted by : ผมเอง , Date : 2006-12-11 , Time : 19:16:10 , From IP : 172.29.4.35

ความคิดเห็นที่ : 1


   ขจกท ย่อมาจากอะไรคับ

Posted by : เรียนอาจารย์ , Date : 2006-12-11 , Time : 21:04:04 , From IP : 172.29.4.220

ความคิดเห็นที่ : 2


   กรรมการสิทธิ-เอ็นจีโอเตรียมทำหนังสือถึง รมว.สธ.-แพทยสภา จี้ทบทวนประกาศสามารถปฏิเสธคนไข้ได้ ชี้ละเมิดสิทธิ ดูถูกสติปัญญาของผู้ป่วยไข้ว่าโง่ ผจก.มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเล็งใช้ช่องทาง กม.จัดการ ชี้เข้าข่ายคำสั่งทางปกครองที่อาจขัดต่อกฎหมาย

กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม. และนักพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ)เตรียมทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และแพทยสภาเพื่อเรียกร้องให้ทบทวนประกาศแพทยสภาใหม่ โดย นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา ที่ออกประกาศฉบับที่ 46/2549 มีสาระสำคัญคือให้แพทย์ปฏิเสธการรักษาผู้ป่วยได้ รวมถึงออกระเบียบบางข้อขึ้นมาเพื่อป้องกันและคุ้มครองแพทย์ไม่ให้ถูกผู้ป่วยฟ้องร้องในกรณีที่เกิดการรักษาผิดพลาด

ในการให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม นพ.ประดิษฐ์ เจริญไทยทวี กสม. กล่าวว่า จะทำหนังสือถึง นพ.มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะผู้ดูแลและกำกับแพทยสภา ให้ทบทวนประกาศฉบับดังกล่าว เพราะแพทยสภาไม่สามารถออกกฎระเบียบที่ละเมิดสิทธิของคนไข้ได้ รวมทั้งการออกประกาศฉบับนี้มีหลายข้อที่ไม่เห็นด้วยและอึดอัดใจ เพราะเนื้อหาโดยรวมของประกาศทั้งหมดไม่ได้เกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริงและการดำเนินการทางการแพทย์

นพ.ประดิษฐ์กล่าวว่า ประกาศฉบับนี้ มีสิ่งที่น่าสังเกตอยู่ 4 ข้อ คือตั้งแต่ข้อ 6-9 โดยข้อ 6 ที่กำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรฐานและจริยธรรมวิชาชีพ ย่อมมีสิทธิ และได้รับความคุ้มครองที่จะไม่ถูกกล่าวหาโดยไม่เป็นธรรม ควรเพิ่มเติมว่าการประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ไม่ได้มาตรฐานและไม่มีจริยธรรมตามวิชาชีพอาจจะถูกกล่าวหาหรือดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญาได้ ข้อ 7 ภาระงาน ข้อจำกัดของสถานพยาบาล ความพร้อมทางร่างกาย จิตใจ และสภาพแวดล้อม ของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ย่อมมีผลต่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการดำเนินการทางการแพทย์ หากแพทย์ยุ่งมาก หรือมีข้อจำกัดมาก ก็มีข้อ 4 ที่ระบุว่าผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมย่อมใช้ดุลพินิจในการเลือกกระบวนการดำเนินการทางการแพทย์ รวมทั้งการปรึกษาหารือส่งต่อโดยคำนึงถึงสิทธิและประโยชน์โดยรวมของผู้ป่วยรองรับอยู่แล้ว

"ประกาศนี้ควรเพิ่มอีกข้อคือผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมต้องชี้แจงรายละเอียด เหตุผลของการเจ็บป่วย ให้ผู้ป่วยเข้าใจด้วยมนุษยสัมพันธ์อันดีงาม ส่วนข้อ 8 และ 9 (การปกปิดข้อมูลของคนไข้ และการไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำแพทย์) ไม่จำเป็นต้องมีเพราะถือว่าแพทยสภาดูถูกสติปัญญาของผู้ป่วยอย่างมาก หรือดูถูกคนไข้ว่าโง่" นพ.ประดิษฐ์กล่าว

