การบริจาคโลหิต

        โลหิต เป็นของเหลวสีแดงที่ไหลเวียนอยู่ภายในหลอดโลหิต โดยมีหัวใจทำหน้าที่สูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย อวัยวะสำคัญที่ทำหน้าที่สร้างเม็ดโลหิต คือ ไขกระดูก และเมื่อนำโลหิตมาปั่นแยกจะสามารถแบ่งแยกโลหิตได้ 2 ส่วน คือ เม็ดโลหิตและน้ำเหลือง  เม็ดโลหิต ประกอบด้วย เม็ดโลหิตแดง เม็ดโลหิตขาวและเกล็ดโลหิต ส่วนน้ำเหลืองคือส่วนที่เป็นของเหลวที่ทำให้เม็ดโลหิตลอยตัว                      มีลักษณะเป็นน้ำสีเหลือง ปัจจุบันยังไม่สามารถหาสารประกอบใด ที่มาใช้ทดแทนโลหิตได้ดี ฉะนั้นเมื่อยามที่ร่างกายเสียโลหิตจากอุบัติเหตุ ผ่าตัด หรือโรคที่จำเป็นต้องรักษาด้วยโลหิต จึงจำเป็นต้องรับบริจาคโลหิตจากบุคคลหนึ่งเพื่อนำไปให้อีกบุคคลหนึ่ง เพื่อช่วยเหลือชีวิตให้ทันท่วงที 

ความจำเป็นต้องใช้โลหิต โลหิต 77% ที่ได้รับบริจาคถูกนำไปใช้เพื่อทดแทนโลหิตที่สูญเสียไปในภาวะต่างๆ อาทิ อุบัติเหตุ การผ่าตัด การคลอดบุตร ฯลฯ อีก 23 % เป็นการนำโลหิตไปใช้เฉพาะโรคเลือด อาทิ โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย เกล็ดโลหิตต่ำ ฮีโมฟีเลีย เป็นต้น

          การบริจาคโลหิต คือการสละโลหิตส่วนเกินที่ร่างกายยังไม่จำเป็นต้องใช้ เพื่อให้กับผู้ป่วย ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริจาค เพราะร่างกายแต่ละคนจะมีปริมาณโลหิตประมาณ 17-18 แก้วน้ำ ร่างกายนำไปใช้เพียง 15-16 แก้วเท่านั้น ส่วนที่เหลือนั้นสามารถบริจาคให้ผู้อื่นได้ การบริจาคโลหิตสามารถบริจาคได้ทุก 3 เดือน โดยไขกระดูกจะเป็นอวัยวะสำคัญในการสร้างเม็ดโลหิตขึ้นมาทดแทน ทำให้มีปริมาณโลหิตในร่างกายเท่าเดิม แม้หากไม่ได้บริจาคร่างกายจะขับเม็ดโลหิตที่สลายตัว เพราะหมดอายุออกมาทางปัสสาวะ อุจจาระ กระบวนการบริจาคโลหิตตั้งแต่เริ่มลงทะเบียน จนกระทั่งบริจาคโลหิตเสร็จสิ้น ใช้เวลาประมาณ 20 นาที โดยเจ้าหน้าที่จะเลือกเจาะโลหิตที่เส้นโลหิตดำบริเวณแขน แล้วเก็บโลหิตบรรจุในถุงพลาสติก (BLOOD BAG) ตั้งแต่ 350-450 มิลลิลิตร (ซี.ซี.) ขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวของผู้บริจาคแต่ละคน

 คุณสมบัติผู้บริจาคโลหิต

1. มีน้ำหนัก 45 กิโลกรัมขึ้นไป สุขภาพร่างกายสมบูรณ์ พร้อมที่จะบริจาคโลหิต

2.อายุระหว่าง 17 -60 ปี  ถ้าเป็นผู้บริจาคครั้งแรกต้องอายุไม่เกิน 55 ปี

3. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอในเวลาปกติของตนเอง ในคืนก่อนวันที่มาบริจาคโลหิตอย่างน้อย 6 ชั่วโมง

4. ไม่มีอาการท้องเสีย ท้องร่วง หรือกำลังเป็นไข้หวัด ไอ เจ็บคอ ใน 7 วันที่ผ่านมา

5. สตรีไม่อยู่ในระหว่างมีประจำเดือน ตั้งครรภ์ คลอดบุตรหรือแท้งบุตรภายใน  6 เดือน หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร

