โรคอ้วนในเด็ก: ผลต่อโรคทางหัวใจและหลอดเลือดเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่


“ น้องเอ อ้วนจ้ำม่ำ น่ารักจริง” เสียงเพื่อนบ้านทักในช่วงเย็น ที่เอาลูกหลานมาอุ้ม และเดินเล่น ทำให้คุณพ่อ คุณแม่ของน้องเอ เป็นปลื้มไม่น้อย เป็นการชมกลาย ๆว่าคุณพ่อ คุณแม่ดูแลเอาใจใส่ดี โดยเฉพาะทางด้านอาหารการกิน เด็กเล็กที่อ้วนหรือน้ำหนักมากเกินกว่าอายุมักจะได้รับคำชมเหล่านี้บ่อย ๆ เมื่อน้องเอโตขึ้นหน่อยเข้าโรงเรียน และยังอ้วนอยู่ ก็มักจะถูกเรียกว่าเป็น “หมูอ้วน, ตุ้ยนุ้ย, จุ้มปุ้ก, ตุ่ม, โอ่ง” ซึ่งก็เป็นความน่ารักอีกแบบหนึ่งของเด็ก น้องเอก็มักจะไม่มีปัญหาใด ๆ ยังคงรับประทานอาหารได้มากทุกมื้อ รวมทั้งอาหารว่าง และของหวาน ญาติผู้ใหญ่ก็ให้ความเอ็นดูดี

เมื่อน้องเอย่างเข้าสู่วัยรุ่น และเป็นผู้ใหญ่ มีสังคมกับคนรอบข้าง รวมทั้งเพื่อนฝูง เริ่มมามองตัวเองมากขึ้น จะเริ่มรู้สึกอาย และคุณพ่อ คุณแม่ของน้องเอเริ่มกลุ้มใจ และอยากจะช่วยเรื่องอ้วนของน้องเอ หากไม่ประสบความสำเร็จก็มักจะถูกเพื่อนที่โรงเรียน หรือในหมู่บ้านเรียกว่า “ตุ่มต่อขา, หมูสามชั้น, ปลาวาฬบก หรือคำพูดที่สรรหาจะเอามาเสียดสีให้เกิดความสนุก” บางครอบครัวที่ร่วมมือกันและสามารถลดน้ำหนักของลูกได้ก็ยินดีด้วย ที่ยกมาเกริ่นไว้เนื่องจากโรคอ้วนมีผลต่อสุขภาพในหลายด้าน โดยเฉพาะในรายที่เริ่มมาตั้งแต่ในวัยเด็ก การป้องกันดีกว่าการตามแก้แน่นอน

ในสังคมวัยรุ่นไทยเรา การมีหุ่นดี และดูปราดเปรียว เป็นที่นิยม ประกอบกับอาหารประเภทจานด่วน (Fast food) โดยเฉพาะที่มีสาขามาจากต่างประเทศ รวมทั้ง ไอสครีมมีราคาค่อนข้างแพง จึงไปรับประทานได้เป็นครั้งคราว อีกทั้งอาหารพื้นบ้านของไทยเองมีหลากหลาย ราคาถูกกว่า และมีสารอาหารครบ มีไขมันในปริมาณน้อยกว่ามาก เหล่านี้ทำให้วัยรุ่นที่อ้วนมีจำนวนไม่มาก แต่มีแนวโน้มว่าจะมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในเขตเมือง หากมีการให้ความรู้ และการส่งเสริมสุขนิสัยในการรับประทานที่ถูกต้องตั้งแต่เด็ก จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เพื่อจะได้มีผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์แข็งแรง ปราศจากโรคภัย จะเป็นกำลังสำคัญของชาติต่อไป