ส่วนการที่แพทยสภาออกประกาศฉบับนี้ในช่วงก่อนหมดวาระมีความเหมาะสมหรือไม่ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า "ผมไม่กล้าแสดงความคิดเห็นต่อกรณีที่ประกาศฉบับนี้ออกมาในช่วงท้ายก่อนหมดวาระของกรรมการแพทยสภาว่าเกี่ยวกับการหาเสียงเพื่อจะมาเป็นกรรมการแพทยสภาอีกครั้งหรือไม่ การออกประกาศฉบับนี้จะดีหรือเสีย แพทยสภาต้องคิดเอาเอง" นพ.ประดิษฐ์กล่าว

ขณะที่ น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ภายใน 2-3 วันนี้จะทำหนังสือถึงแพทยสภา เพื่อขอให้ทบทวนประกาศดังกล่าว เพราะเป็นการเปิดช่องให้เกิดความขัดแย้งระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยมากขึ้น โดยเฉพาะข้อ 5 ที่ระบุชัดเจนว่า แพทย์สามารถปฏิเสธการรักษาผู้ป่วยกรณีที่ไม่ฉุกเฉินได้ ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาตามมาอย่างมาก เพราะที่ผ่านมาปัญหาระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยที่ได้รับการร้องเรียน และฟ้องร้อง ทั้งในส่วนของมูลนิธิผู้บริโภค และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เกือบทั้งหมดจะมาจากกรณีที่ถกเถียงกันว่ากรณีใดที่เรียกว่าฉุกเฉิน หรือไม่ฉุกเฉินเกือบทั้งสิ้น จึงถือว่าเป็นปัญหาที่อ่อนไหวอย่างมาก อีกทั้งคนที่จะตีความว่าฉุกเฉินหรือไม่ก็เป็นอำนาจการวินิจฉัยของแพทย์ไม่ใช่ผู้ป่วย จึงอาจจะทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาได้ นำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงต่อไป

"แพทยสภาไม่มีอะไรทำหรืออย่างไร ทำไมต้องขยันคิดทำในสิ่งที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยให้เพิ่มมากขึ้น ทั้งที่ไม่ว่าที่ไหนในโลกแพทยสภาต้องมีหน้าที่คุ้มครองสิทธิประชาชนด้วยไม่ใช่ออกแต่หลักเกณฑ์ที่ปกป้องแพทย์ด้วยกันเอง เพื่อให้แพทย์พ้นผิดเท่านั้น และหากแพทยสภายังคงทำแบบนี้ต่อไป เห็นว่าแพทยสภาควรจะเปลี่ยนไปเป็นแพทยสมาคมเพื่อดูแลวิชาชีพแพทย์ด้วยกันเองมากกว่า ขณะเดียวกันแพทยสภาควรจะยกระดับจรรยาบรรณ และปรับบทบาทหน้าที่ของตน เพราะที่ผ่านมานอกจากไม่เคยทำหน้าที่เพื่อปกป้องประโยชน์ประชาชนแล้ว ยังไม่เป็นที่ยอมรับ เพราะคนส่วนใหญ่ยังแคลงใจในคำวินิจฉัยของแพทยสภาหลายกรณี" น.ส.สารีกล่าว

ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า หากแพทยสภาไม่ทบทวนประกาศ ก็จะดำเนินการทางกฎหมาย โดยกำลังพิจารณาอยู่ว่ามีช่องทางใดที่สามารถยื่นฟ้องได้หรือไม่ เนื่องจากประกาศดังกล่าวเป็นคำสั่งทางปกครองที่อาจขัดต่อกฎหมาย เพราะทำให้ประชาชนสูญเสียการเข้าถึงบริการการรักษาพยาบาล ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพราะระบุชัดเจนว่าหากไม่ฉุกเฉินแพทย์ก็สามารถปฏิเสธการรักษาได้ และการออกประกาศครั้งนี้ก็ไม่ได้เปิดรับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องเลย

