มะเร็งปอด (ตอนที่1)

สวัสดีค่ะ รายการรอบรู้เรื่องมะเร็ง ในวันนี้จะนำเสนอเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสุภาพบุรุษเป็นส่วนใหญ่ค่ะคือ เรื่องมะเร็งปอด

มะเร็งปอดเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 2 ของมะเร็งในเพศชายทั้งหมดในประเทศไทยค่ะ ซึ่งตรวจพบในระยะเริ่มแรกได้ค่อนข้างยากค่ะ

สาเหตุของมะเร็งปอดยังไม่ทราบแน่ชัดค่ะ แต่มีสาเหตุส่งเสริมหรือปัจจัยเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปอด ดังนี้คือ

  1. ร้อยละกว่า 90 เกิดจากการสูบบุหรี่ค่ะ ซึ่ง
      • ผู้สูบมีโอกาสเป็นมะเร็งปอดมากกว่าผู้ไม่สูบถึง 10 เท่า
      • ผู้ที่ต้องสูดดมควันบุหรี่ของผู้อื่นเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอดด้วยเช่นกัน
      • ควันบุหรี่ มีสารประกอบมากกว่า 4,000 ชนิด และในจำนวนนี้ ประมาณ 60 ชนิด ที่เป็นสารก่อมะเร็ง ตัวกระตุ้นและตัวส่งเสริมให้เกิดมะเร็งปอด ได้แก่ ทาร์ นิโคติน คาร์บอนมอนนอกไซด์ เป็นต้น
      • มะเร็งปอดพบมากในภาคเหนือของประเทศไทย ซึ่งนิยมสูบบุหรี่พื้นเมือง ยามวน ซึ่งมีปริมาณทาร์ และสารก่อมะเร็งอื่น ๆ สูงค่ะ

  2. การสัมผัสกับสารแอสเบสทอส ซึ่งเป็นแร่ที่ใช้ในอุตสาหกรรมหลายชนิด เช่น การก่อสร้าง โครงสร้างอาคาร ผ้าเบรค คลัช ฉนวนความร้อน อุตสาหกรรมสิ่งทอ เหมืองแร่ โดย
      • ผู้ที่เสี่ยงคือ ผู้ที่ทำงานในสิ่งแวดล้อมที่มีการใช้ แอสเบสทอสเป็นส่วนประกอบ
      • ระยะเวลาตั้งแต่สัมผัสฝุ่นแอสเบสทอส จนเป็นมะเร็งปอด อาจใช้เวลา 15 – 35 ปี
      • ผู้ไม่สูบบุหรี่ แต่ทำงานกับฝุ่นแร่แอสเบสทอส เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอดมากกว่าคนทั่วไป 5 เท่า
      • ผู้ที่สูบบุหรี่ และทำงานกับฝุ่นแร่แอสเบสทอสด้วย จะเสี่ยงต่อมะเร็งปอดมากกว่าคนทั่วไปถึง 90 เท่าทีเดียวค่ะ

  3. เรดอน เป็นก๊าซกัมมันตรังสี ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส เกิดจากการสลายตัวของแร่ยูเรเนียมในหินและดิน กระจายอยู่ในอากาศและน้ำใต้ดิน ในที่ที่อากาศไม่ถ่ายเท เช่น ในเหมืองใต้ดิน อาจมีปริมาณมากทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดได้
  4. มลภาวะในอากาศ ได้แก่ควันพิษจากรถยนต์ และโรงงานอุตสาหกรรม เช่น โรงงานถลุงเหล็ก โครเมียม นิเกิล แคดเมียม โรงงานน้ำมัน ดินน้ำมัน เป็นต้น
  5. สาเหตุอื่น ๆ เช่น พันธุกรรม, ผู้ป่วยมีประวัติเป็นโรคถุงลมโป่งพอง วัณโรค เป็นต้น

------------------------------