โรคไข้เลือดออก


โรคไข้เลือดออกเป็นโรคติดเชื้อที่พบบ่อยในเด็กที่มีอายุระหว่าง 2-10 ปี โรคนี้มักระบาดในฤดูฝน ความรุนแรงของโรคและอาจทำให้ตายได้คือ ระยะช็อคและเลือดออก ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นเมื่อเข้าสู่ระยะไข้ลด ดังนั้นผู้ปกครองหรือพ่อแม่ต้องเอาใจใส่และมีความรู้ในการดูแลบุตรหลานของท่านอย่างดี

สาเหตุ
เกิดจากเชื้อไวรัส 2 ชนิดคือเด็งกี่ ชิกุนคุนยา โดยมียุงลายเป็นพาหะนำเชื้อไข้เลือดออก และออกหากินในเวลากลางวัน ยุงชนิดนี้ชอบเพาะพันธุ์ตามแหล่งน้ำนิ่งๆ ที่อยู่ใต้ตุ่มน้ำ กระป๋อง กะลา และหลุมที่มีน้ำขัง หรือจานรองขาตู้กับข้าว ฯลฯ เราพบว่าไข้เลือดออกที่มีอาการรุนแรงหรือช็อคจะเกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี่

อาการและอาการแสดง
    ระยะที่ 1 ระยะไข้สูง
   ไข้สูงตลอดเวลา (39-40 องศาเซลเซียส)
      หน้าแดง ตาแดง ไอ เจ็บคอ
      ปวดศีรษะ กระหายน้ำ
      ซึม เบื่ออาหาร และอาจปวดท้องบริเวณไต้ลิ้นปี่หรือชายโครงขวา
      มีผื่นแดงขึ้น (ไม่คัน) ในวันที่ 3 ของไข้ ตามแขนขา ลำตัว รักแร้ เพดานปาก กระพุ้ง แก้มและลิ้นไก่ ผื่นนี้อาจมีจุดเลือดออกเป็นจุดแดงเล็กๆ
ระยะที่ 1 ใช้เวลา 4-7 วัน ถ้าอาการไม่รุนแรงไข้ก็จะค่อยๆ ลดลงและเด็กจะแจ่มใสขึ้น

ระยะที่ 2 ระยะช็อคและมีเลือดออก
จะเกิดขึ้นในช่วงไข้ลด ประมาณวันที่ 3-7 ของโรค
      พบอาการปวดท้องมากขึ้น กดเจ็บเล็กน้อยตรงใต้ชายโครงขวา
      ตัวเย็น ซึม เหงื่อออกตามตัว
      ปัสสาวะน้อย
      ผู้ป่วยกระวนกระวาย และอาจมีจุดแดงๆ เหมือนมีเลือดออกตามผิวหนัง มีเลือดกำเดา ไหล อาเจียนเป็นเลือดหรือเป็นสีกาแฟ ถ่ายอุจจาระดำ
ระยะนี้ใช้เวลา 24-72 ชั่วโมง ถ้าแพทย์สามารถแก้ไขได้ทัน ผู้ป่วยจะดีขึ้นและเข้าสู่ระยะที่ 3

ระยะที่ 3 ระยะฟื้นตัว
เด็กจะเริ่มอยากอาหาร ร่างกายจะฟื้นตัวได้เร็วจนเข้าสู่ภาวะปกติ
ตลอดระยะเวลาของโรค มักไม่เกิน 9 วัน ถ้าอาการไม่รุนแรงจะใช้เวลาเพียง 3-4 วัน ผู้ป่วย จะดีขึ้นได้เอง

การป้องกัน
1. ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง เช่น
      ปิดฝาตุ่มน้ำ
      ใส่ยาฆ่าแมลงในน้ำหล่อขาตู้กับข้าว
      ทำลายกระป๋อง กะลา หรือยางรถที่มีน้ำขังอยู่
2. เด็กที่นอนกลางวันควรนอนกางมุ้ง

การดูแล
1. ระยะไข้สูง ควรเช็ดตัวลดไข้ ให้ดื่มน้ำมากๆ
2. ห้ามให้ยาลดไข้แอสไพริน เพราะจะทำให้เลือดออกมากขึ้น ควรให้ยาพาราเซตามอลเท่านั้น
3. ดูแลให้อาหาร ควรเป็นอาหารอ่อนพวกข้าวต้ม นม น้ำหวาน หรือน้ำผลไม้
4. ให้ดื่มน้ำมากๆ
5. เฝ้าดูแลอย่างใกล้ชิด

ถ้าพบอาการต่อไปนี้ควรนำส่งโรงพยาบาลทันที
1. กระสับกระส่าย ซึมมาก
2. ปวดท้องบริเวณยอดอกหรือลิ้นปี่
3. อาเจียนมากขึ้น รับประทานอาหาร น้ำไม่ได้ หรือได้น้อยมาก
4. มีเลือดออก เช่น เลือดกำเดา อาเจียนเป็นเลือดหรือถ่ายอุจจาระเป็นเลือดหรือถ่ายดำ
ผู้ป่วยไข้เลือดออกจะมีอาการรุนแรงที่สุดในวันที่ไข้เริ่มลดลง ต่างจากโรคติดเชื้ออื่นๆ ที่ผู้ป่วยมักมีอาการดีขึ้นในวันที่ไข้ลดลง
เรียบเรียงโดย ผศ. พญ. พรพิมล พฤกษ์ประเสริฐ
                   ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
                   สิงหาคม 2542


กลับไปหน้าความรู้สำหรับประชาชน