ผู้สื่อข่าวถามว่า การออกประกาศครั้งนี้ก็เพื่อให้แพทย์ทำงานในข้อจำกัดที่มีอยู่ได้ เพื่อไม่ต้องกังวลเรื่องการฟ้องร้อง น.ส.สารีกล่าวว่า การออกประกาศเป็นการแก้ไขปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ขณะที่ปัญหาใหญ่ไม่ได้แก้ไข ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบตามมาแน่นอน ที่ผ่านมาแพทยสภาไม่เคยสนใจแก้ไขปัญหาโครงสร้างที่เป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาทั้งการกระจายแพทย์ ค่าตอบแทน รวมถึงข้อตกลงการค้าเสรีที่กระทบต่อบริการการรักษาพยาบาลของไทย เช่น การทำเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น ที่ให้คนญี่ปุ่นเข้ามารับบริการในไทย ซึ่งจะดึงแพทย์จากภาครัฐออกสู่เอกชนมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม เข้าใจว่ากรรมการแพทยสภาส่วนใหญ่ต่างก็อยู่ในโรงพยาบาลเอกชนอยู่แล้ว

นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า เชื่อว่าการออกประกาศฉบับดังกล่าวมีผลกับการเลือกตั้งแพทยสภาชุดใหม่อย่างแน่นอน เพราะเนื้อหาส่วนใหญ่ของประกาศเป็นการคุ้มครองแพทย์ที่ถูกผู้ป่วยฟ้องร้องในกรณีที่มีการรักษาผู้ป่วยผิดพลาด ซึ่งหากสังเกตจากสถิติการฟ้องร้องแล้วจะพบว่าแพทย์ที่ถูกฟ้องร้องส่วนใหญ่เป็นแพทย์จากโรงพยาบาลเอกชนแทบทั้งสิ้น ดังนั้น จึงชัดเจนว่าการออกประกาศดังกล่าวมีประโยชน์แอบแฝงเพื่อหาเสียงให้กับพวกพ้องในแพทยสภาด้วยกันเอง ดังนั้น เพื่อความเหมาะสมแพทยสภาควรจะเปิดเวทีให้ประชาพิจารณ์ประกาศฉบับดังกล่าวโดยเปิดกว้างให้วิชาชีพแพทย์ได้ร่วมแสดงความคิดเห็น

"โดยเฉพาะข้อ 5 ที่ระบุให้แพทย์สามารถปฏิเสธการรักษาผู้ป่วยได้ ถือว่าหมิ่นเหม่มากที่สุด เพราะตามปกติแพทย์รู้ศักยภาพตัวเองดีอยู่แล้วว่ามีความสามารถในการรักษาผู้ป่วยได้หรือไม่ ไม่จำเป็นต้องออกเป็นกฎระเบียบเป็นทางการให้ทุกคนปฏิบัติตาม ดังนั้น จึงชัดเจนว่าแพทยสภาออกประกาศออกมาเพราะมีอะไรแอบแฝงอยู่อย่างแน่นอน ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน คือกรณีของผู้ประกันตนในโครงการประกันสังคมที่มีประวัติป่วยเป็นโรคเรื้อรัง หรือโรครุนแรงต่างๆ โรงพยาบาลเอกชนมักจะบ่ายเบี่ยงไม่รับรักษาแต่จะส่งต่อไปยังโรงพยาบาลอื่น ซึ่งตีความหมายได้ว่าจะต้องเป็นเรื่องเงินๆ ทองๆ อย่างแน่นอน" นพ.เกรียงศักดิ์กล่าว

นางปรียนันท์ (ดลพร) ล้อเสริมวัฒนา เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ กล่าวว่า ในวันที่ 6 ธันวาคมนี้ จะเรียกประชุมเครือข่ายเพื่อมีมติในเรื่องนี้ต่อไป อย่างไรก็ตาม ประกาศฉบับดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าแพทยสภาปกป้องแพทย์มากกว่าประชาชน เพราะองค์การอนามัยโลกเองก็ยอมรับแล้วว่าการที่แพทย์ทำคนไข้ตายโดยความผิดพลาดจากการรักษาเป็นสาเหตุการตายอันดับที่ 8-9 ของทุกประเทศทั่วโลก และการประกาศข้อเท็จจริงทางการแพทย์จึงเป็นประกาศสิทธิแพทย์ ซึ่งแพทย์พยายามเรียกร้องมาตลอด ทั้งที่สิทธิเหล่านี้เป็นสิทธิที่มีอยู่เดิมของแพทย์ เหมือนสิทธิของผู้ป่วยที่มีอยู่แล้วไม่ต้องประกาศก็ได้