6. น้ำหนักต้องไม่ลดผิดปกติในระยะ 3 เดือนที่ผ่านมา โดยไม่ทราบสาเหตุ

7. หากรับประทานยาเพื่อรักษาโรค จะพิจารณาเป็นกรณีไป เช่น แอสไพริน, ยาคลายกล้ามเนื้อหรือยาแก้ปวดอื่นๆ ต้องหยุดยามาแล้ว 3 วัน ยาแก้อักเสบ ต้องหยุดยามาแล้ว 7 วัน

8. ไม่เป็นโรคความดันโลหิตสูง, เบาหวาน, หัวใจ, ปอด, หอบหืด, วัณโรค, ไอเรื้อรัง, ลมชัก, ภูมิแพ้, ตับ, ไต, มะเร็ง, ไทรอยด์, มะเร็ง, โลหิตออกง่าย-หยุดยาก ผิวหนังเรื้อรัง โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือโรคประจำตัวอื่นๆ

10. หากปวดฟัน ถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูนหรือรักษารากฟัน ต้องเว้นระยะอย่างน้อย 3 วัน หรือผ่าฟันคุด เว้นระยะอย่างน้อย 7 วัน

11. หากเคยได้รับการผ่าตัดใหญ่ต้องเว้น 6 เดือน, ผ่าตัดเล็ก ต้องเว้น 1 เดือน

12.ท่านหรือคู่ครองของท่านต้องไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ หรือเบี่ยงเบนทางเพศ

13. ต้องไม่มีประวัติเสพยาเสพติด หรือหากเพิ่งพ้นโทษต้องเว้น 3 ปี และมีสุขภาพดี

14. หากเจาะหู, สัก, ลบรอยสัก ต้องเว้น 1 ปี

15. หากมีประวัติเจ็บป่วยและได้รับโลหิตหรือส่วนประกอบของโลหิต ต้องเว้น 1 ปี

16. หากมีประวัติเป็นมาเลเรีย ถ้าเคยเป็นต้องหายมาแล้วเกิน 3 ปี หากเคยเข้าไปในพื้นที่ ที่มีเชื้อมาเลเรียชุกชุม ต้องทิ้งระยะอย่างน้อยเกิน 1 ปี จึงบริจาคโลหิตได้

17. ต้องไม่ได้รับเซรุ่มในระยะ 1 ปี ที่ผ่านมาหรือวัคซีน จะพิจารณาเป็นกรณีไป

18. ก่อนบริจาคโลหิตต้องรับประทานอาหารให้เรียบร้อย หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง เช่น ข้าวมันไก่ ข้าวขาหมู ของทอด ของหวาน แกงกะทิต่างๆ 

การเตรียมตัวก่อน-หลังบริจาคโลหิต

การเตรียมตัวก่อนบริจาคโลหิต

            -นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 6 ชั่วโมง ในเวลานอนปกติของตนเอง ในคืนก่อนวันที่จะมาบริจาคโลหิต

           -สุขภาพสมบูรณ์ทุกประการ ไม่เป็นไข้หวัด หรืออยู่ระหว่างรับประทานยาแก้อักเสบใดๆ

          -รับประทานอาหารมื้อหลักก่อนมาบริจาคโลหิต หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง เช่น ข้าวขาหมู ข้าวมันไก่ อาหารที่ประกอบด้วยกะทิ แกงต่างๆ ของทอด ของหวาน ฯลฯ  เนื่องจากจะทำให้สีของพลาสมาผิดปกติเป็นสีขาวขุ่น ไม่สามารถนำไปใช้ได้

            -ดื่มน้ำ 3-4 แก้ว และเครื่องดื่มเหลวเพิ่ม เช่น น้ำผลไม้ นม น้ำหวาน เพื่อเพิ่มปริมาณ โลหิตในร่างกาย จะช่วยป้องกันอาการแทรกซ้อน เช่น มึนงง อ่อนเพลีย หรือวิงเวียนศีรษะภายหลังบริจาคโลหิต

           -งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ก่อนมาบริจาคโลหิตอย่างน้อย 24 ชั่วโมง

