กาฬโรคปอด Pneumonic Plagueกาฬโรคปอด Pneumonic Plague ข่าวด่วน : เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของจีนเปิดเผยว่า พบผู้เสียชีวิตจากกาฬโรคปอด (Pneumonic plague) ในจีนเป็นรายที่ 3 แล้ว โดยผู้เสียชีวิตรายล่าสุดเป็นชายวัย 64 ปี อาศัยอยู่ในเมืองจื่อเคอทัน มลฑลซิงไห่ ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน อาการ: ไข้สูง หนาวสั่น ปวดหัวรุนแรง อาการไอเกิดขึ้นใน 24 ชั่วโมง เสมหะตอนแรกเหนียวใสแล้วกลายเป็นสีสนิมหรือแดงสด มักไม่มีปื้นแผลในปอด ถ้าไม่รักษา: ตายภายใน 48 ชั่วโมง การวินิจฉัยแยกโรค : ปอดบวมจากเชื้อแบคทีเรีย Pneumococci หรือตัวอื่น สาเหตุ : จากเชื้อแบซิลไล Yersinia pestis ระยะพักตัว : ประมาณ 2-3 วัน การติดต่อของโรค กาฬโรคเป็นโรคติดต่อที่มีสัตว์ฟันแทะจำพวกหนู กระแต กระรอกและกระต่าย เป็นพาหะนำโรค สัตว์ที่พบมักเป็นโรคบ่อยได้แก่หนู ประเภท Rattus โดยมีหมัดเป็นพาหะซึ่งมักเป็นพวก Xenopsylla cheopis ที่พบเกิดการระบาดในคนบ่อยๆ เชื้อสามารถอยู่ในตัวหมัดได้เป็นเดือนขึ้นอยู่กับสภาพความชื้นและอุณหภูมิที่เหมาะสมเมื่อหมัดหนูดูดเลือดจากตัวหนูหรือสัตว์ฟันแทะอื่นๆ ที่มีเชื้อกาฬโรคอยู่ในตัวของสัตว์นั้น เมื่อหมัดหนูมากัดคนจะปล่อยเชื้อเข้าทางบาดแผล เช่นเดียวกับการติดต่อระหว่างสัตว์กับสัตว์ เชื้อเข้าทางผิวหนังที่ถลอกจากการเกาบริเวณที่ถูกหมัดหนูกัด การติดต่อระหว่างคนกับคนอาจเกิดได้โดยหมัดในคน (Pulax irritans) มากัดคนจะปล่อยเชื้อเข้าทางบาดแผล การติดต่ออีกทางหนึ่งคือทางการหายใจเอาละอองเสมหะที่มีเชื้อที่ออกมาจากการไอหรือจามของผู้ป่วย pneumonic plague หรือจากสัตว์เลี้ยงที่มีเชื้อโรค การทำให้เกิดอาการในคน เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายและไปยังต่อมน้ำเหลืองทำให้เกิดการอักเสบ บวม ตำแหน่งที่พบบ่อยที่สุดคือ บริเวณขาหนีบ (inguinal) รองลงมาคือรักแร้ ระยะฟักตัวของกาฬโรคโดยทั่วไปอยู่ระหว่าง 2-6 วัน ระยะฟักตัวของ primary plague pneumonia อยู่ระหว่าง 1-6 วัน อาการของโรคเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จะมีอาการไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลืองโตและปวดมาก อาการนี้เรียกว่า bubonic plague ผิวหนังบริเวณต่อมน้ำเหลืองจะบวมแดง อาจจะมีอาการท้องเสียร่วมด้วย ระยะต่อมาเชื้อจะแพร่กระจายไปตามกระแสโลหิต เข้าสู่ปอด ตับ ม้าม และบางรายไปยังเยื่อหุ้มสมอง เกิดภาวะเชื้อเข้ากระแสโลหิตรุนแรง (Septicemic plague) จะเกิดอาการหัวใจวายและตายในที่สุดหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและรวดเร็ว การติดต่อระหว่างคนกับคนโดยการไอ จาม ผู้ได้รับเชื้อทางระบบหายใจจะเกิดโรคปอดบวมที่เรียกว่า pneumonic plague จะพบเกิดโรคในกลุ่มประชากรที่อยู่กับแออัดในช่วงฤดูหนาว การป้องกันและการควบคุม : สำรวจหนูที่อยู่อาศัยในบริเวณบ้านและกำจัดดังนี้ ควรกำจัดหนูก่อนโดยใช้สารเคมีประเภท carbamate โรยไว้ตรงทางเดินของหนูและจากนั้นในวันรุ่งขึ้น จึงทำการดักหนูและเบื่อหนู เมื่อดักหนูได้แล้วให้ฉีดยาฆ่าแมลงประจำบ้านฉีดพ่นไปบนตัวหนูก่อนเพื่อทำลายหมัดหนูที่ยังคงเหลือและจากนั้นจึงฆ่าหนู การกำจัดขยะมูลฝอยที่เป็นแหล่งสะสมหนูก็มีความสำคัญ การแพร่เชื้อระหว่างประเทศได้ 3 ทาง -ทางอากาศ โดยผ่านทางสายการบินต่างๆ -ทางบก โดยการเดินทางเข้าสู่ทางชายแดนของประเทศ และ -ทางเรือโดยสาร คน หมัดหนู นำเชื้อโรคเข้ามากับการเดินทางนี้ ดังนั้นควรมีมาตรการควบคุม และเฝ้าระวังกาฬโรค เพื่อป้องกันการระบาดและควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อกาฬโรคอย่างเคร่งครัด การควบคุมการแพร่เชื้อ : แยกกักผู้ป่วยอย่างเข้มงวดยิ่ง ผู้สัมผัสใกล้ชิด สวมผ้าปิดปาก-จมูก ระมัดระวังการสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ น้ำเหลือง หนอง หมั่นล้างมือเมื่อสัมผัสสารคัดหลั่ง ข้อมูลจาก : http://webdb.dmsc.moph.go.th/ Posted by : chpantip , E-mail : (chpantip@medicine.psu.ac.th) , Date : 2009-08-08 , Time : 08:46:11 , From IP : 172.29.3.68 |