"ประกาศดังกล่าวถือว่าเป็นเรื่องตลก เพราะเป็นการประกาศฝ่ายเดียวไม่คิดว่าสังคมและผู้ป่วยจะรับได้หรือไม่ ถ้าแพทย์ออกประกาศแบบนี้ได้ ต่อไปคงจะมีข้อเท็จจริงของรถเมล์ออกมาบ้าง คือ ขับรถทับคนตายแล้วไม่มีความผิด และคงจะมีคนไข้ออกประกาศในลักษณะนี้อีกเยอะ ตนคิดว่าการออกประกาศเพื่อต้องการหาเสียงมากกว่า เพราะอยู่ในช่วงเลือกตั้งกรรมการแพทยสภาชุดใหม่" นางปรียนันท์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จะมีการเลือกตั้งกรรมการแพทยสภา ชุดใหม่แทนกรรมการแพทยสภาชุดปัจจุบันที่จะหมดวาระลง ในเดือนมกราคม 2550 และหมดเขตการรับสมัครตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2549 มีผู้สมัครรวมทั้งสิ้น 46 คน จากการตรวจสอบรายชื่อผู้สมัคร พบว่าเป็นกรรมการแพทยสภาชุดปัจจุบันที่มาจากการเลือกตั้งถึง 18 คน คือ 1.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา 2.นพ.เอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์ 3.นพ.ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ 4.พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ 5.พญ.อนงค์ เพียรกิจกรรม 6.พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร 7.นพ.พินิจ หิรัญโชติ 8.นพ.วิสูตร ฟองศิริไพบูลย์ 9.นพ.สมศักดิ์ เจริญชัยปิยกุล 10.นพ.พินิจ กุลละวนิชย์ 11.นพ.วิทยา ศรีดามา 12. นพ.สมพล พงศ์ไทย 13.นพ.อำนาจ กุสลานันท์ 14.นพ.จอมจักร จันทรสกุล 15.นพ.อรุณ โรจนสกุล 16.นพ.สมหวัง ด่านชัยวิจิตร 17.นพ.เสรี หงษ์หยก 18.พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา และ 19.นพ.วิรัติ พาณิชย์พงษ์ ต่างลงสมัครรับเลือกตั้งในครั้งนี้ด้วย โดยการเลือกตั้งทางสำนักงานเลขาธิการแพทยสภา จะได้ส่งบัตรเลือกตั้ง รายละเอียดของผู้สมัครรับเลือกตั้ง พร้อมซองส่งบัตรเลือกตั้งกลับให้สมาชิกภายในวันที่ 12 ธันวาคมนี้ โดยสมาชิกจะส่งบัตรเลือกตั้งกลับคืนทางไปรษณีย์ได้ตั้งแต่วันที่รับบัตรลงคะแนนเลือกตั้ง โดยต้องส่งถึงสำนักงานเลขาธิการแพทยสภาภายในวันที่ 16 มกราคม 2550 และจะมีการนับคะแนนในวันที่ 17 มกราคม 2550

มติชน 6 ธันวาคม 2549 ปีที่ 29 ฉบับที่ 10497


Posted by : vt8ihk; , Date : 2006-12-11 , Time : 21:38:36 , From IP : 125-25-27-229.adsl.t

ความคิดเห็นที่ : 3


   แพทย์ก็คนนะครับ
ไ่ม่ใช่ทาส


Posted by : DreamCatcher , Date : 2006-12-12 , Time : 07:20:57 , From IP : 172.29.4.135

ความคิดเห็นที่ : 4


   นับตั้งแต่สมัตรเขาเรียนแพทย์ก็อ้างว่าเพื่อช่วยเหลือรักษาคน-ไม่ว่าใคร พูดกันได้สวยหรู แล้วไง เมื่อได้เป็นแพทย์แล้ว ที่อ้างไว้ลืมไปหมดหรือไร

เหล่ากก.แพทยสภาเป็นอาจารย์ผู้ใหญ่ที่มีบทบาทสำคัญในการผลิตแพทย์ หากมีทัศนคติแบบนี้ สมควรหรือที่จะเลือกให้เขาเหล่านี้เข้าเป็นกก.แพทยสภาอีก การแพทย์ไทยจะตกต่ำไปอีกเท่าไร

