ทวารเทียมของระบบทางเดินอาหาร

ตอนที่แล้วท่านผู้ฟังได้ทราบเรื่องของทวารเทียมไปบ้างพอสมควรแล้ว ในตอนนี้จะกล่าวเฉพาะทวารเทียมของระบบทางเดินอาหาร ซึ่งเป็นการนำลำไส้มาเปิดออกทางหน้าท้องเพื่อขับถ่ายอุจจาระ ในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติหรือโรคบริเวณลำไส้ เช่น การบาดเจ็บบริเวณลำไส้ ลำไส้อุดตัน หรือโรคมะเร็งลำไส้ เป็นต้น

ลำไส้แบ่งเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือ ลำไส้ใหญ่ และลำไส้เล็ก ซึ่งตำแหน่งของทวารเทียม และการดูแลตนเองหลังผ่าตัดจะมีความแตกต่างกัน

ถ้าเป็นทวารเทียมจากลำไส้เล็กส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณหน้าท้องด้านขวา ลักษณะของอุจจาระจะค่อนข้างเหลว (เป็นน้ำปนเนื้อ) ทำให้มีโอกาสเกิดการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ในร่างกายได้มาก ผู้ป่วยจึงต้องดื่มน้ำสะอาดให้มาก อย่างน้อย 10-12 แก้วต่อวัน หลีกเลี่ยงอาหารที่จะไปกระตุ้นลำไส้ให้เคลื่อนไหวมากขึ้นและเพิ่มการถ่ายมากขึ้น เช่น อาหารที่มีแอลกอฮอล์ อาหารรสจัด อาหารมัน เป็นต้น และควรงดเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม เพราะจะทำให้สูญเสียเกลือแร่มากขึ้น อีกทั้งรูเปิดของทวารเทียมจะมีขนาดเล็ก จึงต้องงดอาหารที่มีเส้นใยมากไว้ก่อนในช่วงแรก หลังจากนั้นจึงค่อยเริ่มครั้งละน้อย ๆ และต้องเคี้ยวให้ละเอียด พร้อมทั้งสังเกตุการขับถ่ายเนื่องจากการย่อยและการดูดซึมของแต่ละคนแตกต่างกัน

ถ้าทวารเทียมเป็นส่วนของลำไส้ใหญ่อาจอยู่ได้หลายตำแหน่ง แต่ส่วนใหญ่ที่พบบ่อยอยู่ทางหน้าท้องด้านซ้าย โดยลักษณะของอุจจาระจะนิ่มจนถึงเป็นก้อนเหมือนปกติ ในลำไส้ใหญ่มักไม่มีปัญหาขาดน้ำและเกลือแร่ แต่มักเป็นปัญหาจากกลิ่นและแก็ส จึงควรหลีกเลี่ยงอาหารและพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดปัญหาดังกล่าว

การมีแก็สในลำไส้มากเกิดจากการรับประทานอาหารประเภทถั่ว, เบียร์, หัวหอม, กระหล่ำปลี การเคี้ยวไม่ละเอียด, พูดคุยขณะรับประทานอาหาร, การดูดน้ำจากหลอด, การสูบบุหรี่และการเคี้ยวหมากฝรั่ง เป็นต้น

อาหารที่ทำให้เกิดกลิ่น ได้แก่ อาหารทะเล, อาหารรสเผ็ด, ไข่, ชะอม, สะตอ, อาหารประเภทถั่ว และเครื่องเทศ เป็นต้น แต่ทั้งนี้ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องงดอาหารดังกล่าว แต่ควรรับประทานตามความเหมาะสม นอกจากนี้ควรสังเกตุชนิดของอาหารที่รับประทานด้วยว่าชนิดใดทำให้เกิดอาการท้องเสียต้องหลีกเลี่ยง ส่วนอาการท้องผูกป้องกันได้โดยรับประทานอาหารที่มีเส้นใยมาก เช่น ผัก, ผลไม้, ดื่มน้ำอุ่น/น้ำผลไม้ให้มาก

การผ่าตัดทำทวารเทียม แพทย์จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับชนิดของการผ่าตัด ผู้ป่วยจะได้รับคำแนะนำและเอกสารเกี่ยวกับการดูแลตนเองหลังการผ่าตัดเฉพาะเป็นรายบุคคลอีกครั้ง เพื่อให้ซักถามข้อสงสัย และจะได้มีความมั่นใจในการดูแลตนเองมากยิ่งขึ้น

------------------------------