เมื่อไรจะเรียกว่า “อ้วน”
จะเรียกว่า “ท้วม” (overweight) หรือ “อ้วน” ( obesity) เมื่อ น้ำหนักตัวมากกว่ามาตรฐานของน้ำหนักตัวต่อส่วนสูงนั้น ๆ ดัง ตามกราฟอ้างอิงของสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดลที่แนบมาให้ โดยกราฟที่ 1 เป็นของเด็กชาย และกราฟที่ 2 เป็นของเด็กหญิง วิธีใช้คือ ดูส่วนสูงตามแนวนอนว่าอยู่ที่จุดใด แล้วไล่ขึ้นตามแนวตั้งว่าตรงกับน้ำหนักที่จุดใด อ่านผลตามเกณฑ์นั้น เช่นเด็กหญิงสูง 140 เซนติเมตร มีน้ำหนักตัว ระหว่าง 40 ถึง 45 กิโลกรัม จะเรียกว่า “ท้วม” หากมีน้ำหนักตัวมากกว่า 45 กิโลกรัม ขึ้นไป จะเรียกว่า “อ้วน”ตามกราฟที่ 2

ทำไมจึงอ้วนได้
โดยทั่วไปโรคอ้วนในเด็กเกิดได้จาก 2 สาเหตุใหญ่ ๆ
ผลจากปัจจัยภายใน (endogenous obesity)
ผลจากปัจจัยภายนอก (exogenous obesity)

โรคอ้วนที่เป็นผลจากปัจจัยภายใน พบได้ในกลุ่มอาการผิดปกติเช่น ภาวะขาดฮอร์โมนธัยรอยด์ (hypothyroidism), กลุ่มอาการแพรดเดอร์-วิลลี่ ( Prader Willi syndrome) เป็นต้น ภาวะเหล่านี้เป็นที่ทราบดีในกุมารแพทย์ แต่ข้อสังเกตง่ายๆ คือ เด็กเหล่านี้มักมี ตัวเตี้ย, รูปร่างหน้าตาดูผิดปกติ ไม่เหมือนคุณพ่อ คุณแม่, อายุของกระดูกล่าช้ากว่าอายุจริง, และที่สำคัญคือ จะมีสติปัญญาด้อยกว่าเด็กในวัยเดียวกัน

ส่วนโรคอ้วนที่เป็นผลจากปัจจัยภายนอก ง่ายๆก็คือเป็นผลมาจากการรับประทานอาหารมากเกินความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน ทำให้มีการเก็บสะสมไว้ในรูปของไขมัน ตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย จนกลายเป็นโรคอ้วนในที่สุด กลุ่มนี้จะมีความแตกต่างจากกลุ่มแรกมาก คือ รูปร่างมักสูงใหญ่เกินกว่าอายุ เนื่องจาก อายุของกระดูกล้ำหน้ากว่าอายุจริง, รูปร่างหน้าตาดูปกติ, และมีสติปัญญาที่ปกติสมกับอายุ
จริงอยู่ที่ว่า ส่วนใหญ่ของผู้ป่วยโรคอ้วนในผู้ใหญ่ เป็นผลมาจากปัจจัยทางพันธุกรรม ส่วนปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้องกับโรคอ้วนได้แก่ อาหาร และ การออกกำลังกาย การสร้างสุขนิสัยที่ไม่ถูกต้องตั้งแต่วัยเด็ก เช่น การให้อาหารหรือนมมากเกินไป โดยเฉพาะอาหารที่มีค่าพลังงานสูง, อาหารที่มีไขมันสูงเช่น อาหารมันๆ, เนย, อาหารทอด และไข่ รวมไปถึงการออกกำลังกาย หรือมีการเคลื่อนไหวตัวน้อย ก็จะนำให้เป็นโรคอ้วนในผู้ใหญ่ในที่สุด อาหารที่มีไขมันสูงเหล่านี้มักมีความอร่อยอยู่ในตัว หากเด็กเกิดความติดใจในรสชาดอาหาร และกินต่อไปเรื่อยๆ นอกจากจะเป็นโรคอ้วนแล้ว ยังมีความเสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดแข็ง และ ความดันโลหิตสูง