ปัญหาที่เกิดระหว่างแพทย์-ผู้ป่วย/ญาติ ผู้บริหารแพทย์สภา (รวมทั้งนายกฯ) ก็ได้ให้ข้อมูลต่อแพทย์ทั้งหลายว่า เกิดจากปัญหาการสี่อสาร (communication) ที่ไม่มี/ไม่เหมาะสม/ไม่พอเพียง แพทยสภาควรที่จะแก้ด้านนี้

แพทย์ทั้งหลายควรพิจารณากัน และส่งเสียงหรือไม่


Posted by : เพราะแพทย์เป็นคน , E-mail : (ที่สมัครใจมาดูแลรักษา"คน") ,
Date : 2006-12-12 , Time : 07:58:26 , From IP : 61.19.65.191


ความคิดเห็นที่ : 5


   ไม่ทราบจุดมุ่งหมาย "ทั้งหมด" ของแพทยสภา แต่มีสองสามประเด็นที่กำลังคิดไตร่ตรองอยู่

เรื่องแรก การคุ้มครองโดย กม. นั้นเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญของประชาชนชาวไทยทุกคนอยู่แล้ว การใส่ร้าย หรือการกล่าวหาที่ไม่เป็นธรรม จะเกิดขึ้น แม้ว่าจะมีกม. ป้องกันอยู่แล้วก็ตาม แต่เมื่อเกิดขึ้น คนที่ทำถูกต้องตามกม. ตามหน้าที่ ตามความรับผิดชอบก็จะได้รับการพิจารณาอย่างเป็นธรรม ผมไม่แน่ใจว่าเราต้องการอะไร "เพิ่มเติม" จากตรงนี้จากประกาศฉบับใหม่นี้อย่างไร

เรื่องที่สอง ถ้าพิจารณาถึงเหตุการณ์ฟ้องร้อง ส่วนใหญ่เกิดจากการสื่อสารที่ล้มเหลวระหว่างแพทย์และผู้ป่วยหรือญาติ ความเข้าใจซึ่งกันและกันนี้จะไม่สามารถสร้างได้จากการร่างกฏหมาย หรือมีประกาศรับรอง และอาจจะเป็นดาบสองคม ก็คือทำให้เกิดความรู้สึกว่า เธอจะเข้าใจหรือไม่เข้าใจ แต่เอาเป็นว่าหมอทำถูกตาม กม. คุ้มครองฉบับนี้ก็แล้วกัน ผมคิดว่าถ้ามีช่องทางที่ทำให้คิดแบบนี้ได้ ประกาศฉบับนี้ก็จะหมิ่นเหม่ต่อการทำให้เกิดอุปสรรค และสิ่งขวางกั้นในการทำความเข้าใจมากขึ้น ในภายหน้าถ้าหมอจำเป็นต้อง refer เพราะเหตุต่างๆที่กล่าวมา (ไม่พร้อม ทำไม่ได้ ทำไม่เป็น ฯลฯ) แทนที่ผป.และญาติจะรับฟังอย่างพยายามเข้าใจ อาจจะเริ่มต้นด้วยการคิดว่าหมอกำลังจะ revoke กฏหมายข้อนี้มาใช้กับตนเองแล้วนี่นา การสนทนาให้เข้าใจก็จะยากยิ่งขึ้น

ข้อ 4 ที่ระบุว่าผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมย่อมใช้ดุลพินิจในการเลือกกระบวนการดำเนินการทางการแพทย์ รวมทั้งการปรึกษาหารือส่งต่อโดยคำนึงถึงสิทธิและประโยชน์โดยรวมของผู้ป่วยรองรับอยู่แล้ว

จากข้อนี้ น่าจะครอบคลุมสิ่งที่เขียนเพิ่มเติมมาหรือไม่ หรือถ้าให้ดี ก็อาจจะจะกลายเป็น paragraph ย่อยเพิ่มเข้าไปในข้อสี่นี้ว่ากรณีเช่นไรบ้าง ที่ผป.น่าจะได้ประโยชน์มากที่สุดจากการ refer (ไม่ควรใช้คำว่าหมอมีสิทธิปฏิเสธ เพราะนั่นไม่ใช่ "เจตนาของการปฏิเสธ" น่าจะเน้นว่า "ทำไม" ถึงแนะนำให้ไปรักษากับแพทย์ท่านอื่น จะตรงกับพฤติกรรมที่ถูกต้อง และนำไปสู่การ "อธิบาย" ผป.และญาติให้ตรงประเด็น)

