มะเร็งกล่องเสียง

มะเร็งกล่องเสียงเป็นมะเร็งที่พบบ่อยในเพศชายค่ะ โดยพบในอัตราส่วน ชาย ต่อ หญิง เป็น 10 ต่อ 1 ซึ่งพบได้ประมาณ 2.8% ของมะเร็งทั้งหมด และพบในช่วงอายุ 50 – 60 ปี ค่ะ
ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่เป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งกล่องเสียงก็คือ การสูบบุหรี่และการดื่มเหล้าค่ะ
อาการแสดงของมะเร็งกล่องเสียงนั้น ผู้ป่วยมักจะไปพบแพทย์ด้วยอาการเสียงแหบ โดยมักไม่มีอาการเจ็บคอร่วมด้วย ซึ่งหากรอยโรคอยู่ที่ตำแหน่งของสายเสียง จะแสดงอาการนี้ตั้งแต่ในระยะเริ่มแรก และสามารถทำการรักษาให้หายได้ค่ะ แต่หากเป็นที่ตำแหน่งอื่นของกล่องเสียง อาการเสียงแหบมักจะแสดงออกในระยะที่ลุกลามแล้ว และบางครั้งอาจมีอาการกลืนลำบากร่วมด้วยค่ะ
สำหรับการรักษามะเร็งกล่องเสียงนั้น ในระยะเริ่มแรกจะใช้การฉายรังสีเป็นหลักค่ะ ทั้งนี้เพราะให้ผลการรักษาได้เท่าเทียมกับการผ่าตัด และยังสามารถรักษากล่องเสียงไว้ได้อีกด้วยค่ะ ทำให้ผู้ป่วยยังคงพูดได้เป็นปกติ แต่ในระยะลุกลามจะใช้การรักษาร่วมระหว่างการผ่าตัดและฉายรังสี
ดังนั้นข้อควรปฏิบัติ เมื่อมีอาการเสียงแหบเกินกว่า 2 สัปดาห์ โดยเฉพาะเมื่อไม่มีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น อาการไอ และเจ็บคอ ควรไปพบแพทย์ทาง หู คอ จมูก หรือแพทย์ผู้ชำนาญทางโรคมะเร็ง เพื่อส่องตรวจดูในคอบริเวณกล่องเสียงว่ามีความผิดปกติใดหรือไม่ ซึ่งหากพบความผิดปกติจะได้รักษาเสียแต่เนิ่นๆ เพื่อผลการรักษาที่ดียิ่งขึ้น

------------------------------