การตรวจค้นหามะเร็งระยะเริ่มแรก

การตรวจค้นหามะเร็งระยะเริ่มแรก เป็นการตรวจร่างกายของบุคคลที่มีสุขภาพสมบูรณ์ ที่ไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ เพื่อค้นหามะเร็งตั้งแต่ระยะเพิ่งเริ่มก่อตัว ซึ่งสามารถจะบำบัดรักษาให้หายได้ค่ะ

หลักการตรวจค้นหามะเร็งในระยะเริ่มแรก มีหลักการที่สำคัญคือ

  1. การสอบถามประวัติโดยละเอียด
  2. การตรวจร่างกายโดยละเอียด
  3. การตรวจทางห้องปฏิบัติการ
  1. การสอบถามประวัติโดยละเอียด มีความสำคัญเพราะว่าประวัติต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับท่าน อาจเป็นแนวทางเบื้องต้นที่ช่วยในการวินิจฉัยได้ เช่น
  2. ประวัติส่วนตัว อุปนิสัยและความเป็นอยู่ส่วนตัวของแต่ละบุคคลก็อาจเป็นเหตุส่งเสริมให้เกิดโรคมะเร็งบางชนิด เช่น

      • ผู้ที่สูบบุหรี่มาก ๆ เป็นระยะเวลานาน ๆ จะมีโอกาสเป็นมะเร็งปอดมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่
      • ผู้ที่มีประวัติการร่วมเพศตั้งแต่อายุน้อย มีประวัติสำส่อนทางเพศ, หรือผู้มีบุตรมากจะมีโอกาสเป็นมะเร็งปากมดลูกได้มาก

    ประวัติครอบครัว มะเร็งส่วนใหญ่ไม่ใช่โรคที่สืบเนื่องโดยตรงเกี่ยวกับพันธุกรรม แต่มะเร็งบางชนิดมีความโน้มเอียงที่จะเกิดในพี่น้องครอบครัวเดียวกัน เช่น มะเร็งตาบางประเภทมะเร็งเต้านม เป็นต้น

    ประวัติสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันนี้ยังไม่ทราบแน่นอนว่า มะเร็งเกิดจากสาเหตุใด แต่ก็มีข้อสังเกตว่า สิ่งแวดล้อมบางอย่าง อาจเป็นเหตุส่งเสริมให้เกิดโรคมะเร็งบางชนิดได้ เช่น ผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับสารกัมมันตภาพรังสีในระยะเวลานาน ๆ อาจเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว มากกว่าผู้ที่ประกอบอาชีพอื่น เป็นต้น

    ประวัติเกี่ยวกับอาการเจ็บไข้ต่าง ๆ เช่น

      • เป็นตุ่ม ก้อน แผล ที่เต้านม ผิวหนัง ริมฝีปาก กระพุ้งแก้มหรือที่ลิ้น
      • ตกขาวมาก หรือมีเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ
      • เป็นแผลเรื้อรังหายยาก
      • ท้องอืด เบื่ออาหาร ผอมลงมาก
      • หูด หรือปานที่โตขึ้นผิดปกติ
      • เสียงแหบอยู่เรื่อย ๆ ไอเรื้อรัง
      • การเปลี่ยนแปลงของระบบการขับถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะผิดไปจากปกติ
  3. การตรวจร่างกายโดยละเอียด เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยในการวินิจฉัยโรค ในด้านการปฏิบัติแพทย์ไม่สามารถจะตรวจร่างกายได้ทุกอวัยวะทุกระบบโดยครบถ้วน จึงมีหลักเกณฑ์ว่า ในการตรวจร่างกายทั่วไป เพื่อตรวจหามะเร็งระยะเริ่มแรกนั้น ควรตรวจอวัยวะต่าง ๆ เท่าที่สามารถจะตรวจได้ดังต่อไปนี้
      • ผิวหนัง และเนื้อเยื่อบางส่วน
      • ศีรษะ และคอ
      • ทรวงอก และเต้านม
      • ท้อง
      • อวัยวะเพศ
      • ลำไส้ใหญ่ส่วนล่าง และทวารหนัก

  4. การตรวจทางห้องปฏิบัติการ และการตรวจอื่น ๆ

1. การตรวจทางห้องปฏิบัติการ มีประโยชน์ที่จะช่วยในการตรวจค้นหา การวินิจฉัย การรักษารวมทั้งการตรวจติดตามผลการรักษาโรคมะเร็งด้วยค่ะ การตรวจได้แก่

    • การตรวจเม็ดเลือด
    • การตรวจปัสสาวะ, อุจจาระ
    • การตรวจเลือดทางชีวเคมี

2. การตรวจเอกซเรย์ มีประโยชน์ในการวินิจฉัยและการรักษาโรคมะเร็งบางชนิด ซึ่งมีวิธีการหลายอย่าง เช่น

    • การเอกซเรย์ปอด เป็นวิธีการพื้นฐานอย่างหนึ่ง ในการตรวจสุขภาพ
    • การเอกซเรย์ทางเดินอาหาร ในรายที่มีปัญหาของระบบทางเดินอาหาร
    • การตรวจเอกซเรย์เต้านม เป็นการตรวจลักษณะก้อนผิดปกติที่เต้านม

3. การตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ หลักสำคัญในการตรวจคือ ให้ผู้ป่วยกลืน, ฉีดสารกัมมันตภาพรังสีบางชนิด สารดังกล่าวจะไปรวมที่อวัยวะบางส่วน แล้วถ่ายภาพตรวจการกระจายของสารกัมมันตภาพรังสีนั้น ๆ เช่น การตรวจเนื้องอกของต่อมไทรอยด์, สมอง, ตับ, กระดูก เป็นต้น

4. การตรวจโดยใช้เครื่องมือพิเศษ เพื่อตรวจลักษณะเยื่อบุภายในของอวัยวะบางอย่าง เช่น หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้ หลอดลม เป็นต้น

5. การตรวจทางเซลล์วิทยา และพยาธิวิทยา เป็นวิธีการตรวจหามะเร็งในระยะเริ่มแรกของอวัยวะต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น

    • การขูดเซลล์จากเยื่อบุอวัยวะบางส่วน เช่น ปากมดลูก, เยื่อบุช่องปาก เป็นต้น
    • เก็บเซลล์จากอวัยวะบางส่วน เช่น ในช่องคลอด ในช่องปอด ในช่องท้อง เป็นต้น

การตรวจเนื้อเยื่อทางพยาธิวิทยา เป็นการตรวจที่สำคัญที่สุดในการวินิจฉัยโรคมะเร็ง โดยการตัดเนื้อเยื่อ แล้วนำไปตรวจละเอียดโดยกล้องจุลทรรศน์

อนึ่ง โรคมะเร็งอาจเกิดแก่อวัยวะต่าง ๆ กัน มะเร็งบางชนิดอาจตรวจวินิจฉัยได้ง่ายบางชนิดตรวจวินิจฉัยได้ยาก แต่มีข้อสังเกตว่า มะเร็งที่พบได้บ่อย ๆ ในประเทศของเรา เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม มะเร็งช่องปาก เป็นโรคที่อาจตรวจวินิจฉัยได้ไม่ยาก ถ้าสนใจตรวจสุขภาพเป็นประจำดังที่กล่าวแล้วค่ะ การตรวจค้นหามะเร็งระยะเริ่มแรกนั้นมีประโยชน์เป็นอย่างมาก เพราะมะเร็งระยะเริ่มต้น อาจรักษาได้ผลดีมาก จนหายได้ค่ะ

------------------------------