โรคอ้วนในเด็กพบได้บ่อยเพียงใด?
จากการศึกษาของ ลัดดา เหมาะสุวรรณ และคณะ ในโรงเรียนเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ ชั้นประถมปีที่ 1 ถึง ปีที่ 6 อายุในช่วง 6 ถึง 12 ปี พบว่าความชุกของเด็กอ้วนมากถึง12.2 ต่อ100 ราย หรือ ร้อยละ 12.2 ในปี พ.ศ. 2534 และเพิ่มเป็น ร้อยละ 13.5 และ 15.6 ในปี พ.ศ. 2535 และ 2536 ตามลำดับ ความชุกของเด็กอ้วนที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคม และ วัฒนธรรม โดยเฉพาะค่านิยมการรับประทานอาหารแบบตะวันตก ความชุกของเด็กอ้วนจากการศึกษานี้น้อยกว่าข้อมูลจากอเมริกาเล็กน้อย ซึ่งพบความชุกของเด็กอ้วนถึง 20 ถึง 30 รายต่อ 100 ราย ในช่วงอายุ 5 ถึง 11 ปี นอกจากนั้นในรายงานถัดมา พบว่าปัจจัยที่มีผลทำให้เด็กเสี่ยงต่อการเป็นเด็กอ้วน ได้แก่ ประวัติโรคอ้วนในครอบครัว,โรคอ้วนในบิดาหรือมารดา, การออกกำลังกายน้อยเมื่อเทียบกับเด็กวัยเดียวกัน, รายได้ของผู้ปกครองสูง และการเป็นลูกคนเดียว

การเป็นเด็กอ้วนจะมีผลเสียอย่างไร?
เด็กอ้วนมีโอกาสที่จะเป็นผู้ใหญ่อ้วนได้ในอนาคต โดยเฉพาะในรายที่อ้วนจนถึงช่วงวัยรุ่น เท่าที่ทราบในปัจจุบัน โรคอ้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพด้านหัวใจและหลอดเลือด ตามมาดังนี้
1. ความดันโลหิตสูง
2. ไขมันในเลือดสูงผิดปกติ
3. เบาหวานแบบที่ไม่พึ่งพาอินซูลิน (Adult-onset diabetes)
4. โรคหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบตัน (Coronary artery disease)
เด็กอ้วนจะมีความดันโลหิตตัวบน และ/หรือ ตัวล่างสูงได้ และเด็กวัยรุ่นที่อ้วนประกอบเป็นร้อยละ 50 ของผู้ป่วยเด็กที่มีความดันโลหิตสูงทั้งหมด เมื่อติดตามต่อไป เด็กอ้วนเหล่านี้เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ จะพบว่ามีโอกาสเป็นความดันโลหิตสูงได้ 9 ถึง10 เท่า เมื่อเทียบกับเด็กที่น้ำหนักปกติ

ไขมันในเลือดแบ่งเป็น 2 ชนิดใหญ่ ๆ ดังนี้
1. โคเลสเตอรอล (Cholesterol)
2. ไตรกลีเซอไรด์ (Triglycerides)
โดยจะมีพาหะซึ่งเป็นโปรตีนหลาย ๆ ชนิดเป็นตัวนำพาไปในกระแสเลือด พาหะชนิดหนึ่งจะนำโคเลสเตอรอล และ/ หรือ ไตรกลีเซอไรด์ ที่ดูดซึมมาจากทางเดินอาหาร หรือที่ร่างกายสร้างขึ้น พาหะนี้เรียกว่าไลโปโปรตีน ( lipoproteins) ไลโปโปรตีนทุกชนิดจะมีหน้าที่ของตัวเอง โดยปกติจะมีสมดุลตลอดเวลา หากมีความไม่สมดุลเกิดขึ้นไม่ว่าเป็นผลจากกรรมพันธุ์หรือจากการรับประทานอาหารที่ผิดสุขอนามัย ทำให้มีปริมาณมากขึ้น หรือลดลง จะเกิดโทษต่อร่างกาย

