มารู้จักยาที่ใช้บ่อยในเด็กกันเถอะ


ท่านผู้อ่านคงจะเคยให้ยาแก่เด็กมาบ้างแล้ว เด็กๆ มักป่วยเป็นหวัดหรือเป็นไข้ทั่วๆ ไป และมักจะได้ใช้ยา บางชนิดเป็นประจำ เรามาทำความรู้จักยาที่ใช้บ่อยกัน ดังต่อไปนี้

ยาแก้ไข้ตัวร้อน นิยมใช้ยาพาราเซตามอล เพราะได้ผลดี และไม่ค่อยมีปัญหาเกิดพิษหรือโทษจากยา ยาพาราเซตามอลมีทั้งชนิดหยด น้ำเชื่อม และชนิดเม็ด
ยาลดไข้อีกตัวหนึ่งที่คนทั่วไปนิยมใช้ คือ ยาแอสไพริน เช่น ยาตราหัวสิงห์ ยาทัมใจ เป็นต้น มีชนิดผง และชนิดเม็ด ไม่มีชนิดน้ำ ให้ผลลดไข้ดีมาก แต่มีข้อไม่ดีคือ อาจทำให้เกิดแผลในกะเพาะอาหารหากรับประทานยาขณะท้องว่างบ่อยๆ และอาจทำให้เกร็ดเลือดเสียหน้าที่ จึงห้ามใช้ในเด็กที่สงสัยว่าป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก ในบางประเทศมีประกาศห้ามใช้ยาแอสไพรินในเด็ก ในประเทศไทยไม่ได้ห้าม

ยาลดน้ำมูก เป็นยาบรรเทาอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ไม่ใช่ยารักษาโรคหวัด ยาช่วยให้น้ำมูกลดหรือแห้งชั่วคราว แต่ไม่ได้ช่วยให้หวัดหายเร็วขึ้น การกินยาลดน้ำมูกควรกินเมื่อมีอาการมากๆ หากอาการไม่มากอาจเว้นไม่ต้องกินยาบางมื้อได้ การกินยาลดน้ำมูกมากเกินไปจะทำให้เด็กมีอาการคอแห้ง ใจสั่น และนอนไม่หลับได้ จึงต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง

ยาแก้ไอ ยาแก้ไอเป็นยาที่ช่วยขับเสมหะให้ไอออกมาได้สะดวก ยาแก้ไอเป็นยาที่ไม่สามารถรับรองประสิทธิภาพในการรักษาได้ จึงไม่จำเป็นต้องใช้ยาแก้ไออย่างพร่ำเพรื่อ การดื่มน้ำมากๆ หรือกินน้ำผึ้งผสมมะนาว น้ำอุ่น เหล่านี้จะช่วยให้อาการไอลดลงได้

ยาปฏิชีวนะ หรือที่บางคนเรียกว่ายาฆ่าเชื้อหรือยาต้านจุลชีพ เป็นยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย มักเป็นยาผงบรรจุในขวด เมื่อจะใช้ต้องเติมน้ำในปริมาณตามที่ระบุเพื่อละลายยา ยาปฏิชีวนะมักมีบทบาทในการรักษาการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น หนอง ฝี ผิวหนังอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ ไซนัสอักเสบ เป็นต้น ในปัจจุบันอาจมีการใช้ในเด็กที่เป็นหวัด โดยเข้าใจผิดว่าช่วยให้หวัดหายเร็วขึ้น โรคหวัดเกิดจากเชื้อไวรัส ดังนั้นการใช้ยาปฏิชีวนะในโรคหวัดจะมีประโยชน์เฉพาะเมื่อมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นหลังจากเป็นหวัด เช่น มีไซนัสอักเสบ เป็นต้น การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างพร่ำเพรื่ออาจทำให้เด็กเกิดอาการแพ้ยาได้ และทำให้เชื้อโรคดื้อยามากขึ้น จึงควรใช้ต่อเมื่อมีข้อบ่งชี้เท่านั้น

ท่านที่มีบุตรหลานเล็กๆ คงคุ้นเคยกับการป้อนยาต่างๆ แก่เด็กๆ เด็กๆทั่วไปมักป่วยบ่อยในช่วง 1-2 ขวบ ป่วยเป็นหวัด ท้องเดิน ไข้ออกผื่น เป็นต้น เมื่อพาไปหาหมอ คุณหมอจะตรวจและสั่งยาจำนวนหนึ่งมาให้พร้อมกับคำแนะนำในการดูแลเด็ก

