โรคพิษสุนัขบ้า


โรคพิษสุนัขบ้าหรือโรคกลัวน้ำเป็นโรคติดต่อที่ร้ายแรงชนิดหนึ่งซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสชื่อเรบีส์ไวรัส ทำให้เกิดโรคได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ได้แก่ คน, สุนัข, แมว, โค, กระบือ, ม้า,หมู เป็นต้น ปัจจุบันประเทศไทยยังมีผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าทุกปี ประมาณปีละ 100 คน ในจำนวนนี้ครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยเป็นเด็ก เด็กอายุ 5-9 ปีจะเป็นกลุ่มที่เสียชีวิตมากที่สุด โรคนี้ปัจจุบันยังไม่มียารักษา ดังนั้นถ้าเป็นแล้วจะถึงตายทุกราย แต่เป็นโรคที่ป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนและเซรุ่ม

คนติดโรคพิษสุนัขบ้าได้อย่างไร?
คนเป็นโรคพิษสุนัขบ้าได้เนื่องจากรับเชื้อไวรัสเรบีส์จากสัตว์ที่เป็นโรค ทางติดต่อที่สำคัญมี 2 ทาง คือ
1. ถูกสัตว์ที่เป็นโรคกัด เชื้อไวรัสจากน้ำลายของสัตว์ที่เป็นโรคจะเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผลที่ถูกกัด
2. ถูกสัตว์ที่เป็นโรคเลีย โดยปกติคนถูกสัตว์ที่เป็นโรคเลียจะไม่ติดโรค นอกเสียจากคนนั้นมีบาดแผลหรือรอยถลอกของผิวหนังบริเวณที่ถูกเลีย รวมทั้งในกรณีที่ริมฝีปากหรือนัยน์ตาของคนถูกน้ำลายของสัตว์ที่เป็นโรค จึงจะติดโรคพิษสุนัขบ้าได้
คนที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าส่วนใหญ่คือร้อยละ 90 จะติดเชื้อจากถูกสุนัขกัด รองลงมาคือร้อยละ 4 เกิดจากแมวกัด นอกจากนั้นได้รับเชื้อจากสัตว์อื่นๆ ได้แก่ โค, กระบือ, ม้า, หมู รวมทั้งสัตว์ป่าที่นำโรคอันได้แก่ ค้างคาว, สุนัขจิ้งจอก, สุนัขป่า, หมาไน, สิงห์โต, สกั้งค์, แรคคูน, ลิงและแมวป่า เป็นต้น เชื้อไวรัสจะกระจายจากบาดแผลเข้าสู่ระบบประสาทส่วนปลาย ไขสันหลังและสมองอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการโรคพิษสุนัขบ้า หลังจากถูกสัตว์กัดตั้งแต่ 4 วัน - 4 ปี ส่วนใหญ่จะมีอาการใน 3 สัปดาห์ - 4 เดือน โดยที่ร้อยละ 96 จะเป็นใน 1 ปีหลังถูกกัด ผู้ที่ถูกกัดบริเวณใบหน้าจะมีระยะฟักตัวของโรคสั้นกว่าผู้ที่ถูกกัดบริเวณห่างออกไป เช่น ลำตัว และขา ซึ่งจะมีระยะฟักตัวนานกว่า

วิธีสังเกตอาการสัตว์ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า
สัตว์ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าพบได้ 2 แบบคือแบบดุร้ายและแบบเซื่องซึม ส่วนใหญ่จะเป็นแบบดุร้ายสัตว์จะมีอาการหงุดหงิด น้ำลายไหล ไล่กัดคน, สัตว์อื่นๆ และสิ่งของที่ขวางหน้า วิ่งไปโดยไม่มีจุดหมาย ถ้าผูกหรือขังไว้ในกรงจะกัดโซ่ กรงหรือของที่อยู่ใกล้ๆอย่างดุร้าย เมื่อแสดงอาการดุร้ายได้ 2-3 วัน ก็จะอ่อนเพลีย ชักและตายใน 7-10 วัน แบบที่สองคือแบบเซื่องซึม สัตว์จะไม่สนใจใครแยกตัวเอง หางตก มีอาการปากอ้าหุบไม่ได้ กลืนไม่ได้คล้ายกระดูกติดคอ สุดท้ายจะล้มลงชักและตายใน 7-10 วัน สุนัขบ้าแบบเซื่องซึมนี้จะสังเกตอาการยากมาก ถ้าไม่ถูกรบกวนจะไม่กัด ดังนั้นหากสุนัขตายโดยไม่ทราบสาเหตุควรตัดหัวไปพิสูจน์ก่อน

คนที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าจะมีอาการอย่างไร?
ในระยะ 2-3 วันแรกอาจมีไข้ต่ำๆ ต่อไปจะเจ็บคอ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย คันหรือปวดแสบ ปวดร้อนตรงบริเวณแผลที่ถูกกัด ทั้งที่แผลอาจหายเป็นปกติแล้ว ต่อไปจะมีอาการตื่นเต้นง่าย กระสับ กระส่าย ไม่ชอบแสงสว่าง ไม่ชอบลมและเสียงดัง กลืนลำบาก เจ็บมากเวลากลืนเพราะมีการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อที่ใช้กลืน จะแสดงอาการกลัวเวลาให้ดื่มน้ำ จึงเรียกโรคนี้ว่าโรคกลัวน้ำ ระยะแรกจะยังมีสติพูดจารู้เรื่อง ต่อไปจะเอะอะมากขึ้น และสุดท้ายจะมีอาการชักเป็นอัมพาต หมดสติ และถึงแก่ความตายในที่สุด

ข้อควรปฏิบัติภายหลังจากถูกสัตว์กัด โดยเฉพาะสุนัขที่สงสัยว่าเป็นสุนัขบ้ากัด
1. ล้างแผลทันทีด้วยน้ำสะอาด ฟอกด้วยสบู่ให้ถึงก้นแผล 2-3 ครั้ง ล้างสบู่ออกให้หมดแล้วทาแผลหรือราดแผลด้วยยาน้ำยาฆ่าเชื้อโพวิโดนไอโอดีน ถ้าไม่มีอาจใช้ 70% แอลกอฮอล์หรือทิงเจอร์ไอโอดีนแทนได้ เพื่อทำลายหรือลดปริมาณเชื้อไวรัสลงให้มากที่สุด แล้วรีบไปปรึกษาแพทย์ทันที เพื่อขอรับการป้องกันด้วยวัคซีนและเซรุ่ม
2. ถ้าสุนัขตายให้ตัดหัวสุนัขใส่ถุงและแช่น้ำแข็งไปส่งตรวจ ถ้าสุนัขไม่ตายให้ขังไว้ดูอาการ 16 วัน ขณะเดียวกันควรรีบไปฉีดวัคซีนและเซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ไม่ควรรอดูอาการสุนัขเพราะอาจสายเกินไปที่จะป้องกันโรคได้ บางครั้งพบว่าคนที่ถูกกัดเสียชีวิตก่อนสุนัขที่กัด
3. ในกรณีที่ติดตามสัตว์ที่กัดไม่ได้ ต้องได้รับการฉีดวัคซีนและเซรุ่มป้องกันโรคเช่นกัน
บาดแผลที่ถูกสัตว์กัดอาจจะติดเชื้อ จึงควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยักและยาปฏิชีวนะตามความเหมาะสม

เรียบเรียงโดย ผศ. พญ. พรพิมล พฤกษ์ประเสริฐ
                   ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
                   สิงหาคม 2542


กลับไปหน้าความรู้สำหรับประชาชน