ไลโปโปรตีนที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นอาจแบ่งง่าย ๆ เป็นชนิดที่ดี และชนิดที่ไม่ดี ไลโปโปรตีนที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นชนิดดี ได้แก่ ไลโปโปรตีนที่มีความหนาแน่นสูง หรือ HDL ( High density lipoprotein) ทำหน้าที่เก็บเอาโคเลสเตอรอล ที่หลงเหลือหรือเกินตามเส้นเลือดกลับไปที่ตับ คล้ายๆเทศบาลที่ทำความสะอาด คอยเก็บขยะ HDL นี้จะเพิ่มขึ้นในกรณีที่ออกกำลังกายสม่ำเสมอ การไม่สูบบุหรี่ และ จะลดลงในกรณีที่เป็นโรคอ้วน ส่วนไลโปโปรตีนที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นชนิดไม่ดี ได้แก่ ไลโปโปรตีนที่มีความหนาแน่นต่ำ หรือ LDL (Low density lipoprotein) และ ไลโปโปรตีนที่มีความหนาแน่นต่ำมาก หรือ VLDL (Very low density lipoprotein) เป็นตัวนำโคเลสเตอรอล ไปตามกระแสเลือด และท้ายสุดจะไปติดตามผนังเส้นเลือด เกิดการอุดตันของหลอดเลือด โดยเฉพาะหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ ทำให้เกิดอาการจากการขาดเลือดไปเลี้ยงหัวใจ มีเจ็บหน้าอกคล้ายมีคนไปนั่งทับ เหงื่อออก และอาจปวดร้าวไปที่หัวไหล่ซ้ายได้ หากเป็นรุนแรงจะทำให้หัวใจวาย และเสียชีวิตในที่สุด

จากการศึกษาในอเมริกาพบว่า เด็กที่เป็นโรคอ้วนนอกจากความดันโลหิตที่สูงขึ้นแล้ว ยังพบว่า ปริมาณรวมของโคเลสเตอรอลสูงขึ้น, มีสัดส่วนของไลโปโปรตีนชนิดที่ไม่ดีเพิ่มสูงกว่าชนิดดี และ ปริมาณไตรกลีเซอไรด์เพิ่มสูงขึ้น
โรคอ้วนมีผลทำให้ปริมาณอินซูลินในร่างกายสูงขึ้น อินซูลินเป็นสารหลั่งชนิดหนึ่งที่ทำหน้าที่ควบคุมปริมาณน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูงเกินไป ในโรคอ้วนเซลล์ซึ่งเป็นหน่วยย่อยของร่างกายจะตอบสนองต่ออินซูลินลดลง หรือดื้อต่ออินซูลินนั่นเอง ทำให้เกิดเป็นเบาหวาน( น้ำตาลในเลือดสูง, และมีน้ำตาลออกมาในปัสสาวะ) ในที่สุด

เด็กอ้วนมีโอกาสเป็นผู้ใหญ่อ้วนได้มากน้อยเท่าใด? เด็กอ้วนรายใดควรได้รับการรักษาโรคอ้วน?
มีข้อมูลว่าผู้ใหญ่ที่อ้วนมาก ประมาณร้อยละ 50-65 เคยเป็นเด็กอ้วนมาก่อน ซึ่งแปลความได้ว่า โรคอ้วนในเด็กเป็นสาเหตุหรือต้นตอของโรคอ้วนในผู้ใหญ่ โดยเฉพาะรายที่อ้วนมาก มีการศึกษาติดตามเด็กช่วงวัยก่อนเรียน ไปเป็นระยะเวลา 20 ปี พบว่าร้อยละ 25 ของเด็กวัยก่อนเรียนที่อ้วนจะเป็นผู้ใหญ่อ้วน หากอ้วนมาตั้งแต่เล็ก และยังคงอ้วนอยู่ในช่วงที่เป็นวัยรุ่น พบว่าร้อยละ 75 ของเด็กจะเป็นผู้ใหญ่อ้วนเมื่อติดตามไป 7 ถึง 35 ปี เด็กที่อ้วนในช่วงอายุ 1 ถึง 2 ขวบไม่เป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคอ้วนในผู้ใหญ่
ดังข้อมูลเบื้องต้น จะเห็นว่าเด็กที่อ้วนมาตั้งแต่วัยก่อนเรียน และไม่มีแนวโน้มจะลดน้ำหนักตัวลงเมื่อเติบโตขึ้น ควรได้รับการดูแลจากแพทย์ ซึ่งจะให้คำแนะนำเกี่ยวกับเรื่องอาหาร การออกกำลังกาย หากการรักษาในขั้นตอนแรกไม่ได้ผล อาจต้องให้ยา