มีข้อควรคำนึงมากมายในการให้ยาแก่เด็ก ที่สำคัญๆ ได้แก่
1. ยาต่างๆ เป็นสารเคมี ย่อมมีผลต่อร่างกายไม่มากก็น้อย จึงควรใช้ยาเฉพาะเท่าที่จำเป็น
2. ก่อนกินยาต้องอ่านฉลากยาก่อนเสมอ และกินให้ถูกต้องตามที่ระบุไว้ในฉลากยา
3. ยาที่กินก่อนอาหารควรกินตอนท้องว่างก่อนจะกินอาหารราว 1/2-1 ชั่วโมง ยาที่กินก่อนอาหารมักเป็นยาที่ดูดซึมไม่ดีหากกินพร้อมอาหาร การกินก่อนอาหารจะช่วยให้ยาถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ดีขึ้น
4. ยาที่กินหลังอาหาร สามารถกินพร้อมอาหารหรือกินยาทันทีหลังจากกินอาหารเสร็จ ยาที่กินหลังอาหารมักเป็นยาที่ไม่มีปัญหาในการดูดซึมยาและหากยาบางชนิดมีอาการข้างเคียงคือก่อให้
เกิดอาการคลื่นไส้ ปวดท้อง การกินยาพร้อมหรือหลังอาหารทันทีจะช่วยลดอาการคลื่นไส้และปวดท้องจากยาให้ลดน้อยลงได้
5. ไม่ควรผสมยาน้ำลงในอาหารหรือนม เพราะอาจทำให้เด็กเกลียดอาหารหรือนมได้ และหากกินนมไม่หมด จะทำให้เด็กได้รับยาไม่เพียงพอ
6. ช้อนตวงยา ต้องใช้ช้อนยามาตรฐาน ซึ่งมีขีดแบ่งชัดเจน หากใช้ไซริงค์มาตวงยาจะยิ่งดี เพราะสามารถตวงได้ละเอียด
7. ยาผงผสมน้ำ ต้องเขย่าให้ยาเข้ากันดีก่อนจะเทยาใส่ช้อนยา หากเขย่าไม่ดียาที่เทออกมาในวันแรกๆจะใสมีปริมาณยาน้อยเกินไป และยาในวันหลังๆ จะมีปริมาณยามากเกินไปได้ ยาผงเมื่อผสมน้ำแล้วควรใช้ให้หมดภายใน 7 วัน หากนานเกิน 7 วันยังใช้ไม่หมดควรทิ้งยาเสียเพราะยาอาจเสื่อมสภาพแล้ว
8. เด็กเล็กห้ามให้กินยาเม็ด โดยทั่วไปเด็กจะเริ่มกินและกลืนยาเม็ดเล็กๆ ได้เมื่ออายุได้ 8 ขวบขึ้นไป ในเด็กเล็กๆ ที่จำเป็นต้องกินยาเม็ดเนื่องจากไม่มียาน้ำ ควรบดยาให้ละเอียดแล้วเติมน้ำเล็กน้อยแล้วจึงป้อนยาให้
9. วิธีสังเกตยาที่เสื่อมสภาพ ยาที่เสื่อมสภาพจะมีสีเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น จากยาน้ำสีแดงกลายเป็นสีน้ำตาล เป็นต้น ยาน้ำที่มีฝ้าหรือฝุ่นสกปรกในยาแสดงว่ามีเชื้อราเกิดขึ้น ยาเม็ดที่มีความชื้นทำให้ยาเป็นจุดๆ และเปียกร่วน หรือสีของยาเปลี่ยนไปจากเดิม เหล่านี้เป็นสิ่งที่บอกว่ายานั้นเสื่อมสภาพแล้ว ควรทิ้งไป นอกจากนี้ยาที่เลยวันหมดอายุของยาแล้วก็ไม่ควรกิน แม้ว่าสภาพเม็ดยาจะยังดูดีก็ตาม เหล่านี้เป็นข้อควรคำนึงเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งหากปฏิบัติตามก็จะช่วยให้เราใช้ยาอย่างปลอดภัย

เรียบเรียงโดย ผศ.พญ.นฤมล ภัทรกิจวานิช
                   ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
                   สิงหาคม 2542


กลับไปหน้าความรู้สำหรับประชาชน