            -งดสูบบุหรี่ก่อนและหลังบริจาคโลหิต 1 ชั่วโมง เพื่อให้ปอดฟอกโลหิตได้ดี

 

ขณะบริจาคโลหิต

            -สวมใส่เสื้อผ้าที่แขนเสื้อไม่คับเกินไป สามารถดึงขึ้นเหนือข้อศอกได้อย่างน้อย 3 นิ้ว

           -เลือกแขนข้างที่เส้นโลหิตดำใหญ่ชัดเจน ที่สามารถให้โลหิตไหลลงถุงได้ดี ผิวหนังบริเวณที่จะให้เจาะ ไม่มีผื่นคัน หรือรอยเขียวช้ำ ถ้าแพ้ยาทาฆ่าเชื้อ เช่น แอลกอฮอล์ ให้แจ้ง เจ้าหน้าที่ทราบล่วงหน้า

            -ทำตัวตามสบาย อย่ากลัว หรือวิตกกังวล

            -ไม่ควรเคี้ยวหมากฝรั่ง หรืออมลูกอมขณะบริจาคโลหิต

            -ขณะบริจาคควรบีบลูกยางอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้โลหิตไหลได้สะดวก หากมีอาการ ผิดปกติ เช่น ใจสั่น วิงเวียน มีอาการคล้ายจะเป็นลม อาการชา อาการเจ็บที่ผิดปกติ ต้องรีบแจ้งให้พยาบาลหรือเจ้าหน้าที่ในบริเวณนั้นทราบทันที

           -หลังบริจาคโลหิตเสร็จเรียบร้อยนอนพักบนเตียงสักครู่ ห้ามลุกจากเตียงทันที อาจทำให้เวียนศีษะเป็นลมได้ ให้นอนพักสักครู่จนกระทั่งรู้สึกสบายดี จึงลุกไปดื่มน้ำ และรับประทานอาหารว่างที่จัดไว้รับรอง

หลังบริจาคโลหิต

            -ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีบริการให้ ดื่มน้ำมากกว่าปกติ เป็นเวลา 1 วัน

           -หลีกเลี่ยงการทำซาวน่า หรือออกกำลังกายที่ต้องเสียเหงื่อมากๆ งดใช้กำลังแขนข้างที่เจาะ รวมถึงการหิ้วของหนักๆ เป็นเวลา 12 ชั่วโมง ภายหลังการบริจาคโลหิต เพื่อป้องกันการบวมช้ำ

         -ไม่ควรรีบร้อนกลับ ควรนั่งพักจนแน่ใจว่าเป็นปกติ หากมีอาการเวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลม หรือรู้สึกผิดปกติ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ทราบทันที

            -ถ้ามีโลหิตซึมออกมาจากรอยผ้าปิดแผล อย่าตกใจ ให้ใช้นิ้วมืออีกด้านหนึ่งกดลงบน                ผ้าก๊อซ  กดให้แน่นและยกแขนสูงไว้ประมาณ 3-5 นาที หากยังไม่หยุดซึมให้กลับมายังสถานที่บริจาคโลหิตเพื่อพบแพทย์หรือพยาบาล

            -ผู้บริจาคโลหิตที่ทำงานปีนป่ายที่สูง หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล ควรหยุดพัก 1 วัน

            -รับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง และรับประทานยาธาตุเหล็กที่ได้รับวันละ 1 เม็ด จนหมด เพื่อป้องกันการขาดธาตุเหล็ก

  

การบริจาคเกล็ดโลหิต

เกล็ดโลหิต  (Platelets) เป็นเซลล์เม็ดโลหิตชนิดหนึ่งมีขนาดเล็กมาก แต่มีความสำคัญต่อร่างกายอย่างยิ่ง เพราะช่วยทำให้โลหิตแข็งเป็นลิ่ม และอุดรอยฉีกขาดของเส้นโลหิตเวลาที่ถูกของมีคมบาด  โดยปกติเกล็ดโลหิต มีอายุในการทำงานประมาณ 5 วัน ในร่างกายมนุษย์เราจะมีเกล็ดโลหิตประมาณ 1.4 - 5 แสนตัว/ลูกบาศก์มิลลิลิตร ถ้ามีภาวะเกล็ดโลหิตต่ำมากจะทำให้เกิดโลหิตออกง่าย นอกจากนี้ยังมีหลายโรคที่ทำให้เกล็ดโลหิตต่ำ เช่น โรคมะเร็งเม็ดโลหิตขาว โรคที่เกี่ยวกับไขกระดูกไม่ทำงาน โรคติดเชื้อบางชนิด เช่น โรคไข้เลือดออก เป็นต้น