จะส่งเสริมให้เด็กมีสุขนิสัยที่ดีอย่างไร? เพื่อป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้ใหญ่
จากการศึกษาทางพยาธิวิทยาในเด็ก พบว่าหลอดเลือดที่ขาดความหยุ่นตัว หรือแข็ง อันเป็นสาเหตุของโรคหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยง และ ความดันโลหิตสูง มีการดำเนินของโรคมาตั้งแต่ในวัยเด็ก และต่อเนื่องกันมาจนเป็นผู้ใหญ่ นอกจากนี้ จากการศึกษาของสมเกียรติ โสภณธรรมรักษ์ และคณะ พบว่า กล้ามเนื้อหัวใจของเด็กอ้วนหนากว่าของเด็กปกติ โดยเป็นสัดส่วนไปตามน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น แม้ว่าการบีบตัวของหัวใจ ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ในอนาคตเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ หากมีโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยงจะมีอาการรุนแรงได้ เนื่องจากปริมาณเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจจะมีปริมาณน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับกล้ามเนื้อหัวใจที่หนามากขึ้น หากปลุกฝังสุขนิสัยที่ดีในด้านการรับประทานอาหาร และการดูแลสุขภาพทั่วไป ตั้งแต่ในวัยเด็กจะเป็นประโยชน์อย่างมาก ทำให้เป็นผู้ใหญ่ในสังคมที่มีสุขภาพแข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ

การส่งเสริมดังกล่าวมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1. การออกกำลังกายชนิดแอโรบิค เช่น การว่ายน้ำระยะไกล, การวิ่งเหยาะ, การปั่นจักรยาน เป็นต้น อย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย 3 วัน ต่อ สัปดาห์ ครั้งละ 30 นาที
2. รับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ ในปริมาณไม่มากจนเกินไป และให้รับประทานผัก และ ผลไม้ซึ่งมีกากเส้นใยมาก เพื่อลดโอกาสที่จะเป็นโรคอ้วน โดยทั่วไปอาหารที่มีกากเส้นใยมาก จะมีปริมาณไขมัน, โคเลสเทอรอล และพลังงานต่ำกว่า เมื่อเทียบกับอาหารทั่วไป ควรชั่งน้ำหนัก และตรวจสอบกับเกณฑ์มาตรฐานอยู่เสมอ
3. ป้องกัน และตรวจรักษาโรคความดันโลหิตสูง โดยเฉพาะรายที่มีประวัติในครอบครัว
4. ป้องกัน และตรวจรักษาโรคไขมันในเลือดสูง โดยเฉพาะรายที่มีประวัติในครอบครัว
5. หลีกเลี่ยง, งด หรือ หยุดการสูบบุหรี่ โดยเฉพาะในเด็กโตที่ย่างเข้าสู่วัยรุ่น

ควรจะรับประทานอาหารที่กากเส้นใยมากหรือไม่ ? และ ควรรับประทานในปริมาณเท่าใด?
มีประโยชน์แน่นอน ดังที่กล่าวไว้แล้วข้างต้น และจะทำให้มีการขับถ่ายปกติ ช่วยบรรเทาหรือรักษาโรคท้องผูกด้วยวิธีธรรมชาติอย่างประหยัด ไม่ต้องพึ่งยาใดๆ นอกจากนี้ยังอาจช่วยลดโอกาสที่จะเป็นมะเร็งของ เต้านม, ตับอ่อน, รังไข่, เยื่อบุโพรงมดลูก ,และ ต่อมลูกหมาก ซึ่งมะเร็งของอวัยวะเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกสุขนิสัย และมีปริมาณไขมันมากเกินไป มีคำแนะนำมากมายเกี่ยวปริมาณของกากเส้นใยที่ควรรับประทานในแต่ละอายุที่จำง่ายๆ และถูกต้องที่สุดในปัจจุบันได้แก่
กากเส้นใย ที่ควรรับประทานต่อวัน = อายุของเด็ก ( ปี ) + 5 กรัม( โดยมีช่วงอยู่ระหว่าง อายุ + 5 กรัม ถึง อายุ + 10 กรัม) หากรับประทานกากเส้นใยมากเกินไป จะมีโทษทำให้เด็กขาดสารอาหาร และไม่โตได้ เนื่องจากอาหารมีค่าพลังงานต่ำ นอกจากนี้กากเส้นใยที่มากจะรบกวนการดูดซึมของแร่ธาตุบางตัว ได้แก่ เหล็ก แคลเซียม และ สังกะสี
ตัวอย่างอาหารและจำนวนกากเส้นใยต่ออาหารนั้น ๆ ส่วนที่กินได้ 100 กรัม ตามตารางที่ 1