ผมเองก็คิดว่าแพทย์ไม่ใช่ทาสเหมือนกันครับ แต่เราได้ commit ในการเข้ามาสู้วงการนี้ด้วยปรัชญาที่ต่างจากวิชาชีพอื่น และเกียรติของเราจะมีรากฐานอยู่บนการรักษาสัญญานั้นๆ น่าจะทำให้ศักดิ์ศรีของเราเหนือกว่าทาสอยู่หลายขุม





Posted by : Phoenix , Date : 2006-12-12 , Time : 08:19:47 , From IP : 172.29.3.231

ความคิดเห็นที่ : 6




   หรือว่าแพทยสภาป่วย

โดย นพ.อำพล จินดาวัฒนะ อดีตกรรมการแพทยสภา สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

เมื่อไม่กี่วันมานี้ คณะกรรมการแพทยสภาชุดที่มี ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา เป็นนายกได้ออกประกาศแพทยสภา เรื่อง ข้อเท็จจริงทางการแพทย์ จำนวน 9 ข้อ แม้ว่าเลี่ยงใช้ว่า ข้อเท็จจริงทางการแพทย์ แต่ในเนื้อหาสาระก็ดูเหมือนเป็นการประกาศเรื่องสิทธิของแพทย์กลายๆ นั่นเอง

ไม่กี่วันต่อมาแพทยสภาก็ได้รับพวงหรีดดำจากเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ และสังคมวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้อย่างหนัก

ในอดีตที่ผ่านมา วิชาชีพแพทย์ซึ่งสมเด็จพระราชบิดาทรงสอนให้แพทย์คิดถึงประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่ 1 ประโยชน์ของตนเป็นกิจที่ 2 วิชาชีพแพทย์จึงเป็นวิชาชีพที่วางอยู่บนการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานทางวิชาการอย่างจริงจังและต่อเนื่องควบคู่ไปกับการยกระดับคุณธรรมจริยธรรมของวิชาชีพ เพื่อให้ทำหน้าที่บริการประชาชน ดูแลผู้ป่วยให้ได้รับประโยชน์สูงสุดมาโดยตลอด เมื่อปี พ.ศ.2541 แพทยสภาร่วมกับองค์กรอื่นอันประกอบด้วย สภาการพยาบาล สภาเภสัชกรรม ทันตแพทยสภา คณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะ ก็ได้ร่วมกันออก "ประกาศสิทธิผู้ป่วย" เพื่อให้คำมั่นสัญญากับสังคมว่า ผู้ประกอบวิชาชีพจะให้การดูแลผู้ป่วยและประชาชนอย่างดีที่สุด โดยไม่เคยมีนัยยะของการเรียกร้องสิทธิของพวกตนเอง

การที่อาชีพใดอาชีพหนึ่ง ได้รับการยอมรับให้เป็น "วิชาชีพ" โดยอนุญาตให้ออกกฎหมายวิชาชีพมาดูแลกันเอง นั่นหมายความว่า สังคมให้เกียรติว่าอาชีพนั้นต้องมีการพัฒนาและควบคุมกำกับคุณภาพมาตรฐานทางวิชาการอย่างลึกซึ้ง ควบคู่ไปกับการพัฒนาและควบคุมกำกับจริยธรรมอย่างเข้มข้นไปพร้อมๆ กันด้วย เป็นสายตาที่สังคมมองอย่างให้เกียรติในวุฒิภาวะของวิชาชีพเหล่านั้น ซึ่งอาชีพแพทย์ก็ได้รับเกียรตินี้มานานทีเดียว