          เกล็ดโลหิตใช้รักษาโรคในผู้ป่วยที่มีภาวะเกล็ดโลหิตต่ำ และมีปัญหาเลือดออกไม่หยุด เช่น โรคไข้เลือดออก มะเร็งเม็ดโลหิตขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง เป็นต้น

 

 

 การบริจาคเกล็ดโลหิต (Single Donor Platelets)

            ปัจจุบันมีผู้ป่วยเป็นจำนวนมากที่ต้องใช้เกล็ดโลหิตรักษา หน่วยคลังเลือดฯ จะเปิดรับบริจาคเกล็ดโลหิต เฉพาะที่มีการร้องขอจากโรงพยาบาลหรือในภาวะขาดแคลนเกล็ดโลหิต ไม่ได้เปิดรับบริจาคเหมือนโลหิตทั่วไป ทั้งนี้เพราะเกล็ดโลหิตเมื่อเจาะออกมานอกร่างกายแล้ว จะมีอายุประมาณ 5 วัน ตามลักษณะและกรรมวิธีในการเจาะเก็บและต้องเก็บรักษาไว้ในตู้ซึ่งควบคุมอุณหภูมิไว้ที่ 22 องศาเซลเซียส พร้อมกับมีการเขย่าเบาๆ ตลอดเวลา

            การรับบริจาคเกล็ดโลหิต จะใช้เครื่องมือเฉพาะที่ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ผู้บริจาคเกล็ดโลหิตจะถูกเจาะโลหิตจากแขนข้างหนึ่งผ่านเข้าเครื่องแยกเม็ดโลหิตอัตโนมัติ เพื่อแยกเกล็ดโลหิตออกจากเม็ดโลหิตแดง เมื่อได้เกล็ดโลหิตแล้ว ส่วนประกอบอื่นๆ จะถูกคืนกลับเข้าสู่ร่างกาย ระยะเวลาในการบริจาคเกล็ดโลหิต ประมาณ 1.30 - 2 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับชนิดของเครื่องมือและจำนวนเกล็ดโลหิตของผู้บริจาคเอง

                ผู้บริจาคเกล็ดโลหิตจะไม่อ่อนเพลีย สามารถปฏิบัติภารกิจการงานได้ตามปกติ หลังจากบริจาคเกล็ดโลหิตไปแล้ว 1 เดือน สามารถบริจาคโลหิตได้ตามปกติ ยกเว้นในกรณีจำเป็น อาจให้บริจาคได้เร็วขึ้น แต่ไม่เกิน 24 ครั้ง/ปี และค่าเกล็ดโลหิตก่อนบริจาคไม่ต่ำกว่าเกณฑ์กำหนด

 คุณสมบัติผู้บริจาคเกล็ดโลหิต

·         อายุ 17-50 ปี

·         น้ำหนัก 60 กิโลกรัมขึ้นไป

·         ควรเป็นผู้ที่บริจาคโลหิตสม่ำเสมอ

·         หมู่โลหิตจะต้องตรงกับผู้ป่วยที่ต้องการเกล็ดโลหิต

·         เส้นโลหิตตรงข้อพับแขนชัดเจน

·         ไม่รับประทานยาแก้ปวดแอสไพริน ในระยะเวลา 5 วันก่อนบริจาค

·         มีจำนวนเกล็ดโลหิต 2.5 แสนตัว/ลูกบาศก์มิลิลิตร (ก่อนบริจาคจะขอเจาะโลหิตเพื่อตรวจนับจำนวนเกล็ดโลหิตก่อน)

วันเวลาทำการรับบริจาคเกล็ดโลหิต
    
     เวลาราชการ  เปิดเวลา 08.30-14.00. .
          ไม่รับบริจาคเกล็ดโลหิตในวันหยุดหรือวันหยุดนักขัตฤกษ์

*นัดหมายบริจาคเกล็ดโลหิตอย่างน้อย 1 วัน หรือสอบถามเพิ่มเติม โทร 0 74-451575