ชื่ออาหารปริมาณกากเส้นใยเป็นกรัม
ผักคะน้า, ใบ0.9
ผักบุ้งไทย, ต้นขาว0.9
ผักกาดขาว0.5
ผักกระเฉด1.6
ถั่วงอก, สุก1.0
ถั่วฝักยาว, เขียว1.5
ถั่วลิสงคั่ว ไม่มีเปลือก2.1
ฟักทอง0.8
มะละกอ, สุก0.5
กล้วยน้ำว้า, สุก2.3
ชมพู่เมืองเพชร1.1
ขนุน, แก่0.9
ข้าวโพดอ่อน2.1
มะม่วงสุก0.5
ส้มเขียวหวาน1.3

มีคำแนะนำอะไรบ้างสำหรับครอบครัว ที่พึงปฏิบัติเพื่อเด็กในครอบครัวจะได้มีสุขภาพของหัวใจ และหลอดเลือดที่ดีเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่?
ควรเริ่มตั้งแต่ต้นจะดีที่สุด ดังสุภาษิตของไทยที่ว่า “ กันไว้ดีกว่าแก้”


           อายุ                      ข้อควรปฏิบัติ
 ทารกแรกคลอด  หากในครอบครัวมีประวัติไขมันในเลือดสูง หรือ สูบบุหรี่ ควร
      ได้รับคำปรึกษา จากแพทย์ผู้ดูแล
 แพทย์จะเริ่มใส่ข้อมูลลงในกราฟแสดงอัตราการเติบโต
 หลังคลอด จนถึง 2 ขวบ   เปลี่ยนจากนมแม่ หรือนมผงสูตรเด็กเล็ก เป็นนมสด ดื่มจาก
      แก้วหรือจากกล่อง เมื่ออายุเลย 1 ขวบ
 ฝึกการรับประทานอาหารที่ถูกสุขอนามัย คือ มีสารอาหาร
      เพียงพอ ไม่เค็ม และ มีปริมาณกรดไขมันอิ่มตัวน้อย (เลี่ยง
      การใช้ไขมันจากสัตว์ น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม)
 แพทย์จะซักถามประวัติเพิ่มเติมประวัติในครอบครัว
      และลงข้อมูลการเติบโต
 อายุ 2 ขวบ ถึง 6 ขวบ  หากเป็นเด็กอ้วน หรือมีแนวโน้มจะอ้วน แนะนำให้รับ
      ประทานนมพร่องไขมัน ( low fat milk )
 ให้มีการออกกำลังกายกันทั้งครอบครัว นอกจากสุขภาพกาย
      ที่ดี ยังทำให้สุขภาพใจดีไปด้วย
 เริ่มให้อาหารที่มีไขมันเป็นพลังงานอยู่ไม่เกินร้อยละ 30
      ของสารอาหารทั้งหมด
 แพทย์จะให้คำแนะนำเรื่องน้ำหนักตัวที่เหมาะสมเมื่อเทียบกับ
      ส่วนสูง เรื่องงดอาหารเค็มจัด และวัดความดันโลหิต
 ในครอบครัวที่มีประวัติไขมันในเลือดสูง เด็กควรได้รับการ
      เจาะเลือดตรวจปริมาณโคเลสเตอรอล
 อายุ 6 ขวบ ถึง 10 ขวบ   เน้นการให้รับประทานอาหารที่มีไขมันเป็นพลังงานอยู่ไม่เกินร้อยละ 30
      ของสารอาหารทั้งหมด
 เน้นการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ เช่นการเล่น กีฬา เป็นต้น
 เน้นว่าการดูทีวี หรือเล่นเกมคอมพิวเตอร์มากเกินไป อาจ
      สัมพันธ์กับโรคอ้วน เนื่องจากมักจะรับประทานอาหารคบเคี้ยว
      หน้าจอทีวี
 แพทย์จะเน้นการตรวจร่างกาย ชั่งน้ำหนัก และส่วนสูง วัด
      ความดันโลหิต และความฟิตของร่างกาย รวมทั้งการเจาะ
      ตรวจไขมันในเลือด
 อายุ 10 ขวบขึ้นไป  เน้นทุกอย่างเหมือนช่วงอายุ 6 ขวบ ถึง 10 ขวบ อีกครั้ง
      และติดตามผลการปฏิบัติ