ในขณะที่สังคมให้เกียรติอนุญาตให้มีกฎหมายควบคุมดูแลกันเองในเชิงวิชาชีพ บุคคลในทุกวิชาชีพมิได้เป็นอิสระอย่างสิ้นเชิงจากสังคม ตรงกันข้ามบุคคลในวิชาชีพยังต้องอยู่ภายใต้บังคับใช้ของกฎหมาย กฎเกณฑ์ กติกา จารีต ประเพณี วัฒนธรรมของสังคม เหมือนปลาที่ยังคงต้องอาศัยน้ำอยู่ตลอดเวลา จึงจะมีชีวิตอยู่ได้

ในอดีตที่ผ่านมา วิชาชีพแพทย์ได้รับเกียรตินี้จากสังคมอย่างสูง ผู้คนยกมือไหว้แพทย์ได้ไม่ว่าจะอายุมากหรือน้อย เพราะวิชาชีพแพทย์ได้แสดงถึงความมีเมตตากรุณา มีน้ำใจ มีความรู้ดี มีความคิดดี เสียสละ เป็นผู้นำทางสติปัญญา รักษาโรคได้ทั้งทางกายและทางจิตวิญญาณ

เมื่อ 30 ปีก่อน สมัยผมออกไปทำงานในชนบท แม้เป็นแพทย์จบใหม่ ผมก็ได้รับเกียรติอันสูงส่งนี้จากชาวบ้าน นั่นเป็นเพราะครูบาอาจารย์รุ่นพี่ได้สั่งสมคุณความดีในการตั้งจิตตั้งใจช่วยเหลือผู้ป่วยดูแลประชาชน ดังที่สมเด็จพระราชบิดาทรงสอนมาโดยตลอด พวกเราไม่เคยคิดถึงสิทธิหรือสิ่งที่จะไปเรียกร้องจากคนไข้หรือประชาชน ด้วยเราตระหนักว่าเราเรียนวิชาชีพนี้มาก็เพื่อมาช่วยเหลือผู้ป่วยและประชาชน ไม่มีใครบังคับให้เรามาเรียน แต่เราเลือกมาเรียนเอง

ถ้าจะมีการเรียกร้องบ้าง เราก็จะเรียกร้องกับต้นสังกัด เรียกร้องกับรัฐบาลให้ดูแลส่งเสริมสนับสนุนพวกเราให้ทำงานเพื่อประชาชนให้ได้ดีที่สุด แต่เราไม่เรียกร้องจากประชาชนที่เรามีหน้าที่ดูแลเขา

ความรู้สึกนึกคิดที่จะมองผู้ป่วยหรือประชาชนอยู่คนละข้างไม่เคยมี

องค์กรแพทยสภาในยุคอดีตก็มักจะถูกพัฒนาให้เป็นกลไกกลางระหว่างแพทย์กับประชาชนทำหน้าที่หลักในการพัฒนามาตรฐานทางวิชาการและมาตรฐานจริยธรรมเพื่อคุ้มครองให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน ไม่ใช่การปกป้องหรือยืนอยู่เฉพาะข้างแพทย์ในลักษณะคล้ายสมาคมหรือสหภาพแพทย์

ซึ่งนั่นคือ จุดยืนของสภาที่ควรจะเป็นที่สังคมให้เกียรติและยอมให้มีกฎหมายเฉพาะ

จริงอยู่ วันนี้สังคมเปลี่ยนไป ปัญหาต่างๆ สลับซับซ้อนย้อนมาก สังคมที่เคยมีวัฒนธรรมประเพณีพึ่งพาอาศัย ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เริ่มเปลี่ยนไปเป็นสังคมสิทธิเหมือนในสหรัฐอเมริกามากขึ้น สภาพที่ผู้ป่วยฟ้องแพทย์มีมากขึ้น แพทย์ต้องทำงานหนัก แต่ขวัญกำลังใจตกต่ำ ไม่พึงพอใจในศักยภาพที่ได้รับเมื่อมองเทียบเคียงกับการทำงานอื่นมีมากขึ้น ในขณะที่ความคาดหวังของสังคมที่มีต่อแพทย์นั้นยังคงสูงอยู่เช่นเดิม

