อยากจะตัวสูงจัง


ถ้าให้เลือกได้ว่า อยากเป็นคนตัวสูงหรือคนตัวเตี้ย คำตอบก็คงเดาได้ว่า ทุกคนอยากเป็นคนตัวสูง และคงไม่มีใครอยากเป็นคนตัวเตี้ย ทีนี้ก็มาถึงคำถามที่ว่า "แล้วทำอย่างไรดีล่ะ ถึงจะเป็นคนตัวสูงได้ ? แต่ก่อนที่จะตอบคำถามนี้ เรามาเรียนรู้กันก่อนว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้คนตัวสูงหรือทำให้คนตัวเตี้ย

ปัจจัยที่มีผลต่อความสูง สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ
1. ปัจจัยทางพันธุกรรม ได้แก่
เชื้อชาติ เช่น ชนชาติยุโรปตัวสูงกว่าชนชาติเอเซีย
พันธุกรรมในครอบครัว เช่น พ่อ-แม่ที่ตัวสูงใหญ่ ลูกมักตัวสูง ในทางตรงกันข้าม พ่อ-แม่ที่ตัวเตี้ย ลูกมักตัวเตี้ยด้วย
2. ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม ได้แก่
โภชนาการ เช่น การได้รับสารอาหารที่ถูกสุขลักษณะ ครบทั้ง 5 หมู่ จะส่งเสริมให้การเจริญเติบโตดียิ่งขึ้น
การออกกำลังกาย การนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอ
ความเจ็บป่วย ความเจ็บป่วยเรื้อรังทำให้การเจริญเติบโตไม่ดีเท่าที่ควรจะเป็น

จะเห็นได้ว่า ความสูงถูกกำหนดขึ้นแล้วโดยปัจจัยทางพันธุกรรม โดยมีปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมมาส่งเสริมให้การเจริญเติบโตเป็นไปได้มากยิ่งขึ้น หรือขัดขวางให้การเจริญเติบโตเป็นไปได้ไม่เต็มที่

เราสามารถเปลี่ยนปัจจัยทางพันธุกรรมในคนตัวเตี้ยเพื่อให้ตัวสูงขึ้นได้หรือไม่ ?
คำตอบ คือ ไม่ได้ ปัจจัยทางพันธุกรรมเป็นสิ่งที่กำหนดมาแล้วตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์มารดา

ถ้าเช่นนั้น คนที่มีพันธุกรรมตัวเตี้ยจะไม่มีทางเป็นตัวสูงได้เลยหรือ ?
คำตอบ คือ ทำให้สูงขึ้นได้บ้าง ถ้าได้รับการส่งเสริมที่ถูกสุขลักษณะ เช่น โภชนาการที่ดี การออกกำลังกายที่เหมาะสมและสม่ำเสมอ สุขภาพแข็งแรง

โภชนาการหรืออาหารที่ส่งเสริมให้ตัวสูงขึ้น ได้แก่อะไรบ้าง ?
คำตอบ คือ โภชนาการหรืออาหารที่ถูกตามสุขลักษณะ ได้แก่ อาหารหลัก 5 หมู่ ในปริมาณที่เหมาะสมและอยู่ในสมดุลย์ ไม่มากไป ไม่น้อยไป เพราะถ้าปริมาณน้อยไปจะทำให้เกิดภาวะขาดสารอาหาร ถ้าปริมาณมากไป ทำให้เกิดโรคอ้วน

อาหารและยาเม็ดเสริมแคลเซียมทำให้ตัวสูงขึ้นได้จริงหรือไม่ ?
คำตอบ คือ แคลเซียมเป็นเกลือแร่ที่มีอยู่ในกระดูก ทำให้กระดูกมีความแข็งแรง ในวัยเด็กเป็นวัยที่มีการเจริญของกระดูกมาก และมีความต้องการแคลเซียมประมาณ 1,000-1,200 มิลลิกรัมต่อวัน อย่างไรก็ตาม การเจริญเติบโตของกระดูกและส่วนประกอบอื่นของร่างกายไม่ได้เกิดจากแคลเซียมเพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากการได้รับสารอาหารที่จำเป็นอื่น ๆ เช่น โปรตีน คาร์โบไฮเดรต และวิตามินต่างๆ ในปริมาณที่เหมาะสม ฉะนั้น การได้รับแคลเซียมเสริมเพียงอย่างเดียวโดยไม่ได้คำนึงถึงสารอาหารที่จำเป็นอื่นๆ ที่ร่างกายควรได้รับ จึงไม่เกิดประโยชน์ใดๆ และอาจเกิดโทษได้จากการรับแคลเซียมที่มากเกินไป และเป็นเวลานาน เนื่องจากแคลเซียมที่มากเกินไปจะถูกขับถ่ายทางไต ซึ่งอาจมีการตกตะกอนและเกิดนิ่วในไตตามมาได้ นมเป็นสารอาหารที่มีแคลเซียมอยู่มากพอควร นมกล่องที่จำหน่ายทั่วไปมีแคลเซียมประมาณ 300 มิลลิกรัม/กล่อง บางยี่ห้อมีการเสริมแคลเซียมให้มากขึ้นเป็น 400 - 500 มิลลิกรัม/กล่อง ข้อดีของการได้รับนม คือได้ทั้งแคลเซียมรวมทั้งโปรตีนและแลคโตส ซึ่งสารเหล่านี้ช่วยส่งเสริมให้มีการดูดซึมแคลเซียมจากทางเดินอาหารมากยิ่งขึ้น ในวัยเด็กซึ่งร่างกายกำลังเจริญเติบโต ควรได้รับนม 2 กล่อง/วัน ซึ่งจะได้แคลเซียมประมาณ 600-800 มิลลิกรัม/วัน ส่วนแคลเซียมอีก 200-400 มิลลิกรัมควรได้รับจากสารอาหารอื่น ๆ การได้รับนมมากกว่า 2 กล่อง/วัน ควรคำนึงถึงปริมาณไขมันที่มีอยู่ในนมซึ่งอาจทำให้เกิดโรคอ้วนได้

เรียบเรียงโดย รศ.พญ.สมจิตร จารุรัตนศิริกุล
                    ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
                    สิงหาคม 2542


กลับไปหน้าความรู้สำหรับประชาชน