คงต้องยอมรับว่าความตื่นตัวทางด้านการป้องกันโรคหัวใจ และ หลอดเลือด ทั้งแพทย์ และ ประชาชนทั่วไปยังมีน้อย หากทำได้จะมีผลดีต่อสุขภาพของทุกคนในอนาคต
แหล่งอ้างอิง:
Strong WB, Deckelbaum RJ, Gidding SS, Kavey REW, Washington R, Wilmore JH, Perry CL. Integrated Cardiovascular Health Promotion in Childhood. Heart Disease and Stroke, 1992;1:259-266.
Mo-suwan L, Junjana C, Puetpaiboon A. Increasing Obesity in School Children in a Transitional Society and the Effect of the Weight Control Program. Southeast Asian J Trop Med Public Health,1993;24:590-593.
Mo-suwan, Lebel L. Risk Factors for Cardiovascular Disease in Obese and Normal School Children: Association of Insulin with Other Cardiovascular Risk Factors. Biomedical and Environmental Sciences,1996;9:269-275.
Mo-suwan L, Geater AF. Risk factors for childhood obesity in a transitional society in Thailand. International J Obesity,1996;20:697-703.
Kimm SYS. The Role of Dietary Fiber in the Development and Treatment of Childhood Obesity. Pediatrics,1995;96(5,part 2/2):1010-1014.
กราฟแสดงการเจริญเติบโตด้านความสมส่วนเด็กชาย และเด็กหญิง ของสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล พุทธมณฑล 4 ตำบลศาลายา กิ่งอำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170 โดยใช้ข้อมูลจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2530.
สมเกียรติ โสภณธรรมรักษ์, พันธ์ทิพย์ สงวนเชื้อ. การตรวจเปรียบเทียบหน้าที่และขนาดของเวนตริเคิลหัวใจห้องซ้ายโดยเครื่องตรวจหัวใจสะท้อน 2 มิติ. วารสารกุมารเวชศาสตร์,2537;33:132-138.
Strauss R. Childhood Obesity. Current Problems in Pediatrics,1999;29:1-36.
Garn SM, La Velle M. Two-decade follow-up of fatness in early childhood. Am J Dis Child,1985;139:181-185.
Stark O, Atkins E, Wolff OH, Douglas JWR. Longitudinal study of obesity in the National Survey of Health and Development. Br Med J,1981;283:13-17.

รวบรวมและเรียบเรียงโดย
น.พ. สมเกียรติ โสภณธรรมรักษ์
พ.บ.,ว.ว. กุมารเวชศาสตร์
วุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญทางกุมารเวชศาสตร์ สหรัฐอเมริกา
วุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญทางกุมารเวชศาสตร์ สาขาย่อยโรคหัวใจไทย และ สหรัฐอเมริกา
หัวหน้าหน่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด
ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่ สงขลา 90110


กลับไปหน้าความรู้สำหรับประชาชน