การป้องกันอุบัติเหตุในเด็ก



ท่านผู้ปกครองทั้งหลายคงเคยหกล้มกันมาบ้างแล้ว ท่านอาจคิดว่าเราเดินของเราอยู่ดีๆ แท้ๆ ทำไมถึงสะดุดหรือเหยียบเปลือกกล้วยนี้ได้ โชคดีแค่ลื่นเสียหลักเล็กน้อย ถ้าถึงขั้นหัวฟาดพื้นหรือแข้งขาหักคงแย่แน่ๆ ต้องรักษากันนาน เดือดร้อนไม่ได้ทำการทำงาน แถมเสียค่ารักษาพยาบาลอีก หายดีแล้วอาจไม่สวยไม่หล่อเดินไม่สมาร์ทเหมือนเดิมก็อาจเป็นได้

ท่านที่มีบุตรหลานในวัยซน คงจะระลึกได้ว่าเด็กๆ ซึ่งมีความอยู่ไม่สุกมากกว่าผู้ใหญ่ จะเกิดอุบัติเหตุได้บ่อยกว่าผู้ใหญ่สักเพียงใด เด็กเล็กยังเดินไม่คล่อง ทรงตัวยังไม่ดี เด็กไม่รู้จักระมัดระวังตัวเอง ไม่รู้ถึงผลเสียหายหากเกิดอุบัติเหตุต่างๆ ขึ้น สมควรที่ผู้ใหญ่จะให้การดูแลและจัดสภาพแวดล้อมในบ้านให้มีความปลอดภัยแก่เด็กมากที่สุด เพื่อป้องกันความเดือดร้อนทั้งปวงที่จะเกิดต่อตัวเด็กและผู้ใหญ่เองด้วย อุบัติเหตุเป็นสาเหตุสำคัญและพบบ่อยที่ทำให้เกิดการเจ็บป่วย ความพิการรวมถึงการตายในเด็ก การป้องกันเป็นวิธีที่จะลดอุบัติเหตุลงได้ อุบัติเหตุที่สำคัญที่อาจเกิดต่อเด็กวัยต่างๆ รวมทั้งวิธีป้องกันมีดังนี้

1. การพลัดตกจากที่สูง หกล้ม ในทารกที่เริ่มพลิกคว่ำได้ อาจตกจากโซฟา เตียง เปล ป้องกันโดยการดูแลระมัดระวังเด็ก ไม่ทิ้งเด็กไว้ในที่ที่อาจจะตกจากที่สูง เด็ก 1-2 ขวบ อาจตกบันได ควรดูแลเด็กเวลาขึ้นลงบันได ควรทำราวกั้นบริเวณ ในเด็กหัดเดินไม่ควรใช้ baby walker เพราะก่อให้เกิดอุบัติเหตุ เช่น หกล้ม, ตกบันได มากขึ้น

2. แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก เด็กเล็กที่เริ่มคืบคลานได้ ควรให้อยู่ในห้องที่ไม่มีอุปกรณ์ที่อาจก่อให้เกิดไฟไหม้ น้ำร้อนลวก หรือถ้ามีต้องจัดวางให้ถูกต้อง เช่น กระติกน้ำร้อน ต้องวางสูง ห่างมือเด็ก ห้องครัวไม่ควรใช้เป็นที่คลาน, หรือเป็นที่วิ่งเล่นของเด็กเพราะมีเตาไฟ หม้อแกง ที่ก่ออันตรายได้ หากผู้ใหญ่เผลอ หรือเด็กซุกซนมากจนดูแลไม่ทัน เด็กที่ถูกน้ำร้อนลวก หากลวกบริเวณกว้างอาจตายได้แม้จะได้รับการรักษาในโรงพยาบาลชั้นนำแล้วก็ตาม และจะใช้เวลาเป็นเดือนๆ กว่าจะหาย รวมทั้งมักมีแผลเป็นที่ต้องรับการผ่าตัด แก้ไขในภายหลังอีก เกิดความสูญเสียในด้านต่างๆ มากมายมหาศาล บางรายเสียโฉมไปตลอดชีวิต

เด็กที่โตขึ้นพอรู้ความ ผู้ใหญ่ควรสอนให้รู้จักอันตรายจากความร้อน ให้เด็กได้สัมผัสของร้อน (ไม่มากนัก) ในเวลาที่เด็กอยากจับเล่นเพื่อให้เด็กเข้าใจถึงความเจ็บปวดจาก"ของร้อน" เด็กจะเรียนรู้และระมัดระวังตัวเองได้ดียิ่งขึ้น

3. ไฟฟ้าช๊อต เด็กเล็กเริ่มสอนเดินชอบที่จะแหย่นิ้วเข้าไปในช่องต่างๆ และชอบเลียนแบบการกระทำของผู้ใหญ่ อาจถูกไฟฟ้าช๊อตได้หากแหย่นิ้วหรือไขควงเข้าไปในเต้าเสียบปลั๊กไฟ ควรซื้ออุปกรณ์ปิดเต้าเสียบที่ไม่ได้ใช้งานหรือย้ายเต้าเสียบให้สูงพ้นมือเด็ก สายไฟต่างๆ ควรเดินอย่างถูกต้องไม่ควรโยงระเกะระกะเพราะเด็กอาจคว้าดึงสายไฟทำให้อุปกรณ์ไฟฟ้าตกหล่นใส่เด็กได้ บางคนถูกไฟช๊อตจากไฟฟ้าที่รั่วจากสายไฟของดวงไฟกระพริบที่ประดับประดาศาลเจ้า หิ้งพระ จนเสียชีวิตก็มีมาแล้ว

4. การถูกของมีคมบาด ของมีคมทั้งหลาย เช่น กรรไกร มีด แก้ว เข็มหมุด เข็มกลัด เป็นต้น ควรเก็บไว้ในที่ที่มิดชิดที่เด็กเล็กๆ หยิบไม่ได้ เด็กเมื่อโตขึ้นจะสนใจหัดใช้ของมีคมบ้าง จึงค่อยสอนให้ใช้กรรไกร มีด เข็มกลัด ตามความเหมาะสมแก่วัย เด็กเล็กๆ ไม่ควรใช้ภาชนะหรือของเล่นที่ทำจากแก้ว กระเบื้อง เพราะแตกง่าย อาจแตกและบาดมือ เท้าเด็กได้ นอกจากอุบัติเหตุที่พบบ่อยที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังมีอุบัติเหตุอีกหลายอย่างที่ร้ายแรง แต่สามารถป้องกันได้ เช่น การสำลักสิ่งแปลกปลอมลงในหลอดลม, อุบัติเหตุจากการรับยาเกินขนาดหรือสารพิษ, อุบัติเหตุจากปืน และอุบัติเหตุจากรถยนต์ซึ่งเป็นอุบัติเหตุที่พบมากเป็นอันดับหนึ่งในเด็กโตและผู้ใหญ่

เรียบเรียงโดย ผศ.พญ.นฤมล ภัทรกิจวานิช
                   ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
                   สิงหาคม 2542


กลับไปหน้าความรู้สำหรับประชาชน