คนในวิชาชีพแพทย์ส่วนหนึ่งจึงอาจเริ่มสั่นคลอนในหลักคิดและหลักปฏิบัติ

เมื่อไม่นานมานี้ ผมมีโอกาสไปดูงานการบริการทางการแพทย์ของโรงพยาบาลฉือจี้ที่ไต้หวันกับคณะแพทย์ไทยหลายสิบคน เราพบว่าแพทย์ที่นั่นเขาเน้นพัฒนาบริการด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ ตั้งใจบริการผู้ป่วยอย่างสุดกำลังความสามารถด้วยหัวจิตหัวใจ โดยถือว่าได้ทำบุญทำกุศลตลอดเวลาเมื่อได้ดูแลผู้ป่วย เรื่องการเรียกร้องสิทธิ ค่าตอบแทน ขวัญกำลังใจ ไม่เคยมีอยู่ในหัวของพวกเขา สภาพอย่างนั้นการฟ้องร้องแพทย์ไม่มีเกิดขึ้น เพราะในสายตาของผู้ป่วยและประชาชนแพทย์ของเขายังคงเป็นเหมือนเทพเจ้าแห่งความเมตตากรุณา

ผมไม่ได้หวังว่าวงการแพทย์ของไทยจะพัฒนากลับไปสู่จุดอย่างที่ชาวฉือจี้ที่ไต้หวันเขาเป็นกัน แต่ผมก็ไม่อยากจะเห็นวงการแพทย์ของเราเดินไปอย่าง "ปลาที่แสดงความเป็นปฏิปักษ์กับน้ำ" เช่นที่กำลังเกิดขึ้น

ถ้าเป็นแพทย์รายบุคคลคิดอะไร ทำอะไร ที่อาจคลาดเคลื่อนจากสิ่งที่ควรจะเป็นไปบ้าง ก็ยังไม่หนักหนาเพราะเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล

แต่ถ้าองค์กรที่สังคมให้เกียรติและคาดหวัง คิดอะไร ทำอะไรที่ดูว่าอาจจะคลาดเคลื่อนไปจากที่ควรจะเป็น นับเป็นเรื่องใหญ่และน่าหนักใจ

ผมหวังเพียงแค่ว่าจะเหมือนร่างกายของคนเรา คือเมื่อร่างกายป่วยไข้ จิตใจก็ว้าวุ่น คิดอะไรทำอะไรอาจผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปได้บ้าง แต่เมื่อหายป่วย ทุกองคาพยพกลับมาเป็นปกติทุกอย่างจะกลับมาดีดังเดิม

ถ้าแพทย์สภาป่วย ผมก็อยากให้หายป่วยโดยเร็ว ขออย่าได้ป่วยเรื้อรังหรือป่วยหนักจนเกินเยียวยาเลย


Posted by : หรือว่าแพทยสภาป่วย , Date : 2006-12-12 , Time : 09:35:01 , From IP : 172.29.7.206

ความคิดเห็นที่ : 7


   ทราบว่าทางแพทยสภาจะมีรายละเอียดออกมาเร็วๆนี้ ทุกฝ่ายน่าจะอ่านด้วยใจเป็นกลาง

Posted by : มณีแดง , Date : 2006-12-12 , Time : 23:34:26 , From IP : 172.29.7.61

ความคิดเห็นที่ : 8


   การเสริมสร้างมาตาฐาน เป็นกลางระหว่างแพทย์-ประชาชน นั่นแหละหน้าที่แพทยสภา มิใช่แยก-ขยายถ่างความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์-ประชาชนให้ถ่างออกๆ

Posted by : ใช่แล้ว....ต้องเป็นกลาง , E-mail : (สร้างความมั่นใจให้ทั้งสองฝ่าย) ,
Date : 2006-12-14 , Time : 07:24:02 , From IP : 61.19.65.142


ความคิดเห็นที่ : 9


   การเสริมสร้างมาตาฐาน เป็นกลางระหว่างแพทย์-ประชาชน นั่นแหละหน้าที่แพทยสภา มิใช่แยก-ขยายถ่างความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์-ประชาชนให้ถ่างออกๆ

Posted by : ใช่แล้ว....ต้องเป็นกลาง , E-mail : (สร้างความมั่นใจให้ทั้งสองฝ่าย) ,
Date : 2006-12-14 , Time : 07:27:16 , From IP : 61.19.65.142


ความเห็นจาก Social Network : Facebook


สงวนสิทธิ์การแสดงความคิดเห็นสำหรับ สมาชิกเท่านั้น
>>>>> Page loaded: 0.007 seconds. <<<<<